ความแตกต่างของการตายระหว่างพื้นที่


เครือข่ายฯคงต้องประสานขอความร่วมมือไปที่กลุ่มของพ่อชบในการขอข้อมูลสถิติการตายเพื่อนำมาเปรียบเทียบกันว่าในส่วนของสงขลา กับ ลำปาง มีอัตราการตายที่แตกต่างกันหรือไม่ ถ้าไม่มีลำปางก็อาจปรับเปลี่ยนวิธีการในการบริหารจัดการให้เหมือนกับสงขลาได้ แต่ถ้าพบความแตกต่าง เครือข่ายฯลำปางคงต้องหาวิธีการบริหารจัดการในเรื่องนี้ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของเครือข่ายฯ
            ตาม (ความตั้งใจ) ปกติของผู้วิจัย  วันนี้ว่าจะเข้ามาเล่าเรื่องการประชุมเครือข่ายฯสัญจรต่อ  (จะได้จบเร็วๆ  เพราะจะประชุมเดือนใหม่กันแล้ว) แต่บังเอิญได้ไปพบข้อมูลบางอย่างที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาเครือข่ายฯ  ก็เลยเอามาเล่าสู่กันฟัง  หลังสงกรานต์นี้ถ้ามีโอกาสจะเอาไปปรึกษากับประธานและกรรมการบริหารบริหารเครือข่ายฯค่ะ
            ข้อมูลที่ว่านี้ก็คือ  ข้อมูล “ความแตกต่างของการตายระหว่างพื้นที่” สำหรับที่มาของข้อมูลนี้ผู้วิจัยนำมาจากวารสารสถานการณ์สุขภาพประเทศไทย  ฉบับที่ 1 ที่ผู้วิจัยคิดว่าข้อมูลนี้น่าจะมีประโยชน์ต่อเครือข่ายฯก็เพราะว่า  ขณะนี้เครือข่ายฯกำลังประสบปัญหาในเรื่องการที่จะต้องจ่ายเงินสวัสดิการให้กับสมาชิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสวัสดิการในเรื่องการตาย  แต่ละเดือนมีสมาชิกเสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 10-15 ศพ  ยอดเงินสำหรับการจ่ายสวัสดิการอยู่ที่ประมาณ 120,000 – 150,000 บาท  (เมื่อเดือนที่แล้วสูงถึง 200,000 กว่าบาท) ความจริงเรื่องนี้เราได้มีการคุยกันหลายครั้งแล้ว   ผู้วิจัยจำได้ว่าเมื่อครั้งที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติได้เชิญประธานเครือข่ายฯ ,     ผู้วิจัย , พ่อชบ  ยอดแก้ว , อ.สุกัญญา  ไปพูดคุยที่มูลนิธิในเรื่องการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชน  เมื่อทางฝ่ายทีมลำปาง (ประธานเครือข่ายฯ  และ ผู้วิจัย) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการตายในแต่ละเดือนของสมาชิก  อ.สุกัญญา  ได้ตั้งข้อสังเกตว่าลำปางมีคนตายมาก  อาจจะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการจ่ายเงินสวัวดิการในส่วนนี้  ขณะที่สงขลาซึ่งบริการจัดการในรูปแบบตำบล  ซึ่งแต่ละตำบลก็มีสมาชิกอยู่พอสมควร แต่กลับไม่ประสบปัญหานี้  อาจเป็นเพราะว่าที่สงขลาคนตายไม่มาก  ดังนั้น  ในกรณีของลำปางอาจจะต้องมีการตั้งกองทุนขึ้นมาอีกสัก 1 กองทุนสำหรับผู้ที่ต้องการออมเพื่อการตายโดยเฉพาะ 
            จากข้างต้น  คือ  ความเห็นของ อ.สุกัญญา  แต่ประธานเครือข่ายกลับบอกว่า  อัตราการตายของสมาชิกเครือข่ายฯเท่ากับอัตราการตายของประชาชนทั้งประเทศ   (ถ้าเป็นอย่างนี้ก็อาจคิดได้ว่าอัตราการตายของคนสงขลาต่ำกว่าลำปาง  นั่นหมายถึง  ต่ำกว่าอัตราการตายของประชาชนทั้งประเทศ) เมื่อข้อมูลเป็นอย่างนี้  ผู้วิจัยก็งงเหมือนกัน  คิดต่อไม่ออกว่าแล้วจะทำอย่างไร  แต่โดยส่วนตัวของผู้วิจัยแล้ว  ผู้วิจัยคิดว่าไม่น่าจะมีความแตกต่างของอัตราการตายในพื้นที่ต่างๆอย่างมีนัยสำคัญ   
            จนกระทั่งเมื่อวานนี้ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับความแตกต่างของการตายระหว่างพื้นที่  ถ้าเป็นอย่างที่ข้อมูลแสดงจริง  เครือข่ายฯก็น่าจะมีการปรับตัวพอสมควรในเรื่องนี้  จากข้อมูลสรุปได้ว่า  อัตราการตายรวมทั้งประเทศในปี พ.ศ.2543  เท่ากับ 6 คนต่อประชากรพันคน  (เหมือนอย่างที่ประธานเครือข่ายฯเคยบอกไว้เลยค่ะ) เพศชายตายมากกว่าเพศหญิงในทุกภาคของประเทศประมาณ 2 คนต่อประชากรพันคน  โดยภาคเหนือมีอัตราการตายสูงสุดทั้งชายและหญิง  ตามด้วยภาคกลาง  ภาคอีสาน  และภาคใต้  ตามลำดับ  สำหรับกรุงเทพมหานครมีอัตราตายต่ำที่สุด  ภาคเหนือมีอัตราตายเท่ากับ 1.7 เท่าของอัตราตายในกรุงเทพฯ  หรือมีอัตราตายต่างกัน 3 คนต่อประชากรพันคน  แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ทางภูมิศาสตร์มีอิทธิพลต่อการตายของคนที่อาศัยในพื้นที่มากพอสมควร
            หากเปรียบเทียบเป็นรายภาค  ภาคที่มีอัตราการตายสูงสุด  คือ  ภาคเหนือตอนบน  มีการตายมากกว่าที่ควรจะเป็น 1.39 เท่า  หรือมีอัตราส่วนการตายมาตรฐานเท่ากับ 139%  ในขณะที่กรุงเทพฯมีอัตราส่วนการตายมาตรฐานต่ำที่สุด  คือ  81%  หรือห่างกัน 58%  แต่หากเปรียบเทียบเป็นรายจังหวัด  จังหวัดที่มีการตายสูงสุดและต่ำสุด  จะมีอัตราส่วนการตายมาตรฐานต่างกัน 97% และหากเปรียบเทียบเป็นรายอำเภอจะแตกต่างกันถึง 151% แสดงให้เห็นว่ายิ่งพื้นที่ขนาดเล็กลงไปเท่าไหร่  ความแตกต่างของการตายระหว่างพื้นที่ก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น
            สำหรับโรคที่คร่าชีวิตผู้คน  พบว่า  โรคเอดส์เป็นโรคที่ส่งผลอย่างมากต่อการตายที่สูงมากในภาคเหนือตอนบน  นอกจากนี้แล้วโรคถุงลมโป่งพอง  ไตวาย  และการฆ่าตัวตาย  ล้วนส่งผลให้ภาคเหนือมีการตายสูงสุด  อนึ่ง  ภาคเหนือตอนบนเริ่มมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในส่วนของมะเร็งตับด้วย
            ถ้าหากเราจะนำข้อมูลตรงนี้มาใช้ประโยชน์  เพื่อให้เกิดความถูกต้อง  ชัดเจน  ผู้วิจัยเห็นว่า  เครือข่ายฯคงต้องประสานขอความร่วมมือไปที่กลุ่มของพ่อชบในการขอข้อมูลสถิติการตายเพื่อนำมาเปรียบเทียบกันว่าในส่วนของสงขลา กับ  ลำปาง  มีอัตราการตายที่แตกต่างกันหรือไม่  ถ้าไม่มีลำปางก็อาจปรับเปลี่ยนวิธีการในการบริหารจัดการให้เหมือนกับสงขลาได้  แต่ถ้าพบความแตกต่าง  เครือข่ายฯลำปางคงต้องหาวิธีการบริหารจัดการในเรื่องนี้ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของเครือข่ายฯ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23967เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2006 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับเสื้อวิไลลักษณ์ก่อนครับ (ฮา)

ผมเคยขบคิดกับข้อมูลและการวิเคราะห์ทำนองนี้มาก่อนแล้ว   จะเรียกว่าแบบรีดักชั่นกับอินดักชั่นก็ได้

ที่จริงข้อมูลทั่วไปมีประโยชน์ไม่มากสำหรับการดำเนินงานของกลุ่มเฉพาะแบบที่ลำปางดำเนินการอยู่ ที่ควรสนใจเก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์อย่างจริงจังคือ 1)ข้อมูลการตายของแต่ละกลุ่มตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงปัจจุบันของเครือข่ายเราเอง 2)ข้อมูลสุขภาพของสมาชิกในแต่ละกลุ่มของเครือข่ายซึ่งมีประมาณ7,000คน ข้อมูลตรงเหล่านี้จะช่วยในการพยากรณ์การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับฐานเงินทุนของกลุ่มและ   เครือข่ายได้ตรงประเด็นกว่า

ผมเห็นว่าเรายังไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้อย่างชัดเจนเลย

การจัดการกับ ความไม่รู้ จึงควรเริ่มจาก ทำให้เกิดความรู้ ขึ้นมาก่อน โดยเร็วพลัน ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท