การวิจัยและพัฒนาR&Dกระบวนการศึกษาค้นคว้าสู่คุณภาพ


ตีพิมพ์ใน 1)วารสารเทคโนโลยี (สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น) 24(134) ส.ค.-ก.ย.2540 หน้า 156-158 2)หนังสือพิมพ์เสียงยอดแหลม ประจำวันที่ 16-31 ตุลาคม 2540 หน้า 9
        เมื่อพูดคำว่า "วิจัย" หลายคนอาจเบือนหน้าเหมือนถูกบังคับให้กินยาขม ไม่รู้เหมือนกันว่าเราถูกปลูกฝังกันมาอย่างไร จึงทำให้คนมองการวิจัยเป็นเรื่องยาก ดูประหนึ่งว่าเป็นศาสตร์เฉพาะสำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่เก็บความภาคภูมิใจในหลักวิชาของตนไว้คอยตรวจตราคนที่มาเกี่ยวข้อง ไม่ให้ทำผิดเพี้ยนจากรูปแบบที่กำหนดโดยไม่ยืดหยุ่น

      ที่จริงแล้วคำว่า "การวิจัย" (Research) ก็คือการศึกษาค้นคว้าหาคำตอบ เพื่อให้ได้ความรู้ใหม่ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ โดยวิธีการที่เป็นระบบ หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ใช่เรื่องลึกลับซ้บซ้อนอะไร ซึ่งหลายคนได้ปฏิบัติกันอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่เป็นระบบครบวงจรนักเท่านั้นเอง

       เรายอมรับกันว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์ หรือวิธีการเชิงระบบ เป็นวิธีการหาความรู้หรือความจริงที่มีขั้นตอนน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบยืนยันผลได้  ดังนั้นความรู้หรือความจริงที่ได้จึงสามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง

      การวิจัย หรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) มีขั้นตอนสำคัญ 5 ขั้น คือ

1. ระบุปัญหาที่ต้องการศึกษา

2. ตั้งสมมุติฐาน

3. เก็บรวบรวมข้อมูล

4. วิเคราะห์ข้อมูล

5. สรุปผล

        ซึ่งต้นตอที่แท้จริงก็คือสิ่งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเราทรงตรัสรู้ที่เรียกว่าอริยสัจ 4
อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค นั่นเอง  และหลายคนอาจจะคุ้น ชินกับวงจร PDCAของ
Dr. Deming ซึ่งก็เป็นกระบวนการเชิงระบบเช่นกัน
           ถ้าพิจารณาให้ดี การศึกษาค้นคว้าที่เป็นระบบทั้งหลายล้วนอิงกรอบการวิจัยทั้งสิ้น เพียงแต่รูปแบบ หรือรายละเอียดลึก ๆ อาจแตกต่างกันบ้างเท่านั้นเอง

ประเภทของการวิจัย

      การจัดแบ่งประเภทของการวิจัยออกเป็นกี่ประเภทนั้น ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดแบ่ง เช่น

1. การจัดแบ่งโดยใช้เกณฑ์ ประโยชน์ของการวิจัย แบ่งการวิจัยออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.1 การวิจัยพื้นฐาน (Basic research) เป็นการวิจัยบริสุทธิ์ เป็นการวิจัยที่มุ่งผลเพื่อได้ความรู้แท้ ๆ หรือพิสูจน์ทฤษฎี

1.2 การวิจัยประยุกต์ (Applied research) เป็นการวิจัยที่มุ่งนำผลของการวิจัยไปใช้ หรือเป็นการวิจัยเพื่อแก้ปัญหา

2. การแบ่งโดยใช้เกณฑ์ลักษณะข้อมูล แบ่งการวิจัยออกเป็น 2 ประเภท คือ

2.1 การวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการวิจัยที่มีการรวบรวมข้อมูลที่มีลักษณะ เป็นตัวเลข

2.2 การวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นการวิจัยที่มีการรวบรวมข้อมูล โดยข้อมูลเหล่านั้น เป็นเชิงคุณลักษณะ

3. การจัดแบ่งโดยใช้เกณฑ์ระเบียบวิธี แบ่งการวิจัยออกเป็น 4 ประเภท คือ
3.1 ระเบียบวิธีวิจัยเชิงทดลอง เป็นการวิจัยที่มีการสร้างสถานการณ์ขึ้นแล้วสังเกตผลที่ตามมา โดยผู้วิจัยมีโอกาสในการจัดกระทำและควบคุมตัวแปรได้
3.2 ระเบียบวิธีวิจัยเชิงบรรยาย เป็นการวิจัยที่ศึกษาสภาพของปรากฎการณ์ในปัจจุบัน โดยผู้วิจัยมิได้บทบาทเข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ดังกล่าวเลย
3.3 ระเบียบวิธีวิจัยเชิงประเมิน เป็นการวิจัยที่มุ่งให้ได้มาซึ่งข้อมูล สารสนเทศในเชิงคุณค่าของโครงการ หรือของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการดำเนินโครงการ หรือดำเนินงานในสิ่งนั้น
3.4 ระเบียบวิธีวิจัยเชิงพัฒนา หรือการวิจัยและพัฒนาเป็นการวิจัยที่มุ่งประดิษฐ์ หรือพัฒนานวัตกรรม สำหรับการปฏิบัติงาน ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียด เฉพาะเรื่องนี้ต่อไป

ความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา

    การบริหารหรือการทำงานใดใดที่มุ่งแก้ปัญหาหรือพัฒนา ให้เกิดคุณภาพนั้น เมื่อผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงานค้นพบปัญหา และเกิดความตระหนักในปัญหา ก็จะคิดค้นรูปแบบสื่อ หรือรูปแบบการพัฒนา ที่มักเรียกว่า "นวัตกรรม" เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนางานดังกล่าว โดยที่รูปแบบสื่อหรือรูปแบบการพัฒนาที่คิดขึ้น จะต้องมีเหตุผล หลักการ หรือทฤษฎีรองรับ ทั้งนี้อาจเลือกใช้วิธีการปรับปรุงในสิ่งที่มีผู้อื่นได้ศึกษาหรือเคยใช้ได้ผลในสถานการณ์ที่เป็นปัญหา เช่นเดียวกันมาก่อน หรืออาจคิดวิธีการขึ้นใหม่ก็ได้ แต่การจะทำให้รู้หรือมั่นใจได้ว่าวิธีการที่คิดค้นขึ้นนั้นดีหรือไม่ จึงจำเป็นต้องนำมาทดลองจริง มีการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อพิสูจน์ว่าสามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนางานได้ ถ้าไม่ประสบผลสำเร็จก็มีร่องรอยให้เห็นถึงการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนได้ผลดี และสามารถนำไปเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้ทราบ หรือนำไปใช้ได้ต่อไป  (มีแผนภาพการวิจัยและพัฒนา)

          จากแผนภาพจะเห็นได้ว่า ขั้นตอนแรก (วิเคราะห์สภาพปัญหาความต้องการจำเป็น)เป็นเพียงการศึกษาให้รู้ว่างานในหน้าที่ความรับผิดชอบนั้นมีปัญหาที่แท้จริงคืออะไร การสืบค้นหรือวิธีการหาปัญหาอย่างมีระบบก็คือ การวิจัยเชิงสำรวจ (เชิงพรรณนา)นั่นเอง และเมื่อได้ทราบปัญหาแล้ว ถ้าหยุดนิ่งไม่แก้ปัญหาหรือพัฒนาให้ดีขึ้น ก็ย่อมไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้น จึงต้องคิดค้นรูปแบบหรือนวัตกรรมเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา นั่นคือ "การพัฒนา" และเมื่อพัฒนารูปแบบการแก้ปัญหา หรือนวัตกรรมแล้ว เพื่อให้รู้ว่ารูปแบบหรือนวัตกรรมนั้นมีประสิทธิภาพเพียงใดก็ต้องนำไปทดลองใช้  นั่นคือ "การวิจัยเชิงทดลอง" หากแก้ปัญหาไม่สำเร็จก็กลับไปวิเคราะห์ปัญหาและปรับปรุงรูปแบบหรือนวัตกรรม แล้วทดลองใช้ใหม่จนสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ หากแก้ปัญหาได้สำเร็จแล้วก็เขียนรายงานการวิจัย และ "เผยแพร่" รูปแบบหรือนวัตกรรมนั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและวงวิชาการต่อไป  จะเห็นได้ว่าบางครั้งจึงมีผู้เรียกการวิจัยและพัฒนาว่า "R and D" (Research and Development)

       ผลงานการวิจัยและพัฒนานับได้ว่าเป็นผลงานที่มีประโยชน์มีคุณค่ายิ่งที่ช่วยสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมทั้งรูปแบบการทำงานและสิ่งผลิตให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยได้หลอมรวมงานวิจัยหลายประเภทบูรณาการไว้อย่างเป็นระบบครบวงจร ปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพงาน จึงต่างให้ความสนใจอบรมบุคลากร และรณรงค์ส่งเสริมให้บุคลากรผลิตผลงานวิจัยและพัฒนาอย่างกว้างขวางมากขึ้น

-------------------------------------------------

ธเนศ  ขำเกิด  [email protected]

หมายเลขบันทึก: 23956เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2006 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอข้อมูลไปประกอบการเรียนหน่อยนะค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • อยากจะเห็นวิจัยด้านจิตสาธารณะ
  • และด้านการนำกระบวนการมาเป็นนวัตกรรมค่ะ
  • ขอขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ
นายมณัส ชิตาภรณ์พันธุ์

ขอนำข้อมูลไปใช้นะครับ

สุพิชฌาย์ ฟ้าหวั่น

สวัสดีค่ะ

อยากทราบว่าทำการพัฒนารูปแบบการนิเทศได้ไหมคะ

R&D ใช้พัฒนาได้ทุกงานแหละครับ

สัวสดีค่ะ

ขอรูปแบบและขั้นตอนการวิจัยไปใช้อ้างอิงในวิทยานิพนธ์หน่อยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

ได้เลย แต่บทความนี้เขียนไว้นานแล้วนะ น่าจะประมาณ พ.ศ.2534 เห็นจะได้

วิธีดำเนินการวิจัยต้องใช้การจัดทำโมเดลหรือระเบีบบปฏิบัติเสมอใช่มั๊ยคะ

ขอบคุณคะ

ท่านอาจารย์คะ ยังมีเอกสารอยู่ไหมคะ จะขอเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท