การจัดบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีในโรงเรียน


ตีพิมพ์ใน 1)วิทยาจารย์ 88(2) มกราคม 2533 หน้า 18-20 2)มิตรครู 31(23)ปักษ์แรก ธันวาคม 2533 หน้า 40-41 3)สารพัฒนาหลักสูตร 95 (กุมภาพันธ์ 2533)หน้า 38-40 ฯลฯ

ความจำเป็น

       บรรยากาศของโรงเรียนเป็นสภาวะอันเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนแล้วส่งผลถึงความรู้สึกของบุคคลเป็นสภาพการณ์ที่ไม่อาจมองเห็นหรือจับต้องได้แต่เป็นภาพสะท้อนทางความรู้สึกของบุคคลเมื่อคนปะทะกับสิ่งแวดล้อมแล้วเกิดความรู้สึกที่ดีก็เรียกว่า"บรรยากาศดี" ในทางตรงกันข้ามเมื่อคนปะทะกับสิ่งแวดล้อมแล้วเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีก็เรียกว่า"บรรยากาศไม่ดี"

             โรงเรียนซึ่งมีบรรยากาศที่ดีจะทำให้นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนเกิดความรู้สึกพอใจภูมิใจอบอุ่นใจ สบายใจ รู้สึกในความเป็นเจ้าของ และอยากมาโรงเรียนโรงเรียนที่มีบรรยากาศไม่ดีจะทำให้สมาชิกเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายห่างเหิน เฉยเมย ว้าเหว่ และไม่อยากมาโรงเรียน

           โรงเรียนที่มีบรรยากาศดี จะทำให้ทุกคนทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่และมีความสุข แต่ถ้าบรรยากาศของโรงเรียนไม่ดีทุกคนก็จะมีแต่ความระทมทุกข์

           จากการสำรวจของแผนกกลางและสถิติ กองกำกับการสวัสดิภาพเด้กและเยาวชนกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อพ.ศ.2531  พบว่านักเรียนถูกจับกุมจากความผิดประเภทหนีโรงเรียนมากที่สุดถึง 2,308 คนรองลงมาคือเที่ยวเตร่เกินเวลา22.00 น. 393 คนนั่นเป้นเพียงสถิติการถูกควบคุมตัวเท่านั้นคาดว่านักเรียนที่หนีโรงเรียนแล้วไม่ถูกควบคุมตัวน่าจะมีมากกว่านี้หลายสิบเท่า

         ในจำนวนนักเรียนที่มาโรงเรียนล้วนมาจากสภาพแวดล้อมทางบ้านที่แตกต่างกันออกไปหากนักเรียนมีความทุกข์เมื่ออยู่ที่บ้านมาโรงเรียนก็เจอกับสภาพแวดล้อมที่คับแค้นใจอีกเขาคงไม่มีทางออกอย่างอื่นจึงดิ้นรนไปหาสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เขาสบายใจขึ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาหากโรงเรียนไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดสภาพแวดล้อมที่คำนึงถึงความรู้สึกจากหัวใจดวงน้อยๆ ของนักเรียนแต่ละคนอาจจะทำให้แนวโน้มสถิตินักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

จะจัดและสร้างอย่างไร

      ดังที่กล่าวแล้วว่าบรรยากาศของโรงเรียนเป็นสภาวะอันเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนแล้วส่งผลถึงความรู้สึกของบุคคลดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะส่งผลให้เกิดสภาพบรรยากาศที่ดีก็คือการจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนหากจะมองโดยภาพรวมแล้วเราอาจจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนได้เป็น 3กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1.สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่เป็นวัตถุเช่น บริเวณโรงเรียน อาคารเรียน อาคารประกอบ ห้องเรียน ห้องประกอบครุภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆสิ่งชี้วัดถึงลักษณะสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ดี ได้แก่ ความชุ่มชื่นการถูกสุขลักษณะ ความร่มรื่น ความสวยงาม ความสะอาด ความเป็นระเบียบความสะดวก ฯลฯ

      การจะจัดและสร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของแต่ละโรงเรียนที่ต่างก็มีสภาพของปัญหาหรือความต้องการจำเป็นที่แตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับแนวความคิดและดุลยพินิจของบุคคลภายในโรงเรียนนั้น ๆที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น แต่ควรอยู่ภายใต้หลักการของ "การร่วมคิด ร่วมทำ"ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความรู้สึกที่ดี ความรู้สึกของการมีส่วนร่วมความรู้สึกของความเป็นเจ้าของโดยเฉพาะนักเรียนซึ่งเป็นหัวใจของการจัดการศึกษาผู้บริหารและคุณครูควรยอมรับว่านักเรียนทุกคนมีความสามารถและเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนที่มีความรักความผูกพันและปรารถนาดีต่อโรงเรียนของเขาจึงควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นตัดสินใจร่วมวางแผนจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนภายใต้การแนะนำของผู้บริหารและครูอาจารย์

2.สภาพแวดล้อมทางวิชาการ ได้แก่การจัดบรรยากาศการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียนตลอดจนการจัดบริการเพื่อส่งเสริม สนับสนุนทางวิชาการต่าง ๆที่จะทำให้นักเรียนได้รับความรู้ ประสบการณ์ให้มากที่สุดภายใต้บรรยากาศที่มีชีวิตชีวา แจ่มใส น่าเรียนรู้ สอนสนุก เรียนสนุกครูรักเด็ก เด็กรักครู รักเพื่อน ไม่มีบรรยากาศแห่งความกลัว หวาดผวาวิตกกังวล ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "อยากมาโรงเรียน"

      การจัดสภาพแวดล้อมทางวิชาการ ที่ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศดังกล่าวได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ตรงตามจุดประสงค์การเรียนรู้ส่งเสริมความสามารถของนักเรียนแต่ละบุคคลให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอนแล้วดำเนินกิจกรรมด้วยความเป็นกันเอง ให้เกียรติซึ่งกันและกันส่งเสริมการเรียนเป็นกลุ่ม ช่วยกันคิดช่วยกันทำระหว่างผู้สอนและผู้เรียนสภาพแวดล้อมเช่นนี้จะทำให้ทุกคนมีความสุขมีความมั่นใจและตระหนักในคุณค่าของตนเอง

3.สภาพแวดล้อมทางการบริหารการจัดการ ได้แก่การดำเนินการใด ๆภายในโรงเรียนให้การปฏิบัติงานสำเร็จลงด้วยความร่วมมือร่วมใจของบุคคากรซึ่งสังเกตได้จากการดำเนินงานอย่างมีระบบ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันของบุคลากรทุกคนในโรงเรียนยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นมิตรต่อกัน รักใคร่กลมเกลียวกันฯลฯ

       ลักษณะการบริหารการจัดการที่ก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีนั้นเริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบาย ควรให้บุคลากรในโรงเรียนมีส่วนร่วมมีการนำข้อมูลจากการสำรวจสภาพปัจจุบันมากำหนดเป็นนโยบายในการแก้ปัญหาและพัฒนางานของโรงเรียนการมอบหมายงานหรือการสั่งการก็เป็นไปตามสายการบังคับบัญชา แจ่มชัดเหมาะสมกับความสามารถ ไม่เกินกำลัง มอบหมายงานแล้วติดตามดูแลช่วยเหลือ ถามไถ่ดูแลความเหน็ดเหนื่อย ยกย่องชมเชยมีการสร้างขวัญกำลังใจ
จัดสวัสดิการให้หลาย ๆ รูปแบบ เป็นต้น

      การจัดสภาพแวดล้อมทั้งด้านกายภาพ วิชาการและการบริหารการจัดการ ต่างเอื้อซึ่งกันและกันซึ่งโรงเรียนควรตระหนักและสร้างเสริมให้เกิดขึ้นเพื่อให้โรงเรียนเป็นวิมานที่น่าอยู่ น่าเรียนแล้วทุกคนจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

กิจกรรมที่ส่งเสริมบรรยากาศที่ดีในโรงเรียน

       มีกิจกรรมและกระบวนการต่าง ๆ มากมายที่โรงเรียนจำนวนมากอาจดำเนินการอยู่แล้วด้วยการให้บุคลากรในโรงเรียนได้ ร่วมคิด ร่วมทำซึ่งจะมีผลให้เกิดบรรยากาศที่ดีในโรงเรียน เช่น การสร้างคุณภาพงาน(คิวซี) การวางแผนเป็นทีม (Team Planning) กิจกรรม 5 สกิจกรรมข้อเสนอแนะ (Suggestion System) การนิเทศภายในโรงเรียนการพัฒนาองค์การ(organization Development) กระบวนการกลุ่ม เป็นต้นกิจกรรมและกระบวนการดังกล่าวหรือกิจกรรมอื่นใดก็ตามที่โรงเรียนจะนำมาส่งเสริมการสร้างบรรยากาศที่ดีควรอยู่ภายใต้หลักการ 5 ประการ คือ

1.หลักการมีส่วนร่วม

2.หลักความเสมอภาค

3.หลักเสียงส่วนมากเป็นครรลอง

4.หลักความถูกต้องเป็นเกณฑ์

5.หลักความจำเป็นเป็นที่พึ่ง

บทสรุป

     โรงเรียนทุกแห่งย่อมปรารถนาให้นักเรียนของตนมีความสุขทั้งอยู่ที่บ้านและที่โรงเรียนทุกข์หรือสุขที่บ้านบางครั้งโรงเรียนก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยผ่อนคลายได้แต่ทุกข์หรือสุขที่โรงเรียนน่าจะเป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่ายในโรงเรียนการจัดบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีของโรงเรียนจะมีส่วนในการเสริมสร้างความคิดจิตใจ และคุณธรรมต่าง ๆ อันพึงประสงค์ได้ โรงเรียนที่สะอาด สดชื่นร่มรื่น เรียบง่าย สงบ แจ่มใส มีชีวิตชีวาวัสดุอาคารสถานที่ที่ได้รับการดูแลมีความเป็นปัจจุบันพร้อมที่จะให้ครูและนักเรียนได้ใช้ตลอดเวลาย่อมจะทำให้ครูและนักเรียนได้รับอิทธิพลทำให้เป็นคนละเอียดอ่อนจิตใจแจ่มใส รักสวยรักงาม รักความสะอาด รักความสงบ เรียบง่ายทำให้เข้าใจตนเอง และผู้อื่นไปด้วย

      จึงเป็นการสมควรที่โรงเรียนจะต้องพยายามจัดบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีของโรงเรียนเพื่อประโยชน์และความสุขของนักเรียนโดยถ้วนหน้า

**************


 

 

หมายเลขบันทึก: 23950เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2006 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2020 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผู้บริหารโรงเรียน น่าจะได้มีโอกาสอ่านบทความนี้กันบ้างนะครับ..

ถ้าโรงเรียนมีบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดี
การจัดการเรียนการสอนก็จะประสบความสำเร็จนะคะ

 ขอแสดงความคิดเห็นด้วยคนนะครับ  

ผู้บริหารบางคนคิดได้แต่เพียงว่า "ทำอย่างไรโรงเรียนเราจะได้รับรางวัล"  เพราะตัวของผู้บริหารเองจะได้รับการยกย่อง  แต่ไม่ค่อยคิดที่จะทำเพื่อเด็กนักหรอก.... 

อยากได้หนังสือที่เกี่ยวข้องค่ะ พอจะมีชื่อหนังสือไหมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท