สกว." หนุน"อบต." ดูแล"ภูเขา"หลังบ้าน


"....หาก อปท.ตระหนักและหันมาช่วยกันดูแลทรัพยากรอย่างจริงจังแล้ว น่าจะทำให้การพัฒนาท้องถิ่น...."
"สกว." หนุน"อบต." ดูแล"ภูเขา"หลังบ้าน

รายงานพิเศษ

โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จ.นครศรีธรรมราช ที่อยู่รอบ "เขาหลวง" โดยใช้งานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาท้องถิ่น ปรากฏว่ามี อบต.ขานรับโครงการ ขอรับการสนับสนุนเกือบ 10 โครงการ ขณะที่ผู้บริหาร อบต.บางแห่ง ก็จัดสรรงบประมาณสนับสนุนงานวิจัย

ทั้งหมดเพื่อการใช้ประโยชน์จาก "ภูเขาหลังบ้าน" อย่างยั่งยืน!!!

"เชาวลิต สิทธิฤทธิ์" ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. พื้นที่เขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช เล่าว่า สกว.ได้ให้การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รอบเขาหลวง ใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการบริหารท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ เพราะเขาหลวงเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีความสำคัญทั้งต่อนครศรีธรรมราชและภาคใต้โดยรวม ซึ่งจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ประชากรที่เพิ่มขึ้น การปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต การท่องเที่ยว เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อเขาหลวงค่อนข้างมาก หากไม่มีการจัดการดูแลที่ดีแล้ว นอกจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรแล้ว ยังอาจก่อปัญหาสังคมตามมา


"หาก อปท.ตระหนักและหันมาช่วยกันดูแลทรัพยากรอย่างจริงจังแล้ว น่าจะทำให้การพัฒนาท้องถิ่นรอบเขาหลวง สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านได้คลุมรอบด้าน มีรูปแบบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกันได้อย่างยั่งยืน"

"เชาวลิต" กล่าวว่า อบต.ถูกเปรียบว่าเป็นเสมือน "รัฐบาลน้อย" จึงทำให้การบริหารงานของ อบต.ตั้งอยู่บนความคาดหวังของคนในชุมชน เป้าหมายการสนับสนุนของสกว.ครั้งนี้ จึงมุ่งหวังให้ อบต. ได้ใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน สร้างองค์ความรู้ของท้องถิ่น เป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่น และนำองค์ความรู้จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตำบลต่อไป

"เชาวลิต" กล่าวว่า การดำเนินงานเริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 ในช่วงแรกเป็นการศึกษาภาพรวมการดำเนินงานของ อบต. 7 แห่ง คือ อบต.กรุงชิง อบต.นาเหรง อบต.นบพิตำ อบต.ทอนหงส์ อบต.พรหมโลก อบต.ท่าดี และ อบต.เขาพระ การดำเนินงานของชมรมอนุรักษ์รอบเขาหลวง 3 ชมรม คือ ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านวังลุง ชมรมอนุรักษ์ต้นน้ำคลองแซะ และชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ท่าดี โดยจัดเวทีสรุปบทเรียนร่วมกัน ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่าง สกว.และ อปท. 2 รูปแบบ คือ 1.สกว.สนับสนุนให้คนใน อบต.ทำวิจัยร่วมกับชุมชนเต็มรูปแบบทั้งงบประมาณ กระบวนการในการทำวิจัย และ 2.อบต.สนับสนุนงบประมาณ สกว.สนับสนุนชุดความรู้และกระบวนการทำวิจัย

"มี อบต.หลายแห่งสนใจทำวิจัย ที่ผ่านการอนุมัติแล้ว 2 โครงการ คือ โครงการจัดการขยะ อบต.ทอนหงส์ โครงการศึกษารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม อบต.เขาพระ และยังมีโครงการที่ทำโดยกลุ่มชาวบ้าน มีนายก อบต.เป็นที่ปรึกษา 2 โครงการ คือ จัดทำหลักสูตรค่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมวังลุง/กรุงชิง และจัดการฟื้นฟูป่าต้นน้ำคลองปริกอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนท่าดี"

"เชาวลิต" กล่าวว่า สิ่งที่น่ายินดีมาก คือ มีผู้บริหาร อบต.หลายแห่งเห็นความสำคัญของงานวิจัยเพื่อการพัฒนา มีแนวคิดจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุน ซึ่งขณะนี้นำร่องไปแล้ว คือ อบต.ทอนหงส์ สนับสนุนงานวิจัยร่วมกับ สกว. 50,000 บาท ถือเป็นความก้าวหน้ามาก

"รูปแบบการสนับสนุนงานวิจัยนั้นมุ่งเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เน้นแก้ปัญหาในพื้นที่ ทำงานจึงเป็นในลักษณะเครือข่าย เพื่อให้เชื่อมร้อยองค์กรชุมชนรอบเขาหลวง ซึ่งหลายแห่งมีกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวมาก่อน ให้มาร่วมเรียนรู้ ใช้ข้อมูล ยกระดับการทำงานให้เป็นรูปธรรม อันเป็นการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังภูเขาหลังบ้าน"

"เชาวลิต" ทิ้งท้ายไว้น่าคิดว่า

"เราเชื่อว่าคงไม่มีใครรักภูเขาหลังบ้านมากไปกว่าคนที่อยู่ตีนเขา และคงไม่มีใครดูแลได้ดีไปกว่าคนตีนเขาอย่างพวกเรา" (กรอบบ่าย)

หน้า 8<
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pro10090449&day=2006/04/09
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23905เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2006 09:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท