ปฏิญญาพุกาม/ เอื้ออาทรข้ามชาติกับประชาชนที่มองไม่เห็น


ปฏิญญาพุกาม/ เอื้ออาทรข้ามชาติกับประชาชนที่มองไม่เห็น

 

 

เราจะชวนให้เขาเลิกรบมาค้าขายกัน นี่อาจจะเป็นคำพูดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อ ท่านนายกฯทักษิณต้องพูดเกี่ยวกับเรื่องพม่า และเหมือนจะกลายเป็นนโยบายต่างประเทศ สำหรับประเทศเพื่อนบ้านของไทย หากจะมุ่งไปที่พม่าก็ดูจะมีความชัดเจนในตัวเอง ดูไปแล้วน่าจะเข้าที หวนให้นึกถึงอดีตนายกรัฐ มนตรีท่านหนึ่ง ที่มีนโยบายชี้ชวนให้ประเทศเพื่อนบ้านของเราเลิกรบหันมาค้าขายกันหรือ นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า นี่อาจจะเป็นนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็น สนามการค้าโครงการสอง ภายใต้สโลแกน "เอื้ออาทรข้ามชาติ "ก็คงไม่แปลกหากจะเป็น การรับลูกอย่างดีจากโครงการแรก เพราะ หนึ่ง ที่ปรึกษาคนใกล้ชิดท่านนายกฯ หลาย ท่านก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของผู้ผลักดันนโยบาย เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าของอดีต นายกฯ ชาติชาย ไม่ว่าจะเป็นคุณพันศักดิ์ กุนซือมือหนึ่งที่ท่านนายกฯ ไว้วางใจอยู่มาก ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่ง สองท่านนี้คือหนึ่งในทีมที่ปรึกษาคุณภาพ สมัยอดีตนายกฯ ชาติชายหรือที่รู้จักกันในนามทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก และกลาย เป็นนโยบายที่ปลุกกระแสการค้าชายแดน และตลาดการค้าชายแดนแถบอินโดจีนและ พม่าให้คึกคักอีกครั้ง อย่างไรก็ดีบริบททางการเมืองและสังคมของภูมิภาคนี้ที่มีการปรับเปลี่ยน ก็น่าสนใจว่านโยบายนี้จะดำเนินการไปในรูปรอยใด

 

 

หากมองตรงไปยังพม่า เราก็จะพบว่าอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่เป็นประเด็นให้ขบคิดไม่น้อย คือเรื่องทางการเมืองในพม่าภายใต้ การปกครองของรัฐบาลทหารพม่าซึ่งภาพลักษณ์ยังไม่สดสวยนักในสายตาของประชาคมโลก และพึ่งถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ประกาศคว่ำบาตรทางการเมืองไปสดๆ ร้อนๆ ท่าทีของสหภาพยุโรปต่อพม่าก็ยังไม่อาจจะยอมรับได้เต็มที่นัก และหลังจากเกิดกรณีความรุนแรงต่อสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี และ ประชาชนพม่าที่ทางตอนเหนือของพม่า แล้ว นำมาซึ่งการจับกุมนางออง ซาน ซูจี กับสมาชิกพรรคจำนวนมาก (ซึ่งรัฐบาลพม่าเรียกว่า การคุมตัวเพื่อความปลอดภัย) ท่าทีของประชาคมโลกต่อพม่า ก็ยิ่งทวีการจับตามองมากขึ้น ปัญหาเรื่องต่อมาคือ เรื่องยาเสพติด ซึ่ง หลายประเทศ และผู้จับตามองสถานการณ์ในพม่า ยังคงคลางแคลงใจไม่น้อยต่อท่าทีของรัฐบาลทหารพม่า แม้จะประกาศชัดว่า จะต้องขจัดยาเสพติดให้หมดสิ้น แต่ต่อชนกลุ่มน้อยซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อพม่านั้น ก็ไม่อาจทำให้ประชาคมโลกไว้ใจได้เต็มที่นัก ประเด็นสุดท้ายที่กลายเป็นประเด็นสำคัญ ต่อไทย-พม่า คือ สถานการณ์การเคลื่อนย้ายถิ่นข้ามพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ ซึ่งกลายเป็นปัญหายืดเยื้อ กับประเทศไทยไม่น้อย ประเด็นต่าง ๆ ข้างต้น คือ โจทย์สำคัญที่รัฐบาลไทยมุ่งแก้ไขเพื่อให้ ปรัชญาเอื้ออาทรข้ามชาติของรัฐบาลชุดนี้ดำเนินต่อไป

 

 

ปฏิญญาพุกาม : เอื้ออาทรข้ามชาติภาคธุรกิจ ประชาชนอยู่ตรงไหน

 

 

และแล้วรัฐบาลทักษิณ ก็มุ่งหน้าสู่นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าเอื้ออาทรข้ามชาติ โดยการจัดประชุมสุดยอด ระดับผู้นำสี่ประเทศคือ ไทย ลาว กัมพูชา และพม่า ที่เมืองพุกามประเทศพม่าที่ผ่านมา ซึ่งสาระที่สำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ การ สร้างเขตเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคนี้ขึ้น โดยจะมุ่งสร้างเศรษฐกิจให้แต่ละประเทศก้าวเดินไปพร้อมกัน โดยไทยจะเป็นผู้สนับสนุนให้เกิด การพัฒนาไปพร้อมๆ กัน โดยได้มีการลงนามปฏิญญาพุกามโดยมีความร่วมมือใน ๕ ประเด็นหลักๆ คือ การพัฒนาในเรื่องการค้าการลงทุน การพัฒนาในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม การพัฒนาในเรื่องการขนส่ง การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยไทยได้เสนอให้เงินกู้ยืมเป็นเงินบาทให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการเปิดแนวรุกเช่นนี้สร้างเสียงชื่นชมจากทั้งฝ่ายผู้ประกอบการทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมทั้ง บรรดานักวิชาการ สื่อมวลชน ที่อยากเห็นพม่าเปิดตัวเองสู่โลกภายนอกโดยใช้กลไกทางเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดเสรีนิยมใหม่

 

 

หากมองไปแล้ว ปฏิญญาพุกามคือ ก้าวสำคัญของการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ของเอเชียและอาเซียน อันจะเป็นจุดเชื่อม ต่อที่สำคัญในการขยายไปสู่จีนและอินเดีย ในระยะเวลาอีกไม่นานต่อไป อันเป็นเป้า หมายสำคัญที่รัฐบาลชุดนี้ตั้งใจไว้ รวมถึง การเป็นจุดเชื่อมเขตเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ อีกจุดหนึ่ง หากมองในแง่ของเศรษฐกิจแล้ว ก็ดูราวกับว่าอะไรก็ดี อะไรก็เหมาะสมไปหมด ใครหาญออกมาวิจารณ์ ก็อาจจะโดนข้อหา อิจฉาตาร้อน พวกหลุดกระแส หรืออาจจะ เลยไปถึงเรื่องไม่รักชาติไปโน่นเลยก็ได้

 

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจและน่าสงสัย คือ หากเรามามองกรณีพม่าแล้วคำถามที่สำคัญ คือ ใครคือผู้ได้ประโยชน์จากอภิมหาโครงการ ครั้งนี้ ภายใต้ภาวการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีท่าทีจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นต่อประชาชน ภาวการณ์ที่เศรษฐกิจยังเป็นทุนนิยมผูกขาดรวมศูนย์แบบเผด็จการทหาร การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดอย่าง เอื้ออาทรของไทย จะทำให้ประชาชนระดับล่างมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจริงหรือไม่ การสร้าง เขตเศรษฐกิจจะกลายเป็นเขื่อนกั้นการย้ายถิ่นข้ามชาติจากพม่าสู่ไทยได้จริงหรือไม่ การ สร้างตลาดทั้งเขตชายแดนและเขตเมือง จะทำให้ชาวบ้านพม่าเป็นอยู่ดีขึ้นจริงหรือ คำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่อาจจะต้องหาคำตอบต่อปฏิญญาพุกามอย่างจริงจัง

 

 

ภายใต้แนวคิดเสรีนิยมใหม่บวกประ ชานิยมที่มีแนวโน้มข้ามชาติไปเอื้ออาทรให้เพื่อนบ้าน ความเชื่อหลักต่อปฏิญญาพุกาม ย่อมมีความเชื่อที่ชัดเจนว่า หากเศรษฐกิจดี ขึ้น การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติจะลด น้อยลง เนื่องจากความเชื่อนี้เชื่อว่าการเคลื่อนย้ายแรงงาน เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจย่อมนำไปสู่ การสร้างชนชั้นกลาง ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตย ดังที่นักวิชาการบางท่านได้ตั้งข้อสังเกตเชิงทฤษฎีไว้

 

 

นั่นมองราวกับว่า อิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มเผด็จการในพม่าพร้อมจะโอนอ่อนผ่อนตาม ทำราวกับว่าพลเมืองพม่ามี เพียงที่พื้นที่ทางเศรษฐกิจตอนกลาง และพื้นที่เศรษฐกิจตามแนวชายแดน ทำราวกับว่าแรงงานพม่าทุกคนหนีความอดอยาก จาก ประเทศตนเข้ามาสู่ไทยเท่านั้น นั่นอาจจะมองไม่เห็นว่า พม่ายังมีพื้นที่ที่เต็มไปด้วยชน กลุ่มน้อย ที่ต้องหนีการปราบปรามของทหาร เข้าไปในป่ากลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ส่วนหนึ่งหนีเข้ามาประเทศไทยกลายเป็นผู้ลี้ภัย อีกกลุ่มหนึ่งหลบเข้ามากลายเป็นแรงงานข้ามชาติ อีกกลุ่มใหญ่ในสังคมไทย ปัจจัยที่ผลักดันให้ คนแต่ละกลุ่มเผชิญชะตากรรมที่ไม่ต่างกันนัก ส่วนหนึ่งคือ การใช้อำนาจของกลุ่มทหารที่ ปกครองประเทศ ความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลเผด็จการ ภาวะเศรษฐกิจ ภายใต้ระบอบเผด็จการที่ประชาชนแทบไม่มี โอกาสของตนเอง

 

 

การเติบโตทางเศรษฐกิจหลังปฏิญญาพุกามจึงกลายเป็นสมบัติผลัดกันชมของกลุ่มทุนใหญ่ทุนชายแดน และกลุ่มผู้ปกครอง ประเทศเท่านั้น ความต้องการสูงสุดคือกำไร ที่เกิดจากการขูดรีดแรงงานราคาถูก การถลุงทรัพยากรราคาถูกของเพื่อนบ้านท่ามกลางความร่ำรวยของคนไม่กี่กลุ่ม ถนนเส้นเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจะสร้างผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอีกสักเท่าไหร่ สนามบินขนาดใหญ่จะมีผู้คนถูกไล่รื้อมากแค่ไหน สินค้าเกษตรราคาถูกจะ สร้างประโยชน์ในชาวนาได้มากแค่ไหน เมื่อพวกเขาต้องกลายเป็นแรงงานราคาถูกในที่ดินของตนเอง ส่วนเกษตรกรไทยจะทำอย่างไร เมื่อพบว่าผลผลิตของตนเองกลายเป็นสินค้าราคาแพงไปเสียแล้ว ทางออกสุดท้ายคือการ ย้ายตนเองเข้าสู่การเป็นแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรที่กำลังจะผุดโผล่ขึ้น การท่องเที่ยว ที่เติบโตท่ามกลางการผุดโผล่ของโรงแรม สถานบันเทิง และเด็กสาวที่จะเข้าสู่วงจรการค้าบริการทางเพศด้วยภาวะบีบบังคับ วัฒนธรรมของชาวบ้านชนเผ่าในพม่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาสู่โรงแรมห้าดาว พลังทางวัฒนธรรม พลังทางชุมชนก็จะกลายเป็นสินค้าของตลาดโลกต่อไป การพัฒนาทรัพยากรบุคคลก็จะมีเพียงลูกหลาน หรือผู้สวามิภักดิ์ต่อรัฐเท่านั้น ที่จะได้รับโอกาสมาเรียนต่อที่เมืองไทย คนทั่วไปก็จะเกณฑ์เข้าสู่การพัฒนาแรงงานให้เป็น แรงงานราคาถูกที่ทำงานดีต่อไป

 

 

สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงร่างภาพสะท้อนอีกด้านหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้น และจะไม่โผล่ในการแถลงข่าวการสัมมนานานา ชาติครั้งใดของปฏิญญาพุกามที่จะเกิดขึ้น ข้อสังเกตนี้ไม่ได้มองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มุ่งนำพม่าเข้าสู่โลกาภิวัฒน์ จะมีแต่ข้อเสียแต่ตั้งคำถามต่อความพร้อมของประชาชนในระดับล่างว่าพวกเขาพร้อมหรือไม่ที่จะ ไหลไปกับกระแสโลกที่เชี่ยวกราก เมื่อพวกเขายังไม่มีสิทธิที่จะคิดจะทำอะไรได้มากกว่า ที่รัฐบาลอนุญาต เมื่อพวกเขายังไม่มีโอกาสที่ จะออกมาบอกว่า พวกเขาต้องการอะไรจาก ปฏิญญาพุกาม สิ่งที่บอกว่าพวกเขาจะเป็น อยู่ดีขึ้น จึงเป็นเพียงคำพูดอันหวานหูของ ผู้นำที่นึกหน้าพวกเขาไม่ออกตอนจรดปลาย ปากกาเซ็นชื่อลงในปฏิญญาอันน่าภูมิใจนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23882เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2006 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ชาวบ้านแถวสังขละบุรี เมืองกาญจน์ เคยบอกกับผมว่า ถ้าพม่าเป็นประชาธิปไตย เขาจะไปทำมาหากินที่พม่า.. ก็เพราะทรัพยากรธรรมชาติ ที่ยังมีอยู่มาก ก็คงมีมากกว่าไทย.. แต่เราก็ค่อยๆ หาช่องทางสูบทรัพยากรเพื่อนบ้านเข้ามาเรื่อยๆ.. คนของเขา ป่าไม้ แหล่งน้ำ ..เอาแต่ประโยชน์เข้าตน.. เมื่อไหร่จะรู้จักพอกันซะทีนะ..
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท