ความเป็นมาของ NUKM


                วันนี้ผมขอให้โอ (รัตน์ทวี อ่อนดีกุล) ช่วยขออนุญาตอาจารย์มาลินี เปลี่ยนชื่อชุมชน 9 CoPs plus office เป็น NUKM blog เพื่อให้จำและเรียกง่ายขึ้น แต่ให้คงคำสำคัญนี้ไว้ในคำอธิบายรายละเอียดชุมชน พร้อมให้ช่วยประสานงานผู้บริหาร CITCOMS เพื่อทำ Icon ของ NUKM blog ในหน้าแรกของ NU Website ให้อยู่ใกล้ ๆ กับสายตรงถึงท่านอธิการบดี เพื่อให้เป็นที่รู้จัก และขยายฐานการรับรู้เรื่อง KM ให้มากขึ้น พอถึงตอนนี้ทำให้ผมอยากเล่าที่มาของ NUKM สำหรับท่านที่ยังใหม่ ที่เพิ่งเปิด NUKM blog จะได้ทราบความเป็นมาของ NUKM ผมจึงขอนำเอาบทความที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548 มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง ดังนี้ครับ

บทความ NUKM : การจัดการความรู้มหาวิทยาลัยนเรศวร
                
                หลังจากได้พยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ KM มานานพอสมควร มหาวิทยาลัยนเรศวรก็ได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะใช้ประโยชน์จาก KM มาช่วยในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยในทุก ๆ ด้านให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
                ต้องยอมรับว่าเราจด ๆ จ้อง ๆ และลังเลอยู่นานก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะนำ KM มาใช้อย่างจริง ๆ จัง ๆ เนื่องจากไปเข้าใจเอาเองว่าคงไม่มีอะไรใหม่หรือแตกต่างไปจาก QA ISO TQM QCC BSC และอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ซึ่งถ้านำมาใช้ทั้งหมดทุกอย่าง โดยไม่รู้จักประยุกต์ใช้คงยุ่งวุ่นวายไปทั้งองค์กร เพียงแค่ที่เราต้องทำตามกฎหมายหรือแนวทางของประเทศเราก็ยุ่งวุ่นวายกันมากพอสมควรอยู่แล้ว เช่น QA (สมศ.) ระบบควบคุมภายใน (สตง.) คำรับรองปฏิบัติราชการ (กพร.) การประเมินผู้บริหาร (สภามหาวิทยาลัย)
                ต้องขอบพระคุณ สคส. (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) โดยเฉพาะท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ พาณิช และท่านอาจารย์ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ที่ให้ความกรุณาสาธิตให้เราดู ให้เราได้เรียนรู้ด้วยตนเองว่าจริง ๆ แล้ว KM มันคืออะไร และจะมีประโยชน์อย่างไรต่อตัวเอง ต่องาน ต่อมหาวิทยาลัย และต่อประเทศชาติ โดยท่านได้มาช่วยจัดกิจกรรม KM ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยใช้สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นศูนย์กลาง และเรียกกิจกรรมนี้โดยย่อว่า  HKM ต่อมาได้มาช่วยจัดมหกรรม KM ในเขตภาคเหนือตอนล่างที่มหาวิทยาลัยนเรศวร นอกจากนี้เมื่อมีกิจกรรม KM ภายนอกมหาวิทยาลัยที่น่าสนใจ ท่านก็จะเชิญชวนและอำนวยโอกาสให้เราอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพื่อให้เราได้เรียนรู้เรื่อง KM  ทั้งหมดนี้ทำให้เราค่อย ๆ ซึมซับความรู้ความเข้าใจและเห็นประโยชน์ของ KM จนไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่รีบเรียนรู้ให้มากยิ่งขึ้นและรีบนำเอามาใช้ให้เกิดผลอย่างจริง ๆ จัง ๆ
                วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม 2547 น่าจะมีความสำคัญและมีความหมายมาก ไม่เฉพาะสำหรับ KM ในมหาวิทยาลัยนเรศวร แต่รวมไปอีก 4 มหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และอีกหนึ่งสถาบันคือ สคส. เนื่องจากเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ 5 มหาวิทยาลัยและ สคส. ได้มาลงนามความร่วมมือด้าน  KM ร่วมกัน ที่สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และเรียกกิจกรรมนี้โดยย่อว่า UKM และวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 25-26 ธันวาคม 2547 สคส. ก็ได้กรุณาช่วยจัดให้มีกิจกรรมสร้าง CKO และ KF ให้กับทั้ง 5 มหาวิทยาลัยโดยทันที โดยแต่ละมหาวิทยาลัยส่งตัวแทนเข้าร่วมแห่งละ 8-10 คน มหาวิทยาลัยนเรศวรเองส่งผู้แทนเข้าร่วม 8 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรองคณบดีที่รับผิดชอบด้านประกันคุณภาพการศึกษาจากคณะต่าง ๆ
                 หลังการอบรม ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยนเรศวรทั้ง 8 คนมั่นใจและเห็นพ้องกันว่า KM จะเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ที่ทรงพลัง ที่จะช่วยต่อยอดงานเดิมที่เราทำกันอยู่ให้สามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน ที่มั่นใจก็เนื่องจากว่างานเดิมที่เราทำกันอยู่หลายอย่างโดยเฉพาะงานด้าน QA จะมีลักษณะที่สอดคล้องและต่อกันได้กับแนวความคิดของ KM และเรากำลังอิ่มตัวกับวิธีการเดิม ๆ กำลังมองหาอะไรใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาให้ก้าวกระโดดและยั่งยืนยิ่งขึ้น สรุปว่า KM มาได้ถูกจังหวะและตรงความต้องการพอดี ถึงจุดนี้ต้องขอกราบขอบพระคุณ สคส. โดยเฉพาะท่านอาจารย์หมอวิจารณ์อีกครั้งที่กรุณานำ KM มาให้เรารู้จัก
                เราทั้ง 8 ปรึกษากันว่าเมื่อกลับไปมหาวิทยาลัยจะต้องรีบช่วยกันจัดทำแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการด้าน KM เสนอมหาวิทยาลัยและต้องรีบจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มจำนวน CKO และ KF อีกประมาณ 10 เท่าหรือประมาณ 80 คน โดยคิดจาก ประมาณ 40 คน จากทั้งหมด 20 คณะ และประมาณ 40 คนจากทั้งหมด 20 หน่วยงานสายสนับสนุน และจะต้องพิถีพิถันในการคัดคนเข้ามาอบรม ซึ่งในขณะที่เขียนบทความนี้ มหาวิทยาลัยได้อนุมัติแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการดังกล่าวแล้ว และในวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 สคส. (อาจารย์ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด) จะกรุณาไปช่วยเป็นวิทยากรเพื่อสร้าง CKO และ KF ให้ได้ตามเป้าหมาย
                มีเรื่องที่น่าสังเกตและน่าสนใจเป็นพิเศษคือ ผู้แทนทั้ง 8 จากมหาวิทยาลัยนเรศวรมีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังทุกท่านว่าท่านได้นำ KM กลับไปใช้ที่คณะตัวเองอย่างไรบ้าง และแต่ละท่านดูจะภาคภูมิใจที่ได้ทำไปเช่นนั้น และอีกเรื่องผมยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัดคือ ทำไมกระแสความต้องการความรู้ด้าน KM ในมหาวิทยาลัยนเรศวรจึงได้เพิ่มขึ้นมาก มากจนทำให้เกิดปัญหากับงานที่จะจัดในวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 เพราะวันนั้นผมตั้งใจที่จะไม่เปิดทั่วไป จะเชิญมาเฉพาะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารคณะ ผู้บริหารหน่วยงานที่จะเกี่ยวข้องกับ KM โดยตรงเท่านั้นประมาณ 80 คน แต่มีคนมาขอเข้าร่วมงานมากจากทุกที่ทุกระดับไม่เว้นแม้กระทั่งนิสิตบัณฑิตศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ทั่วไปที่ผมไม่คาดมาก่อนว่าเขาจะสนใจ ทำให้ต้องค่อย ๆ พูดจาปฏิเสธไป และรับปากว่าจะจัดเพิ่มเติมให้อีกครั้งเมื่อมีโอกาสอันควร แม้ว่าพยายามปฏิเสธไปจำนวนมากแล้ว ยอดขณะนี้ยังอยู่ที่ 114 คน ในขณะที่สถานที่และเอกสารต่าง ๆ เราเตรียมไว้ไม่เกิน 100 คน บางคนขนาดจะขอเอาเก้าอี้มาเองและไม่ขอรับประทานอาหารว่าง
                ยังมีกิจกรรมด้าน KM ของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่จะทะยอยออกมาอีกหลายอย่าง โดยช่วงแรก ๆ จะเน้นที่สร้างความเข้าใจและสร้างคน (CKO และ KF)  ควบคู่กันไปและต่อไปจะเน้นมากขึ้นเป็นลำดับคือการสร้างวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันภายในองค์กร (KP และ CoP) เพื่อช่วยกันพัฒนาตนเอง พัฒนางาน พัฒนาองค์กร ให้สามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน ให้ทุกคนในองค์กรได้มีความสุขกับการทำงาน ให้ทุกคนได้ภาคภูมิใจร่วมกันในผลสำเร็จของงาน เรากำลังรอคอยวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2548 ที่จะได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับ UKM ครั้งที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และต่อไปในครั้งที่ 3 เรายินดีเป็นเจ้าภาพที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งถ้าไม่ติดขัดในเรื่องใดผมขออนุญาตกำหนดการไว้เป็นวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2548 เป็นเบื้องต้นก่อน
                อีกสองสามเรื่องที่จะยังไม่ขอเล่าในรายละเอียดในที่นี้ แต่จะขอเก็บไว้เล่าในโอกาสต่อไป เช่น เรื่อง ตลาดนัดความรู้ (Knowledge Fair) ในวันสถาปนาครบรอบ 15 ปี มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง Laboratory KM ในสถาบันอุดมศึกษาในเขตภาคเหนือตอนล่าง (LKM) ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ได้กรุณาชี้แนะและให้คำปรึกษาเช่นเคย วันนี้ขอจบเรื่อง KM ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรเท่านี้ก่อนครับ โอกาสหน้าพบกันใหม่  สุดท้ายขอขอบคุณครับที่กรุณาให้ความสนใจและอ่านมาจนจบ  
                                                7  กุมภาพันธ์ 2548


วิบูลย์ วัฒนาธร

คำสำคัญ (Tags): #ukm#nukm
หมายเลขบันทึก: 2388เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2005 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท