การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 3/2549 (3.1) ต่อ


กองทุนธุรกิจชุมชน เป็นความฝันของพวกเรา เราจึงสร้างขึ้นในแผนที่ภาคสวรรค์ ต่อไปเราจะต้องทำธุรกิจ แต่ว่าถ้าหากเราไม่มีการกระจายเงินมากันเอาไว้ในส่วนนี้แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนทำธุรกิจชุมชน
            ในวาระที่ 3 ของการประชุมเครือข่ายฯสัญจร  ครั้งที่ 3/2549  เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับประเด็นการแยกการบริหารจัดการเงินของสมาชิกทั้ง 3 กลุ่ม วันนี้เรามาดูกันต่อดีกว่าค่ะว่าการประชุมจะดำเนินต่อไปอย่างไร
            วาระที่ 3  เรื่องสืบเนื่อง (ต่อ)
            ผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งได้กล่าวเพิ่มเติมว่าขอให้ทั้ง 3 กลุ่มมาเคลียร์กับเครือข่ายฯในเรื่องบัญชีและเงินว่าทั้ง 3 กลุ่มส่งเงินมาที่เครือข่ายฯเท่าใด  และเอาไปจากเครือข่ายฯเท่าใด  เพื่อที่จะทำให้บัญชีและเงินของเครือข่ายฯเป็นปัจจุบัน
            จากนั้น  ประธานกล่าวต่อไปว่า  ประเด็นก็คือ  มีเงินที่ไหลเข้ามาในเครือข่ายฯ  และเงินที่ไหลออกจากเครือข่ายฯ  ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่า  “เครือข่าย”  คือ  พวกเรา  ต้องเคลียร์ในจุดนี้ก่อนว่า  ผมพยายามพูดมาตลอดว่าเครือข่ายฯไม่ใช่สามารถ (ชื่อประธาน) ผมไม่ได้จับต้องเงินของพวกท่านเลยแม้แต่สลึงเดียว  เงินเข้ามาสู่บัญชีต่างๆก็ต้องมีบัญชีรับ-บัญชีจ่าย  ทีนี้ก็ต้องมาเคลียร์กับคณะกรรมการกองทุนต่างๆ  เอากฎระเบียบของกองทุนต่างๆมาคุยกันให้ชัดเจน  ให้เข้าใจ  เรื่องทำความเข้าใจก็คงคุยกันในเบื้องต้นแค่นี้ก่อนนะครับ  คงไม่เป็นปัญหา 
            ในเรื่องกองทุนต่างๆนั้น  ประธานได้เปิดเวทีให้กับรองประธานและคณะกรรมการกองทุนต่างๆ  อธิบายกองทุนที่ตนเองรับผิดชอบดูแลอยู่  ลุงคมสันในฐานะรองประธาน  และเป็นผู้ดูแลกองทุนกลาง  ได้อธิบายเกี่ยวกับเงินในกองทุนกลางว่า  ในแต่ละเดือนกลุ่มต่างๆจะส่งเงินเข้ามาที่เครือข่ายฯเพื่อกันไว้เป็นกองทุนกลาง 20% (คิดจากเงินที่เก็บจากการออมของสมาชิกวันละ 1 บาท ใน 1 เดือน เป็น 100% เป็นกองทุนกลางที่จะต้องส่งมาที่เครือข่ายฯ 20%) ซึ่งกองทุนกลาง 20% นี้จะคิดเป็น 100% แล้วแบ่งย่อยออกเป็นอีก 4 กองทุน   คือ 
            1.กองทุนเสริมสภาพคล่อง 30%
            2.กองทุนธุรกิจชุมชน 30%
            3.กองทุนหมุนเวียน 30%
            4.กองทุนค้ำประกัน 10%
            คณะกรรมการที่รับผิดชอบกองทุนนี้ถูกเปลี่ยนมือมาตลอด  ตอนนี้มาอยู่ที่ผม (ลุงคมสัน) การที่แบ่งเป็นกองทุนย่อยๆเหล่านี้มีความหมายทุกกองทุน  กล่าวคือ 
            กองทุนหมุนเวียน   มีประโยชน์สำหรับกลุ่มที่มีกองทุนหมุนเวียนอยู่  หากกลุ่มใดที่ดำเนินการกองทุนหมุนเวียน (เป็นกองทุนที่ให้สมาชิกกู้ยืมเงิน) แล้วเงินไม่พอให้สมาชิกกู้ยืม  กลุ่มก็สามารถมากู้ยืมกับทางเครือข่ายฯได้  ตรงนี้ก็จะทำให้เครือข่ายฯได้ดอกผลจากการที่ให้กลุ่มต่างๆกู้ยืม  ซึ่งดอกผลเหล่านี้ก็จะนำมาใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ  อาทิ  เอาดอกผลไปสมทบกับกองทุนทดแทน (ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในด้านเอกสารของเครือข่ายฯ  หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ  เช่น  ค่าอาหาร  เป็นต้น) 
            ส่วนกองทุนเสริมสภาพคล่อง  เอาไว้ใช้เมื่อกลุ่มใดที่เงินจัดสวัสดิการไม่พอ  ก็สามารถทำเรื่องมาขอกู้ยืมเงินในกองทุนนี้ได้  โดยกลุ่มที่ต้องการใช้เงินในกองทุนนี้จะต้องส่งรายงานฐานะทางการเงินของกลุ่มขึ้นมาว่าตอนนี้ฐานะการเงินของกลุ่มเป็นอย่างไร  กองทุนสวัสดิการขาดเงินจริงหรือไม่  เงินในกองทุนสวัสดิการที่ผ่านมาเอาไปจ่ายอะไรบ้าง  นอกจากนั้นแล้วยังต้องทำรายละเอียดส่งเข้ามาในเครือข่ายฯว่าเมื่อได้เงินไปแล้วจะเอาไปทำอะไรบ้าง  เพื่อที่เครือข่ายฯจะได้ทราบว่ากลุ่มนำเงินไปใช้ผิดประเภทหรือไม่ เป็นการให้ยืม  ไม่ใช่ให้กู้ 
            สำหรับกองทุนธุรกิจชุมชน  เป็นความฝันของพวกเรา  เราจึงสร้างขึ้นในแผนที่ภาคสวรรค์  ต่อไปเราจะต้องทำธุรกิจ  แต่ว่าถ้าหากเราไม่มีการกระจายเงินมากันเอาไว้ในส่วนนี้แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนทำธุรกิจชุมชน  (นี่คือ ที่มาที่ว่าทำไมต้องกระจายเงินกองทุนกลางบางส่วนมากันไว้เป็นกองทุนธุรกิจชุมชน) ตอนนี้หลายกลุ่มก็เริ่มทำธุรกิจชุมชนกันแล้ว  โดยนำเงินที่มีอยู่ในกลุ่มมาทำกัน (เงินกองทุนธฑุรกิจชุมชนจะมีอยู่ทั้งในส่วนของชุมชน  ซึ่งกันเงินออกมา 30% จากเงิน 100% ที่เก็บจากสมาชิกวันละ 1 บาท  และในส่วนของเครือข่ายฯ  ซึ่งนำมาจากการเอาเงินกองทุนกลางที่แต่ละกลุ่มส่งเข้ามาที่เครือข่ายฯ 20% มากระจายออกเป็นกองทุนย่อยๆ) ในขณะที่อีกหลายกลุ่มยังไม่ได้ทำ  แต่เอาเงินมาใช้จ่ายในการเสริมสภาพคล่อง  (ในขณะที่เครือข่ายฯก็ยังไม่ได้ทำอะไรในส่วนของธุรกิจชุมชน)
            ขณะที่กองทุนค้ำประกัน  คงยังต้องมีเอาไว้  ไม่ไปไหน   ตอนนี้มีเงินอยู่น้อยมาก  ไม่กี่ร้อยบาท  ต่อไปเราคงต้องมานั่งคุยกันว่าจะยังคงกองทุนนี้ไว้หรือจะตัดออกไป
            เมื่อลุงคมสันกล่าวจบ  พี่นก  ยุพิน  ได้ยกมือขอกล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า   ในเรื่องธุรกิจชุมชน  ตอนนี้ดูแล้วเห็นว่าเครือข่ายฯยังรอเวลาอยู่  ซึ่งอาจมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เครือข่ายฯยังทำอะไรไม่ได้  ยังต้องรออยู่  นกเลยอยากจะขอยกตัวอย่างในเรื่องการทำร้านค้าสวัสดิการชุมชนที่ตอนนี้ทางกลุ่มบ้านดอนไชยได้ดำเนินการไปแล้ว  ก้าวแรกที่เราเริ่มทำเราก็ได้กำไรแล้ว  เดือนที่สองก็ได้กำไรเพิ่มขึ้นอีก  เดือนที่สามก็เพิ่มขึ้นอีก (ดูรายละเอียดได้ที่ gotoknow.org/donchai ค่ะ  ตอนนี้ทางกลุ่มได้ส่งรายละเอียดมาให้ผู้วิจัยแล้ว  จะพยายามบันทึกให้เป็นปัจจุบันที่สุดหลังสงกรานต์นี้ค่ะ)  คือ  เรารู้ว่าชุมชนเรามีความต้องการอะไร  เราควรจะทำอะไร  นกดูแล้วว่าตอนนี้มันช้าถ้าเรามัวแต่เคลียร์ (บัญชี) กันอยู่  ถ้ารอเวลาก็จะยิ่งช้า  เหตุการณ์ทุกวันนี้มันเปลี่ยนแปลงตลอด 
            เมื่อพี่นกพูดมาถึงตรงนี้  ประธานได้พยายามตัดบท  โดยกล่าวว่า โอเค  ลุงคมสัน  ได้ขออนุญาตที่ประชุมแล้วกล่าวว่า  ในเรื่องธุรกิจชุมชนจริงๆแล้วผมคิดว่าเป็นเรื่องของกลุ่มหรือผู้นำกลุ่มในการตัดสินใจมากกว่า  เครือข่ายฯจริงๆแล้วทำหน้าที่แค่เป็นผู้ให้คำปรึกษาหรือสนับสนุนในเรื่องเงิน  จริงๆแล้วอยู่ที่ว่าคณะกรรมการกลุ่มต้องการที่จะทำอะไร  ตอนนี้ต่างคนต่างมอง  ต่างคนต่างพูด  คือ  มีแต่พูดแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจทำอะไรลงไป  ยังไม่มีการเสนอโครงการอะไรขึ้นมาที่เครือข่ายฯ  เพราะ  ต่างคนต่างดู  อีกอย่างหนึ่งผมคิดว่าคงจะมีความคิดว่าถ้าเราทำของเราเองก็จะเป็นสัดส่วนของเรา  แต่ถ้าเราเสนอตัวนี้เข้ามา  คงคิดว่าเครือข่ายฯก็คงปล่อยให้เราทำ  เหมือนอย่างตอนนี้ใครทำก็ทำ  ที่ไม่ทำก็ไม่ทำ  นี่อาจเป็นความวิตกกังวลของแต่ละกลุ่มก็ได้ที่ว่าเมื่อเสนอแล้วก็ต้องเป็นคนทำ
            กำลังเข้มข้นขึ้นทุกขณะค่ะ  แต่จะขอตัดตอนเล่าแค่นี้ก่อนค่ะ  เพราะ  ยังมีเรื่องเล่าอีกยาว  ในส่วนต่อไปจะเล่าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการบริหารจัดการกองทุนที่กำลังจะเกิดขึ้นค่ะ  อดใจรอสักนิดนะคะ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23869เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2006 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท