วิธีละความโกรธ


“โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ” แปลว่า “ฆ่าความโกรธได้แล้วย่อมเป็นสุข”

วิธีละความโกรธ
            ความโกรธเมื่อเกิดขึ้นแก่ผู้ใด  ทำให้จิตใจของผู้นั้นเร่าร้อน เป็นทุกข์ ไม่สบายใจ นอนไม่หลับ ฝันร้าย ถ้าโกรธมาก ๆ อาจทำให้ต้องไปฆ่าผู้อื่น ติดคุกติดตารางเป็นทุกข์ทั้งแก่ตัวเอง ทั้งแก่ผู้อื่น จะเจริญเมตตาจิตก็ลำบากเพราะเมื่อเจริญไปแก่ผู้ที่เราโกรธอยู่ ก็เจริญไม่ขึ้น  แต่ถ้าเราละความโกรธได้ เราก็จะเป็นสุข  ดังพระบาลีว่า “โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ”  แปลว่า “ฆ่าความโกรธได้แล้วย่อมเป็นสุข” ฉะนั้น อาตมาจะได้นำวิธีละความโกรธที่ท่านแสดงไว้ใน “คัมภีร์วิสุทธิมรรค”  มาแนะนำท่านผู้อ่าน มีถึง ๙ วิธี ด้วยกัน คือ
๑.     ระลึกถึงโทษของความโกรธ
บุคคลผู้มักโกรธนี้ ถูกความโกรธครอบงำแล้ว โกรธเต็มประดา ย่อมประพฤติชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจครั้นประพฤติชั่วด้วยกายวาจาใจแล้ว ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ตายไปแล้วย่อมเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ ภูมิ หรือเราจะระลึกถึงโอวาทที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เช่นว่า “ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่โกรธ (ก่อน) เพราะเหตุที่โกรธตอบนั้น ผู้นั้นกลับเลวกว่าผู้ที่โกรธ (ก่อน) นั้นเสียอีก ผู้ไม่โกรธตอบผู้โกรธ (ก่อน) ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธขึ้นมาแล้วมีสติระงับใจเสียได้ (ไม่โกรธตอบ) ผู้นั้นเชื่อว่าประพฤติเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่นและผู้ที่มัวโกรธอยู่อย่างนี้ ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย”
๒.   ระลึกถึงความดีของเขา
ถ้าวิธีที่ ๑ ไม่สำเร็จ ลองวิธีที่ ๒ คือ ระลึกถึงความดีของเขา เพราะบางคนความประพฤติทางกาย เขาปฏิบัติดีเป็นอันมาก ชนทั้งปวงก็รู้ได้ แต่วาจาและใจไม่เรียบร้อยเราก็ระลึกถึงแต่ความดีทางกายของเขาอย่างเดียว บางคนดีทางวาจาอย่างเดียว พูดจาอ่อนหวาน พูดให้คนอื่นสบายใจมีหน้าชื่นบาน ทักก่อน แต่ความประพฤติทางกายและใจไม่เรียบร้อย เราก็อย่าคิดถึงทางกายและใจ ระลึกถึงแต่ความดีทางวาจาของเขาอย่างเดียว บางคนดีทางใจเท่านั้นความเรียบร้อยทางใจของเขานั้น ปรากฏแก่ชนทั้งปวงในการทำกิจต่าง ๆ เช่น การไหว้พระเจดีย์ เขาย่อมไหว้โดยเคารพไม่นั่งใจลอย โงกง่วงอยู่ในที่ฟังธรรม เราก็ระลึกถึงแต่ความเรียบร้อยทางใจของเขาอย่างเดียวเถิด สำหรับบางคน ประพฤติไม่ทั้งทางกาย วาจา ใจ เราควรตั้งความกรุณาในบุคคลนั้นด้วยคิด (สงสาร) ว่า “เวลานี้เขาอยู่ในโลกมนุษย์ แต่ว่าอีกไม่นาน เขาก็จะต้องไปเพิ่มให้มหานรกทั้ง ๘ ขุม เต็มขึ้น”  เมื่อทำใจเช่นนี้ ความอาฆาต โกรธแค้น ย่อมระงับลงได้ เพราะอาศัยความกรุณา
๓.    พึงสอนตนว่า “ความโกรธคือการทำความทุกข์ให้ตนเอง”
เช่นว่า “เจ้าไปพะนอความโกรธ อันเป็นตัวตัดมูลรากของศีลทั้งหลายที่เจ้ารักษาเสีย ขอถามหน่อย ใครโง่เหมือนเจ้าบ้างเล่า เจ้าโกรธว่า คนอื่นทำกรรมป่าเถื่อน (กรรมชั่ว) ให้อย่างไรหนอ เจ้าจึงปรารถนาจะทำกรรมเช่นเดียวกันนั้นเสียเองเล่า ถ้าคนอื่นอยากให้เจ้าโกรธ จึงทำความไม่พอใจให้ไฉนเจ้าจึงจะช่วยทำความตั้งใจของเขาให้สำเร็จ โดยปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นเล่า น่าตำหนิ เจ้าโกรธแล้วจักได้ทำทุกข์ให้แก่เขาหรือไม่ก็ตาม แต่เดี๋ยวนี้ เจ้าก็ได้เบียดเบียนตนเองด้วยโกรธทุกข์ (ความทุกข์ใจเพราะความโกรธ) อยู่แท้ ๆ”
๔.    พิจารณาความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน
ถ้ายังไม่หายโกรธ พึงพิจารณาให้เห็นว่าตนและคนอื่นต่างมีกรรมเป็นของ ๆ ตน เช่นว่า เจ้าโกรธเขาแล้ว เจ้าจักทำอะไร กรรมที่มีโทสะเป็นเหตุ จักเป็นไปเพื่อความเสื่อมเสียแก่ตัวเจ้าเองมิใช่หรือ เจ้าจักทำกรรมใดไว้ เจ้าจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น กรรมอันนี้จะสามารถให้สมบัติทั้งหลายมีความเป็นพระราชา พระอินทร์ เป็นต้น ก็หามิได้เลย กรรมนี้มีแต่จะทำให้เจ้าเสวยทุกข์ในเรือนจำ ทุกข์ในนรกเป็นต้น อย่างนี้แล้วจึงพิจารณาถึงฝ่ายคนอื่นบ้าง ดังที่พิจารณาในฝ่ายตน
๕.   พิจารณาถึงความประพฤติในกาลก่อนของพระศาสดา
เช่นว่า พระศาสดาของเจ้าในกาลก่อนแต่การตรัสรู้แม้เป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญพระบารมีอยู่ตลอด ๔ อสงไขยกับแสนกัป มิได้ทรงยังจิตให้คิดประทุษร้ายในบุคคลทั้งหลายผู้เป็นศัตรู แม้เป็นผู้ปลงพระชนม์เอาในชาตินั้น ๆ เช่น เรื่องในขันติวาทีชาดก พระโพธิสัตว์  เมื่อพระราชาพระนามว่ากลาพุ ผู้โง่เขลาถามว่า สมณะ แกกล่าววาทะอะไร ตอบว่าอาตมากล่าววาทะคือขันติ (ความอดทน) ถูกโบยด้วยหวายทั้งหนามแล้ว ตัดมือและเท้าเสีย ก็ทรงมิได้ทำแม้แต่อาการขุ่นเคือง หรือเรื่องในมหากปิชาดก พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกระบี่ใหญ่ (ลิง) เมื่อถูกชายผู้หนึ่งผู้ที่ตนเองช่วยฉุดขึ้นจากเหวรอดชีวิตแล้ว ยังคิดร้ายว่า “ลิงนี่ก็เป็นอาหารของพวกมนุษย์เหมือนสัตว์ป่าอื่น ๆ ในป่านั่นเอง อย่ากระนั้นเลย เราก็หิวแล้ว ฆ่าลิงตัวนี้กินเสียเถิดน่ะ เรากินอิ่มแล้ว จะถือเอาเนื้อมันเป็นเสบียงไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จักข้ามทางกันดารไปได้เสบียงก็จักมีแก่เราด้วย”  ดังนี้แล้ว ยกก้อนหินทุ่มหัวเอากระบี่ใหญ่ก็ยังมองชายผู้นั้น ด้วยดวงตาอันนองด้วยน้ำตากล่าวกะเขาด้วยดีว่า นายจ๋า นายอย่าทำกะข้าซิ น่าติ! นายทำกรรมเช่นนี้ได้ (ลงคอ) นายก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีอายุยืนควรแต่จะห้ามคนอื่น (มิให้ทำร้ายกัน แต่นี่นายกลับทำร้ายเสียเอง) ไม่ยังจิตให้คิดร้ายในชายผู้นั้น ไม่คิดถึงความทุกข์ของตนเลย  ยังพาชายผู้นั้นให้ถึงที่ ๆ ปลอดภัยเสียด้วย
๖.     พิจารณาถึงความที่เคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏ
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า สัตว์ผู้ที่ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นพี่น้องชาย ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิง ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดา มิใช่หาได้ง่ายเพราะฉะนั้น เราพึงยังจิตอย่างนี้ให้เกิดขึ้นในผู้นั้นว่า “ผู้นี้เป็นมารดาในอดีตของเรา รักษาเราอยู่ในท้อง ไม่แสดงอาการเกลียดสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย มีอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย และน้ำมูล เป็นต้น ของเรา เช็คได้ราวกะจันทร์แดง (ต้นไม้หอมชนิดหนึ่ง) ให้เรานอนแนบอก อุ้มเราไป เลี้ยงเรามา...เป็นบิดาในอดีตของเรา ประกอบอาชีพต่าง ๆ ทำงานที่ยากอื่น ๆ บ้างเพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา คิดว่า จักเลี้ยงลูกน้อยรวบรวมทรัพย์ด้วยการงานนั้น ๆ เลี้ยงเรามา...  การทำใจร้าย โกรธเคืองในบุคคลนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย”
๗.   พิจารณาอานิสงส์เมตตา
ถ้ายังไม่อาจดับความโกรธได้ ลองพิจารณาอานิสงส์ของเมตตา ถ้าเราละความโกรธได้ มีจิตเมตตาปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข ก็จะได้รับอานิสงส์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีถึง ๑๑ อย่าง คือ
๑.     หลับเป็นสุข
๒.    ตื่นเป็นสุข
๓.    ไม่ฝันร้าย
๔.    เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
๕.    เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖.     เทวดาย่อมรักษาผู้นั้น
๗.    ไฟ พิษ หรือศัสตรา ย่อมไม่ทำร้ายผู้นั้น
๘.    จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว
๙.     สีหน้าผ่องใส
๑๐. ไม่หลงตาย คือมีสติก่อนตาย
๑๑. เมื่อไม่บรรลุคุณวิเศษที่ยิ่ง ย่อมเข้าถึงพรหมโลก
๘.   ใช้วิธีแยกธาตุ
พึงสอนตนอย่างนี้ว่า “ตัวเจ้าเมื่อโกรธบุคคลนั้นโกรธอะไร  โกรธผมหรือ หรือว่า โกรธขน  โกรธเล็บ ฯลฯ หรือมิฉะนั้น ก็โกรธธาตุดิน โกรธธาตุน้ำ โกรธธาตุไฟ หรือโกรธธาตุลม เมื่อเห็นว่ามีแต่ธาตุ แล้วเราจะโกรธไปทำไม”
๙.     วิธีสุดท้าย-ทำการให้และการแบ่ง
ถ้ายังไม่หายโกรธอีก พึงให้ของ ๆ ตนแก่เขา รับของ ๆ เขามาเพื่อตนเอง แต่ถ้าเขามีอาชีพไม่บริสุทธิ์ ก็พึงให้แต่ของ ๆ ตนไปฝ่ายเดียว อย่ารับของ ๆ เขาเลย เมื่อเราทำไปอย่างนั้นความอาฆาตในบุคคลนั้น จะระงับไปได้ ส่วนความโกรธของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะติดตามมาตั้งแต่อดีตชาติ ก็จะระงับไปในทันทีเหมือนกัน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ ททมาโน ปิโย โหติ   แปลว่า “ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก (ของผู้รับ)”
                           เขาว่าเรา    เราอย่าโกรธ              ลงโทษเขา
                        ในเมื่อเรา        นี้ไม่เป็น                     เช่นเขาว่า
                        หากเราเป็น     จริงจัง                        ดังวาจา
                        เมื่อเขาว่า        อย่าโกรธเขา              เราเป็นจริง  ”

คัดจากหนังสือ             ตายแล้วไปไหน ?
เรียบเรียงโดย               พระมหาสุสวัสดิ์  จนฺทปญฺโญ ป.ธ.๙

พิมพ์โดย                     สุวิภา  กลิ่นสุวรรณ์

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23772เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2006 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จะนำไปใช้อย่างแน่นอนค่ะ ขอบคุณมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท