ของฝาก "วันสงกรานต์"


สงกรานต์ประเพณีไทย ใช้ "น้ำ" สร้างไมตรี ห่างไกลหลีกหนี "น้ำเมา"

สงกรานต์ประเพณีไทย ใช้ “ น้ำ ” สร้างไมตรี ห่างไกลหลีกหนี “ น้ำเมา ”      

“ สงกรานต์ ” เป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่ของไทย ซึ่งคนไทยยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ในสังคม และสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยอย่างเด่นชัด เช่น ความกตัญญูกตเวที ความเอื้ออาทร ความมีไมตรีซึ่งกันและกันโดยใช้ “ น้ำ ” เป็นสื่อ

            โดยเหตุที่ “ น้ำ ” เป็นเครื่องชำระล้างสิ่งสกปรกและมลทิน และถือว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ “ น้ำ ” จึงเป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีต่างๆทั้งในพิธีมงคลและอวมงคล ดังเราจะเห็นสัญลักษณ์และความเชื่อเกี่ยวกับน้ำมีปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งในเรื่องพิธีกรรม อย่างการถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ในการละเล่น เช่น การแข่งเรือ การเล่นสักวา ในประเพณี เช่น ลอยกระทง โยนบัว ชักพระ เป็นต้น และแม้แต่ประเพณีสงกรานต์ก็เป็นหนึ่งในประเพณีที่เกี่ยวข้องกับ “ น้ำ ” เช่นกัน

            การที่ “ น้ำ ” มาเกี่ยวข้องกับประเพณีสงกรานต์ คงเป็นเพราะบ้านเราเป็นสังคมเกษตรกรรม ซึ่งต้องใช้น้ำในการเพาะปลูกพืชผล ครั้นถึงราวเดือน ๕ หรือประมาณเดือนเมษายน ก็จะเป็นระยะเวลาหลังฤดูเก็บเกี่ยว อันเป็นช่วงเวลาพักผ่อน อีกทั้งเป็นวาระวันขึ้นปีใหม่พอดี จึงเป็นโอกาสในการทำบุญ และแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ รวมทั้งจัดงานรื่นเริงไปด้วย เมื่อกอปรกับอากาศร้อนในช่วงนั้น จึงมีการใช้ “ น้ำ ” สาดกันเพื่อความสนุกสนานและคลายร้อนไปในตัว ซึ่งประเทศอื่นๆที่ทำกสิกรรมเช่นเดียวกับเราอย่างมอญ เขมร พม่า ลาว อินเดียและจีนบางส่วนก็มีประเพณีสงกรานต์คล้ายๆกับบ้านเรา

            สำหรับ “ น้ำ ” ที่เราใช้ในประเพณีสงกรานต์นี้ ไม่เพียงแต่เพื่อการเล่นสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อความหมายอื่นๆอีกหลายประการ ดังที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะยกมาบอกกล่าวเพื่อทราบ ดังต่อไปนี้

            - ใช้ทำความสะอาด บ้านเรือน วัดวาอาราม และสถานที่ต่างๆก่อนวันสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใด ซึ่งในแต่ละวัน เราอาจจะไม่มีเวลามาทำความสะอาดอย่างจริงจัง พอใกล้ปีใหม่สงกรานต์ จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะชำระสะสางล้างบ้านเรือนให้สะอาดหมดจดและจัดข้าวของให้เป็นระเบียบ เรียบร้อย สวยงาม รวมทั้งอาจจะมีการรวมตัวกันในชุมชนไปทำความสะอาดศาสนสถาน โรงเรียน หรือสถานที่ทำงานของตน ถือว่าเป็นการขับไล่เสนียดจัญไรในที่ต่างๆ และเป็นการชำระจิตใจให้ผ่องใส เพื่อเตรียมรับปีใหม่ที่จะมาถึง เพราะสถานที่ที่สะอาด ย่อมทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุข สดชื่นไปด้วย

            - ใช้กรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ เป็นการระลึกถึงและแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้จากไป ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเราทำบุญให้ก็ต้องมีการสวดมนต์และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน

            - ใช้อาบน้ำ สระผม ชำระล้างร่างกายซึ่งตามธรรมดาเมื่อถึงปีใหม่ ผู้คนก็จะอาบน้ำสระผมให้สะอาดหมดจด และบางคนก็ถือเป็นโอกาสใส่เสื้อผ้าใหม่ๆอยู่แล้ว แต่สำหรับทางเหนือ เขาจะมีการอาบน้ำสระผมเป็นพิเศษด้วยการใช้น้ำส้มป่อยน้ำอบเช็ดล้างบางส่วนของร่างกายที่ถือว่าเป็นกาลกิณีในปีนั้นๆ รวมทั้งมีนำดอกไม้ที่กำหนดไว้ว่าเป็น “ ดอกพระยา ” (เป็นดอกอะไรก็ได้แล้วแต่คำทำนาย เช่น ดอกสารภี) มาเสียบผม ส่วนในภาคอีสานก็มีการกำหนด “ พระยาไม้ประจำสงกรานต์ ” โดยโหรจะทำนายไว้ว่า ปีไหนไม้ชนิดใดเป็นพระยาไม้ เช่น ไม้หว้า ไม้ยางฯลฯ ราษฎรก็จะไปถากเปลือกหรือตัดเอากิ่งไม้นั้นมาแช่ในน้ำเพื่ออาบหรือกิน ด้วยถือว่าจะช่วยให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทั้งดอกพระยาหรือพระยาไม้ เป็นความเชื่อที่เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้เกิดขึ้นในการเริ่มต้นปี ซึ่งปัจจุบันคงมีน้อยหรือแทบจะไม่มีแล้ว

            -การสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ เป็นการทำเพื่อความเป็นสิริมงคลรับปีใหม่ และคงเป็นนัยว่ารดน้ำพระพุทธรูปให้เปียกเพื่อท่านจะได้บันดาลฟ้าฝนให้ตกต้องตามฤดูกาลเพื่อการเพาะปลูกให้ได้ผล อีกทั้งเป็นโอกาสทำความสะอาดพระพุทธรูปที่เรากราบไหว้บูชาปีละครั้งเพื่อให้ท่านดูสะอาด สดใส ไม่มองดูเศร้าหมองนั่นเอง นอกจากนี้ คนสมัยก่อนจะทำกิจกรรมทางสังคมใด ก็มักจะไปทำที่วัด ดังนั้น เมื่อถึงปีใหม่จึงถือเป็นวาระพิเศษที่จะไปทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรม และใช้โอกาสนี้สรงน้ำพระสงฆ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเจ้าอาวาสหรือพระที่คุ้นเคยเพื่อขอพรท่านไปด้วย

            -การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ในปัจจุบันนอกจากญาติผู้ใหญ่แล้ว ยังรวมไปถึงผู้ที่เราเคารพนับถือ และผู้บังคับบัญชาในสถานที่ทำงานด้วย ถือเป็นการไปกราบคารวะผู้ใหญ่ ที่ผู้น้อยพึงกระทำต่อผู้อาวุโสกว่า เพื่อให้ท่านให้ศีลให้พรเป็นมงคลรับปีใหม่ แต่ทางภาคเหนือเขาจะเรียกว่า ไป “ ดำหัว ” ไม่ได้ไปขอพร แต่เป็นการไปขออโหสิกรรม เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราอาจจะไปล่วงเกินท่านด้วยกาย วาจา ใจโดยไม่ตั้งใจ จึงต้องไปขออโหสิกรรมหรือขอโทษต่อท่าน เมื่อท่านอโหสิกรรมแล้วจึงจะให้พร ซึ่งการไปรดน้ำขอพรหรือดำหัวนี้ ล้วนแล้วแต่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้น เพราะเด็กก็ได้แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน ผู้ใหญ่ก็จะให้ความเอ็นดู และไม่ว่าท่านจะให้พรหรือโอวาทก็เป็นสิ่งเตือนสติเราให้ดำรงชีวิตที่ดีขึ้นในการเริ่มต้นปีใหม่ทั้งสิ้น

            -การปล่อยปลา ช่วงสงกราต์มักเป็นหน้าแล้ง อากาศร้อนจัด ตามห้วย หนอง หรือแม้แต่ในท้องนา น้ำอาจจะงวดหรือแห้งขอด ทำให้ปลาตกคลัก และอาจต้องตายไป ดังนั้น จึงมักมีการนำปลาที่พบเห็นในลักษณะดังกล่าวไปปล่อยตามแม่น้ำ ลำคลอง ถือเป็นการเพิ่มบุญกุศล ปัจจุบันบางแห่งก็มีการปล่อยพันธุ์ปลาต่างๆลงแม่น้ำ เพื่อช่วยเพิ่มสัตว์น้ำ และเป็นการสร้างสมดุลธรรมชาติ เพราะก่อนหน้านี้ อาจมีการจับปลาจนเหลือลดน้อยลง

            -การเล่นสาดน้ำ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเด็กๆ หนุ่มๆสาวๆ เพื่อนบ้านเรือนเคียง ในชุมชนหรือต่างชุมชน จุดมุ่งหมายก็เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ และสร้างไมตรีต่อกัน และทำให้ผู้เล่นมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน มีความสุข

            จากตัวอย่างข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า “ น้ำ ” ในประเพณีสงกรานต์ล้วนเป็นการนำมาซึ่ง “ ความเป็นมงคล ” ในปีใหม่ และเป็นการสร้างเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ ตลอดจนไมตรีที่ดีต่อกันของคนในสังคม อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน “ น้ำ ” กำลังจะทำให้ “ สงกรานต์ ” กลายเป็น “ สงครามน้ำ ” ไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะการเล่นสาดน้ำกันตามที่ต่างๆที่นับวันจะกลายพันธุ์และเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปี เช่น ใช้ปืนที่มีแรงอัดสูงยิงใส่กัน อันอาจจะทำให้เกิดตาบอดหรือบาดเจ็บได้ การใช้น้ำผสมสีหรือเม็ดแมงลักสาดผู้อื่น ทำให้ติดผม ติดเสื้อผ้าสกปรกซักไม่ออก การเล่นป้ายแป้งเพื่อถือโอกาสล่วงเกินหรือลวนลามเพศตรงข้าม หรือสาดน้ำไปยังรถที่กำลังวิ่ง ทำให้รถเสียหลัก เกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งสาดน้ำไปยังผู้ที่ไม่ได้เล่นด้วยทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท เป็นคดีความกัน เป็นต้น ที่ร้ายที่สุด คือ การดื่ม “ น้ำเมา ” พวกเหล้า เบียร์ เครื่องดองของเมา แล้วครองสติไม่อยู่ เมาอาละวาด พูดจาเลอะเทอะ หยาบคาย แสดงกริยาที่ไม่เหมาะสมตามที่สาธารณะ ทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น รวมถึง “ เมาแล้วขับ ” แล้วไปชนรถหรือผู้คนจนบาดเจ็บพิการ หรือตายไปในที่สุด สิ่งเหล่านี้ล้วนกำลังกัดกร่อนทำลายความงดงามและความศรัทธาในประเพณีสงกรานต์ของเราทีละเล็กละน้อยด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นานไป คนรุ่นใหม่อาจจะคิดว่า “ สงกรานต์ ” เป็นเพียงการเล่นสาดน้ำเพื่อความมัน และความสนุกสนานเท่าที่เห็น เมื่อหมดสนุกก็หมดคุณค่า หมดความหมาย ดังนั้น เราคนรุ่นปัจจุบัน จึงควรจะช่วยกันรักษา และพัฒนาสิ่งดีๆที่แฝงอยู่ในประเพณีสงกรานต์ที่บรรพบุรุษได้สืบทอดต่อเนื่องมายังเราให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มิใช่ถอยหลังกลับไปสู่ความเสื่อม เพราะความมักง่ายและขาดการยั้งคิด จนอาจทำให้ประเพณีดีๆค่อยๆสูญหายไปอย่างน่าเสียดายในอนาคตได้

            อย่างน้อยที่สุด ในเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่นี้ ก็ขอให้ใช้ “ น้ำ ” เพื่อสร้างไมตรีที่ดี และขอให้ห่างไกลหลีกหนีจาก “ น้ำเมา ” ทั้งหลาย
(อมรรัตน์ เทพกำปนาท :กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
กระทรวงวัฒนธรรม)

คำสำคัญ (Tags): #บทความวิชาการ
หมายเลขบันทึก: 23681เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2006 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท