แผนการสอน : ปัญหาที่ต้องกลับมาทบทวน


ตีพิมพ์ใน...1)วารสารเทคโนโลยี(สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น) ปีที่ 27 ฉบับที่ 155(ก.พ.-มีค.44)หน้า 93-96 2)วารสารวิชาการ(กรมวิชาการ)ปีที่ 4 ฉบับที่ 3 (มีค.44) หน้า 70-75
      ผมได้พบครูที่สอนวิชาคณิตศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งได้รับอนุมัติให้เกษียณราชการก่อนกำหนดตั้งแต่ปีที่แล้ว ทราบว่า เป็นครูเก่ง ครูดี อายุก็เพิ่ง 50 ปีเศษ ๆ ด้วยความสงสัยจึงถามว่า ทำไมขอเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดก็ได้รับคำตอบที่เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งว่า

   “ เบื่อโรงเรียน ที่บังคับให้ครูเขียนแผนการสอนส่ง แต่ไม่ได้ดูแลให้สอนจริง”  ผมฟังแล้วสะดุ้ง เลยถามให้หายกังขา เจ้าหล่อนก็เลยสาธยาย (ใส่ไฟ) ให้สะใจ เพราะถือว่าเธอได้หลุดพ้นจากระบบราชการแล้ว

  “ โอ๊ย ..รำคาญกับความหลอกลวง ที่ทำอะไรไม่เป็นชีวิตจริง แหมใช้งานเราจิปาถะ จนหัวไม่วางหางไม่เว้น ยังจะมาให้เราเขียนอะไรที่ยืดยาด ตามแบบที่นักวิชาการนั่งเทียนกำหนด เขาไม่รู้หรอกว่า เวลาเข้าไปสอนจริงในห้อง มีสภาพการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง นักเรียนแต่ละห้องแตกต่างกันแค่ไหน แม้แต่ในห้องเดียวกันก็ต่างกันอีกมากมาย จะให้มาเขียนอะไรที่ละเอียดทุกย่างก้าว เขียนไปก็ใช้ไม่ได้ มันฝืนความรู้สึก แค่เข้าสอนให้ครบทุกชั่วโมงก็บุญแล้ว”
    ผมได้ทีเลยแหย่คำถามอีกเพื่อตีขนดหางแห่งพญานาคราชกระตุ้นต่อมโกรธา จนเธอเผลอตัวหลุดอารมณ์

     “ แล้วครูคนอื่น ๆ ทำไมเขาทำได้ เห็นครูที่โรงเรียนได้อาจารย์ 3 ไปตั้งหลายคนไม่ใช่หรือ”

       เท่านั้นเอง เธอก็โพล่งออกมาอย่างไม่เกรงใคร

  “ ครูเรานะเหรอ บอกให้ทำอะไรทำได้ทั้งนั้น แต่ไม่ได้ทำด้วยใจหรอกนะ บอกให้เขียน ก็เขียนลอก ๆ แผนของคนโน้นคนนี้ลงในแบบฟอร์มส่งเพื่อเอาตัวรอดไปวัน ๆ พวกเราจึงล้อกันว่า “แผนการส่ง” ไม่ใช่ “แผนการสอน” คนที่ทำอาจารย์ 3 บางคนนั่นแหละตัวดี พยายามหลบเลี่ยงงาน/กิจกรรมพิเศษของโรงเรียน มุ่งแต่ทำแผนการสอน ทำสื่อเพื่อส่งพยายามเขียนให้ดูดีตามเกณฑ์ที่ ก.ค.กำหนด แล้วก็ไม่ได้สอนจริงตามนั้นหรอก เพราะเวลากรรมการประเมินเขาประเมินตามเอกสาร เลยทำให้คนตั้งใจสอน ช่วยเหลือกิจกรรมโรงเรียนจนไม่มีเวลาทำหลักฐานเอกสารกองโตส่ง เกิดเจตคติไม่ดีต่อการทำผลงานวิชาการ แต่คนได้อาจารย์ 3 หลายคน ที่ตั้งใจทำงานจริงก็มีเหมือนกัน” (ดีนะที่ไม่ด่ากราด)

“ที่โรงเรียนไม่มีระบบกำกับติดตาม หรือประชุมปรึกษาหารือ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้หรอกหรือ ทำไมปล่อยให้คาราคาซังมาเนิ่นนาน” ผมยังรุกไล่เธออีก

“ มีผู้บริหารสักกี่คนที่สนใจแก้ปัญหาและพัฒนางานวิชาการอย่างจริงจัง มีแต่ “เห็นชอบมอบผู้ช่วย” เป็นผู้นำนิเทศภายในก็ไม่ได้เอาดีแต่ออกสังคมและเข้ากรมฯรับงานนโยบายมาให้ครูทำ การประเมินทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนก็มุ่งประเมินแต่ด้านกายภาพ แค่มีแผนการสอนก็ถือว่าบุญแล้ว ส่วนจะใช้จริงหรือไม่เป็นเรื่องยุ่งยากที่ผู้บริหารไม่อยากไปเซ้าซี้ให้เปลืองตัว”
   ผมคิดว่า คำตอบของคุณครูท่านนี้ คงตรงกับใจของครูอีกหลายคน เพราะจากการที่ผมได้ติดตามประเมินคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน เมื่อขอดูแผนการสอนและสอบถามครูครั้งใด ก็มักจะได้เห็นแผนการสอน(แผนการจัดการเรียนรู้)ของครูที่ได้อาจารย์ 3 เล่มหนา ๆ หรือแผนการสอนของครูบางคนที่เตรียมจะส่งอาจารย์ 3 เอามานำเสนอ แล้วพยายามเหมารวมว่าเป็นตัวแทนของครูทั้งโรงเรียน เมื่อถามครูคนอื่น ๆ ก็พบว่ามีบ้างไม่มีบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ที่มีก็จะเขียนตามแบบที่โรงเรียนกำหนด ส่วนเรื่องการนำไปใช้จริงก็มักจะตอบว่าใช้บ้างไม่ใช้บ้างอย่างไม่เต็มปาก ก็เป็นที่รู้กันว่าไม่ได้ใช้จริง

 

สาเหตุของปัญหานี้คืออะไร

เท่าที่ได้สนทนากับครูอาจารย์หลายคนก็ทราบว่า ครูอาจารย์ยังมีเจตคติไม่ค่อยดีนักต่อการทำแผนการสอน ทั้ง ๆ ที่ต่างก็ยอมรับว่า แผนการสอนมีประโยชน์เป็นแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครูแต่ละคนที่มีความสำคัญที่สุดในการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของครูอาจารย์ทุกคน โดยครูอาจารย์แต่ละท่านก็มีข้ออ้างที่เป็นเหตุผลน่ารับฟัง เช่น ต้องสอนหลายรายวิชา สอนหลายคาบ ต้องรับผิดชอบงานอื่น ๆ อีกจิปาถะ ฯลฯ
      สาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ครูเบื่อหน่ายเรื่องแผนการสอนนั้น พบว่า มาจากกระบวนการส่งเสริมการจัดทำแผนการสอนที่ไม่ยึดหลักความพอดี ความเหมาะสม และการพัฒนาที่ไม่เป็นระบบ ไม่เป็นขั้นตอน เริ่มแรกก็หวังให้ครูอาจารย์ทำแผนการสอนที่สมบูรณ์ที่สุด โดยยึดติดรูปแบบและกติกามากมาย ซึ่งล้วนเป็นทฤษฎีหลักวิชาที่ดีทั้งสิ้น เช่น รูปแบบการสอนที่สนองสมรรถภาพของมนุษย์ 9 ขั้นของกาเย่ รูปแบบแผนการสอนที่เน้นทักษะกระบวนการ 9 ขั้น เป็นต้น เวลาอบรมเรื่องการทำแผนการสอนครั้งใด วิทยากรก็มักเอาตัวอย่าง แผนการสอนของผู้ที่ผ่านการประเมินเป็นอาจารย์ 3 เล่มหนา ๆ มาให้ดู พอครูเห็นเข้าก็ท้อแต่แรกแล้ว ยิ่งรู้ข้อมูลลึก ๆ ว่าผู้เขียนก็ไม่ได้สอนตามนั้นจริงสักเท่าไรก็ยิ่งรับไม่ได้ แต่เมื่อถูกบังคับให้ทำก็ทำส่งแบบขอไปที หรือบางคนพอเริ่มต้นก็พยายามทำอย่างดีเพื่อส่งเป็นผลงานอาจารย์ 3 เลย แต่ไม่ว่าจะทำแบบไหนก็ยังเป็น “แผนการส่ง” มากกว่า “แผนการสอน"อยู่ดี ถ้าโยงใยสาเหตุของปัญหาต่อไปก็จะมาลงที่การบริหารการจัดการของโรงเรียน ที่ยังเกรงอกเกรงใจกัน ไม่มีระบบส่งเสริมกำกับติดตามและประเมินผลอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง

แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

               เราคงต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานกันใหม่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพ การศึกษาที่ยั่งยืน ยึดหลักความพอดี หรือมัชฌิมาปติปทา ของพระพุทธเจ้าเป็นพื้นฐาน โดยทุกฝ่ายหันมาพูดความจริงกัน เป็นการประเมินภายในที่มุ่งพัฒนามากกว่าการจับผิด มาร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง แล้วหาทางออกอย่างเหมาะสมบนพื้นฐานที่ว่า เวลาเรามีน้อย ครูแต่ละคนต่างก็มีงานล้นมือ จึงอย่าทำอะไรที่อ้อมค้อมและติดแบบฟอร์มอย่างไม่ยืดหยุ่น แต่ไม่ใช่ทำแบบขอไปที โดยให้เป็นชีวิตจริงของการทำงานให้สอดคล้องกับแนวการจัดการศึกษา (หมวด 4) ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
           ผมขอเสนอแนวทางหนึ่งเป็นทางเลือกให้โรงเรียนพิจารณา ซึ่งเป็นแนวทางที่พยายามแก้สาเหตุของปัญหาทุกอย่างที่กล่าวข้างต้น โดยโรงเรียนคงต้องกำหนดเป็นนโยบาย เป้าหมาย และข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการทำแผนการสอนให้ชัดเจน กล่าวคือ
1. จะเขียนในสิ่งที่จะสอนจริง จะสอนตามสิ่งที่เขียนและจะมีหลักฐานที่ตรวจสอบได้ว่าได้สอนจริงตามนั้น
2. จะเริ่มต้นโดยเขียนหรือปรับแผนการสอนที่มีอยู่แล้วเพื่อมุ่งที่จะใช้สอนจริง โดยไม่ยึดติดรูปแบบของแผนการสอน อาจเขียนในสมุดด้วยลายมือก็ได้ แต่ควรมีหัวข้อสำคัญ คือ จุดประสงค์ หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการสอน และการประเมินผล
3. ในช่วงต้นอาจยืดหยุ่นให้ครูที่สอนหลายระหัสวิชาเริ่มจัดทำปี/ภาคเรียนละ 1 รายวิชาหลักก่อนก็ได้ แต่ถ้าโรงเรียนใดพร้อม ครูพร้อม จะทำทุกรายวิชาเลยก็เป็นเรื่องที่ดี

4. การเขียนกิจกรรมการเรียนการสอนให้ศึกษาจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หมวดที่ 4 เรื่องแนวการจัดการศึกษาทุกมาตรา ที่มุ่งเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ ถ้าได้นำความคิดเห็นความต้องการของนักเรียนมาประกอบเป็นแนวทางในการเขียนด้วยก็จะดียิ่งขึ้น ซึ่งต้องสร้างความคิดรวบยอดในเรื่องนี้ให้ตรงกัน ส่วนรายละเอียดต่างๆ ให้ครูได้ใช้ประสบการณ์ ความชำนาญการหรือความเชี่ยวชาญของตนที่สั่งสมมากำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่

5. ในท้ายของแต่ละแผนการสอนให้มีที่ว่างอย่างน้อยครึ่งหน้ากระดาษสำหรับให้ครูเขียนผลการสอน ปัญหาและข้อเสนอแนะทุกครั้ง หลังจากที่สอนตามแผนการสอนนั้นทุกห้องแล้ว โดยเขียนให้ชัดเจน ระบุเป็นประเด็นที่จะเป็นแนวทางในการนำไปใช้ปรับแผนการสอนในโอกาสต่อไป เช่น

แผนการสอนที่ 1 รายวิชาคณิตศาสตร์ ค 011

ปัญหาที่พบ นักเรียนฟังครูอธิบายไม่ค่อยเข้าใจ ตอบคำถามและทำแบบฝึกหัดไม่ค่อยได้ ทำให้บรรยากาศการเรียนไม่ดี

ข้อเสนอแนะ

1. จัดทำแผ่นใสประกอบคำอธิบาย (เผอิญโรงเรียนมีเครื่องฉายอยู่)

2. จัดนักเรียนเก่งช่วยสอนเป็นกลุ่ม ๆ

3. กระตุ้นให้นักเรียนอาสาออกมาแก้ปัญหาโจทย์เลขหน้าชั้น

4. ให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดเสริมความรู้ ฯลฯ

6. เมื่อสิ้นภาคเรียนหรือสิ้นปีการศึกษา ให้ครูนำปัญหาที่พบ และข้อเสนอที่บันทึกไว้ท้ายแผนการสอนแต่ละแผนมาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงพัฒนาแผนการสอนเพื่อนำไปใช้สอนในปี/ภาคเรียนต่อไป โรงเรียนอาจจัดให้มีการประชุมปฏิบัติการพัฒนาแผนการสอนของครู โดยให้ครูที่สอนแต่ละรายวิชาทำประมาณการงบประมาณค่าใช้จ่าย และสื่ออุปกรณ์ที่ต้องการใช้จากข้อเสนอแนะที่เขียนไว้ท้ายแผนการสอนทุกแผน ก็จะสามารถนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้ครูอาจารย์ปรับแผนการสอนได้ตามความต้องการจำเป็น เช่น แผนการสอนที่ 1 รายวิชา ค 011 ที่ครูอาจารย์เขียนข้อเสนอแนะเพื่อปรับแผนการสอนข้างต้น แสดงว่า ครูอาจารย์ได้คำนึงถึงความพร้อมของโรงเรียนนี้ว่า มีเครื่องฉายภาพโปร่งใสเพียงพอจึงเสนอแนะเช่นนี้ ถ้าโรงเรียนไม่มีความพร้อมเรื่องนี้อาจพิจารณาใช้สื่ออื่นที่จะสามารถแก้ปัญหาจากการที่นักเรียนฟังครูอธิบายไม่ค่อยเข้าใจได้ ข้อเสนอแนะข้ออื่น ๆ ก็เช่นกัน แสดงว่า เป็นข้อเสนอแนะที่ครูคนนี้เห็นว่าอยู่ในศักยภาพที่พอทำได้และเกิดผลดีต่อการสอนในจุดประสงค์นี้

7. เมื่อเปิดภาคเรียนใหม่ครูอาจารย์ก็นำแผนการสอนที่ปรับปรุงใหม่ไปใช้สอนจริง และบันทึกปัญหาและข้อเสนอแนะ เช่นเดียวกับปีแรก และปรับปรุงพัฒนาในปีต่อไปอีก ทำเช่นนี้ติดต่อกันสัก 3 ปี เชื่อว่าในปีที่ 3 จะได้แผนการสอนที่สมบูรณ์ พร้อมสื่อการสอน และครูอาจารย์สามารถจัดทำเอกสารรายงานผลการพัฒนาการเรียนการสอนที่รายงานจากปัญหาที่พบและข้อเสนอแนะพร้อมข้อมูลการพัฒนาการเรียนการสอนแต่ละปีที่ทำอย่างต่อเนื่อง อันเกิดจากชีวิตจริงในการจัดการเรียนการสอนที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ถ้าเอาหลักวิจัยเข้ามาจับ ก็คือ วิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) นั่นเอง ซึ่งเป็นผลงานสู่การประเมินสมรรถนะได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ประเมินเขาคงไม่อยากเห็นเพียงเอกสารแผนการสอนหรือสื่อการสอนเล่มหนา ๆ เล่มเดียว แต่คงอยากเห็นแผนการสอนและสื่อการสอนที่มีการใช้จริงและผ่านการปรับปรุงพัฒนาที่แสดงความก้าวหน้ามาโดยลำดับ มากกว่า ซึ่งเป็นการยืนยันว่าได้ “เขียนในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เขียน และมีหลักฐานปรากฎว่าได้ทำ จริง"

8. ส่งเสริมให้ครูได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ให้มากโดยเฉพาะหนังสือทุกเล่มในห้องสมุดที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่สอนควรมีร่องร่อยการอ่าน การหยิบยืม เพราะแผนการสอน หรือข้อเสนอแนะในท้ายแผนการสอนแต่ละภาคเรียนจะไม่ได้รับการพัฒนาที่สร้างสรรค์ ถ้าครูไม่ได้พัฒนาตนเองให้มีความรู้อย่างกว้างขวางลึกซึ้งในสาขาวิชาที่สอน ก็จะเป็นเหมือน “ม้าลำปาง” ที่ถูกปิดตาให้คับแคบ มองไม่เห็นปัญหา มองไม่เห็นแนวทางพัฒนา ก็จะวนเวียนอยู่แต่วิธีการเก่าที่ใช้มาเนิ่นนาน

9. โรงเรียนควรสร้างความเข้าใจและสร้างความเห็นพ้องต้องกัน (Consensus) ในการกำหนดระบบการกำกับติดตามการสอนตามแผนการสอนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริง ซึ่งอาจมีหลายวิธี เช่น

  1. ให้ครูเขียนบันทึกหลังสอน ที่ระบุผลการสอน ปัญหาและข้อเสนอแนะท้ายแผนการสอนแต่ละแผนหลังจากที่สอนตามแผนการสอนนั้นแล้ว
  2. ให้มีหัวข้อความคิดเห็นของผู้บริหารต่อจากหัวข้อบันทึกหลังสอน ซึ่งผู้บริหารหรือรองผู้บริหารฝ่ายวิชาการ ควรได้ดูแผนการสอนและบันทึกหลังสอนที่ครูแต่ละคนเขียนหลังสอน แล้วให้ความเห็นหรือมีข้อเสนอแนะหรือชื่นชมตามความเป็นจริงมากกว่าการลงนามเพียงอย่างเดียว

  3. ผู้บริหารสถานศึกษา หรือรองผู้บริหารฝ่ายวิชาการควรมีการเยี่ยมการสอนตามสภาพจริง โดยมีสมุดส่วนตัวสำหรับบันทึกข้อมูลการสอนตามแผนการสอนจริงของครูด้วย ไม่ใช่เพียงเดินดูเฉย ๆ วิธีการเยี่ยมนั้นจะไม่ทำเพื่อจับผิด แต่จะทำเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงพัฒนาและประเมินผลการปฏิบัติงานของครูเป็นสำคัญ

  4. กำหนดให้มีวาระหนึ่งในการประชุมครูทุกครั้งสำหรับการติดตามและรายงานการสอนของแต่ละกลุ่มสาระ

  5. จัดให้แต่ละกลุ่มสาระมีการนิเทศภายใน หรืออาจใช้เทคนิคการจัดการความรู้(KM)นำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอน และการสอนตามแผนการสอน โดยอาจจัดตารางสอนให้ครูมีชั่วโมงสอนว่างตรงกันทุกสัปดาห์

ฯลฯ

10. โรงเรียนเสริมสร้างบรรยากาศทางวิชาการให้เกิดขึ้นทั่วทั้งโรงเรียนอย่างมีชีวิตชีวา พัฒนาแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียน เช่น ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ มีจำนวนเพียงพอและให้มีการใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการปรับปรุงพัฒนาแผนการสอนของครูอย่างยิ่ง
      จะเห็นได้ว่าจุดเริ่มต้นของการทำแผนการสอนที่สำคัญ คือต้องสร้างความเข้าใจ สร้างความเห็นพ้องต้องกันให้เกิดการยอมรับเป็นแนวทางปฏิบัติ อย่าทำให้ครูเกิดความท้อแท้ต่อความหยุมหยิม ความละเอียดในรูปแบบและรายละเอียดการเขียนตั้งแต่เริ่มต้น ควรคำนึงถึงหลักความจริงที่ว่า แผนการสอนไม่ใช่เหตุการณ์จริงในทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในชั้นเรียน แผนการสอนเป็นเพียงกรอบทิศทางหรือเค้าโครงที่ครูเตรียมการสอนไว้ล่วงหน้าอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อไม่ให้หลงทิศหลงทาง แต่ในสภาพจริงของการสอนแต่ละห้องจะมีความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคนแต่ละกลุ่มมากมาย บางครั้งขณะทำการสอนอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา ซึ่งครูจะต้องใช้ประสบการณ์ ใช้หลักวิชาใช้ความชำนาญการในการแก้ปัญหาตลอดเวลา และยังต้องสอดแทรกการสอนด้านคุณธรรมจริยธรรมด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจไม่สามารถเขียนในแผนการสอนได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่การบันทึกผลการสอน ปัญหาและข้อเสนอแนะท้ายแผนจะช่วยให้ครูได้ปรับปรุงพัฒนาแผนการสอนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
        กระบวนการพัฒนาการเขียนและการใช้แผนการสอนดังกล่าว คือ กระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ นอกจากจะเป็นวิจัยเชิงปฏิบัติการแล้ว ยังสอดคล้องกับระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามวงจร PDCA ที่ทุกสถานศึกษากำลังดำเนินการอีกด้วย

      แผนการสอนหรือแผนการจัดการเรียนรู้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เราต้องมาทบทวนกันอย่างจริงจัง

------------------------------------------

ธเนศ ขำเกิด  [email protected]

หมายเลขบันทึก: 23618เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2006 08:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

  

 

              เห็นท่าจะเป็นจริงของเรื่อง อาจารย์ 3

        บางคนได้แล้วไม่พัฒนาตนเองทำให้รัฐบาล

        เสียเงินโดยใช่เหตุ

อ่านแล้ว  มีความคดเห็นเหมือนกัน รัฐไม่ทำอะไรจริงๆจังกับครูและนักเรียน  ตรวจสอบทำไมกับเอกสารเป็นเล่มๆหนาๆ ต้องการได้ทรัพยากรที่ดีจริง ต้องออกประเมินตามสภาพจริง เห็นว่าสอนจริง นักเรียนได้จริง ปลูกฝังจริงมิใช่แค่ผักชีโรยหน้าที่คนเป็นใหญ่เป็นโตชอบกันนักหนา  ประเทศชาติ กำลังจะล้าหลังประเทศอื่นๆแล้ว

กระทรวงศึกษา มีความจริงใจกับครูแค่ไหน บอกว่าจะหาคนมาทำหน้าที่งานธุรการ งานการเงิน งานวัดผล งานพยาบาล ฯลฯ แทนครู และให้ครูลุยสอนอย่างเดียว แต่ก็ยังเหมือนเดิม ครูยังหัวฟู เหงื่อย้อย ทำงานอย่างอื่นมากกว่าการตรวจการบ้านเด็ก มากกว่าการเตรียมการสอน ใครทำผลงานที่เขียนหนังสือเก่งๆ แต่ไม่สอน หรือมีพวกพ้อง ตัวเองไม่ต้องสอน เหล่านี้ ผ่าน

การประเมินเชิงประจักษ์ รัฐบอกจะรู้ผลภายในปีการศึกษานั้นเลย ประเมินแล้ว ฟันธง เกณฑ์การให้คะแนนจากการประเมินเชิงประจักษ์มีเปอร์เซนต์สูง แต่พอรวบรวมสรุปส่งผลงานเป็นเล่มไป กลายเป็นตก เล่มงานที่ส่งเขียนไม่ผาน แต่เวลาประเมินสภาพจริงคะแนนดี ผ่านจริงๆ คะแนนเกินเกณฑ์แล้ว แต่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เคยได้คลุกคลีกับเด็กๆ ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าเด็กเล็ก เด็กมัธยมต้น ปลาย สภาพวุฒิภาวะมันต่างจาก เด็กมหาวิทยาลัย ประเภทสั่งอะไรก็ได้ ยอมอยู่แล้ว แต่เด็กเล็กๆ ของเราๆ เชิงประจักษ์ ต้องดู ต้องเฝ้า ต้องติดตาม มันผิดกันนะจ๊ะ ผู้ใหญ่ในกระทรวง สงสารครู ให้มีขวัญ มีกำลังใจหน่อยเถอะจะได้มีแรง มีสมองไปคิดค้น มีกำลังกาย กำลังใจไปช่วยฟูมฟักเด็กๆที่พ่อแม่ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนให้แต่เงิน ให้แต่วัตถุ จนเดี่ยวนี้สภาพสังคมเสื่อม

เด็กที่โรงเรียนไม่มีหนังสือเรียนเลยค่ะ ครูยอมรับว่าสอนยากมาก ครูต้องค้นจากอินเตอร์เน็ตเอาไปถ่ายเอกสารเอามาให้เด็กเรียน ยอมรับค่ะว่าเหนื่อยมากค่ะ แล้วประสิทธิภาพก็คงจะไม่มากเท่าไหร่ ผู้ปกครองก็จนมาก บางวันไม่มีเงินให้ลูกมาโรงเรียนด้วยซ้ำไป เด็กต้องมาขอเงินครูซื้อขนม ยากจนจริง ๆ ค่ะ   ครูก็พยายามป้อนความรู้ให้เด็กนะคะ แต่เด็กก็มีความสามารถในการเรียนแค่ ม 3 ก็ดีมากแล้วสำหรับพวกเขา จบมาก็ทำงานช่วยพ่อแม่ของเขา  แล้วจะเอาอะไรมาวัดให้ดีเท่ากับเด็กในเมืองที่เพียบพร้อมทุกอย่าง

ครูชายแดน

 

 

อยากให้ครูทุกคนได้จัดการเรียนรู้จริงตามแนวคิดทฤษฎีนี้จริง ๆ ไม่ใช่ทำแผนการสอนไว้เพื่อตรวจอนาคตคนไทยรุ่นใหม่จะได้เป็นคนที่มีคุณภาพ

  • ในส่วนที่ครูคณิตศาตร์ท่านบ่นมา  และที่ครูคนงามกับครูชายแดนพูดมาน่ะจริงเลยนะคะ       ใช่เลยล่ะค่ะ 
  • ถ้าทุกฝ่ายพยายามปรับแก้.....ให้ตรงจุดอย่างนี้  คงจะเกิดผลดีแก่วงการ...การศึกษาไทยเสียที  คงต้องลุ้นกันล่ะค่ะ  เพราะผู้ปฏิบัติการสอนจริงในห้องเรียนคือผู้ที่ต้องเจอกับสภาพจริงของเด็กๆ  ที่ต้องปรับแก้สถานการณ์ตามสภาพของเด็กๆ ที่ตนเองพบ  โดยเฉพาะในชนบทน่ะห่างกันลิบเลยล่ะค่ะกับเด็กในเมือง 
  • ดีใจจังที่ผู้ใหญ่ใจดี.....เริ่มตาสว่างกันแล้ว

 

เห็นด้วยอย่างแรงง เอกสารก่อผลงาน ผลงานก่อนิสัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท