ฝ่ายสื่อสารโครงการ ระพีเสวนา
ฝ่ายสื่อสารโครงการ ระพีเสวนา สถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ

ปาฐกถา อาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์


การเรียนรู้ชีวิตและวิชา

การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท

ระพีเสวนา  ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

วันจันทร์ที่ ๑๕  ธันวาคม  พ.ศ.๒๕๕๑

๐๙.๐๐ – ๑๐.๐๐ น.

 


นมัสการ  พระคุณเจ้า

กราบเรียน    ศาสตราจารย์ระพี  สาคริก  ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ  วะสี

                   และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

 

          นับเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง  ที่ดิฉันได้รับเชิญมาแสดงปาฐกถาในงานระพีเสวนาครั้งนี้  ชื่อของการเสวนาพยามยามบอกความหมายว่า  การเรียนรู้เป็นกระบวนการสำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาที่จะทำให้คนหลุดพ้นจากความเป็นทาส  ออกไปจากภาวะที่เป็นทุกข์  เครียด  หมดหวัง  และสูญเปล่า  การที่เครือข่ายของโรงเรียนไทยไทมาพบกัน  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วยปัญญาปฏิบัติ  ดิฉันถือว่า  ทำให้เกิดประกายแสงสว่างส่องทางออกให้เราก้าวไปสู่การศึกษาเพื่ออิสรภาพของมนุษย์ และสังคมไทย

          ¬การเรียนรู้ชีวิต และวิชา

          เมื่อชีวิตหนึ่งปฏิสนธิในครรภ์มารดาจนคลอดออกมาเป็นทารก  เสียงร้องอุแว้ครั้งแรกของเขาเป็นการประกาศว่า  ทารกนั้นต้องการมีชีวิตอยู่รอดและเติบโตต่อไป

          บิดามารดา คือ พรหมของลูก  เฝ้ากล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูลูก จากทารกที่อ่อนแอจนเติบโตเป็นเด็ก  เป็นวัยเริ่มรุ่น  เป็นวัยรุ่น  เป็นหนุ่มสาว  เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว  ในแต่ละช่วงวัยที่ลูกเติบโต  พ่อแม่ไม่เคยเปลี่ยนชุด  ยังคงเลี้ยงดูลูกทุกรุ่น ทุกวัยอย่างแน่วแน่  ทั้งนี้เพราะพ่อแม่เห็นลูกเป็นคน  เลี้ยงลูกให้มีชีวิตอยู่รอด  ปลอดภัย  อยู่สุข  และเป็นคนดี  “ชีวิต”  คือ ศูนย์กลางของการเลี้ยงดู  สั่งสอน  ฝึกฝน  อบรมบ่มนิสัย  ที่พ่อแม่เลี้ยงดูด้วยรัก  เข้าใจ  และมุ่งมั่น  ลูกได้เรียนรู้ด้วยกระบวนการซึมซับ  เห็นแบบอย่างและวิธีการที่เป็นรูปแบบของท่านเอง

          ครั้นเมื่อมีระบบการศึกษา  เด็กอายุ ๓ – ๖ ปี  เข้าเรียนในโรงเรียน หรือศูนย์เด็ก  ซึ่งมีการแบ่งเป็นระดับตามช่วงชั้นและช่วงวัย  นับเป็นโชคดีของเด็กวัยดังกล่าว  ที่การศึกษาปฐมวัยยังคงใช้ “ชีวิต” เป็นตัวตั้ง  พยายามจัดกระบวนการเรียนรู้  จัดสิ่งแวดล้อม  บรรยากาศ  ให้เด็กเล็กเรียนรู้อย่างมีความสุข  เป็นการเรียนรู้ที่รื่นรมย์  โดยไม่เคร่งครัดกับการสอนหนังสือหรือวิชา

         


          โชคดีของเด็กมีอยู่ไม่นาน เมื่อเติบโตและเข้าสู่ระดับประถมศึกษา เขาเผชิญกับการเรียน “วิชา” โดยทันที  สติปัญญาของเขาถูกวัดเป็นตัวเลข  และเกี่ยวพันกับความรู้ที่เป็นผลสัมฤทธิ์ในวิชาย่อยๆ ต่างๆ  ร่างกายของเด็กถูกแบ่งออกเป็นสมอง  สองมือ  การเคลื่อนไหวและความคิด  แต่คำนึงถึงจิตใจของเด็กไม่มากนัก  เส้นทางการเรียนรู้ของเด็กเริ่มบ่ายหน้าเข้าไปสู่กรงขังที่ยังมีซี่กรงห่างๆ อยู่  เด็กพอจะมีเวลาสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ  สังคม  และบรรยากาศที่รื่นรมย์อยู่บ้าง

 

          ยิ่งเติบโตเข้าสู่วัยเริ่มรุ่นและวัยรุ่นในระดับมัธยมศึกษา  ชีวิตของเด็กก็ยิ่งเพิ่มความเครียด  เนื่องจาก “วิชา” ได้เข้มข้นขึ้นในเชิงเนื้อหา วิชาได้แยกทางเดินของเด็กเข้าไปสู่กรอบที่แคบและห่างไกลจากชีวิตจริงของผู้เรียน  แนวคิดที่ต้องฝ่าฟันให้ตนเองผ่านเข้าไปในระดับอุดมศึกษา  ยิ่งทำให้ผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทุกข์ร้อนอย่างแสนสาหัส  หมดเวลาที่จะรื่นรมย์กับสุนทรียรส

 

          ย่างขึ้นสู่ระดับอุดมศึกษา  เนื้อหาวิชาของแต่ละศาสตร์  ก็ยิ่งต้องแยกย่อย ดิ่งเดี่ยว เฉพาะทาง  กรงขังของวิชาได้ครอบงำความรู้  ความคิดของนิสิตนักศึกษา แต่กลับเปิดประตูกว้างเสรีในการดำเนินชีวิต  ผู้ที่ได้ฝึกทักษะชีวิตอยู่บ้าง  ก็จะสามารถปรับตัวได้  และมีภูมิคุ้มกันไม่ให้ผิดและพลาดพลั้ง

 

          ความมุ่งมั่นให้ได้ความรู้ในศาสตร์ที่แยกย่อยและดิ่งเดียว แต่ขาดการฝึกฝน  พัฒนาจิตใจ  ทำให้ ผู้ที่เป็นบัณฑิต  มีความรู้ในศาสตร์ที่ผู้อื่นหยิบยื่นให้  เป็นความรู้ภายนอกที่ฉกฉวยเอามาอย่างดิบๆ  ขาดการวิเคราะห์  และห่างไกลจากตัวตน  ชีวิตและจิตใจภายในตน

 

          แม้กระนั้น  ก็มิได้หมายความว่าวิชา  เป็นสิ่งไร้ประโยชน์  เราต้องรู้ศาสตร์เพื่อรู้เท่าทันโลกภายนอก  แต่เราก็จำเป็นต้องเรียนรู้ชีวิต ด้วยการปฏิบัติ  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกัลยาณมิตร  ฝึกคิด  พินิจในใจอย่างใคร่ครวญ  เพื่อพัฒนาความรู้ภายในตัวตนของเราเอง  มิฉะนั้น ผู้สำเร็จการศึกษาทุกระดับก็จะแข่งขัน  ไขว่คว้า  สนองตัณหาทางวัตถุ  ตกเป็นทาสของความทะยานอยากอยู่ตลอดชีวิต

 

          ทางออกไปสู่อิสรภาพอันเป็นจุดหมายของการศึกษา  จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ ที่ผสมผสานปัญญาความรู้กับปัญญาปฏิบัติในชีวิตจริงเข้าด้วยกัน  เกิดเป็น “วิชา”  ซึ่งเป็นความรู้แจ้งในตน,  ผู้อื่น  และสรรพสิ่งที่สัมพันธ์กับชีวิตของเรา

         


การศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้ ๒ วิถี คือ การดึงออก และการนำเข้าภายในตน

          หลวงปริญญาโยควิบูลย์  ได้แสดงปาฐกถาที่ยุวพุทธิกสมาคม  แห่งประเทศไทย  เมื่อวันที่ ๒๘  มกราคม  พ.ศ.๒๔๙๔  สรุปความได้ว่า  การศึกษาที่สมบูรณ์  มิใช่เป็นเพียงนำความรู้และคำสั่งสอนใส่เข้าไปในสมองของเด็กเท่านั้น  แต่เป็นกระบวนการจัดสิ่งแวดล้อมและการฝึกฝน  เพื่อดึงความถนัด  และความสามารถของเด็กออกมาพร้อมกับการดึงความเขลา  ความไม่รู้  ออกมาขจัดออกไปจากบุคคล  ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝน  กาย  วาจาใจ  ของผู้เรียนให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามทำนองคลองธรรม  เกิดฉันทะ  สนุกในการงาน  เชื่อมั่นในตนและพึ่งตนเองได้  แม้ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาแล้ว  ก็จะไม่อยู่นิ่งแต่ภายใน  แต่ต้องดึงออกมาใช้การใหม่ได้สำเร็จ

          จากข้อคิดดังกล่าวนี้จึงอธิบายได้ว่า  การเรียนรู้ในทิศทาง ๒ วิถีจึงมิได้ดำเนินไปจากครูสู่นักเรียน  เท่านั้น  หากแต่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ที่ทั้งครูและศิษย์  ต่างก็รับและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน  ท่ามกลางบรรยากาศที่รื่นรมย์  แจ่มใส  ตื่นตาตื่นใจ  ที่ได้พบสิ่งใหม่  ความคิดใหม่  และมีสื่อที่เสริมหนุนให้มองโลก (โลกทัศน์) ได้กว้างไกล  กระบวนการเรียนรู้เช่นนี้  สร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างศิษย์กับครู  ครูกับครู  นักเรียนกับเพื่อน  เด็กกับพ่อแม่ผู้ปกครอง  ผลที่เกิด คือ ผู้เรียนเคยชินต่อการสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสังคม  ธรรมชาติ  มีความผูกพันและประจักษ์ความสำคัญในการเป็นสมาชิกของกลุ่ม  ผู้เรียนมี Self esteem คือ เห็นคุณค่าในตนเอง เขาจึงรู้สึกผ่อนคลาย  นี่คือลักษณะสำคัญของจิตที่เป็นอิสระ

 

          การจัดกระบวนการเรียนรู้  ที่ทำให้คนอาจหาญแกล้วกล้า

 

          ลีลาการสอนแนวพุทธประการหนึ่งใน ๔ ประการ คือ สมุตเตชนา  การปลุกเร้าใจให้กระตือรือร้น  อุตสาหะ  มีกำลังใจแข็งขัน  มั่นใจที่จะทำให้สำเร็จ  สู้งาน  ไม่กลัวความยากลำบาก

          ท่านผู้ฟังพอจะยอมรับได้หรือไม่  ว่าการเรียนการสอนในทุกระดับ  ที่ครูและคณาจารย์เป็นผู้ถ่ายทอดฝ่ายเดียว  และมีอิทธิพลชี้ความเป็นความตายของศิษย์จากวิธีการสอบที่คับแคบ  เข้มงวด   ได้ทำให้คนไทยกลายเป็นผู้ยอมจำนน  ยอมรับอำนาจที่ข่มเหงอย่างไร้ความยุติธรรม  ไม่กล้าต่อสู้  เพื่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์  กระบวนการเรียนรู้ใหม่  จึงมุ่งสร้างแรงจูงใจ  เปิดโอกาสให้ผู้เรียน       ได้แสดงออกทั้ง  การพูด  การเขียน  การทำงานศิลปะ  ดนตรี  การแสดง  ภาษาท่าทาง  และการอภิปรายโต้แย้งอย่างมีสัมมาคารวะถูกต้องตามกาลเทศะ  มีการใช้สื่อนานาชนิด  การจัดสิ่งแวดล้อมและปฏิบัติจริงให้ผู้เรียน เรียนรู้จากการทดลองทำจนประสบความสำเร็จ  ได้เผชิญกับสภาพการณ์ที่ผิดพลาด  แล้วเรียนรู้ที่จะแก้ไข  ทำใหม่อยากพากเพียร  เกิดความภูมิใจในงานที่ตนทำ

          การเรียนรู้ที่ทำให้คนรู้และใช้สิทธิของตนเอง  ตลอดจนการเคารพในสิทธิของผู้อื่น  เป็นสิ่งสำคัญที่สอนให้ผู้เรียนไม่หยิ่งทะนงในความสำเร็จจนฮึกเหิม  แล้วข่มคนอื่น

          การฝึกฝน  กาย  วาจาใจ  ที่โรงเรียนภาคีเครือข่ายทั้งหลายได้ดำเนินการไปแล้ว  จึงเป็นความเคลื่อนไหวทางการศึกษาที่ปลดปล่อยคนออกจากภาวะยอมจำนน  มีความมั่นใจและใช้ความสามารถของตนเองอย่างสร้างสรรค์  เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม

         

กระบวนการเรียนรู้  ที่ดำเนินไปตามทิศทางแผนที่หัวใจ (MAPS)

          มนุษย์จะยังคงมีจิตต่ำ  ก้าวร้าว  อารมณ์ขุ่นมัว  พฤติกรรมรุนแรง  หากมิได้มีการกล่อมเกลาด้วยสุนทรียภาพเชิงปฏิบัติ  สุมน  อมรวิวัฒน์ (๒๕๔๙)  ได้เสนอทิศทางของการจัดสาระของกระบวนการเรียนรู้  ให้ผสมผสานกิจกรรมด้านดนตรี (Music)  ศิลปะ (Arts)  การแสดง  การเล่น  การออกกำลังกาย (Play and Physical activities)  และการพัฒนาจิตวิญญาณ (Spiritual development)  กิจกรรมดังกล่าวนี้ช่วยสร้างสุขภาวะทั้งทางกาย  สุขภาพจิต  สุขภาวะทางสังคม  และความละเอียด ประณีต  ซึ่งเกิดจากการภาวนา  เป็นสุขภาวะทางจิตใจที่เกิดปัญญา  สร้างความตระหนักในคุณค่าของตนเอง  เกิดจิตสำนึกใหม่ที่พร้อมจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ดังที่  โรงเรียนภาคีเครือข่าย  ที่มาร่วมงาน   ระพีเสวนาในครั้งนี้  ได้ปฏิบัติจริงหลายรูปแบบ  เกิดผลประจักษ์ชัด

 

          ธรรมชาติ  ชุมชน คือ ห้องเรียนที่กว้างใหญ่

          คำว่า class แปลได้หลายความหมาย  แปลว่า ชั้น ก็ได้  แปลว่า กลุ่ม  ชนชั้น  สถานะ  ก็ได้  แต่เมื่อนำคำว่า room มาต่อเป็น classroom  ทำให้เกิดความเข้าใจว่า  การเรียนการสอนต้องเกิดขึ้นในห้องเรียนเท่านั้น  กิจกรรมใดที่เกิดขึ้นนอกห้องเรียน ถือเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรและเป็นกิจกรรมพิเศษ  ซึ่งทำให้  การนั่งนิ่ง ไม่ลุกจากที่ ฟัง – อ่าน – จด – ตอบ  ในห้องเรียนเป็นการเรียนที่น่าเบื่อ  บรรยากาศเงียบเหงา  กดดัน  ผู้เรียนจึงถือว่าการเรียน  เป็นภาระที่หนัก  อยากปลดปล่อยเสียโดยเร็ว  และการเรียนเป็นกิจกรรมที่ทำตามกันไป  ทั้งครูและนักเรียนขาดการริเริ่มสิ่งใหม่

          ปัจจุบันแนวคิด The classroom without walls ได้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย  กระบวนการเรียนการสอนได้ขยายออกสู่ธรรมชาติแวดล้อม  เหตุการณ์ในสังคม  แหล่งเรียนรู้ในชุมชน  ทั้งครู และศิษย์ได้สัมผัสกับความจริงในธรรมชาติ  เข้าใจความเป็นมนุษย์  หัดสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น  และได้เห็นความเปลี่ยนแปลง  ความสุข  ความทุกข์  ความขัดแย้ง  ความศรัทธา ฯลฯ  ที่เกิดขึ้นในชีวิต

          ความรู้และประสบการณ์ที่ได้ผ่านพบ  ช่วยเกิดความรู้จริง  ความคิดที่ต้องไตร่ตรองทบทวน  วิธีการที่ต้องปรับตัว  ปรับใจ  ให้ดำเนินชีวิตอยู่ได้  ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาการเรียนรู้โดยมี “ชีวิต” เป็นตัวตั้ง  มี “วิชา” เสริมหนุนคู่ขนานไปด้วย

          เมื่อประตูและหน้าต่างของห้องเรียนเปิดออก  กิจกรรมการเรียนรู้เปิดกว้าง  ผู้เรียนจึงเรียนด้วยจิตอิสระ  เรียนเนื้อหาสาระ (text)  จากบทเรียนควบคู่ไปกับชีวิตจริง  อีกทั้งได้ศึกษาบริบท (context) ที่ได้พบเห็นอย่างหลากหลาย  โรงเรียนภาคีเครือข่ายของกลุ่มเสวนาครั้งนี้  จึงได้เตรียมสร้างคนไทยในอีก ๑๕ ปีข้างหน้าให้มีภูมิคุ้มกันทางสติปัญญา  และทางจิตใจที่แข็งแกร่ง  ไม่ตกเป็นทาสของเงิน  อำนาจ  และอารมณ์ด้านมืด  ดังที่เราได้เห็นจากคนไทยหลายกลุ่มในปัจจุบันนี้

         

แบบฝึกหัดที่สำคัญที่สุด คือ การฝึกสติและภาวนา

          กระบวนการจัดการศึกษาตามแนวพุทธ คือ การฝึกฝนผู้ที่ยังข้องอยู่ในกิเลสมูลให้พ้นจากความโลภ  ความโกรธ  และความหลง  เป็นการฝึกปฏิบัติให้เกิดภาวิตปัญญา  ซี่งเป็นคุณสมบัติส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้ฝึกฝนตนเองดีแล้ว

          ภาวิตปัญญา  เกิดจากการฝึกอบรมภาวนาให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง  รู้เท่าทันเห็นแจ้งโลก  และชีวิตตามสภาวะ  สามารถทำจิตให้เป็นอิสระ  ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสปลอดพ้นจากความทุกข์  แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยปัญญา (พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต พจนานุกรรม       พุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม : ๒๕๓๕) 

          การฝึกสติและภาวนา  มิได้เป็นเพียงการฝึกสมาธิ  วิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น  แต่ครอบคลุม  การฝึกหัดอบรมตนและการพัฒนาปัญญา  ตามหลักไตรสิกขา คือ การฝึกหัดอบรม  ศีล  สมาธิ  และปัญญา  ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติที่เชื่อมโยง  กาย  จิต  และปัญญาอย่างผสมกลมกลืนเป็นองค์รวม

          การจัดกระบวนการเรียนรู้  ด้วยการฝึกสติ และภาวนานี้ ต้องจัดให้เหมาะสมกับวัย  และระดับทางสภาวะของผู้เรียน  ซึ่งได้มีผู้อธิบายไว้ในสื่อการเรียนรู้หลายประเภทอยู่แล้ว

 

          การศึกษาเพื่อความเป็นไท คือ กระบวนการพัฒนาปัญญาที่ช่วยให้ผู้เรียนควบคุมตนเอง  และพัฒนาตนให้พ้นจากสัญชาตญาณอย่างสัตว์  มาสู่การใช้สติและปัญญาสมกับเป็นมนุษย์

 

 


               
            

               เป็นอิสระ                                             เป็นทาส

   &nbsp

หมายเลขบันทึก: 235625เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2009 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท