การออม การจัดสวัสดิการ และการเกื้อกูลกันโดยภาคประชาชน


สรุปย่อ "รายงานการวิจัย"

รายงานการวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนโยบายสาธารณะ (public policy study)เกี่ยวกับมาตรการการคลังเพื่อสังคม – โดยที่ตระหนักว่าสังคมไทยมีปัญหา “การออมไม่เพียงพอ”และ

”ระบบสวัสดิการไม่ทั่วถึง”กล่าวคือ ประชากร 2 ใน 3 ขาดหลักประกันสังคมและเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐ ดังนั้น การขับเคลื่อนให้มีการออม-การจัดสวัสดิการ-และการเอื้ออาทรโดยภาคประชาชน จะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มได้ และมีข้อดีบางประการ คือ ต้นทุนบริหารจัดการต่ำส่งเสริมทุนทางสังคมและการทำงานร่วมกันของประชาคมในท้องถิ่น โดยใช้องค์ความรู้จากผู้นำผู้ทรงคุณวุฒิท้องถิ่นและ ”ปราชญ์ชาวบ้าน”

การสำรวจข้อมูลครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่น ดำเนินการโดยสถาบันอุดมศึกษาระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2548 โดยใช้แบบสำรวจร่วมกัน สอบถามข้อมูลเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือน การออม –การเป็นหนี้ –การเข้าร่วมกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ – การส่งงวดเงินออม – การได้รับสวัสดิการประเภทต่างๆ และคำถามสมมติ (hypothetical question) เกี่ยวกับทัศนคติการเอื้ออาทรต่อยาติพี่น้องที่เป็นผู้สูงวัยและถูกทอดทิ้ง เพื่อทราบวาบุคคลตัวอย่างจะตัดสินใจเลือกวิธีการช่วยเหลือแบบใด จำนวนการสำรวจครัวเรือนทั้งสิ้น 4,984 ครัวเรือน จากสี่ภูมิภาค ทั้งในเขตเมืองและชนบท

ผลการศึกษาในประเด็นสำคัญ พอสรุปได้ดังนี้ ก) ครัวเรือนโดยเฉลี่ยมีรายได้ 21,519 บาท ต่อเดือน และสามารถออมเงินได้ 2,897 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.5 ซึ่งประเมินว่าระดับปานกลาง กล่าวคือไม่สูง ค่อนข้างต่ำ แต่มุมมองของผู้วางนโยบายของประเทศคงอยากจะเห็นอัตราการออมที่สูงกว่านี้ เนื่องจากการออม – จะถูกนำไปใช้หลายวัตถุประสงค์ เช่น เผื่อเจ็บป่วย เพื่อการลงทุน และการออมเพื่อไว้ใช้จ่ายยามเกณียณจาการทำงาน (retirement saving) เงินออมจำนวนนี้อาจจะไม่พอเพียง

ข) เมื่อสอบถามว่า “ออมได้หรือไม่” (ไม่ควรคำนึงถึงตัวเงิน) พบว่า 55-60%ของครัวเรือนเก็บออมได้ และโดยส่วนใหญ่เก็บเงินออมในรูปของเงินฝากธนาคาร การถือหุ้นหรือพันธบัตรและตราสารอื่นๆมีสัดส่วนน้อย สะท้อนความไม่สันทัดจัดเจนในการจัดการเงิน (การบริหาร financial instruments)ครัวเรือนส่วนที่เหลือ (40-45 %) ไม่สามารถเก็บออมซึ่งเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงเปรียบเทียบกับการเป็นหนี้ (โดยไม่สอบถามตัวเงิน) พบว่า สัดส่วนการเป็นหนี้สูง 50-60% ในเมืองและชนบทไม่แตกต่างกัน และเมื่อคำนวณเป็นตัวเงิน พบว่ายอดหนี้ต่อครัวเรือนมีค่าพิสัยระหว่าง 100,000-250,000 บาทต่อครัวเรือน และค่าเฉลี่ยสูงกว่ารายได้เฉลี่ย 6 เท่าตัว ภาระการชำระคืนหนี้เท่ากับ 5,143 บาทต่อครัวเรือน –ซึ่งนับว่าเปรียบเทียบกับรายได้ – ในเขตชนบทสูงกว่าเมือง

ค) การได้รับสวัสดิการ 18.9% ของครัวเรือนเข้าถึงการประกันสังคม และ 3.7% ได้รับบำนาญข้าราชการ และ 4.7% ได้รับสวัสดิการจากนายจ้าง ในส่วนของสวัสดิการคนชราและคนพิการ พบว่าเท่ากับ 2.2% และ 0.3% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่า การจัดการระบบสวัสดิการยังครอบคลุมคนเป็นบางส่วนเท่านั้น (เปรียบเทียบกับสัดส่วยผู้สูงวัย ซึ่งในปัจจุบันเกือบ 10% และคนพิการซึ่งประมาณการว่าอาจจะมีจำนวนถึง 1-2 ล้านคน หรือราว 2-3% ของคนไทย)

ง) การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ (contractual saving) พบว่า ร้อยละ 40ของครัวเรือนเข้าร่วมกลุ่ม โดยที่ในเขตชนบทมีอัตราเข้าร่วมสูงกว่าในเขตเมือง – ซึ่งสะท้อนถึงทุนทางสังคมในชนบทและการทำกิจกรรมร่วมกัน สูงกว่าคนเมือง และการส่งงวดเงินออมต่อเดือน 315 บาทต่อเดือนสำหรับครัวเรือนในชนบท และ 559 บาทต่อเดือนสำหรับครัวเรือนในเมือง

จ) เกี่ยวกับคำถามสมมติเพื่อทราบทัศนคติต่อการเอื้ออาทร โดยตั้งคำถามว่า หากทราบว่าญาติพี่น้องที่สูงวัยความยากลำบากในการดำรงชีวิตและแร้นแค้น จะให้การช่วยเหลือแบบไหน?

คำตอบที่ได้คือ ให้การช่วยเหลือเป็นเงิน (58%) รับมาอาศัยในบ้าน (42%) การส่งคนชราไปสถานสงเคราะห์คนชรา (12%)

ข้อมูลจากการสำรวจนี้ พอจะเป็นฐานคิดสำหรับความเข้าใจการออม-การเป็นหนี้-การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ นโยบายสาธารณะที่จะขับเคลื่อนการออมโดยสนับสนุนให้ภาคประชาชนเป็นแกนนำส่งเสริมการออมระยะยาว (ผูกพันสัญญา) มาตราการลดรายจ่าย/เพิ่มรายได้การจัดสวัสดิการและการเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน โดยภาครัฐให้การสนับสนุนในทางใดทางหนึ่ง เช่น เงินสมทบการออม เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้คนไทย (ซึ่งปัจจุบัน 2 ใน 3 ขาดหลักประกัน) มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันและความรู้สึกมั่นคงระดับหนึ่ง มีกิจกรรมและการทำงานร่วมกันเป็นการส่งเสริมทุนทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท

ที่มา : รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการ "การสำรวจทัศนคติของประชาชนเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี การออม การจัดสวัสดิการ และการเกื้อกูลกันโดยภาคประชาชน"

โดย เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เดือน กุมภาพันธ์ 2549 สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

หมายเลขบันทึก: 23509เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2006 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท