AAR : UKM ปี 2 เทอม 1


จริงๆ แล้วทาง ม.น. เราได้ทำ AAR กันปากเปล่าแล้วตามที่อาจารย์วิบูลย์เล่าไว้แล้ว (Link) ตัวเองได้พูดก่อนคนแรก ความที่พูดเก่งมาก (ประชด) เลยพูดได้น้อยมาก อะไร ๆ เลยยังไม่ออกมาขนาดนี้ พอมาเขียน AAR มีเวลาเรียบเรียงคำพูด เลยออกมาแบบเต็มที่

     เนื่องจาก “ครั้งที่” ของ UKM ครั้งล่าสุด บางท่านอาจเรียกครั้งต่างกัน และอาจสับสนกับการเรียก “ครั้งที่และปี” บ้างก็ครั้งที่ 1/49 บ้างก็ 2/49 อาจเนื่องมาจากครั้งที่ผ่านนี้ (เมื่อ 7-8 เมษายน 2549) ซึ่งบางท่านอาจเรียก UKM 1 / 49 แต่ที่จริงแล้วเป็นครั้งที่ 2 ของปี เนื่องจาก ครั้งสุดท้ายของปี 48 มาจัดเมื่อเดือนมกราคม 49 บางท่านจึงอาจคิดว่าครั้งนี้อาจจะเป็น UKM 2 / 49 ไม่ว่าใครจะสับสนอย่างไร (หรือเราสับสนอยู่คนเดียว) ขอเรียกตามปีการจัดกิจกรรม UKM นี้แล้วกัน เพื่อตัวเองจะได้ไม่สับสน ปีการจัด หมายถึง ปีของการเป็นผู้ประสานงานหลักของเครือข่ายการจัดการความรู้ฯ ซึ่งปีแรก (ปี 48) ผู้ประสานหลักคือมหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่สองนี้ (ปี 49) คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ ม.อ. ส่วน เทอม 1 หมายถึง ครั้งที่ 1 ที่ ม.อ. เป็นเจ้าภาพ นาน ๆ ที ตัวเองจะได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมกับเขาสักครั้งหนึ่งเลยขอทำ AAR ไว้ เผื่อความรู้สึกจะได้ไม่ระเหยหมด

1. ความคาดหวังก่อนมาประชุม

     หวังว่างานนี้จะได้รับความรู้จากการจัดตั้ง CoP ต่าง ๆ เนื่องจากส่วนตัวได้คลุกคลีกับ CoP ของ ม.น. อย่างมาก จึงอยากรู้ว่า CoP อื่น ๆ จะมีความเป็นมาอย่างไร และประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง CoP มากน้อยเพียงใด อีกเรื่องที่คาดหวังคือ ต้องการไปเรียนรู้เรื่อง Feed Spring และ Planet Matter จากท่านอาจารย์จันทวรรณ (ดร.จันทวรรณ น้อยวัน) เนื่องจากอาจารย์วิบูลย์ ให้ไปศึกษาให้ดี เพื่อจะได้นำกลับมาต่อยอดที่ ม.น.ในอนาคตอันใกล้ ทำให้สมอง (อันน้อยนิด) ต้องทำงานอย่างหนัก เนื่องจากไม่มีพื้นของเรื่องนี้เลย ทำให้ตามคนอื่นได้ช้ามาก แต่จะพยายามต่อไป

2. สิ่งที่ได้เกินคาด

     (1) ได้รับความรู้เรื่อง CoP อื่น ๆ ตามที่คาดเอาไว้ บาง CoP น่าทึ่งมาก อย่างเช่น ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มมีการจัดทำมาตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งนานมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ CoP ของทางมหาวิทยาลัยนั้นประสบความสำเร็จ

     (2) เรื่องการไปเรียนรู้เรื่อง Feed Spring และ Planet Matter ได้รับคำตอบน่ายินดี ไม่ใช่แค่ได้ไปเรียนรู้ธรรมดา แต่ทั้งอ.จันทวรรณ และ อ.ธวัชชัย (ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์) ผู้ร่วมกันเขียนโปรแกรมและดูแลระบบ GotoKnow จะมาให้ความรู้โดยละเอียด ที่ม.น.เราในอนาคตอันใกล้ (สุด ๆ) นี้

     (3) เกินคาดอีกเรื่องคือได้มีส่วนในการออกความคิดเห็น เพราะได้เข้ากลุ่ม ซึ่งได้อยู่กลุ่ม IT เพราะได้ทำงานในส่วนของ IT ของ QAU แม้จะไม่ได้เป็นส่วนสำคัญ แต่ก็ได้รับความรู้มากจากผู้เข้าร่วมทุกท่าน

     (4) เกินคาดสุดท้ายคือ เมื่อประชุมเสร็จแล้ว (ช่วงเที่ยงของวันที่ 8 เมษายน) ทำให้มีเวลาว่างอีก 4-5 ชั่วโมงก่อนเดินทางกลับ (ต้องขึ้นเครื่องประมาณ 19.00 น. ของวันนั้น) จึงมีเวลาที่เจ้าภาพได้พาไปเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ได้เห็นสถานที่ที่น่าสนใจมากมาย และยังได้รับความรู้มาก ที่สำคัญได้เรียนรู้การทำงานของทีมงาน ม.อ. โดยเฉพาะพี่เมตตา (คุณเมตตา ชุมอินทร์) ซึ่งดูแลเราอย่างดีทุกเรื่อง และทำให้ตัวเองมีความคิดดี ๆ ในการทำงานของตัวเองมากขึ้น และจะนำไปเป็นแบบอย่างในการทำงานต่อไป

3. สิ่งที่ได้น้อยกว่าที่คาดไว้

     ได้เกินคาดมากมาย จึงไม่มีอะไรที่ได้น้อยกว่าที่คาดไว้เลย 

     เอ๊ะ !! มีดีกว่า ที่ได้น้อยกว่าที่แอบคาดเอาไว้คือ ไม่ได้ถ่ายรูปคู่กับ อ.จันทวรรณ แบบ 2 คน มีแต่รูปเป็นกลุ่ม (ขอบอกว่า ในส่วนตัว แอบปลื้ม อ.จันทวรรณมาก ความจริงไม่ได้แอบนะ เพราะคนใกล้ตัวรู้กันหมดว่า ปลื้มอาจารย์ แต่ใครๆ ก็ปลื้มกันทั่วหน้า เพราะได้มีโอกาสใช้ GotoKnow ทุกวัน จึงเหมือนได้ชื่นชมความสามารถของอาจารย์ทุกวันน่ะค่ะทั้งอาจารย์จันทวรรณ และอาจารย์ธวัชชัยเลยล่ะ) แถม อ.หนึ่ง (ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร) มาคุยทับอีกว่า ได้ไปชมเมืองหาดใหญ่กับอาจารย์อีก ได้นั่งรถอาจารย์อีก แหมมมมม อิจฉา!!

4. ข้อเสนอแนะ

     เรื่องการกำหนดเวลาค่ะ ในส่วนตัวได้เข้าร่วม UKM หลายครั้ง ทำให้รู้ (แบบเต็มอก) ว่า การรักษาเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ใครถูกกำหนดให้พูดได้แค่ไหน ต้องแค่นั้น เพราะการเกินเวลาผู้อื่นจะทำให้กำหนดการเรื่องอื่น อาจเสียตามไปด้วย ซึ่งถ้าเราบริหารจัดการการพูดเอาไว้ดี ก็สามารถทำตามกำหนดเวลานั้นได้ สมาชิกในการเข้าร่วม UKM แต่ละครั้งมักจะมีสมาชิกใหม่ และผู้สังเกตการณ์เข้าร่วม  ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจในจุดนี้ จึงอยากให้ทางเจ้าภาพได้แนะนำเรื่องการกำหนดเวลาให้เป็นที่เข้าใจก่อน และหากมีการเกินเวลาจะมีการส่งสัญญาณ (เคาะแก้ว หรือในรูปแบบอื่น) เพราะหากไม่บอกก่อน เมื่อพูดแล้วถูกเคาะแก้ว สมาชิกใหม่อาจรู้สึกบั่นทอนและไม่สามารถนำเสนอสิ่งต่างๆ ได้ออกมาดีเท่าที่ควรค่ะ

5. จะกลับไปทำอะไร

     สัญญาเลยว่า จะตั้งใจทำงานกว่าเดิมมาก (ๆๆๆๆๆ)  เห็นได้จากการตั้งใจทำงานนี้ของเจ้าภาพ (ม.อ.) ทำให้รู้สึกตัวเองจะเอาแบบอย่าง ยึดหลักต่างๆ ในการทำงานของพี่เมตตา ซึ่งเป็นประโยชน์มากจริง ๆ และสัญญาเลยว่า การเป็นเจ้าภาพของ ม.น. ในอีก 6 เดือน ข้างหน้าจะตอบแทนด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานให้ดี ถึงแม้ว่าทาง ม.อ. จะตั้งมาตรฐานเอาไว้สูงก็ตาม ):

     จริงๆ แล้วทาง ม.น. เราได้ทำ AAR กันปากเปล่าแล้วตามที่อาจารย์วิบูลย์เล่าไว้ <บันทึกเรื่อง BAR กับ AAR อย่างไหนสำคัญกว่ากัน> ตัวเองได้พูดก่อนคนแรก ความที่พูดเก่งมาก (ประชด) เลยพูดได้นิดเดียว อะไร ๆ ก็เลยยังบรรยายได้ไม่มาก พอมาเขียน AAR มีเวลาเรียบเรียงคำพูด เลยออกมาแบบเต็มที่ นี่ล่ะคนไม่ชอบพูด อยากจะฝากอาจารย์วิบูลย์จริงๆ เลยนะ ว่าให้เขียน AAR ส่งยังดีกว่าให้ทำ AAR ปากเปล่าเสียอีก

     ขอบคุณค่ะ

     RO_NUQA

    

คำสำคัญ (Tags): #ไม่ชอบพูด#aar#ukm
หมายเลขบันทึก: 23340เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2006 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เขียนได้ดีกว่าพูดจริงๆ นะเนี่ย
โอเขียนหนังสือได้ดีจริง ๆ อยากให้เขียนออกมามาก ๆ และความจริงเรื่องพูดก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรหรอก ก็เหมือน ๆ กันกับพวกเราส่วนใหญ่นั่นแหละ ฟัง พูด อ่าน เขียน มันเป็นทักษะที่ฝึกให้ดีได้ มีโอกาสฝึกมากก็จะทำได้ดีไปเอง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท