การฝึกอบรมด้วยระบบมวลชนสัมพันธ์


การฝึกอบรม

การฝึกอบรม

ด้วยระบบมวลชนสัมพันธ์

การฝึกอบรมคืออะไร

                การฝึกอบรม  (Training)  มีความหมายโดยสรุปว่าคือกระบวนการเพิ่มความถนัด (Aptitude)  ทักษะ  (Skills)  และความสามารถเฉพาะตัว (Individual  Capacity)  เพื่อเพิ่มสมรรถนะ  (Competency)  ให้แก่บุคลากรในการปฏิบัติงานที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                โดยนัยของคำจำกัดความดังกล่าว  การฝึกอบรมที่ส่งผลลัพธ์ให้คุ้มค่าแก่การลงทุน (ทั้งเงิน  เวลา  โอกาส  และพลังงาน)  จึงจำเป็นต้องเป็นการฝึกอบรมที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับความถนัด  ทักษะและขีดความสามารถตรงกับสมรรถนะที่ต้องมีในการปฏิบัติงานที่ต้องรับผิดชอบอย่างจริงจัง

                การฝึกอบรมที่ห่างไกลหรือไม่ตอบสนองต่อความต้องการในการเพิ่มสมรรถนะให้แก่ผู้เรียน  จึงเป็นการฝึกอบรมที่ไม่ได้รับความสนใจจากผู้เรียนมากนัก

การฝึกอบรมด้วยระบบมวลชนสัมพันธ์  คือ  อะไร ?

                การฝึกอบรมด้วยระบบมวลชนสัมพันธ์ (Interactive  Training)  เป็นการฝึกอบรมเชิงพฤติกรรมศาสตร์  (Behavioral  Approach)  ที่มุ่งปรับแต่งพฤติกรรมของผู้เข้ารับการฝึกอบรมด้วยกระบวนการกลุ่ม (Group  Therapy)  โดยใช้ผู้เรียนเป็นผู้ร่วมปฏิบัติเพื่อประกอบการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน กับการปรับแต่งทัศนคติ (Attitude)  ของผู้เรียน  เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม

 

  หรือ

 

 

เพียงคนเราเปลี่ยนความคิด

ก็จะสามารถเปลี่ยนชีวิตได้ทั้งชีวิต

 

                เป็นที่ยอมรับกันในกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่า  การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ  เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในของระบบจิตของมนุษย์ซึ่งจะมีผลต่อทั้งความเชื่อ  (Belief)  ความคิด (Thinking)  และศรัทธา  (Faith)  ของมนุษย์อันจะส่งผลให้มนุษย์เกิดความสนใจและตั้งใจที่จะเรียนรู้  เพื่อตอบสนองต่อความเชื่อและความคิดใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป  ส่งผลให้มนุษย์เกิดความสนใจและตั้งใจที่จะเรียนรู้  เพื่อตอบสนองต่อความเชื่อและความคิดใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป  ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ใหม่  ที่จะไปปรับแต่งพฤติกรรมที่มีอยู่เดิมให้กลายเป็นพฤติกรรมใหม่ ๆ และหากผลลัพธ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น  ทำให้มนุษย์ตอบโจทย์ในใจของตัวเองได้  ความสนใจและตั้งใจในการเรียนรู้ก็จะเพิ่มมากขึ้น  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย  เป็นผลให้กรอบจิต (Frame  of  Reference – FOR)  เปลี่ยนแปลงไป  เช่น

                พนักงานหญิงคนหนึ่ง  มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับต้น  มีความเกลียดชังผู้ชาย  และคิดอยู่เสมอว่าผู้ชายทุกคนเอาเปรียบผู้หญิงและมีนิสัยกะล่อนหลอกลวง  ไว้ใจไม่ได้  จึงไม่กล้าสนิทสนมกับพนักงานชายคนใดเลย  ยิ่งถ้าเห็นพนักงานหญิงคนใด  ใกล้ชิดและมีความรักกับผู้ชาย  ไม่ว่าจะเป็นพนักงานด้วยกันหรือเป็นบุคคลภายนอก  ก็จะคิดว่าเป็นคนโง่และหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวเอง  การทำงานจึงติดต่อประสานความร่วมมือได้ดีกับพนักงานหญิงด้วยกัน  แต่จะมีปัญหากับพนักงานชายทุกคน  จนบางครั้งแสดงอาการรังเกียจพนักงานชายบางคนออกมาอย่างเปิดเผย

                นักบริหารที่ด้อยประสบการณ์หลายคนอาจคิดว่าเป็นนิสัยส่วนตัวไม่เกี่ยวกับงาน  ตราบเท่าที่ผู้จัดการคนนั้น  ทำงานได้และมีผลงานองค์การก็ไม่ควรจะไปใส่ใจอะไรมากนัก

                แต่.....บรรยากาศในการทำงานล่ะ...หากพนักงานจะทำงานแบบต่างคนอยู่ต่างคนทำงานก็จะได้เพียงแต่ความคิดและฝีมือของพนักงานเท่านั้น  ไม่มีโอกาสได้ ใจ  ของพนักงานมาทุ่มเทให้กับงานได้อย่างเต็มที่  เพราะบรรยากาศที่เกื้อกูลต่อการร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ๆ ให้แก่องค์การ  จะสามารถดึงศักยภาพ (Potential)ที่มีอยู่อย่างมากมายในตัวพนักงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่องค์การได้อีกมากมายนัก

                องค์การธุรกิจข้ามชาติแห่งใดที่ปรับตัวเข้ากับบรรยากาศสังคมได้  องค์การธุรกิจนั้นก็จะสามารถประสบความสำเร็จในการใช้ศักยภาพของพนักงานได้

                ถ้าเช่นนั้น....ทำอย่างไรจึงจะปรับแต่งพฤติกรรมของพนักงานที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนให้สามารถเพิ่มบรรยากาศที่เกื้อกูลต่อความสำเร็จขององค์การได้

                ถ้าจะใช้วิธีส่งเฉพาะพนักงานท่มีปัญหาพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปเข้ารับการฝึกอบรม  ก็จะยิ่งได้รับการต่อต้านจากพนักงานที่มีปัญหาดังกล่าวมากขึ้น

                ถ้าจะให้นักจิตวิทยามาให้คำปรึกษาหารือแก่พนักงานที่มีปัญหา  ก็จะยังทำให้พนักงานที่มีปัญหาเป็นเป้าสายตาของพนักงานอื่น  ซึ่งจะยิ่งเกิดปัญหาความแตกแยกกันมากขึ้น

                ทางเลือกของนักจิตวิทยาสังคมอย่าง  ดร.  เอ็ม  เชอรีฟ (M. Sherif)  และนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมอย่าง ดร.  แดเนียล  โกลแมน (Daniel  Goleman)  ก็คือการฝึกอบรมด้วยกระบวนการปฏิสัมพันธ์เชิงพฤติกรรม (Behavioral  Interaction  Process)  โดยการนำพนักงานในระดับเดียวกัน  หรือต่างระดับกันไม่เกิน  2  ระดับไปดำเนินการฝึกอบรมร่วมกัน  ให้ร่วมปฏิบัติไปด้วยกัน  เรียนรู้ไปด้วยกัน  และเติบโตไปด้วยกัน  เพื่อสร้างกระบวนการประสานความคิด  ประสานประโยชน์  ประสานใจ  เพื่อให้เกิดจุดเปลี่ยนในระบบความคิดและทัศนคติของพนักงาน  อันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม  และเรียกกระบวนการฝึกอบรมนี้ว่า  Interactive  Training  (การฝึกอบรมด้วยระบบมวลชนสัมพันธ์)

ลักษณะเฉพาะของการฝึกอบรมด้วยระบบมวลชนสัมพันธ์

            ขอให้เข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า  มวลชน  หมายถึง  กลุ่มคนต่างความคิด  ต่างความเข้าใจ  และต่างความรู้  ความสามารถกัน  ที่มาจากชุมชนหรือสังคมที่แตกต่างกัน  มารวมตัวอยู่ด้วยกันโดยมีเป้าหมายเดียวกัน

                มวลชน  จึงเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ ของกลุ่มคน  ที่จำเป็นต้องอาศัยแกนนำและแนวร่วมเป็นที่เกาะยึด  ตลอดจนต้องมี อุดมการณ์  เป็นตัวกระตุ้นการขับเคลื่อนกิจกรรมของมวลชน

                การปลูกฝังอุดมการณ์เช่น  ความเป็นหนึ่งเดียว การมุ่งมั่นสู่ชัยชนะ มีสุขร่วมเสพมีทุกข์ร่วมต้าน เราจะไม่เป็นสองรองใครในแผ่นดิน เราจะสู้จนเลือดหยดสุดท้าย  หรือเราจะจับมือกันเดินก้าวไปมุ่งสู่จุดหมายอนาคตเรา  เป็นต้น  หากได้มีการนำมาใช้อย่างถูกจังหวะเวลาในกิจกรรม  ก็จะสามารถขับเคลื่อนกลุ่มคน  หรือมวลชน  ที่รวมตัวกันอยู่ไปด้วยกัน

                ปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกทุกคนที่ถูกหล่อหลอมโดยแกนนำ (ซึ่งก็คือวิทยากรที่ผ่านการฝึกฝนซักซ้อมกันมาเป็นอย่างดี)  ให้เกิดความรู้สึกเป็น พวกเดียวกัน  โดยอาศัยแนวร่วม (ซึ่งก็คือผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีความกระตือรือร้นและน่าเชื่อถือ)  ด้วยวิธีการใช้กิจกรรมประกอบการฝึกอบรมที่จำลองสถานการณ์การทำงาน (Simulation)  มาในรูปของกิจกรรมต่าง ๆ ที่บางคนอาจเรียกว่าเกมส์ (แต่ผู้เขียนเห็นว่าคำว่าเกมส์ในความเข้าใจของคนไทยหมายถึงการละเล่นกึ่งกีฬาที่มีการแพ้การชนะเกิดขึ้น  ซึ่งแตกต่างไปจากคำว่ากิจกรรมอันหมายความถึงการร่วมกันปฏิบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่สร้างสรรค์)

                กิจกรรมดังกล่าวจึงจำเป็นต้องถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์  ในการสื่อสารโดยการร่วมกระทำของสมาชิกในกลุ่ม (หากมีจำนวนคนน้อย ๆ)  และในมวลชน  (หากมีจำนวนคนมาก ๆ)  เพื่อทำให้เกิด

                1.             การชักจูงใจ (Persuasion)  หมายถึงการที่กิจกรรมนั้นได้ใช้การสื่อสารเพื่อประโยชน์เฉพาะในการเปลี่ยนใจหรือปรับเปลี่ยนความเชื่อของบุคคลรวมตลอดไปถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนด้วยวิทยากร  ซึ่งทำหน้าที่ในการชักจูงใจผู้เรียนต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ข้อคิดหรือข้อโต้แย้งที่เสนอไปมีเหตุผลหรือมีตรรกะที่น่าเชื่อถือที่สุด  แต่แฝงไว้ด้วยเป้าหมายในการชักจูงใจ

                การชักจูงใจถือเป็นวิธีการใช้อิทธิพลต่อผู้เรียนแบบง่ายที่สุด  ซึ่งเราจะเห็นการปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นการที่พ่อแม่ชักจูงใจลูก  หัวหน้าชักจูงใจลูกน้อง  สื่อชักจูงใจผู้อ่าน  ผู้ฟังและผุ้ชม  นักการเมืองชักจูงใจประชาชน  หรือครูชักจูงใจลูกศิษย์  ซึ่งหากกระทำด้วยความปรารถนาดี  สุจริตใจ  และจริงใจ  ก็จะเห็นผลดีในระยะยาว

                จากการวิจัยทางสังคมวิทยาพบว่า  ความสำเร็จในการชักจูงใจ  มักขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก  2  ประการคือ  คุณลักษณะของผู้ชักจูงใจกับเนื้อหาของข้อเสนอที่นำมาประกอบการชักจูงใจ  หากผู้ชักจูงใจเป็นผู้มีบุคลิกดี  มีรูปแบบการนำเสนอที่ดี  มีความคล่องแคล่ว  มีความรู้  ความเข้าใจจริงในสิ่งที่สื่อสารและมีประวัติน่าเชื่อถือ  ก็จะทำให้การต่อต้านของผู้รับฟังลดลงได้อย่างมาก  เมื่อนำมาบวกกับข้อเสนอที่เร้าอารมณ์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์กลัวหรือกังวลด้วยแล้ว  ก็จะสามารถตอบสนองความสนใจของผู้เรียนได้มากขึ้น  การชักจูงใจก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น

                2.             การคล้อยตาม (Conformity)  เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่บุคคลเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เข้ากับมาตรฐานหรือความเชื่อซึ่งเป็นที่ยอมรับกันภายในกลุ่ม  หรือให้กับบรรทัดฐาน (Norms)  ของกลุ่ม  ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการคล้อยตามนั้นก็คือแรงกดดันจากกลุ่ม  หรือพลังของมวลชน

                                สำหรับผู้เรียนในกลุ่มเดียวกัน  อาจจะมีบางคนที่ไม่ยอมคล้อยตาม (Non-Conformance) ซึ่งจะพบเห็นได้เสมอ  ไม่ว่าจะเป็นคนที่ต่อต้านการคล้อยตามหรือเป็นคนที่มีความเป็นตัวของตังเองมากเกินไป  ซึ่งจะสังเกตได้จากพฤติกรรมที่ไม่ยุ่งกับใคร  และไม่อยากให้ใครมายุ่งด้วย  แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่คนไม่ยอมคล้อยตามพบว่าตัวเองก็ไม่ได้สูญเสียอะไรในการคล้อยตาม  พฤติกรรมก็จะเปลี่ยนแปลงไปเอง

                3.             การยอมทำตาม (Compliance)  เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการได้รับคำขอร้องจากผู้อื่นให้กระทำ  ไม่ว่าจะเป็นการขอร้องของสมาชิกในกลุ่มหรือจากวิทยากร  หรือจากผู้บังคับบัญชา  ทั้งที่ใจจริงผู้เรียนผู้นั้นไม่อยากจะทำ  แต่ปฏิเสธไม่ได้  จะด้วยความเกรงใจและรู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ก็ตาม  และหากเมื่อยอมทำตามแล้วได้รับการตอบกลับในทางที่ดี  การยอมทำตามในเรื่องต่อ ๆ ไปก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น

                4.             การเชื่อฟัง (Obedience)  เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการที่บุคคลยอมทำตามคำสั่งของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าโดยทั่วไปผู้ที่ออกคำสั่งต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า  โดยทั่วไปผู้ที่ออกคำสั่งต้องเป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งซึ่งควบคุมการกระทำของผู้ที่ได้รับคำสั่งได้  และผู้ออกคำสั่งต้องสามารถหาวิธีที่จะทำให้คำสั่งที่ว่านั้นบังเกิดผลในทางปฏิบัติให้ได้

                                แต่ในกระบวนการฝึกอบรมด้วยระบบมวลชนสัมพันธ์นั้น  หากวิทยากรสามารถทำให้ผู้เรียนถูกชักจูงใจจนเกิดการคล้อยตามและยอมทำตามได้แล้ว  ก็เป็นโอกาสที่วิทยากรจะสามารถแต่งเติมความรู้  ความเข้าใจ  ภูมิปัญญา  แง่คิดและความมุ่งมั่นตั้งใจที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการฝึกอบรมได้เป็นอย่างดี

คำนิยามที่ใช้ในกระบวนการฝึกอบรมด้วยระบบมวลชนสัมพันธ์

                พฤติกรรม  หมายถึงการแสดงออกหรือการกระทำของอินทรีย์ (Organism)  หรือสิ่งมีชีวิต  การแสดงออกดังกล่าวรวมทั้งการแสดงออกที่เกิดขึ้นทั้งที่ผู้แสดงออกรู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัวในขณะที่แสดงออกและยังหมายรวมถึงการแสดงออกที่สามารถสังเกตได้หรือสังเกตไม่ได้ก็ตาม

                พฤติกรรมจึงแบ่งออกได้เป็น  2  ประเภท  คือ  พฤติกรรมภายนอก  (Overt  Behavior)  หมายถึงการแสดงออกที่ผู้อื่นสามารถสังเกตเห็นได้โดยตรงเช่น  พูด  หัวเราะ  ร้องไห้  เดิน  วิ่ง  เป็นต้น  กับพฤติกรรมภายใน (Covert  Behavior)  ซึ่งหมายถึงการแสดงออกที่ผู้อื่นสังเกตไม่ได้โดยตรง  เช่น  หิว  เสียใจ  น้อยใจ  ลำบากใจ เป็นต้น  ส่วนมากเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการทำงานภายในสมอง  ถ้าต้องการจะสังเกตพฤติกรรมภายในก็จะต้องอาศัยการกระตุ้นหรือจัดสิ่งแวดล้อม  ให้เจ้าของพฤติกรรมแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมภายนอก  เช่นการใช้กิจกรรมต่าง ๆ การใช้สภาวะขีดจำกัดต่าง ๆ หรือการจูงใจต่าง ๆ ให้เกิดการแสดงออกมาให้สังเกตเห็นได้

                แรงจูงใจ(Motivation)  หมายถึง  แรงกระตุ้นหรือแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรม  เป็นแรงกระตุ้นที่มีการกำหนดทิศทางไว้ว่าจะแสดงพฤติกรรมออกออกไปอย่างไร  แบบใด  และเป็นแรงกระตุ้นให้บุคคลรักษาพฤติกรรมนั้นเอาไว้โดยทั่วไป  แรงจูงใจได้แก่  ความต้องการ  (Needs)  ความปรารถนา (Desire)  ความตั้งใจ (Willingness)  หรือความมุ่งหวัง (Expectation)  นั่นเอง

                แรงจูงใจ  จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในฐานะที่เป็นตัวต้นกำเนิดของพฤติกรรม  แรงจูงใจแบ่งออกได้เป็น  สองประเภท  คือ  แรงจูงใจภายใน (Intrinsic  Motivation) หมายถึง  แรงจูงใจที่เกิดขึ้นภายในตนเอง  มีผลทำให้คนเราแสดงพฤติกรรมออกไปเพราะรัก  หรือชอบที่จะทำอย่างนั้นโดยไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนใด ๆ นอกจากความสุขใจที่ได้แสดงออกมาซึ่งจะทำให้คนทุ่มเทเวลา  ความคิด  พลังงานหรือทุนทรัพย์ส่วนตัวเพื่อจะได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยแรงจูงใจภายในให้บรรลุผลให้ดีที่สุด  กับแรงจูงใจภายนอก (Extrinsic  Motivation)  หมายถึงแรงจูงใจที่เกิดขึ้นเนื่องจากได้รับสิ่งจูงใจจากภายนอกตัวเรา  ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เราแสดงพฤติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด  เช่น  คำชมเชย  รางวัล  คะแนนจูงใจ  หรือเหรียญแสดงชัยชนะ  เป็นต้น

                กลุ่ม(Group)  หมายถึง  การรวมตัวของคนตั้งแต่  2  คนขึ้นไปแล้วมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลาหนึ่ง  โดยมีบรรทัดฐานร่วมกันและมีเอกลักษณ์เดียวกัน  คนเหล่านี้จะมีการรับรู้ในตัวเองว่า  พวกเขาขึ้นต่อกันและกันในอันที่จะปฏิบัติการเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันของพวกเขาทุกคน

              

 
 
คำสำคัญ (Tags): #interactive training
หมายเลขบันทึก: 233312เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2009 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท