"ค้นความคิดว่าที่นักเศรษฐศาสตร์"


"ค้นความคิดว่าที่นักเศรษฐศาสตร์"

คิดว่าเป็นบทความที่น่าสนใจและน่าเก็บไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้ เชิญติดตามอ่านครับ

คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา  โดย ปกป้อง จันวิทย์ [email protected]  ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 06 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 3764 (2964)

เมื่อปี 1985 David Colander และ Arjo Klamer ออกแบบสอบถาม สำรวจความคิดเห็น และสัมภาษณ์ นักศึกษาปริญญาเอก ที่เรียนอยู่ในคณะเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา โดยมีประเด็นหลักเกี่ยวกับมุมมองต่อตัววิชาเศรษฐ ศาสตร์ และการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์

งานวิจัยชิ้นดังกล่าว ต่อมาตีพิมพ์ใน Journal of Economic Perspectives ในชื่อ The Making of an Economist (1987) งานชิ้นดังกล่าวมีความน่าสนใจ เพราะสะท้อนพื้นฐานความคิดของนักเศรษฐ ศาสตร์ชั้นนำรุ่นใหม่ต่อตัววิชาการเศรษฐศาสตร์ และการศึกษาเศรษฐศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษา นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มสาว ผู้ตอบแบบสอบถามนี้ ถือเป็นกำลังสำคัญแห่งอนาคตในการ "ผลิตซ้ำ" องค์ความรู้เศรษฐศาสตร์ไปสู่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลัง ไม่ว่าในฐานะว่าที่อาจารย์และว่าที่นักวิจัยในสถาบันศึกษาวิจัยเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อพัฒนาการ ของวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ ทั้งในแง่ทิศทางและเนื้อหา และต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ในทศวรรษต่อๆ ไป

ในอีกด้านหนึ่ง งานวิจัยชิ้นนี้เป็นภาพสะท้อน "เนื้อหาสาระ" ของกระบวนการ ฝึกสร้างนักเศรษฐศาสตร์ ที่ดำรงอยู่ภายในโรงงานผลิตนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำแห่งสหรัฐอเมริกา ว่ามุมมองต่อโลกแบบใด อุดมการณ์ใด หรือวิธีทำงานแบบใด ที่ครอบงำวงวิชาการเศรษฐศาสตร์อยู่ในขณะหนึ่ง และส่งผลสำคัญในการ "ฝึกสร้าง" และ "หล่อหลอม" นักเศรษฐศาสตร์รุ่นต่อมา

เวลาผ่านไปเกือบสองทศวรรษ Colander ได้ทำการสำรวจประเด็นเดิมอีกครั้ง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเช่นเดิม ในกลุ่มตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่างเดิม เพื่อตรวจสอบว่า พื้นฐานความคิดของนักศึกษาปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ต่อวิชาเศรษฐศาสตร์ และการศึกษาเศรษฐศาสตร์เปลี่ยน แปลงไปอย่างไร หรืออีกนัยหนึ่ง กระบวนการ "ฝึกสร้าง" นักเศรษฐศาสตร์มีเนื้อหาสาระเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร ในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

การสำรวจความเห็นเริ่มต้นที่ Princeton University (คิดเป็น 15% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด) ในปี 2001-2002 และมหาวิทยาลัยอื่นอีก 6 แห่ง ซึ่งได้แก่ University of Chicago (26%), Columbia University (12%), Harvard University (18%), MIT (10%), Stanford University (12%) และ Yale University (7%) ในปี 2002-2003 มีนักศึกษาตอบแบบสอบถามรวมทั้งสิ้น 231 คน จากประชากรทั้งหมด 800-900 คน

ผลการศึกษาดังกล่าว ตีพิมพ์ใน Journal of Economic Perspectives ในปี 2005 ภายใต้ชื่อ The Making of an Economist Redux ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ (บทความนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อวิจารณ์ระเบียบวิธีวิจัยของ Colander แต่เป็นเพียงการเก็บความมาเล่าสู่กันฟัง)

1.นักศึกษาปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์เป็นใคร ?

หากเปรียบเทียบ ข้อมูลส่วนตัวของนักศึกษาปริญญาเอก จากงานวิจัยปี 1987 และ 2005 พบว่า พื้นฐานของนักศึกษาไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก

อายุเฉลี่ยของนักศึกษายังคงอยู่ที่ 26 ปี ส่วนใหญ่ยังเป็นเพศชาย แต่สัดส่วนของนักศึกษาหญิงเพิ่มขึ้นจาก 19% เป็น 29% ส่วนใหญ่ 81% จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์มาก่อน อีก 21% จบคณิตศาสตร์ และ 22% จบสาขาอื่น (ที่รวมกันเกิน 100% เพราะบางคนเรียน double major) นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนต่อทันทีหลังจากจบปริญญาตรี แต่ทำงานก่อน โดยมากเป็นผู้ช่วยวิจัย

นอกจากนั้น 62% ของนักศึกษาทั้งหมดที่ตอบแบบสอบถามเป็นนักศึกษาต่างชาติ (ซึ่งสัดส่วนของนักศึกษาต่างชาติ ที่ตอบแบบสอบถามแตกต่างกันตามมหาวิทยาลัย) นักศึกษาที่ตอบแบบสอบถามกำลังเรียนปีแรก 22% ปีสอง 25% ปีสาม 19% ปีสี่ 14% และปีห้าหรือสูงกว่า 20% มีเพียง 7% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ที่จะไม่ทำงานในโลกวิชาการหลังจบการศึกษา และ 7% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ที่บอกว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ จะไม่เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์

2.คุณสมบัติใดเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของนักเศรษฐศาสตร์ ?

นักศึกษาปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ให้คุณค่ากับความเก่งกาจในการแก้ปัญหามากที่สุด แม้สัดส่วนของคนที่เชื่อว่า คุณสมบัติดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งจะลดลงจาก 65% เหลือ 51% ก็ตาม ข้อค้นพบอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความสามารถทางคณิตศาสตร์ ลดความสำคัญลง กลุ่มตัวอย่างที่เชื่อว่าความยอดเยี่ยมทางคณิตศาสตร์ เป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ลดลงจาก 57% เหลือ 30% สวนทางกับคุณสมบัติความสามารถ ในการทำงานวิจัยเชิงประจักษ์ (Empirical Research) เพิ่มสูงขึ้นจาก 16% เป็น 30%

บางคนอาจตีความได้ว่า แม้คณิตศาสตร์จะยังสำคัญในการศึกษาเศรษฐศาสตร์ชั้นสูง แต่ถูกมองเป็น "เครื่องมือ" ในการทำงานวิจัยเชิงประจักษ์ ซึ่งมุ่งหาคำตอบเชิงนโยบาย มากกว่าทางทฤษฎี ระดับความเป็นคณิตศาสตร์เชิงประยุกต์เพิ่ม มากขึ้น

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ นักศึกษาปริญญาเอกกลุ่มตัวอย่าง ยังคงเชื่อว่า ความรู้รอบรู้กว้างทางเศรษฐศาสตร์ (เดิม 43% ใหม่ 35%) และความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจ (เดิม 68% ใหม่ 51%) เป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญต่อความสำเร็จ แม้สัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่คิดเช่นนี้จะลดลงก็ตาม แต่ถือยังคงอยู่ในระดับสูง น่าคิดต่อว่าเหตุใดนักศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ชั้นนำเกินครึ่งยังคงเชื่อมาตลอดเกือบ 20 ปีว่า ความรู้เกี่ยวกับ "เศรษฐกิจ" ไม่มีความสำคัญในฐานะ "นักเศรษฐศาสตร์" หรือ "เศรษฐศาสตร์" จะไม่ข้องเกี่ยวกับ "เศรษฐกิจ" เสียแล้ว ?

3.นักเศรษฐศาสตร์อยากเรียนอะไร ?

งานวิจัยชิ้นล่าสุดชี้ว่า เศรษฐศาสตร์การพัฒนา เศรษฐศาสตร์แรงงาน และเศรษฐศาสตร์การคลัง ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้า ขณะที่เศรษฐศาสตร์มหภาค เศรษฐศาสตร์การเมือง เศรษฐศาสตร์การเงินและการธนาคาร เศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม และประวัติความคิดเศรษฐศาสตร์ ลดความสำคัญลง

หากดูรายละเอียดของความสนใจในแต่ละสาขาวิชาแยกตามชั้นปี พบว่า ไม่มีความแตกต่างทางความสนใจ ของนักศึกษาแต่ละชั้นปีอย่างมีนัยสำคัญ จะมีก็เพียงสาขาวิชาประวัติความคิดเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์มหภาค และเศรษฐศาสตร์การเงินและการธนาคารเท่านั้น ที่นักศึกษาปีสูงมีความสนใจต่ำกว่านักศึกษาปีต่ำอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาประวัติความคิดเศรษฐศาสตร์

นอกจากนั้น จากการสัมภาษณ์พบว่านักศึกษามีความรู้สึกด้านลบอย่างเด่นชัดกับเศรษฐศาสตร์มหภาคในทุกมหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลทำนองว่า ไม่มีประโยชน์ในการอธิบายโลกแห่งความจริง เต็มไปด้วยคณิตศาสตร์ที่ไม่รู้ว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร

4.นักเศรษฐศาสตร์เชื่ออะไร ?

ตอนหน้า เราจะมาดูกันว่า ในปัจจุบันว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลัก ณ วันนี้ เปลี่ยนแปลงจากผลสำรวจเมื่อปี 1987 อย่างไร

รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์มีระดับความเชื่อในข้อสมมติที่ว่าพฤติกรรมของคนมีเหตุมีผลแบบเศรษฐศาสตร์ (rational behavior), การแข่งขันไม่สมบูรณ์ (imperfect competition), ทฤษฎี Rational Expectation, ประสิทธิภาพของนโยบายการคลัง ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ฯลฯ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไร และสำนัก Chicago ยังคงเป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่งของเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกอยู่หรือไม่ ?

"ค้นความคิดว่าที่นักเศรษฐศาสตร์" (2)

คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา โดย ปกป้อง จันวิทย์ [email protected] ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 03 เมษายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 3780 (2980)

ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2549 ผมเขียนบทความเรื่อง "ค้นความคิดว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ (1)" โดยเก็บความจากงานวิจัยของ David Colander เรื่อง The Making of an Economist Redux ซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of Economic Perspectives ในปี 2005 มาเล่าสู่กันฟัง (บทความตอนแรกสามารถค้นอ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ที่ http://www.onopen.com/2006/01/241)

งานวิจัยของ Colander ในปี 2005 เป็นการหยิบงานวิจัยเรื่อง The Making of an Economist ที่เขาเคยเขียนร่วมกับ Arjo Klamer ซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of Economic Perspectives (1987) กลับมา "ทำใหม่" โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยคล้ายเดิม (ใช้แบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นและสัมภาษณ์ นักศึกษาปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์) เพื่อตรวจสอบว่า กระบวนการ "ฝึกสร้าง" นักเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยชิคาโก ฮาร์วาร์ด เยล สแตนฟอร์ด เอ็มไอที และปรินซ์ตัน มีเนื้อหาสาระเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร ในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

งานชิ้นดังกล่าวมีความน่าสนใจ เพราะสะท้อนพื้นฐานความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำรุ่นใหม่ต่อตัววิชาการเศรษฐศาสตร์ และการศึกษาเศรษฐศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษา นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มสาว ผู้ตอบแบบสอบถามนี้ ถือเป็นกำลังสำคัญแห่งอนาคตในการ "ผลิตซ้ำ" องค์ความรู้เศรษฐศาสตร์ไปสู่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลัง ไม่ว่าในฐานะว่าที่อาจารย์และว่าที่นักวิจัยในสถาบันศึกษาวิจัยเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ ทั้งในแง่ทิศทางและเนื้อหา และต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในทศวรรษต่อๆ ไป

ในอีกด้านหนึ่ง งานวิจัยชิ้นนี้เป็นภาพสะท้อน "เนื้อหาสาระ" ของกระบวนการ "ฝึกสร้างนักเศรษฐศาสตร์" ที่ดำรงอยู่ภายในโรงงานผลิตนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำแห่งสหรัฐอเมริกา ว่ามุมมองต่อโลกแบบใด อุดมการณ์ใด หรือวิธีทำงานแบบใด ที่ครอบงำวงวิชาการเศรษฐศาสตร์อยู่ในขณะหนึ่ง และส่งผลสำคัญในการ "ฝึกสร้าง" และ "หล่อหลอม" นักเศรษฐศาสตร์รุ่นต่อมา

บทความในตอนที่แล้ว ผมยกประเด็นเรื่อง 1.นักศึกษาปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์เป็นใคร ? 2.คุณ สมบัติใดเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของนักเศรษฐ ศาสตร์ ? และ 3.นักเศรษฐศาสตร์อยากเรียนอะไร ? มาเล่าสู่กันฟังไปแล้ว บทความในตอนนี้จะปิดท้ายด้วยการตอบคำถามว่า ในปัจจุบันว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐ ศาสตร์นีโอคลาสสิก ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแนวคิดกระแสหลัก ทั้งในเรื่องข้อสมมติที่ใช้สร้างทฤษฎี (assumption) รวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย (policy recommendation) เปลี่ยนแปลงจากผลสำรวจเมื่อปี 1987 อย่างไร

4.นักเศรษฐศาสตร์เชื่ออะไร ?

ในงานวิจัยฉบับปี 1987 พบว่านักเศรษฐศาสตร์ที่ "ผ่าน" การศึกษาจากสถาบันต่างกัน จักมีพื้นฐานความคิดทางเศรษฐศาสตร์แตกต่างกันด้วย โดยนักเศรษฐศาสตร์สำนักชิคาโก มีความแตกต่างจากนักเศรษฐศาสตร์สำนักอื่นมากที่สุด โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกอย่างเด่นชัด อันนำไปสู่ความเชื่อมั่นในการทำงานของกลไกราคาและตลาดเสรี ความเชื่อว่าคนมีเหตุมีผลแบบเศรษฐศาสตร์ และความเชื่อมั่นว่าการแทรกแซงของรัฐรังแต่จะบั่นทอนสวัสดิการของเศรษฐกิจ เป็นต้น

จากผลการศึกษา Colander แสดงความเห็นว่า ในปี 1987 หากนักเศรษฐศาสตร์ชิคาโกอยู่สุดปลายทางด้านหนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์ฮาร์วาร์ดก็จะอยู่สุดปลายทางอีกด้านหนึ่ง

เกือบสองทศวรรษผ่านไป ผลการศึกษาชิ้นใหม่ในปี 2005 ยังคงยืนยันดังเดิมว่า กระบวนการ "ฝึกสร้าง" นักเศรษฐศาสตร์ผ่านหลักสูตรปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ยังมีความสำคัญในการหล่อหลอมความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ต่างสำนักยังคงมีความแตกต่างทางความคิด แต่ช่องว่างของความแตกต่างระหว่างกันกลับลดแคบลงเสียแล้ว โดยต่างฝ่ายต่างปรับความคิดเข้าหากัน (converge) มากขึ้นโดยลำดับ ดังจะได้เล่าสู่กันฟังนับจากนี้

ผลการสำรวจพบว่านักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อมั่น "อย่างยิ่ง" ในความสำคัญของเศรษฐศาสตร์

นีโอคลาสสิก เพิ่มขึ้นจาก 34% ในปี 1987 เป็น 44% ในปี 2005 ขณะที่ผู้เห็นว่า "ไม่สำคัญ" ลดลงจาก 11% เหลือเพียง 5% (ตัวเลขเปรียบเทียบตลอดบทความนี้คือผลสำรวจของปี 1987 เทียบกับปี 2005)

น่าสนใจว่า ในหมู่ผู้ที่เชื่อว่าเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก "สำคัญอย่างยิ่ง" ในมหาวิทยาลัยชิคาโกลดลงจาก 69% เหลือ 63% ส่วนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 55% ทางด้านผู้เชื่อว่าเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก "ไม่สำคัญ" ในมหาวิทยาลัยชิคาโกเพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 7% ขณะที่ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเอ็มไอที จำนวนผู้ไม่เห็นความสำคัญลดลงอย่างเด่นชัดจาก 22% เหลือ 0% แต่ที่โดดเด่นจนน่าสังเกตคือในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีผู้เชื่อว่าเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก "ไม่สำคัญ" เพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 22%

หากเปรียบเทียบความคิดของนักศึกษาก่อนและหลังเข้าเรียนปริญญาเอก พบว่านักศึกษาที่เชื่อมั่นในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมหลังได้ศึกษาแล้ว เพิ่มจาก 37% เป็น 44% โดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชิคาโกเพิ่มขึ้นมากที่สุด จาก 44% เป็น 63% รองลงมาคือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จาก 48% เป็น 55%

แบบสำรวจยังถามด้วยว่า เห็นด้วยหรือไม่ ว่านักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นพ้องสอดคล้องกันในประเด็นพื้นฐานต่างๆ เสียงส่วนใหญ่ยังคง "ไม่เห็นด้วย" แต่ด้วยสุ้มเสียงที่อ่อนลง จาก 52% เป็น 44% ขณะที่เสียง "เห็นด้วย" เพิ่มขึ้นจาก 4% เป็น 9% หากพิจารณาแยกตามมหาวิทยาลัย พบว่ามีเพียงในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและโคลัมเบียเท่านั้น ที่จำนวน "ไม่เห็นด้วย" เพิ่มขึ้นอย่างสำคัญ ในสแตนฟอร์ดเพิ่มขึ้นจาก 43% เป็น 65% และในโคลัมเบียเพิ่มขึ้นจาก 44% เป็น 59% ซึ่งแตกต่างจากผลการสำรวจเมื่อปี 1985 ที่ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเอ็มไอทีมีผู้ "ไม่เห็นด้วย" มากที่สุด กระนั้น ผลในปี 2005 ของทั้งฮาร์วาร์ดและเอ็มไอทีก็เปลี่ยนแปลงโดยมีจำนวน "ไม่เห็นด้วย" ลดลงมากที่สุดจาก 68% เป็น 29% และจาก 60% เป็น 39% ตามลำดับ

ส่วนในประเด็นที่ว่า เห็นด้วยหรือไม่ ว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาสังคมศาสตร์ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด นักศึกษาโดยรวมทุกมหาวิทยาลัย "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" เพิ่มขึ้นจาก 28% เป็น 50% และ "ไม่เห็นด้วย" ลดลงจาก 19% เป็น 16% หากพิจารณาแยกตามมหาวิทยาลัยจะพบว่านักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเดิม 9% เป็น 54% ตามด้วยชิคาโกเพิ่มขึ้นจาก 47% เป็น 69%

หากพิจารณาในระดับข้อสมมติของวิชาเศรษฐ ศาสตร์ งานวิจัยได้พยายามสำรวจ ว่านักเรียนปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญต่อข้อสมมติทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆ แตกต่างกันอย่างไร

โดยรวมผู้ที่เห็นว่าข้อสมมติว่าด้วย "ความมีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์" (rationality) มีความ "สำคัญอย่างยิ่ง" ยังคงเท่าเดิมที่ 51% โดยผู้ที่เห็นว่าข้อสมมตินี้ "ไม่มีความสำคัญ" อยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อก่อน 7% ปัจจุบัน 5% แต่ถ้าพิจารณาแยกตามมหาวิทยาลัย กลับพบความน่าสนใจคือนักเศรษฐศาสตร์ฮาร์วาร์ดที่เชื่อว่าข้อสมมติดังกล่าว "สำคัญอย่างยิ่ง" เพิ่มขึ้นจาก 35% เป็น 68% ขณะที่จากเอ็มไอทีลดลงจาก 44% เหลือเพียง 9% ส่วนสำนักชิคาโกยังรักษาความสม่ำเสมอได้ข้ามเวลา โดยผู้เห็นว่าข้อสมมตินี้ "สำคัญอย่างยิ่ง" ไม่ลดลงกว่าเดิม โดยสูงถึง 79% จากเดิม 78%

ส่วนข้อสมมติ "การคาดการณ์แบบมีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์" (rational expectation) ซึ่งเป็นวิวาทะสำคัญในเศรษฐศาสตร์มหภาคนั้น นักเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยรวมแล้วผู้ที่เห็นว่ามีความสำคัญ "อย่างยิ่ง" เพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 25% ขณะที่ผู้ที่เห็นว่า "ไม่สำคัญ" ลดลงจาก 25% เป็น 13%

น่าสนใจว่าเมื่อเทียบกับงานศึกษาปี 1987 ระดับการให้ความสำคัญของนักเศรษฐศาสตร์

ชิคาโกมีแนวโน้มลดลง แม้จะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากก็ตาม ในชิคาโกผู้ที่เชื่อว่า "สำคัญอย่างยิ่ง" ลดลงจาก 59% เหลือ 43% แต่ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกลับเพิ่มสูงขึ้นมาก จาก 14% เป็น 41% ขณะที่ในเอ็มไอที ผู้ที่เชื่อว่าข้อสมมติดังกล่าวมีความสำคัญ "อย่างยิ่ง" ยังคง 0% เหมือนเมื่อสองทศวรรษก่อน

ด้านข้อสมมติเรื่อง "การแข่งขันไม่สมบูรณ์" (imperfect competition) โดยรวม ผู้ที่เห็นว่าสำคัญ "อย่างยิ่ง" ลดลงจาก 40% เป็น 37% ส่วนผู้ที่เห็นว่า "ไม่สำคัญ" ก็ลดลงจาก 4% เป็น 3% ที่น่าสนใจคือผู้ที่เห็นว่าข้อสมมตินี้สำคัญ "อย่างยิ่ง" ในมหาวิทยาลัยชิคาโกเพิ่มสูงขึ้นจาก 16% เป็น 23%

ส่วนผลการสำรวจการให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ ว่าด้วย "ข้อเสนอเชิงนโยบาย" มีความน่าสนใจมาก เพราะการสำรวจครั้งก่อน นักเศรษฐศาสตร์ต่างสำนักมีความคิดเห็นแตกต่างกันมาก แต่งานวิจัยปี 2005 กลับพบว่าความแตกต่างทางความคิดลดลงมาก โดยรวมแล้วมีการปรับความคิดเข้าหากัน

ในประเด็นที่ว่า "นโยบายการคลังมีประสิทธิ ภาพในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ" นักเศรษฐศาสตร์ชิคาโกกลับ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" เพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 15% ขณะที่ในฮาร์วาร์ด "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" ลดลงจาก 30% เหลือ 12% เช่นเดียวกับ เอ็มไอที ลดลงจาก 48% เป็น 30% และเยล ลดลงจาก 60% เหลือเพียง 20%

นอกจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์ชิคาโกที่ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" กับประเด็นที่ว่า "ธนาคารกลางควรดำเนินนโยบายรักษาระดับการเติบโตของปริมาณเงินอย่างคงที่สม่ำเสมอ" ลดลงจาก 41% เหลือ 18% ส่วนที่ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" กับประเด็นที่ว่า "เงินเฟ้อเป็นปรากฏการณ์ทางการเงินเป็นสำคัญ" ก็ลดลงจาก 84% เหลือ 44% (ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นมีความเห็น "สวนทาง" โดยในเยล ผู้ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" เพิ่มขึ้นจาก 13% เป็น 40% ฮาร์วาร์ด 15% เป็น 40% เอ็มไอที 7% เป็น 18%)

ส่วนข้อเสนอ "ในประเทศพัฒนาแล้ว ก็ควรมีการกระจายรายได้ให้เท่าเทียมมากขึ้น" นักเศรษฐศาสตร์โดยรวม "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" ลดน้อยลงมากจาก 47% เป็น 32% ในฮาร์วาร์ด ลดลงจาก 54% เป็น 25% เอ็มไอทีลดลงจาก 52% เป็น 39% สแตนฟอร์ดลดลงจาก 52% เป็น 36% ขณะที่สำนักชิคาโกมีผู้เห็นความสำคัญเพิ่มขึ้นสวนทางจาก 16% เป็น 20%

ประเด็นที่ว่า "การเก็บภาษีและการจำกัดโควตาทำให้สวัสดิการทางเศรษฐกิจแย่ลง" นั้น ผู้ที่ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" โดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 36% เป็น 51% น่าสนใจ (อีกแล้ว) ว่า นักเศรษฐศาสตร์ในฮาร์วาร์ดที่ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 53% เอ็มไอทีเพิ่มขึ้นจาก 38% เป็น 48% สแตนฟอร์ดเพิ่มขึ้นจาก 32% เป็น 54% ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักชิคาโกที่ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" ลดลงจาก 66% เป็น 62% และที่ไม่เห็นด้วยว่าการแทรกแซงราคาสองรูปแบบนี้ ส่งผลบั่นทอนสวัสดิการทางเศรษฐกิจ กลับเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 13% (ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ !)

กล่าวโดยสรุป งานวิจัยชิ้นนี้ให้ภาพวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.เศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกยังคงรักษาสถานะความเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่างเข้มแข็ง ว่าที่ ดร. เศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำเชื่อมั่นในเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม

2.มหาวิทยาลัยชิคาโกยังคงเป็นป้อมปราการสำคัญของเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกดังเดิม นักเศรษฐศาสตร์จากสำนักชิคาโก ยังคงแตกต่างจากนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอื่นอย่างเด่นชัด แม้ระดับความแตกต่างจะลดลงไป จากเมื่อสองทศวรรษก่อนบ้างก็ตาม

3.พื้นฐานความคิดของนักเศรษฐศาสตร์แต่ละมหาวิทยาลัยนับวันยิ่งปรับตัวใกล้เคียงกันมากขึ้น โดยเป็นการปรับความคิดความเชื่อเข้าหากัน จากปลายทางทั้งสอง (convergence) ระดับความ "สุดขั้ว" ในเชิงพื้นฐานความคิดของแต่ละสำนักลดน้อยถอยลง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมิได้แตกต่างจากมหาวิทยาลัยชิคาโก แบบหน้ามือเป็นหลังมืออีกต่อไป นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นพ้องในระดับข้อสมมติที่ใช้สร้างทฤษฎีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ที่สำคัญ มีความเห็นพ้องในระดับข้อเสนอเชิงนโยบายมากขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23329เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2006 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท