สุพรรณบุรี


คำขวัญ สุพรรณบุรีเมืองยุทธหัตถี วรรณคดีขึ้นชื่อ เลื่องลือพระเครื่องรุ่งเรืองเกษตรกรรม สูงล้ำประวัติศาสตร์ แหล่งปราชญ์ศิลปินภาษาถิ่นชวนฟัง
อำเภอเมือง
 
   
โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก  
โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตกจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ริมถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท (ทางหลวงหมายเลข 340) ตำบลสนามชัย ภายในศูนย์ราชการกรมศิลปากรจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นโรงละครภูมิภาคขนาด 850 ที่นั่ง  ซึ่งกำหนดให้สร้างขึ้นสำหรับภาคตะวันตกของประเทศ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านการแสดง ให้บริการทางวิชาการด้านนาฏศิลป์ ดนตรี รวมทั้งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างชาติ ประจำภาคตะวันตก มีการจัดการแสดงละครและกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมโดยนักเรียนของวิทยาลัยนาฎศิลปให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมทุกวันเสาร์ที่ 1-3 ของทุกเดือน ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ค่าเข้าชมราคา  40 บาท, 60 บาท และ 80 บาท นักเรียน นักศึกษาที่เข้าชมเป็นหมู่คณะ ราคา 30 บาท  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3553 5112, 0 3553 5116 

 
   
วัดมหาธาตุ หรือ วัดพระธาตุศาลาขาว  
อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปตามถนนมาลัยแมน (ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ) ทางหลวงหมายเลข 321 ไปประมาณ 16 กิโลเมตร ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 145 วัดมหาธาตุตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดสวนแตง ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดพระธาตุนอก เพราะลักษณะพระปรางค์คล้ายกับพระปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุแต่ขนาดย่อมกว่า มีความสูงประมาณ 20-25 เมตร จากสภาพที่หลงเหลือปัจจุบันเป็นพระปรางค์เดี่ยว มีบันไดและซุ้มประตู ยอดพระปรางค์มนกว่ายอดพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งมียอดแหลม แผ่นอิฐมีขนาดเล็ก และสอด้วยปูนหวาน เนื้อหยาบ จากหลักฐานของโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบได้จากพระปรางค์ สันนิษฐานได้ว่า วัดนี้สร้างในราว พ.ศ. 1967-2031 ในรัชสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) หรือพระบรมไตรโลกนาถ ปัจจุบันพระธาตุอยู่ในสภาพทรุดโทรม

 
   
วัดแค  
 

เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” อยู่ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุไปทางเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในวัดนี้มีต้นมะขามใหญ่วัดโคนต้นโดยรอบได้ประมาณ 9.50 เมตร อายุประมาณ 1,000 ปี เชื่อกันว่าขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตนจากต้นมะขามต้นนี้กับท่านอาจารย์คงเพื่อใช้เวลาโจมตีข้าศึก ใกล้กับต้นมะขามยักษ์นี้ทางจังหวัดได้สร้างเรือนไทยทรงโบราณเรียกว่า “คุ้มขุนแผน” เพื่อเป็นอุทยานวรรณคดีและเป็นการอนุรักษ์ศิลปด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสวัดแคเมื่อ พ.ศ. 2447 วัดนี้มีโบราณวัตถุที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธบาทสี่รอย ทำด้วยทองเหลืองกว้าง 1.40 เมตร ยาว 2.80 เมตร สร้างซ้อนกันไว้ในรอยใหญ่ นอกจากนี้ยังมี พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบศิลปรัตนโกสินทร์  จีวรและอังสะเป็นลายดอกพิกุลงดงามมาก  ประดิษฐานอยู่ในวิหารหน้าพระประธาน  สิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น ระฆังทองเหลือง หม้อต้มกรักทองเหลือง ตู้ใส่หนังสือที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายเมื่อปี พ.ศ. 2412

 
 
 
วัดหน่อพุทธางกูร (เดิมชื่อ วัดมะขามหน่อ)  
 

ตั้งอยู่ที่ตำบลพิหารแดง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ เลยวัดพระลอยไปทางเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3507 กิโลเมตรที่ 3 เป็นวัดเงียบสงบสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถหลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ ค่อนข้างสมบูรณ์ชัดเจน เป็นจิตรกรรมที่มีความงดงาม เขียนราว พ.ศ. 2391 ในสมัยรัชกาลที่ 3

 
 
 
วัดสนามชัย  
ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลสนามชัย ริมทางหลวงหมายเลข 340 ห่างจากจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 57 ไร่ อยู่ริมแม่น้ำสุพรรณบุรีฝั่งตะวันออก จากพงศาวดารเหนือเล่าว่า พระเจ้ากาแต ทรงให้มอญน้องผู้เป็นญาติสร้างขึ้นพร้อมกับบูรณะวัดป่าเลไลยก์ สันนิษฐานว่าสร้างก่อนปี พ.ศ. 1746 พบซากเจดีย์ขนาดใหญ่และกำแพงแก้วพร้อมเจดีย์บริวารเล็กๆ ทั้งสี่ทิศ เมื่อปี พ.ศ. 2504–2505 กรมศิลปากรขุดแต่งองค์เจดีย์ ภายในกลวง พบอัฐิธาตุป่นปนกับเถ้าถ่านจำนวนมากบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ นักโบราณคดีให้ข้อสันนิษฐานและคำอธิบายว่า เจดีย์วัดสนามชัย เป็นเจดีย์ 16 เหลี่ยม กว้างด้านละ 48 เมตร ยาวด้านละ 62 เมตร สันนิษฐานจากศิลปะการก่อสร้างว่ามีการสร้างซ้อนกันอย่างน้อย 2 สมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดี-สมัยอู่ทอง (คือช่วงปลายทวารวดีต่อสมัยอยุธยา) และสมัยอยุธยา
อำเภอเมือง
 
   
วัดสุวรรณภูมิ (วัดกลางหรือวัดใหม่)
 

เป็นวัดสมัยอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ถนนพระพันวษา ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอเมืองสุพรรณบุรี สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด  ได้แก่ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริมหาเถระ)  สร้างเมื่อ  พ.ศ. 2514 อาคารมี 2 ชั้นเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ เช่น พระพุทธรูป นาฬิกา อาวุธ เชี่ยนหมาก ถ้วยชาม แจกัน แก้ว โดยเฉพาะบาตรสังคโลกสมัยสุโขทัยพุทธศตวรรษที่ 18–19 ซึ่งมีชิ้นเดียวในประเทศไทย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-16.00 น. (ควรติดต่อขออนุญาตเข้าชมล่วงหน้า) โทร. 0 3552 2331, 0 3552 3603

 
 
   
วัดประตูสาร  
 

อยู่ที่ถนนขุนช้าง ตำบลรั้วใหญ่ ภายในเขตเทศบาลเมือง เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ไม่มีหลักฐานเก่าระบุว่าสร้างเมื่อใด แต่คงจะสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2379 ซึ่งเป็นปีที่สุนทรภู่มาสุพรรณบุรี ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติฝีมือช่างหลวง เชื่อกันว่าเป็นคนเดียวกับที่เขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดหน่อพุทธางกูร เขียนราว พ.ศ. 2391 นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมที่เขียนบนพื้นไม้เป็นแผ่นๆ เรื่องพุทธประวัติและมหาชาติ ลักษณะของภาพเหมือนจะลอกแบบจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ เก็บรักษาอยู่ในวิหาร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3554 3598

 
 
   
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร
 

ตั้งอยู่ที่ริมถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่หน้าบันของวิหารวัดป่าเลไลยก์มีเครื่องหมายพระมหามกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ บอกให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จธุดงค์มาพบสมัยยังทรงผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงมาปฏิสังขรณ์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยที่เมืองสุพรรณบุรีรุ่งเรือง ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ภายหลัง พ.ศ. 1724 ที่วัดแห่งนี้ประชาชนนิยมมานมัสการ “หลวงพ่อโต” ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารสูงเด่นเห็นแต่ไกล เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิมีลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุอีกข้างหนึ่งในท่าทรงรับของถวาย องค์พระสูง 23.46 เมตร รอบองค์ 11.20 เมตร มีนักปราชญ์หลายท่านว่า หลวงพ่อโตเดิมคงเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สร้างไว้กลางแจ้งเหมือนพระพนัญเชิงในสมัยแรกๆ เพราะมักจะพบว่า พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สร้างในสมัยก่อนอยุธยาและอยุธยาตอนต้น ส่วนมากชอบสร้างไว้กลางแจ้งเพื่อให้สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ภายในองค์พระพุทธรูปนี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลายจำนวน 36 องค์ หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ทุกปีจะมีงานเทศกาลสมโภชและนมัสการหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์ 2 ครั้ง คือ ในวันขึ้น 7-9 ค่ำ เดือน 5 และเดือน 12
ตรงข้ามวิหารวัดมีร้านขายสินค้าที่ระลึกพื้นเมืองหลายร้านให้แวะเลือกซื้อ ด้านหลังวัดมี “คุ้มขุนช้าง” ซึ่งสร้างเป็นเรือนไทยไม้สักหลังใหญ่กว้างขวาง ตามบทพรรณนาเรือนของขุนช้างในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ขึ้นไปบนเรือนจะเห็นฉากภาพวาดตัวละครขุนช้างสำหรับให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปเป็นที่ระลึก บนเรือนแต่ละห้องมีภาพบรรยายเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน มีตู้จัดแสดงภาชนะเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆไม่ว่าจะเป็นฉากกั้นหรือถ้วยโถโอชามเก่าแก่แบบต่างๆ

 
 
   
วัดพระรูป  
 

ตั้งอยู่ที่ถนนขุนช้าง ริมฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ตรงข้ามตลาดสุพรรณบุรี วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีอายุอยู่ในสมัยอู่ทองตอนปลาย ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ก่ออิฐถือปูน ยาว 13 เมตร สูง 3 เมตร ชาวบ้านเรียกว่า เณรแก้ว พระพักตร์กลมยาวคล้ายผลมะตูม ผินพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าสร้างในราว พ.ศ. 1800 -1893 และถือว่าเป็นพระนอนที่มีพระพักตร์งามที่สุดในประเทศไทย
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าชม ได้แก่ พระพุทธบาทไม้ เป็นโบราณวัตถุที่หาค่าไม่ได้ ศิลปะการแกะสลักงดงามมาก มีขนาดยาว 221.5 เซนติเมตร กว้าง 74 เซนติเมตร หนา 10 เซนติเมตร ทำจากไม้ประดู่แกะสลักทั้ง 2 ด้าน มีเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย เดิมพระพุทธบาทไม้อยู่ที่วัดเขาดิน เมื่อตอนเกิดศึกไทย-พม่า พระภิกษุรูปหนึ่งเกรงจะถูกทำลาย จึงนำล่องลงมาทางน้ำแล้วเอาขึ้นที่วัดพระรูป นอกจากนี้ยังมี เจดีย์อู่ทองและซากเจดีย์สมัยทวารวดี ระฆังสัมฤทธิ์ และธรรมาสน์สังเค็ด (วัตถุที่ถวายแก่สงฆ์ผู้เทศน์หรือผู้ชักบังสุกุลเมื่อเวลาปลงศพ) ฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย และที่นี่ยังเป็นกรุของ “ พระขุนแผน ” อันมีชื่อเสียงอีกด้วย

 
 
   
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  
 

อยู่ถนนสมภารคง แยกจากถนนมาลัยแมนไปประมาณ 300 เมตร เขตตำบลรั้วใหญ่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ในสมัยก่อนเป็นศูนย์กลางของเมืองสุพรรณภูมิ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง มีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี ปรางค์องค์ประธานเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่ถูกลักลอบขุดค้นหาทรัพย์สินจนทรุดโทรมไปมาก กรุในองค์พระปรางค์นี้เป็นต้นกำเนิดพระพิมพ์ผงสุพรรณบุรีที่โด่งดังมาก อันเป็นหนึ่งใน “เบญจภาคี” 5 พระเครื่องยอดนิยม อันได้แก่ พระสมเด็จนางพญาของสมเด็จพระพุทธาจารย์(โต) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร พระผงสุพรรณ จังหวัดสุพรรณ พระสมเด็จนางพญา จังหวัดพิษณุโลก พระทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชรและพระรอด จังหวัดลำพูน นักโบราณคดีหลายท่านให้ความเห็นว่า ปรางค์องค์นี้น่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้างสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ เพราะจากหลักฐานการก่อสร้างองค์ปรางค์เป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา

 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23322เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2006 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท