การจัดการความรู้ ในการนำผลการประเมินมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา 1


ทีหน้า ทีหลัง ดิฉันจะต้องเพิ่มเทคโนโลยีในการบันทึกเสียงของดิฉันประกอบการบรรยายไว้ด้วย นี่เป็นอีกบทเรียนที่ดิฉันควรปรับปรุง

ชื่อหัวข้อคราวนี้ยาวหน่อยค่ะ  เป็นหัวข้อการบรรยายที่ดิฉันได้รับเป็นโจทย์ ในวัน "รวมพลังเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาไทย ประจำปี 2549" : 30 - 31 มี.ค. 49 จัดโดยศูนย์เครือข่าย สมศ. มหาวิทยาลัยนเรศวร  ซึ่งดิฉันจะต้องใช้เวลาในการบรรยายเชิงปฏิบัติการ แก่คณาจารย์และผู้สนใจที่มาจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนล่างประมาณ 3 ชั่วโมง ของวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2549 เวลา 13.30 - 16.30 น.

ในยุคสมัยนี้ วิทยากร หรืออาจารย์ แทบทุกคน รวมทั้งดิฉันด้วย ถูกเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเสียแล้ว  เพราะถ้าไม่ได้เตรียมสื่อการบรรยายแผ่นสไลด์สำเร็จรูปด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันชาญฉลาดแล้วละก็  ประหนึ่งว่าจะไม่สามารถใช้เพียงคำพูดสดๆ สร้างความสนใจ หรือความเข้าใจแก่ผู้ฟังได้ฉะนั้น

อย่างไรก็ตาม  ดิฉันชอบที่จะทำสไลด์เป็นรูปภาพ  โดยมีคำบรรยายเพียงเล็กน้อย เพราะไม่มีเจตนาให้ผู้ฟังอ่าน ตัวหนังสือมีไว้เพียงเพื่อนำทางในการบรรยายของตนเองเป็นหลัก  ฉะนั้น ถ้าท่านใดที่ขอ copy file ไปดูอีกครั้ง หรือเผยแพร่แก่ผู้อื่น ดิฉันเกรงเหลือเกินว่าท่านอาจตีความจากภาพได้เข้าใจไม่ครบถ้วน หรืออาจเข้าใจผิดไป  ทีหน้า ทีหลัง ดิฉันจะต้องเพิ่มเทคโนโลยีในการบันทึกเสียงของดิฉันประกอบการบรรยายไว้ด้วย  นี่เป็นอีกบทเรียนที่ดิฉันควรปรับปรุง

เพื่อเป็นการแก้ตัว ดิฉันขอนำเสนอเป็นข้อเขียนประกอบสไสด์ ไว้ ณ Blog นี้อีกครั้ง โดยจะพยายามทยอยเขียนวันละเล็กละน้อย เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายนะค่ะ        

ตามโจทย์ที่ได้รับเพื่อบรรยาย ดิฉันแปลเจตนาของผู้จัดว่า คงอยากให้ดิฉันอธิบายเรื่อง KM โดยอธิบายให้สัมพันธ์กับเรื่อง QA และเน้นว่า KM จะช่วย QA ในการนำผลประเมินคุณภาพในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (44 - 48) มาพัฒนาคุณภาพของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้อย่างไร?

 

 

 

ก่อนอื่น ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตในเบื้องต้นว่า ผลการประเมินคุณภาพการศึกษา ระดับอุดมศึกษา ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตามทัศนะของดิฉันเอง มี 4 ข้อ คือ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่

  1. ขาดจุดเด่น  ขาดเอกลักษณ์
  2. ขาดเกณฑ์มาตรฐานระดับคุณภาพ
  3. ขาดการมองคุณภาพในภาพรวม
  4. ขาดการวิเคราะห์เปรียบเทียบ

 

เรื่องแรก "การขาดจุดเด่น ขาดเอกลักษณ์สมศ.เองก็ตระหนักชัดในปรากฎการณ์ดังกล่าว ดังนั้น  ในรอบการประเมินครั้งที่ 2 ของ สมศ. สมศ.จึงพยายามตีกรอบให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดจุดเด่น / เอกลักษณ์ ของสถาบันแต่ละแห่งให้จงได้  โดยให้แต่ละสถาบันกำหนดค่าน้ำหนักมาตรฐานคุณภาพการศึกษา ข้อ 1 - 4  ตามจุดเน้นของตน ทั้งนี้คะแนนรวมใน 4 มาตรฐาน ให้ได้เท่ากับ 100  มาตรฐานทั้ง 4 ได้แก่

  1. มาตรฐานด้านคุณภาพบัณฑิต อย่างน้อย 20
  2. มาตรฐานด้านงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ อย่างน้อย 20
  3. มาตรฐานด้านการบริการวิชาการ  อย่างน้อย 20
  4. มาตรฐานด้านการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม  อย่างน้อย 20

 

ดังนั้น ถ้ามหาวิทยาลัยใดเป็นดังตัวอย่างในสไลด์  คือ กำหนดน้ำหนักมาตรฐานที่ 1 - 4 เป็น 35  35  20  10  ก็แสดงว่า ได้ตัดสินใจแล้วที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีจุดเด่นด้านวิจัยและผลิตบัณฑิต เป็นต้น

นี่ถ้า สมศ. ไม่บังคับอย่างนี้ จะยอมตัดสินใจให้เด็ดขาดไหมน้อ? (ข้อความนี้ไม่ได้พูดตอนบรรยายนะค่ะ)

หมายเลขบันทึก: 23176เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2006 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท