รพ.มวล. : เรียนรู้จากโรงพยาบาลใหญ่ (๑)


การที่จะบริหารให้ไปสู่องค์การที่เป็นเลิศ ต้องสร้างค่านิยมที่สำคัญ ต้องมีการเตรียมผู้บริหารระดับสูง

ทีมคณะทำงานโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ประชุมเพื่อกำหนดแนวคิด รพ.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไปบ้างแล้ว ดิฉันได้เสนอว่าควรไปขอเรียนรู้จากโรงพยาบาลที่เขาทำได้ดีอยู่แล้ว จะได้นึกภาพออกว่าควรจะต้องเตรียมการในเรื่องใดบ้าง เพราะคณะทำงานแต่ละคนต่างก็ไม่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องการจัดตั้งโรงพยาบาล เคยแต่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลที่ตั้งมาแล้ว บางคนก็ไม่มีประสบการณ์ทำงานอยู่ใน รพ.มหาวิทยาลัย

สมัยที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เปิดดำเนินการใหม่ๆ ดิฉันจำได้ว่าเราเคยไปสัมภาษณ์ผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านว่าควรมีโรงพยาบาลแบบใด จำได้แม่นยำอย่างหนึ่งว่าโรงพยาบาลของเราจะไม่ใช่โรงพยาบาลของสำนักวิชาแพทย์ แต่จะเป็นของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันไม่รู้ว่าข้อมูลเหล่านี้อยู่ที่ไหน

ประธานคณะทำงานคือ ผศ.พญ.มยุรี วศินานุกร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ เป็นผู้ประสานงานกับ รพ.มอ.วันที่เราวางแผนจะไปขอเรียนรู้ก็ได้ช่วยกันคิดว่าอยากจะรู้อะไรบ้าง แต่พอถึงเวลาไปจริงๆ กลับไม่ได้นำคำถามไปด้วย มีแต่กำหนดการว่าเวลาใดจะได้ฟังการบอกเล่าเรื่องอะไรบ้าง

ดิฉันบันทึกตามที่จดได้ อาจเก็บรายละเอียดได้ไม่ครบถ้วน หากมีเนื้อหาส่วนใดคลาดเคลื่อน ขอให้ทีมงานช่วยกันแก้ไขด้วย

วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๑
เราออกเดินทางจาก มวล.ก่อน ๐๖ น. ระหว่างทางเจอฝนบ้างแต่ไม่หนัก คาดกันว่าอาจจะไปถึงช้ากว่าเวลาที่นัดหมายคือ ๐๙ น.สักเล็กน้อย จึงให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปแจ้งล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ผู้บริหารคือคณบดีและผู้อำนวยการโรงพยาบาลมารอ แต่เมื่อเข้าตัวเมืองหาดใหญ่ปรากฏว่ามีรถติดอย่างหนักยาวสุดสายตา

โชเฟอร์พยายามหาทางออกทางโน้นทางนี้แต่ก็ไม่เป็นผล เราจึงไปถึงห้องประชุมช้าไปเกือบ ๑ ชั่วโมง  รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รศ.นพ.กิตติ ลิ่มอภิชาต อดีตคณบดี รศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ มารอต้อนรับกันอย่างพร้อมหน้า เราเกรงใจมากรีบเข้านั่งในห้องประชุม ไม่มีใครกล้าออกไปห้องน้ำก่อนเลย (มารู้ภายหลังว่ามีงานในหาดใหญ่ที่นักเรียนหลายๆ โรงเรียนมาร่วมงาน)

รศ.นพ.สุเมธ กล่าวต้อนรับและบอกว่า รพ.มวล.ไม่ใช่คู่แข่ง อยากให้เกิดขึ้น เปรียบโรงพยาบาลว่าเป็นเหมือนห้อง Lab. ของคณะแพทย์ แยกกันยากมาก มีตัวอย่าง รพ.มหาวิทยาลัยที่แยกจากคณะแพทย์แล้วไม่ประสบความสำเร็จหรือเกิดปัญหา ต่อจากนั้นจึงมีการแนะนำตัวว่าใครเป็นใครกันบ้าง

เราได้ชม VDO แนะนำโรงพยาบาล และจากการพูดคุยทำให้รู้ว่าพอตั้งคณะแพทย์ก็มีการตั้งโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลสร้างเสร็จทีหลัง ระหว่างนั้นก็ใช้ รพ.หาดใหญ่ไปก่อน สอนที่ รพ.หาดใหญ่ บุคลากรที่รับมาแล้ว เช่น พยาบาล ก็ไปทำงานที่ รพ.หาดใหญ่

ช่วงแรกๆ คณะยังขาดแคลนอาจารย์ อาศัยอาจารย์จากกรุงเทพมาช่วยสอน และมีการให้ทุนแพทย์เรียนเฉพาะทางแล้วกลับมาเป็นอาจารย์

เริ่มมีการทำแผนยุทธศาสตร์ครั้งแรกเมื่อประมาณปี ๒๕๓๙ (ดูจาก พ.ศ.เป็นแผน ๑๐ ปี) เมื่อตอนอยู่ตัวแล้ว  ระดมสมองอาจารย์และบุคลากร กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์ วิสัยทัศน์ขณะนั้นคือ “เป็นคณะแพทยศาสตร์ชั้นนำของประเทศ” เป็นองค์กรที่ใช้ KPI เป็นแห่งแรกๆ ของประเทศ มีเอกสารกำหนดว่าใครทำอะไร ใช้เป็นกรอบในการติดตาม

ปี ๒๕๔๙ มีการสัมมนาใหม่ เพื่อใช้ระหว่างปี ๒๕๕๐-๒๕๕๔ ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ “เป็นคณะแพทยศาสตร์ชั้นเลิศที่มุ่งสู่ระดับนานาชาติ” มีนิยามภารกิจหลัก ยัง integrate การเรียนการสอน การบริการ และการวิจัยเหมือนเดิม

โรงพยาบาลเปิดให้บริการเมื่อ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ เริ่มจากการให้บริการเพียง ๑๐๐ เตียงจนปัจจุบันมีจำนวนเตียงกว่า ๘๐๐ มีบุคลากรกว่า ๔,๐๐๐ คน คณะแพทย์และโรงพยาบาลแยกกันไม่ออก มีปรัชญาชี้นำเดียวกัน

การพัฒนาคุณภาพ เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ เป็นองค์กรแห่งแรกที่ใช้ QC ต่อยอดด้วย QA (ปี ๒๕๔๐) ทุกวันนี้ยังทำอยู่แล้วต่อยอดอีกหลายเรื่อง ปี ๒๕๔๔ เริ่มใช้ HA เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ผ่าน ปี ๒๕๔๕ เอา Malcolm Baldrige มาใช้พัฒนาองค์กร

การบริหารคุณภาพของโรงพยาบาลใช้ ๗ ส. ใช้ HA ด้านบริการ และ TQA ด้านบริหารองค์กร จุดเด่นมีอยู่ ๑๐ ข้อ เช่น มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง ผู้นำระดับสูงมีความสุ่งมั่น มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ ฯลฯ เราได้ชม VDO เรื่องราวที่ได้รับรางวัล TQA ด้วย

รศ.นพ.สุเมธยังกล่าวด้วยว่า มวล.ตั้งโรงพยาบาลในวันนี้เป็นเรื่องง่าย เพราะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น มีตัวอย่างให้เห็นทั้ง ๒ รูปแบบ (รพ.มหาวิทยาลัยเป็นของคณะแพทย์ และ รพ.ที่ไม่เป็นของคณะแพทย์) ทั้ง ๒ รูปแบบต่างก็มีข้อดี-ข้อเสีย

ฟังทั้งหมดแล้วสรุปได้ว่าการที่จะบริหารให้ไปสู่องค์การที่เป็นเลิศ ต้องสร้างค่านิยมที่สำคัญ เตรียมผู้บริหารระดับสูง เตรียมระบบคุณภาพ ออกแบบระบบงาน เตรียมคนและพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถ

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 231341เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท