การเรียนการสอนยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เสริมสร้างหรือทำลายการศึกษา


ผู้เรียนทุกคนมีผลการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ครบถ้วนตามความมุ่งหมายของหลักสูตร แม้ผู้เรียนแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน แต่ครูมีฝีมือที่จะทำให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุผลตามที่พึงปรารถนาได้
การเรียนการสอนยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เสริมสร้างหรือทำลายการศึกษา

 

กองบรรณาธิการ รายงานปฏิรูปการศึกษาไทย

 

ด้วยความสับสนและลักลั่นในความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่ายึดผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงนำไปสู่ข้อผิดพลาดอันอาจจะก่อให้เกิดการทำลายคุณภาพของการศึกษา เช่น ครูบางคนปล่อยให้ผู้เรียนเรียนตามลำพัง กิจกรรมหนักไปทางการศึกษา ค้นคว้าจากหนังสือและสื่อต่าง ๆ ตามความสนใจ จนบางครั้งคล้ายกับไร้ทิศทาง ไร้มาตรฐาน

 

ดังนั้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กองบรรณาธิการจึงขอนำบทความของ ดร.สงบ ลักษณะ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้แยกประเด็นต่าง ๆ ออกมาได้อย่างน่าสนใจ พร้อมกันนี้ยังได้ฝากบอกมาว่า ครูจะต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อ ความคิด และวิธีปฏิบัติบางประการ จากความคิดเดิมเป็นความคิดใหม่ เมื่อนั้นการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญจึงจะได้ผลสูงสุด

 

ความคิดเดิมมุ่งไปที่การดูว่าครูมีวิธีสอนที่ทำให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเน้นการคิดเอง ปฏิบัติเอง แต่ความคิดใหม่ความสำเร็จอยู่ที่ผลลัพธ์ของผู้เรียน คือผู้เรียนทุกคนมีผลการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ครบถ้วนตามความมุ่งหมายของหลักสูตร แม้ผู้เรียนแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน แต่ครูมีฝีมือที่จะทำให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุผลตามที่พึงปรารถนาได้

 

ความคิดเดิมเชื่อว่า ผู้เรียนมีความสามารถต่างกันจึงมีผลการเรียนไม่เท่ากัน แต่ความคิดใหม่ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้เท่ากัน ถ้าครูจัดวิธีการเรียนให้เหมาะกับความสามารถของเขา

 

ความคิดเดิม ผู้เรียนเรียนรู้จากการอ่าน การฟัง การฝึก และการจดจำ แต่ความคิดใหม่ ผู้เรียนเรียนรู้จากได้รับประสบการณ์จากแหล่งต่าง ๆ จากการค้นคว้า ทดลอง ปฏิบัติ สอบถามผู้รู้ วิเคราะห์ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

 

ความคิดเดิม ผลการเรียนคือความรู้ที่แสดงออกด้วยการจดจำความจริง กฎ เกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นเนื้อหา แต่ความคิดใหม่คือความสมดุลของความรู้ ความคิด ความสามารถในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้ การแก้ปัญหา การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เป็นต้น

 

ความคิดเดิม ครูมีกระบวนการสอนที่เป็นมาตรฐานตามตัวใช้กับผู้เรียนทุกคน แต่ความคิดใหม่ ครูรู้จักจุดเด่นจุดด้อยผู้เรียนรายบุคคล ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย

 

ความคิดเดิม ปล่อยให้เด็กทำกิจกรรมเรียนรู้ตามลำพัง ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่ความคิดใหม่ครูทำหน้าที่พี่เลี้ยง ให้คำแนะนำ ร่วมวางแผน ติดตามผลการทำกิจกรรม

 

ความคิดเดิม การวัดผลประเมินผลมีจุดอ่อนในการยึดเพียงเนื้อหาตามตำรา แต่ความคิดใหม่เน้นการติดตามผลการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคลตลอดเวลา ใช้วิธีการวัดและการประเมินมีหลายอย่าง ทั้งการประเมินจากพฤติกรรม ผลงาน ข้อสอบ เป็นต้น

 

หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ที่ความเป็นครูมืออาชีพที่มุ่งมั่น คิดค้น แสวงหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนมีความสำเร็จในการเรียนรู้เต็มศักยภาพ ครบถ้วนตามมาตรฐาน โดยใช้พื้นฐานของความรักและความเมตตาที่ครูมีต่อผู้เรียนทุกคนอย่างแท้จริง

 

ขอขอบคุณกับบทความดี ๆ แบบนี้ ที่ได้วิเคราะห์ออกมาให้เห็นในแง่มุมต่าง ๆ หวังว่าสาระที่ผู้อ่านได้รับจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทางให้กับตัวเองนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23047เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2006 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญดีนะครับ แต่ครูบางคนเข้าใจผิดคิดว่า ปล่อยให้เด็กทำเองทุกอย่างครูไม่ต้องสอน เป็นเรื่องที่กระทรวงต้องทบทวนการเผยแพร่ข้อมูลให้ครู
  • แม้แต่ O-net,A-net ยังยกเลิก รู้สึกว่ากระทรวงไม่ได้วางแผนที่ดีเท่าไร บ่อยให้เด็กสอบ เสียเวลา เสียเงิน ไม่นับรวมเสียความรู้สึกนะ
  • เข้ามาที่ ดูที่ khajit's blog จะรู้ว่ายังมีคนจัดการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
  • ขอบคุณครับที่นำเรื่องมาให้อ่าน ของ สกศ แน่เลย

ใช่ครูบางคนเค้าก็คงเข้าใจคิดว่า ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง
แต่ที่ไหนได้ เมื่อนักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง เมื่อเกิดความสงสัยในช่วงหนึ่งผู้เรียนจะเกิดปัญหา และจะหาคำตอบนั้นไม่ได้ ทางที่ดีครูผู้สอนควรให้คำชี้แนะอย่างใกล้ชิดกับผู้เรียน

บทความดีให้แง่คิด
หามาอีกนะคะ

ขอลปรร.กับบทความสักนิดนะคะ เกี่ยวกับความคิดเดิมและความคิดใหม่ เพราะบางข้อ ดิฉันเห็นไม่ค่อยตรงกัน แต่คิดว่าการที่เราวิเคราะห์จุดนี้ให้ดีๆ เราน่าจะได้แนวปฎิบัติที่เหมาะสมกับเด็กของเรามากยิ่งขึ้น

การเรียน การสอนแบบเน้นผู้เรียนนั้น ไม่ควรหยุดนิ่ง จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ โดยเรียนรู้จากการกระทำค่ะ ซึ่งระบบนี้น่าจะสนุกสนาน มีความสุขทั้งแก่ผู้เรียนและผู้สอน

"ความคิดเดิมมุ่งไปที่การดูว่าครูมีวิธีสอนที่ทำให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเน้นการคิดเอง ปฏิบัติเอง แต่ความคิดใหม่ความสำเร็จอยู่ที่ผลลัพธ์ของผู้เรียน"

ประเด็นนี้ดูจะเปรียบเทียบอะไรที่ไม่ตรงกัน จึงลปรร.ยากค่ะ แต่ตัวเองไม่รู้สึกว่าคุณครูสมัยก่อน(โดยมาก)มุ่งวิธีสอนอย่างนี้นะคะ 

"ความคิดเดิมเชื่อว่า ผู้เรียนมีความสามารถต่างกันจึงมีผลการเรียนไม่เท่ากัน แต่ความคิดใหม่ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้เท่ากัน ถ้าครูจัดวิธีการเรียนให้เหมาะกับความสามารถของเขา" 

เห็นด้วยกับความคิดเดิม แต่ความคิดใหม่ ผู้เรียนทุกคนไม่น่าจะเรียนรู้ได้เท่ากันนะคะ น่าจะเป็น เรียนรู้ได้ตามศักยภาพของผู้เรียน ซึ่งครูต้องรู้จักจัดการเรียนให้โดยดูตรงจุดนั้นๆ

 "ความคิดเดิม ผู้เรียนเรียนรู้จากการอ่าน การฟัง การฝึก และการจดจำ แต่ความคิดใหม่ ผู้เรียนเรียนรู้จากได้รับประสบการณ์จากแหล่งต่าง ๆ จากการค้นคว้า ทดลอง ปฏิบัติ สอบถามผู้รู้ วิเคราะห์ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน"

ประเด็นนี้ ดูเหมือนจะหมายถึง เดิมแบบเมื่อหลายๆสิบปีก่อน ที่เรานึกถึง สุ จิ ปุ ลิ แต่ถ้าเดิมเมื่อสักสิบยี่สิบปี คือรุ่นที่ดิฉันเป็นนักเรียนนั้น เราเน้นคิด ถามและเขียนน้อยลงจนน่าใจหาย เหลือก็แต่ฟัง และ จำเท่านั้น ถ้าหากเราสามารถทำให้กลับไปเน้นได้ครบทั้งสี่หลักจริงๆ ก็จะตรงกับความคิดใหม่นะคะ

เห็นด้วยกับข้อสรุป และอยากให้ยึดแนวทางนี้อย่างเข้าใจและยืดหยุ่น ผลประโยชน์ก็จะตกกับระบบการเรียนรู้ การคิดของเยาวชนของเราซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติต่อไป เพราะระบบนี้น่าจะทำให้เราสามารถพัฒนาศักยภาพของคนได้ตรงกว่าการเรียน การสอนแบบเดิม

จากระบบเดิม เราจะได้คนเก่งมาจากการแข่งขันกันเอง คนดีมาจากการบ่มเพาะของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติพื้นฐาน

ส่วนระบบใหม่ เราน่าจะได้คนเก่งและคนดี ที่ให้ความเคารพในความคิดของคนอื่น และภาคภูมิใจในความเป็นตนเอง โดยไม่ต้องคิดแข่งขันกับใคร ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปตลอดชีวิต แทนการกักเก็บสิ่งที่ตัวเองรู้เพราะกลัวคนอื่นเก่งกว่า หรือไม่ยอมแสดงว่าตัวเองไม่รู้ เพราะกลัวว่าคนอื่นจะเห็นว่าตัวเองไม่เก่ง

ในห้องเรียน 1 ห้องเรียน หากมี ผู้เรียน ต่างความรู้ ต่างพื้นฐาน  ครูทำอย่างไรกันดีคะ กับ กลุ่มเด็กหัวแหลม  และกลุ่มหัวทู้  ขอความคิดเห็นกับคุณครูผู้เชี่ยวชาญ ทั้งหลาย  ช่วยอธิบาย ว่า จะจัดการเรียนการสอน กับเด็ก 2 กลุ่มนี้ได้อย่างไร ให้ได้รับรู้เท่าเทียมกัน ในชีวิตนักเรียนของผู้เขียนถูกคุณครูละเลย มาตั้งแต่ระดับมัธยมต้น และปัจจุบันการงานต้องหันเห ม่ายได้เป็นครูอย่างตั้งใจ ขอขอบคุณล่วงหน้านะคะ สำหรับคำแนะนำค่ะ

ความหมายกลุ่มเด็กหัวแหลม  หมายถึงเด็กเรียนเก่งหัวไวสอนอะไรก็รู้เรื่องกลุ่มหัวทู่ก็ตรงกันข้ามคือสอนอะไรก็ไม่ซึมซับ คุณถามว่าสอนอย่างไรให้ได้รับรู้เท่าเทียมกัน  

1.ในความเป็นจริงของธรรมชาติมนุษย์นั้นไม่มีอะไรเท่าเทียมกันดังนั้นไม่ว่าคุณจะสอนอย่างไรแม้เด็กในกลุ่มเดียวกันก็มีความรู้ไม่เท่ากันแน่นอน

2.ตัววัดความรู้ใช้อะไรวัดจึงจะเที่ยงตรง..ข้อสอบ?

การสอนให้เรียนรู้จึงมีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้องกันอย่างแรกครูหรือผู้สอนต้องตั้งใจจริง  แน่วแน่ วิเคราะห์ปัญหาปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่อยากรู้ในตัวผู้เรียนให้หมดหรือจนไม่เป็นอุปสรรคในการอยากเรียนรู้ ปลุกเร้าให้ผู้เรียนกระหายใคร่รู้ให้ได้แล้วจัดการมอบหมายให้ กลุ่มเด็กหัวแหลม  ช่วยเหลือกลุ่มหัวทู่  จัดให้เขาได้เรียนรู้ด้วยกันช่วยเหลือกันได้คะแนนร่วมกันโดยมีครูชี้แนะแต่ต้องระวังอย่าเข้าไปจัดการจนทำลายสัมพันธภาพการช่วยเหลือของกลุ่มและระวังไม่ให้เกิดปัญหา และจงเลือกใช้ตัววัดที่เป็นธรรมคุณจะประสบความสำเร็จ ถ้าครั้งเดียวไม่ได้ผลอาจต้องใช้หลายครั้งและวัตถุประสงค์ต้องชัดและไม่มากเกินไป

  • ขอบคุณ อาจารย์อุมาพรมากนะคะ สำหรับข้อชี้แนะ  อาจารย์มีประสบกราณ์จริงๆค่ะ
  • ปัจจัยทำให้เกิดไม่อยากเรียนรู้ มีมากรายมั้ยค่ะ ในประสบกราณ์การสอนของอาจารย์นะคะ ต้องเสริมแรงเป็นรายตัวเด็กเลยหรือปล่าวค่ะ
  • เป็นวิจัยชั้นเรียนได้เลยใช่มั้ยค่ะ
  • และครูมีบทบาทเพียงผู้ชี้แนะใช่มั้ยค่ะ
  • ดิฉันจะหาโอกาสหาข้อมูลเพิ่มเติมให้กับตัวเองนะคะ
  • ขอขอบคุณมากนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท