การเมืองภาคประชาชน


ผมไปร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑  ระหว่างวันที่ ๑๑ ๑๓ ธ.ค. ๕๑ แล้ว AAR ว่า    นี่คือแบบฝึกหัดของการเมืองภาคประชาชน

 

เพราะผมได้เห็นตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ตามสัดส่วนของจำนวนคน มาร่วมกันพิจารณาประเด็นเชิงนโยบาย ของระบบสุขภาพของประเทศ   รวม ๑๔ ประเด็น ที่มีทีมงานทำการบ้านมาก่อนแล้ว เป็นเวลานาน   มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย และรับฟังกันอย่างสุภาพ    แม้ความเห็นบางส่วนจะขัดแย้งหรือตรงกันข้าม ก็ไม่มีการทะเลาะกัน

 

เราอยากเห็นการเมืองไทยเป็นอย่างนี้

คือมีการเมืองภาคประชาชนเป็นภาคของการเมืองที่ครองบทบาทสูงที่สุดในสังคม    แต่ไม่ใช่แสดงบทบาทของการแสวงผลประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนกลุ่ม   เราอยากเห็นการเมืองภาคประชาชนแสดงบทบาทของการมีฝันใหญ่ร่วมกัน อย่างที่แสดงใน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑   และแสดงความเห็นต่อแนวทางบรรลุฝันนั้น  

ผมอยากเห็นการเมืองไทย เปลี่ยนจากสภาพการเมืองแห่งความขัดแย้ง   ไปสู่การเมืองแห่งฝันร่วม และแนวทางร่วม    เพื่อมอบหมายให้ผู้ได้รับมอบอำนาจบริหารบ้านเมืองรับไปทำ    แล้วการเมืองภาคประชาชนก็คอยตรวจสอบ  

ประชาชน/พลเมือง ต้องเปลี่ยนจาก ผู้ถูกปกครอง   ไปสู่ผู้ร่วมกันกำหนดฝันของบ้านเมือง    และร่วมกันทำให้ฝันเป็นจริง    โดยมีฝ่ายบริหารประเทศเป็นผู้รับไปดำเนินการ

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ธ.ค. ๕๑

 

   

หมายเลขบันทึก: 229624เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2008 08:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดิฉันอยากเห็นการเมืองไทยที่สงบและร่มเย็นไม่อยากเห็นผู้น้ำ

ที่มีแต่คนแก่งแย้งชิงดีกันคิดจะหาแต่ผลประโยชน์ใส่ตัวเอง

ไม่คิดถึงประเทศชาติและประชาธิปไตย

แล้วจะมีไหมค่ะคนดีที่รักประเทศชาติอย่างจริงใจ

เห็นด้วยค่ะ อยากเห็นสังคมที่เอาความดีที่เป็น "ภาวะวิวัย" เป็นตัวตั้ง

เอาคนรากหญ้าเป็นเบอร์หนึ่งของความสนใจ

เอาความรู้เป็นตัวกำหนดวิธีการ มากกว่าอารมณ์

เรื่อง “สื่อพื้นบ้านกับการรณรงค์ประชาธิปไตย”

โครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยกับสื่อพื้นบ้าน

เวลา 9.00 น. กล่าวรายงานโดยอาจารย์ศุลีมาน วงศ์สุภาพ คณะศิลปศาสตร์

ประธานกรรมการโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตย

คำกล่าวรายงาน

โดย : อาจารย์ศุลีมาน วงศ์สุภาพ ประธานกรรมการโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยกับสื่อพื้นบ้าน

เรียน ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์

ดิฉันในนามผู้ประสานงานเครือข่ายหญิงชายเพื่อสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ท่านรองอธิการบดีให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ศิลปินพื้นบ้านกับการเผยแพร่ประชาธิปไตยและพิธีส่งมอบสื่อประชาธิปไตยในวันนี้

สำหรับความเป็นมาของโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยผ่านสื่อพื้นบ้านนั้น เกิดจากความสนใจร่วมของกลุ่มคนจากคณะศิลปศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรม รวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่ต้องการเห็นการเมืองภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง โดยใช้สื่อพื้นบ้านที่ยังทรงพลังและเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านในการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย ไปยังประชาชนโดยเฉพาะในภาคชนบท เพื่อให้ประชาชนหญิงชายเข้าใจกติกาใหม่ในการกำหนดความสัมพันธ์ โครงสร้างทางการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน และการเลือกตั้งระบบใหม่ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ โดยจัดกิจกรรมต่อเนื่องทั้งสิ้น 7 กิจกรรม คือ การจัดทำวิดีทัศน์ 6 ตอน จำนวน 100 ม้วน เทปเสียงเพื่อประชาธิปไตย จำนวน 1,000 ม้วน วิทยุชุมชน สมุดบันทึกโนราห์ประชาธิปไตย และจะจัดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 จำนวน 7 ตอน ต่อเนื่องกันไป นอกจากนี้จะจัดให้มีโนราสัญจรเพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตยในช่วงก่อนวันเลือกตั้งวุฒิสมาชิก 2 รุ่น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และในวันนี้เป็นการจัดฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการให้คณะโนรา หนังตะลุง และเพลงบอก จำนวนรวม 60 คน จากหลายจังหวัดภาคใต้ เพื่อให้ศิลปินพื้นบ้านนำความรู้เกี่ยวกับกติกาใหม่ในระบอบประชาธิปไตยไปบอกเล่าต่อผู้คนในชุมชนขณะที่สัญจรไปตามที่ต่างๆ การฝึกอบรมประกอบไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ หน้าที่ และมาตรการกลไกในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน เสวนาประสาศิลปิน เรื่อง โนรากับการเผยแพร่ประชาธิปไตย และการซักซ้อมทำความ เข้าใจเกี่ยวกับบทกลอนในสมุดบันทึกโนรารวมทั้งการวางแผนการสัญจรไปตามงานต่างๆก่อนการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในวันที่ 4 มีนาคม 2543 นี้

นอกจากนี้ เครือข่ายหญิงชายเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะผู้ผลิตสื่อความรู้ประชาธิปไตย ยังได้รับเกียรติจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ท่านประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดสงขลา และนายกสมาคมฟื้นฟูชนบทจังหวัดสงขลา และองค์กรชาวบ้านในการนำสื่อความรู้วิดิทัศน์ เทปเสียง สมุดบันทึกโนรา ไปเผยแพร่ยังหน่วยงาน ชุมชน หอกระจายข่าวตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งมีอาสาสมัคร รัฐธรรมนูญกระจายอยู่ทุกหมู่บ้านในจังหวัดสงขลา

ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งระบบใหม่ผ่านศิลปินพื้นบ้านซึ่งเป็นภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมใต้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมความ แข็งแกร่งให้การเมืองภาคประชาชน สื่อต่างๆ ที่ปรากฎเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ของการเมืองในชีวิตประจำวันที่มีทั้งหญิงชาย ผ่านหัวหน้าคณะโนรา หนังตะลุง เพื่อร่วมกันถักทอให้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้อำนาจแก่ประชาชนมากขึ้นปรากฎเป็นรูปธรรมจริง ขอขอบคุณมูลนิธิอาเซียที่ให้การสนับสนุนโครงนี้ด้วยดีตลอดมา บัดนี้ถึงเวลาอันสมควรแล้ว ขอเรียนเชิญท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงษ์ กล่าวเปิดงานค่ะ

เวลา 9.40 น. เริ่มเปิดงานโดย รศ. ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์

รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์

ประธานในพิธีกล่าวเปิดงานดังนี้

เรียนประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง จังหวัดสงขลา ผู้แทนมูลนิธิอาเซีย วิทยากรและศิลปินพื้นบ้านทุกท่านการเผยแพร่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญและที่สำคัญมากยิ่งขึ้นคือการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก “ส.ว.” ในปีนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยมหาวิทยาลัยได้เคยร่วมมือกันศิลปินพื้นบ้านเมื่อปีกว่ามาแล้ว เป็นการรณรงค์ให้เข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญแต่ต่อไปต้องรณรงค์กิจกรรมการเมืองทั้งหมด ศิลปินเป็นสื่อสำคัญที่จะได้รณรงค์ให้ชาวบ้านรู้สึกว่าการพิทักษ์รักษาของกระบวนการทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน โดยการรับรู้ของชาวบ้าน ศิลปินเป็นสะพานเชื่อมได้ ทั้งนี้เพราะศิลปินเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งกระจายทั่วไปทุกส่วน สามารถเชื่อมโยง อดีต-ปัจจุบัน สู่อนาคต อันจะนำสู่วิถีชีวิตและประชาธิปไตยต่อไป นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มหาวิทยาลัยและศิลปินพื้นบ้านสามารถประสานกันได้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของชุมชนต่อไป

นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่เครือข่ายหญิงชายเพื่อสิทธิมนุษยชนได้จัดทำโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตย กับสื่อพื้นบ้านขึ้น ในช่วงกระแสของการเลือกตั้งแบบใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม 2543 อันเป็นการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย อันเป็นเจตนารมณ์อันหนึ่งของรัฐธรรมนูญในการปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังเปิดให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองมากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในฐานะที่เป็นสถาบันทางการศึกษาที่สำคัญของท้องถิ่นภาคใต้ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำให้การเมืองภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ให้ประชาชนใช้อำนาจของตนเองได้ถูกต้องตามขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำกับไว้ และกติกาเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย ดังนั้น การให้ความรู้แก่ประชาชนโดยผ่านสื่อพื้นบ้าน เช่น หนังตะลุง มมโนราห์ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนใต้ นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ และนำเสนอภาพลักษณ์วัฒนธรรมใต้ต่อสาธารณชนแล้ว ยังเป็นสื่อที่ดีที่สุดที่จะเข้าถึงคนในชนบทได้ดี เพราะสื่อพื้นบ้านนอกจากจะให้ความบันเทิงแก่สังคมแล้ว ศิลปินพื้นบ้านยังเป็นผู้มีความสามารถในการชี้นำสังคมโดยการสอดแทรกเรื่องราวต่างๆ ไปพร้อมกับการให้ความบันเทิง นอกจากนี้ สื่อพื้นบ้านทำหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆตามความเชื่อของชุมชน ดังนั้น สื่อพื้นบ้านจึงมีความสำคัญต่อคนในชนบทเป็นอันมาก หากจะใช้สื่อพื้นบ้านมาช่วยให้ความรู้ทางกฎหมาย สิทธิเสรีภาพและการเลือกตั้งระบบใหม่แก่ประชาชนในท้องถิ่นชนบท ก็จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง ในโอกาสนี้ขอขอบคุณมูลนิธิอาเซียที่ให้การสนันสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยตลอดมา

บัดนี้ ถึงเวลาสมควรในการเปิดการฝีกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “สื่อพื้นบ้านกับการเผยแพร่ประชาธิปไตย” และพิธีส่งมอบสื่อประชาธิปไตยรูปแบบต่างๆให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดงาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท