ความคิดเห็นต่อการบันทึกลงสมุดและในบล็อก


ทุกวันเกิด ของขวัญที่ได้รับและได้ใช้ประโยชน์มากที่สุด คือสมุดสำหรับจดบันทึกเล่มโต 1 เล่ม จากพี่ที่เคารพยิ่งที่ให้มาอย่างต่อเนื่องกว่าสิบปี

ถ้าดิฉันจะนับสมุดบันทึกตั้งแต่เริ่มหัดเขียนเมื่ออยู่ประถมห้า ก็ได้เกือบเต็มตู้หนึ่งตู้แล้ว ล่ะค่ะ

เมื่อก่อนก็จดแต่กิจวัตรประจำวัน ไปทำอะไร อย่างไร แต่ต่อมาก็เพิ่มความคิดความเห็น ความฝัน การวิเคราะห์ การไปฟังบรรยาย รวมทั้งคำพูดที่ชอบหรือประเด็นเด่นๆ ไว้

การบันทึก บางครั้งก็เกิดจากความอยากระบายความในใจ
บางครั้งเกิดจากการตกผลึกทางความคิด
บ่อยครั้งเกิดจากความอยากเก็บความทรงจำของช่วงเวลานั้นไว้

บางทีกลับเกิดจากการขาดความมั่นใจจนอยากได้เสียงตอบกลับผ่านตัวอักษรบนแผ่นกระดาษ
แต่ก็บ่อยครั้งที่ดูเหมือนว่าถึงพูดคนเดียว แต่กลับไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง

เคยเก็บบันทึกเก่ามาดู แล้วต้องแอบปิดตาตัวเองข้างหนึ่ง เพราะรู้สึกอายจังที่ไปคิด ไปทำอะไรอย่างนั้น แต่ที่เป็นเสมอคือแทบจะไม่ได้เปิดสมุดอ่านบันทึกที่ผ่านไปแล้วมากกว่า

การบันทึกลงบล็อกคงเข้ามาชดเชยตรงที่ได้อ่านบันทึกเก่าของตัวเองด้วยนะคะ

แต่การเขียนลงบล็อกก็มีข้อต้องคำนึงมากกว่าตรงที่ต้องเลือกคำมากขึ้น นึกถึงสิทธิ เสรีภาพและภราดรภาพมากกว่าการเขียนลงสมุดส่วนตัว

หลายคนไม่ชอบการบันทึก และหลายคนก็ไม่ชอบให้ใครมาติดตามเฝ้าบันทึกคำพูดหรือการกระทำของเขา เพราะดูเหมือนมันจะกลายเป็นเครื่องผูกมัดตัวเขาในที่สาธารณะภายหลัง

แต่ถึงจะไม่ชอบการบันทึก พฤติกรรมคนก็คงเหมือนการรวมสมุดบันทึกและบล็อกบันทึกไว้ด้วยกัน
ไม่ว่าจะได้กลับไปอ่านไหม ไม่ว่าจะเกิดจากการเลือกกระทำอย่างไร
บันทึกนั้นก็คงอยู่เพื่อรอการเปิดเผยตัวเองในท้ายที่สุด

คำสำคัญ (Tags): #psychological_health
หมายเลขบันทึก: 22807เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2006 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ดีใจที่มีคนชอบบันทึกเหมือนกัน
  • บันทึกในสมุดมาประมาณ 10 กว่าปีเหมือนกัน
  • ทุกวันนี้ยังชอบบันทึกอยู่ครับ
     การเขียนบันทึกใน Blog เพื่อแบ่งปัน/แลกเปลี่ยน ---> เรียนรู้ มากกว่า การบันทึกลงใน Diary และเป็นสาธารณะกว่า เลยต้องว่ากันไปตามความเหมาะสม อาจจะยั้งคิด เลือกใช้ภาษา น่าจะเป็นเชิงบวก (เท่านั้น) ประมาณนี้ล่ะครับ (ผมว่าเองนะ)

อาจารย์ขจิต

อะไรเป็นแรงจูงใจให้อาจารย์ชอบบันทึกคะ

อาจารย์ชายขอบ

ค่ะ การคิดถึงความเป็นสาธารณะในการเขียนบล็อก (หรือเขียนอะไรก็ตามที่ตระหนักว่าเขียนแล้วมีผู้อื่นอ่านด้วย) สำหรับตัวเองแล้ว มองเห็นข้อดีว่า ทำให้เพิ่มจิตสำนึกต่อสังคม และคิดก่อนเขียนมากขึ้นว่าสิ่งที่เขียนจะไม่ทำร้ายใครอย่างเจตนา แต่ไม่ได้หมายความว่าเกร็งกับกฎมากมาย เช่นหากว่า ณ ที่นี้ ต่อไปมีกฎมากขึ้น มีข้อกำหนดน่าอึดอัด วันหนึ่งก็อาจหยุดบทบาทตัวเองบน gotoknow.org อย่างนี้เป็นต้น

เพราะคิดว่าสิ่งที่สำคัญของการได้เขียนและได้อ่านสิ่งที่คนอื่นเขียนก็เท่ากับได้เรียนรู้โลกของความคิดที่กว้างใหญ่ไพศาล ไม่ใช่การต้องอ่านเฉพาะสิ่งที่ถูกกรอบเป็นสูตรสำเร็จไว้แล้วค่ะ 

  • บันทึกชีวิตการทำงานแต่ละวัน แลกเปลี่ยนประการณ์การทำงาน
  • เหมือนเป็นการจัดการความรู้ในรูปแบบใหม่
  • เป็นการเพิ่มสีสันที่ดีนะคะ

เห็นด้วยกับคุณจันทรัตน์  การเขียนบันทึก

1. บางครั้งก็เกิดจากความอยากระบายความในใจ

2. บางครั้งเกิดจากการตกผลึกทางความคิด
3. บ่อยครั้งเกิดจากความอยากเก็บความทรงจำของช่วงเวลานั้นไว้

4.บางทีกลับเกิดจากการขาดความมั่นใจจนอยากได้เสียงตอบกลับผ่านตัวอักษรบนแผ่นกระดาษ
5. แต่ก็บ่อยครั้งที่ดูเหมือนว่าถึงพูดคนเดียว แต่กลับไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง

ตรงใจทุกข้อเลยค่ะ  ที่สำคัญทุกครั้งที่เขียนบันทึกแล้วไม่มีใครแสดงความคิดเห็น รู้สึกเหงาเหมือนเราไม่มีเพื่อนเลยค่ะ 

แรงจูงใจในการเขียนบันทึกของผม จากความอยากเขียน ระบาย ความรู้สึก ที่ผลิตออกมาเป็นคำพูดไม่ค่อยได้,เป็นแหล่งอ้างอิง เวลาจะใช้ข้อมูลเดิมของเรา,เป็นตัวชี้วัดพัฒนาการทางด้านความคิดของตัวเอง,เป็นบทเรียนที่ดี และเป็นลายลักษณ์อักษรครับ
ดิฉันใช้ blog ด้วย ในวันนี้และขณะเดียวกันก็เขียนบันทึกลงสมุดด้วย เพื่อการระบายออกจากใจ และยังคงเก็บและปิดกุญแจเอาไว้ไม่ให้คนอื่นเห็น  ใช้ blog เมื่อในโอกาสที่ตนคิดว่าเขียนแล้วคนอ่านน่าจะได้ประโยชน์ ในสิ่งที่เราคิด กับเมื่ออยากเล่าเท่านั้น สมุดบันทึกน้อย ที่คุ้นเคยเมื่อเด็ก ก็ยังคงมี แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือความห่างของวันที่ ในการเขียน บางครั้ง 1 เดือนเขียนบันทึกในสมุดเพียงครั้งเดียว
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท