โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (3.1) คุณอุไร แอบเพชร


...วันหนึ่งพาลูกไปนา ลูกชอบเล่นน้ำในนา ลูกชวนแม่กลับบ้าน จึงถามว่าเป็นอะไร ลูกบอกว่าจะเป็นลมแล้ว...
โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (2)

บทนักเรียนชาวนา

3. สุขภาวะนักเรียนชาวนา : อุไร แอบเพชร (ตอนที่ 1)

     เมื่อกล่าวถึงเรื่องของสุขภาวะแล้ว สุขภาวะประกอบไปด้วย รวมองค์ประกอบ ๔ ประการ หรือหลายคนกล่าวกันว่า สุขภาวะ ๔ ก็มี ดูจากองค์ประกอบแล้ว จึงย้อนมาดูนักเรียนชาวนา สุขภาวะเป็นอย่างไรกันบ้าง

    นักเรียนชาวนาคนแรกที่จะใคร่ขอแนะนำจากโรงเรียนชาวนาบ้านดอนคือ คุณอุไร แอบเพชร อายุ ๔๙ ปี (๒๕๔๘) เป็นชาวอู่ทองผู้มีเชื้อสายไททรงดำตำบลบ้านดอน เป็นนักเรียนชาวนาซึ่งเป็นแม่ที่พาลูกมาเรียนในโรงเรียนชาวนาด้วยเป็นระยะๆ เรื่องราวของคุณอุไรเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ทั้งคุณอำนวยและคุณกิจต้องติดตาม และเป็นเรื่องที่เป็นตัวอย่างของคนคิดเป็นที่ได้คิดแล้ว คุณอุไรเริ่มเล่าว่า "ทำนามาตั้งแต่เป็นเด็ก ตอนอายุได้ ๑๑ ปี เรียนจบชั้น ป.๔ ก็ออกจากโรงเรียน ออกมาทำนา เดินตามควาย เมื่อก่อนนั้นมีควาย ๓๐ ตัว มีนา ๑๔ ไร่ ใช้เกวียน เกี่ยวด้วยมือ สมัยก่อน ทำนาปี ถ้าเป็นข้าวเจ้าก็จะปลูกข้าวบุญนาค ข้าวหงส์ทอง ถ้าเป็นข้าวเหนียวก็ปลูกข้าวกาบอ้อย ข้าวดำ

ภาพที่ ๑๓ คุณอุไร แอบเพชร นักเรียนชาวนา โรงเรียนชาวนาบ้านดอน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

    ถ้ามีน้ำท่วม ข้าวนาปีจะลอยได้ น้ำท่วมเพราะสมัยก่อนไม่มีคลองกั้นน้ำ ไม่มีถนนหนทางกั้น เมื่อน้ำไหลมาก็จึงไหลไป ข้าวบุญนาคกับข้าวหงส์ทองจะไม่ยอมให้น้ำมาท่วม มันจะลอยน้ำหนี มันจะลอยตะพึด ลำต้นยาวกว่า ๒ เมตร ข้าวจึงไม่มีเสียหาย

     ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ อายุได้ ๒๘ ปี สมัยนั้นมีคลองชลประทานมาถึงนาแล้ว ก็จึงเริ่มทำนาปรัง ชาวบ้านคุยกันว่าจะได้ข้าวเยอะกว่า ด้วยทางหน่วยงานเกษตรมาแนะนำถึงหมู่บ้าน ได้แนะนำข้าว กข ๑ กข ๒ กข ๔ ให้ทำนาปรังจะได้ข้าวเยอะ ถ้าทำนาปีจะได้ข้าวน้อย ...แล้วก็รีบเชื่อเขา รีบเชื่อเลย...ไม่มีความคิดเป็นของตนเองเลย

     ทำนาปีใช้ควายไถ แต่ทำนาปรังไม่ได้ใช้ควาย ใช้รถไถแทน แม้ว่าในตอนแรกๆนั้นยังใช้ควายไถนาอยู่ แต่พอสักระยะหนึ่งก็เปลี่ยนมาใช้รถไถกัน ทำนาปรังในตอนแรกๆยังทำนาดำกันอยู่ ถัดมาอีก ๒ ปี (พ.ศ.๒๕๓๐) จึงเปลี่ยนมาทำนาหว่านแทน เพราะทำนาดำนั้นต้องจ้างคนเยอะ ต้องเอาแรงกัน แต่คราวนี้ต่างคนว่า ‘กูก็ทำของกู มึงก็ทำของมึง’ พูดกันอย่างนี้...เลยเลือกหว่านดีกว่า

     เรื่องรถไถนั้น ช่วงแรกๆ ก็ว่าจ้างเขา (ชาวบ้านในหมู่บ้าน) ไร่ละ ๑๕๐ บาท สมัยนั้นน้ำมันลิตรละ ๗ บาทเอง ต่อมาพอปี พ.ศ.๒๕๓๘ พี่สาวจึงไปซื้อรถไถจากกรุงเทพมา ซื้อยี่ห้อคูโบตาด้วยเงินสด ราคา ๒๘,๐๐๐ บาท

     ทำนาปรังในช่วง ๒ ปีแรก (พ.ศ.๒๕๒๘ – ๒๕๓๐) ยังไม่มียาฆ่าแมลงเข้ามาในหมู่บ้าน แต่ในปีที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๓๑) เริ่มมีการใช้ยาคุมหญ้า พอปีที่ ๔ – ๕ (พ.ศ.๒๕๓๒ – ๒๕๓๓) ยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ ดูได้ว่าการทำนา ๑๐ ไร่ ใช้ยาคุมหญ้าเพียง ๑ ขวด ...ก็พอ แต่ต่อมาต้องใช้ ยาคุมหญ้า ๒ ขวด ยาฆ่าแมลงอีก ๒ ขวด และฮอร์โมนอีกชุดหนึ่ง สรุปว่า ๑๐ ไร่นี้จะต้องหมดค่ายาต่างๆไปประมาณ ๓,๐๐๐ บาท

     ทำนาปรังครั้งแรก จำได้ว่า ขายข้าวเปลือกได้เกวียนละ ๑,๒๐๐ บาท ต่อมาได้ ๑,๘๐๐ บาท ได้ ๒,๒๐๐ บาท แต่ว่าตอนนั้นต้นทุนยังไม่สูงสักเท่าไหร่ เริ่มแรกได้ข้าวเปลือกไร่ละ ๖๐ ถัง ต่อมาได้ถึง ๘๐ ถัง และต่อมาก็ได้ถึง ๑ เกวียน ได้มากเพราะใส่ยาต่างๆ ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงว่าต้นทุนได้จ่ายไปเท่าไหร่ ชาวนาจะไม่คิดถึงต้นทุน ยกตัวอย่างเช่นพี่สาว ตอนที่ข้าวเป็นโรค ก็วิ่งไปเอายามาฉีดให้มันหาย ราคา ๒,๐๐๐ กว่าบาทต่อครั้ง ๒,๐๐๐ กว่าบาทนะ ซึ่งไม่ได้ฉีดครั้งเดียวด้วย ฉีดถึง ๓ ครั้ง (๖,๐๐๐ กว่าบาท) ...นี่เฉพาะค่ายาอย่างเดียวนะ อย่างนี้มันลดต้นทุนไม่ได้หรอก ด้วยเหตุที่ไปฟังเขาบอกว่าถ้าใส่อันนี้นะ ผลผลิตจะได้เยอะ จึงเชื่อเขา

     นึกถึงเมื่อตอนที่ทำนาปีแล้ว แม้ไม่ได้ใส่ยาอะไรเลยลงในนา...ก็อยู่ได้ และทำนาปรังในปีแรกก็ยังอยู่ได้ ไม่ได้ใส่อะไรเลยเช่นกัน ข้าวก็ไม่เห็นเป็นโรคและไม่มีตัวอะไร...ก็อยู่ได้ ทำนาปี ๑ ไร่ได้ข้าวเปลือกประมาณ ๔๐ – ๕๐ ถัง ขายได้เกวียนละ ๘๐๐ บาท ไม่มาก...แต่มีเหลือกินเหลือใช้ ไม่มีหนี้สินเลย”

     เรื่องราวจากสภาพอดีตสู่ปัจจุบันของคุณอุไรได้บ่งบอกถึงจุดแห่งการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำนาผลิตข้าว อันส่งผลกระทบต่อการปรับและเปลี่ยนวิถีชีวิต วิถีครอบครัว และวิถีชุมชน สภาพทางสังคมและเศรษฐกิจในห้วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาอย่างย่อๆ ซึ่งเราๆท่านๆได้เรียนรู้ผ่านคุณอุไร ผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศเพื่อการปรับประเทศให้ทันสมัยอาจจะไม่ได้ช่วยให้ชาวนาอย่างคุณอุไรมีสุขภาวะที่ดีขึ้นได้เลย ในทางตรงกันข้ามกลับทุกข์ใจเป็นไหนๆ เสียงจากชาวนาแม่หญิงคนหนึ่งกลับเป็นคำตอบที่ชัดเจนขึ้นมา ซึ่งอาจจะเป็นคำตอบให้กับใครหลายๆคนที่ยังไม่ทราบถึงสภาวะของชาวนาไทย

     อย่างไรก็ตาม เมื่อมูลนิธิข้าวขวัญเข้ามาในพื้นที่ตำบลบ้านดอนถิ่นวัฒนธรรมพื้นบ้านไททรงดำ คุณอุไรได้เล่าเรื่องราวต่อไปว่า "เหตุจูงใจที่มาเป็นนักเรียนชาวนานั้น เพราะมีเรื่องราวเกิดขึ้นกับตนเองและลูกสาว ซึ่งตอนนั้นยังอายุได้เพียง ๕ ขวบ (พ.ศ.๒๕๓๘) เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งพาลูกไปนา ลูกชอบเล่นน้ำในนา ลูกชวนแม่กลับบ้าน จึงได้ถามต่อว่าเป็นอะไร ลูกบอกว่าจะเป็นลมแล้ว ตอนแรกๆก็นึกว่าลูกแกล้งเพราะไม่อยากไปนา ไปนาครั้งใดลูกก็บอกว่าอยากจะเป็นลมอยู่ร่ำไป ไปนาทีไรก็ไม่สบายทุกที...เป็นลม จึงพาไปโรงพยาบาล หมอบอกว่าลูกแพ้ยา ได้ฟังก็ยังคงงงๆ ลูกไม่ได้กินยาอะไรเลย จะแพ้ยาอะไรกัน

ภาพที่ ๑๔ ลูกสาวของคุณอุไร แอบเพชร

นอกเหนือจากการเป็นเด็กนักเรียนในโรงเรียนแล้ว ในตอนปิดเทอมยังตามแม่ผู้เป็นนักเรียนชาวนามาเรียนรู้และร่วมกิจกรรมในโรงเรียนชาวนาด้วย

     แล้วก็เกิดขึ้นกับตนเองเช่นกัน ตอนที่ไปดำนาซ่อมข้าว หน้าเกิดบวมขึ้นมา เกิดอาการคันเป็นผื่น ตอนนั้นหาสาเหตุไม่เจอ เพราะยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ต่อมาจึงมาคิดได้ว่ายาที่ใส่ลงไปในนา...มันคงสะสมอยู่ในร่างกาย เลยหาทางออกด้วยการจ้างคนอื่นไปทำแทน ญาติพี่น้องก็ไม่เข้าใจ มาบ่นมาว่าอะไรนิดอะไรหน่อยก็จ้างเขาไปหมด แต่หารู้ไม่ว่า ตัวเราเองนั้นแพ้ยาในนา เพียงแค่ผสมยาจะให้คนอื่นเขาไปฉีดแทนให้ก็ยังแพ้เลย หมอได้แนะนำให้ใส่ถุงมือยาง ก็ทำตามคำแนะนำ แต่ยังแพ้อยู่ดี สุขภาพเป็นอย่างนี้มาตลอด อาการมือชาเท้าชา คิดอยู่ในใจว่า จะมีอะไรมาแทนการใช้ยาได้บ้าง

     ต่อมา ญาติบอกว่า มีคนเขา (คุณอำนวย เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิข้าวขวัญ) ทำปุ๋ยทำยาสมุนไพรที่บ้านลุงประทิน (ประธานกลุ่มนักเรียนชาวนาตำบลบ้านดอน) วันแรกๆไปแอบดูด้วยความสงสัย ในสัปดาห์ที่ ๒ พูดกันถึงเรื่องแมลง เรื่องการลดต้นทุน เรื่องสมุนไพรไล่แมลง ถ้าทำได้...จะไม่แพ้ยา นี่เป็นสิ่งที่จูงใจมากๆ เขาเพียงแค่อธิบายเท่านั้น...กลับบ้านก็มาลงมือทำเองเลย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยดูทีวี เห็นมีการพูดถึงเรื่องนี้อยู่ แต่ก็ไม่เชื่อ คิดในใจว่าจะเป็นไปได้หรือ

     โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบทดลอง อย่างเช่น สมุนไพรยาฆ่าหญ้า ได้เอาสับปะรดกับน้ำตาลโมลาสมาผสมเท่าๆกัน แล้วนำไปรดหญ้าให้หญ้าตาย ซึ่งตัวเราไม่แพ้

     ในตอนแรกๆ ไม่มั่นใจว่าจะทำได้จริง เพราะยาฆ่าแมลงซึ่งแรงขนาดนั้นยังเอาไม่อยู่เลย แต่เป็นเพราะได้มีการทดลองใช้กับข้าวในนา เพียงแต่เอายาสมุนไพรใส่แกลลอนไปราดอย่างเดียว ปรากฏว่าข้าวสวยมากเลย ผิดแผกแตกต่างไปจากนาข้าวของเพื่อนบ้านซึ่งมีทั้งหนูและแมลงมารบกวนข้าว เขาต้องเอากับดักไปจัดการกับหนู ส่วนแปลงของเราไม่มี เราจึงไม่ต้องทำ

           

ภาพที่ ๑๕ การขยายจุลินทรีย์แบบน้ำ                 ภาพที่ ๑๖ น้ำหมักผลไม้รวม

           

ภาพที่ ๑๗ ทดลองขยายจุลินทรีย์ด้วยใบไผ่    ภาพที่ ๑๘ ทดลองขยายจุลินทรีย์ด้วยรำ

เป็นนักเรียนชาวนา ในปีที่แล้วใจยังไม่เต็มร้อย เพราะยังไม่มั่นใจ แต่ปีนี้ใจเต็มร้อย เพราะทำแล้วและทำได้ ตอนนี้สามารถลดปุ๋ยได้แล้ว ยาก็ลดได้แล้ว เหลือหญ้าอย่างเดียวที่กำลังคิดกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรดี

     สามีเห็นด้วย และไม่ขัดเลย ได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น ได้ข้าวเปลือกไม่ถึง ๑๐๐ ถังต่อไร่ ก็ไม่เป็นไร แต่ตอนนี้ได้ถึงแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจะได้ คนที่มาเกี่ยวยังถามเลยว่าข้าวนี้ใส่อะไร ก็ตอบเขาตามตรงว่าใส่ปุ๋ยหมัก ใส่น้ำหมักหัวปลา

     ปัจจุบันนี้ทำนา ๑๐ ไร่ ได้ข้าวเปลือกไร่ละ ๑ เกวียน ก่อนหน้านี้ก็ได้ ๑ เกวียนเหมือนกัน แต่ต้นทุนสูง (เพราะซื้อสารเคมี) ตอนนี้มีต้นทุนเพียงค่าจ้างรถไถเท่านั้น รู้สึกภูมิใจกับการเป็นนักเรียนชาวนามากๆ

(มีต่อตอนที่ 2)

หมายเลขบันทึก: 22734เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2006 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท