ส้มโอ อ่างกะป่อง
นางสาว เรณู ส้มโอ อ่างกะป่อง หิริโอตัปปะ

หลักจริยธรรมกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์


หลักจริยธรรม

“หลักจริยธรรมกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์”

โดย...รศ.ดร.นิตยา เจรียงประเสริฐ

ภาคการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เนื่องจากทุกองค์กรต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาร่วมงาน  จึงจำเป็นที่ทุกองค์กรจะต้องมีการบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดแนวปฏิบัติในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และผู้บริหารควรจะยึดหลักจริยธรรมในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรอีกด้วย

ความหมายของการบริหารทรัพยากรมนุษย์

การบริหารทรัพยากรมนุษย์  หมายถึง  การใช้ประโยชน์ (Utilization) ทรัพยากรมนุษย์เพื่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่เบื้องต้นของผู้บริหารทุกระดับ และเพื่อความสำเร็จในการดำเนินงานโดยอาศัยความพยายามและความร่วมมือของบุคคลอื่น ผู้บริหารทุกคนจะต้องมีการจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ

เป้าหมายของการบริหารทรัพยากรมนุษย์

เป้าหมายของการบริหารทรัพยากรมนุษย์  คือ  การใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ

บรรยากาศและความสัมพันธ์ในหน้าที่การงานที่ดีในระหว่างบรรดาสมาชิกขององค์กรและส่งเสริม          ความเจริญเติบโตและความก้าวหน้าของแต่ละบุคคลที่พร้อมมูลเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาองค์กร

ภารกิจของการบริหารทรัพยากรมนุษย์

การบริหารทรัพยากรมนุษย์มีภารกิจสำคัญดังนี้ คือ ต้องการคนดีมีความสามารถมาทำงาน   รู้จักวิธีการใช้คนให้สามารถปฏิบัติงานได้โดยมีประสิทธิภาพสูง และสามารถธำรงรักษาความ             เต็มใจของสมาชิกทุกคนที่จะทุ่มเทจิตใจช่วยกันทำงานให้กับเป้าหมายส่วนรวมขององค์กร

หน้าที่งานด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์

·       การจัดหาบุคคลเข้าทำงาน (Human Resource Planning, Recruitment and Selection) เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ การสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อการจ้างงาน

·       การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงาน การฝึกอบรม และการพัฒนาบุคคล การวางแผนอาชีพ  การพัฒนา              นักบริหาร รวมทั้งการจัดการตำแหน่งงาน

·       การให้ค่าตอบแทนและผลประโยชน์ต่างๆ แก่พนักงาน (Compensation and Benefit) เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการประเมินค่างาน การจัดทำโครงสร้างเงินเดือน ระบบค่าจ้างแรงจูงใจ การแบ่งปันผลกำไร การจัดผลประโยชน์และบริการต่างๆแก่พนักงาน

·       ความปลอดภัยและสุขภาพในการทำงาน (Safety and Health) เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระบบความปลอดภัย การรักษาสุขภาพอนามัยสำหรับพนักงาน

·       แรงงานสัมพันธ์หรือพนักงานสัมพันธ์ (Employee and Labor Relations) เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง สหภาพแรงงาน การร้องทุกข์ การเจรจาต่อรอง และวินัยพนักงาน

 

จริยธรรมกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์

จริยธรรมในการบริหารทรัพยากรมนุษย์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากจริยธรรมของผู้บริหาร                หากผู้บริหารมีจริยธรรมและมีคุณธรรมแล้วก็จะนำไปสู่การบริหารงานภายในองค์กร รวมถึงจริยธรรมในตัวของพนักงาน  ซึ่งผู้บริหารต้องมีจริยธรรมในการบริหารงานภายในองค์กรโดยยึดหลักคุณธรรมและความเท่าเทียมกัน ซึ่งหลักการที่นิยม คือ

·       หลักธรรมาภิบาล มี 6 ประการ คือ

    - ความรับผิดชอบ คือ ผู้บริหารต้องตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ การมีจิตสำนึก        รับผิดชอบต่อองค์กร สังคม และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาน ตลอดจนใส่ใจในปัญหาของสังคมและประเทศ มีความกล้าหาญที่จะรับผิดชอบผลจากการกระทำ

           - หลักคุณธรรม คือ ผู้บริหารต้องยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม ความซื่อสัตย์สุจริต ขยัน อดทน และมีระเบียบวินัย

     - หลักการมีส่วนร่วม คือ ผู้บริหารต้องเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมรับรู้    และร่วมตัดสินใจในการพัฒนาหรือดำเนินการในงานต่างๆขององค์กร

    - หลักความคุ้มค่า คือ ผู้บริหารต้องมีการจัดการทรัพยากรที่มีจำกัดให้มีการใช้อย่างประหยัด คุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

     - หลักความโปร่งใส คือ ผู้บริหารต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบหรือเข้าถึงได้สะดวก และเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมตรวจสอบความถูกต้องในการบริหารและการดำเนินงาน

     - หลักนิติธรรม คือ ผู้บริหารต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ และต้องมีการออกกฎระเบียบในการบริหารงานในองค์กรที่ทันสมัย เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้อง

 

 

ธรรมะที่ผู้บริหารควรยึดถือตามหลักศาสนาพุทธในการเป็นผู้บริหารที่ดี คือ

1. หลักสังคหวัตถุ 4  ผู้บริหารควรยึดหลักสังคหวัตถุ 4 ในการครองใจคน กล่าวคือ                           

                 -  ทาน การให้ หมายถึง น้ำใจอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี

                 -  ปิยวาจา หมายถึง การใช้คำพูดอันทำให้คนอื่นรักใคร่

                 -  อัตถจริยา หมายถึง การทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคม ฝึกฝนตนเองให้มีสมรรถภาพ   พอที่จะช่วยคนอื่นได้ทั้งกำลังกาย กำลังความคิด สติปัญญา                   หรือกำลังทรัพย์

                               -  สมานัตตตา หมายถึง การทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่เย่อหยิ่งจองหอง            เมื่อเปลี่ยนฐานะไปอย่างใดก็ไม่ลืมตัว สามารถเข้ากับคนได้ทุกชนชั้น

 

2.  มรรค 8 หรือ อริยมรรคมีองค์ 8 ประการ คือ ทางประเสริฐมีองค์ 8 ประการ หรือ วิธี 8 ประการที่นำบุคคลไปสู่ความสายกลางที่มีความเหมาะสมพอดี และนำไปสู่ความสุขในชีวิต ได้แก่

·       สัมมาทิฏฐิ หรือ ความเห็นชอบ ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของปัญหา และวิธีแก้ปัญหา ซึ่งในทางพุทธศาสนา ปัญหาก็คือ ทุกข์

·       สัมมาสังกัปปะ หรือ ความดำริชอบ ได้แก่ การดึงจิตให้พ้นจากกิเลส อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีความเมตตากรุณาต่อสิ่งมีชีวิตทั่วไป

·       สัมมาวาจา หรือ การพูดชอบ ได้แก่ การงดเว้นจากการพูดอันไม่สมควร 4 ประการ คือ การงดพูดเท็จ งดพูดเพ้อเจ้อ งดพูดส่อเสียด งดพูดหยาบคาย

·       สัมมากัมมันตะ หรือ การกระทำชอบ ได้แก่ การกระทำที่เว้นจากการเบียดเบียน ร่างกาย ถือเอาทรัพย์สินของผู้อื่น และการเสพเมถุน

·       สัมมาอาชีวะ หรือ การเลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ การประกอบอาชีพที่ถูกต้องเหมาะสม ใช้ความ ขยันหมั่นเพียรและความสุจริตในการประกอบอาชีพ

·       สัมมาวายามะ หรือ ความพยายามชอบ ได้แก่ ละความชั่ว และสร้างความดี

·       สัมมาสติ หรือ ความระลึกชอบ ได้แก่ การระมัดระวังจิตใจไม่ให้คิดในทางที่ไม่ดี

·       สัมมาสมาธิ หรือ การตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ความตั้งใจให้มั่นคงในทางที่ชอบ การสำรวมจิตให้แน่วแน่ มีความหนักแน่น สงบเยือกเย็น

 

3. หลักอิทธิบาท 4 ประกอบด้วย

·       ฉันทะ หรือ ความพอใจ ได้แก่ ความพอใจจะทำงานนั้นและทำด้วยใจรัก

·       วิริยะ หรือ ความเพียร ได้แก่ การทำงานนั้นอย่างต่อเนื่อง และฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆด้วยความอุตสาหะ เพื่อให้งานนั้นสำเร็จตามวัตถุประสงค์

·       จิตตะ หรือ ความเอาใจใส่ ได้แก่ การตั้งจิตให้แน่วแน่ในสิ่งที่ทำ

·       วิมังสา หรือ ความพิจารณาชอบ ได้แก่ การใช้เหตุผลพิจารณาตรวจสอบสิ่งที่ทำให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุด

 

4.หลักพรหมวิหาร 4

·       เมตตา ได้แก่ ความรักความหวังดีที่ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข

·       กรุณา ได้แก่ ความสงสารเห็นใจ ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

·       มุทิตา ได้แก่ ความรู้สึกชื่นชมยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข

·       อุเบกขา ได้แก่ ความรู้สึกวางเฉยเป็นกลางไม่ลำเอียงเข้าข้างคนใดคนหนึ่ง นั่นคือมีความยุติธรรมในการให้รางวัลและการลงโทษ

 

ในการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานหรือองค์กร จำเป็นจะต้องมีผู้บริหารและพนักงานหรือบุคลากรในหน่วยงานนั้นๆ เพื่อที่จะดำเนินงานในหน่วยงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารต้องมีการปฏิบัติต่อบุคลากรในองค์กรของตนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยยึดหลักจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร เพื่อให้องค์กรเกิดการพัฒนาอย่างสูงสุดและงานเกิดประสิทธิผลมากขึ้น

 

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

คำสำคัญ (Tags): #หลักจริยธรรม
หมายเลขบันทึก: 227086เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2008 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นบทความที่อ่านแล้วได้ความรู้มากค่ะ

อยากให้ทุกคนนำหลักธรรมนี้มาใช้ในการปฏิบัติงาน โลกนี้คงสงบสุขมากขึ้น

ผู้บริหารที่ดีควรยึดหลักของพระพุทธศาสนาจึงจะประสบความสำเร็จ

ขอบคุณทุกคนนะคะที่กรุณาเข้ามาทักทายกัน

หาบทความได้จริงๆนู๋ส้มโอ...เจี๊ยกๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท