Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๖๐)_๑


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๑๖)

การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพ
15 โรงพยาบาล จ.นครสวรรค์

         (โปรย) การจัดการความรู้เครือข่ายโรงพยาบาลในจังหวัดนครสวรรค์เกิดขึ้นจากความสมัครใจและความมุ่งหวังของ สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาคุณภาพด้วยวิธีการต่อยอดองค์ความรู้ด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดการความรู้ในระดับจังหวัดนี้เองทำให้เกิดการตรวจสอบตนเอง เปรียบเทียบกับเพื่อนในเครือข่าย ก่อให้เกิดการตื่นตัวในการพัฒนาคุณภาพอย่างเข้มแข็งและรวดเร็ว

         เครือข่ายการเรียนรู้ของกลุ่มโรงพยาบาล  15  แห่ง ในจังหวัดนครสวรรค์ เกิดขึ้นหลังจากที่ สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ได้พิจารณาคัดเลือกจังหวัดที่มีโรงพยาบาล ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการคุณภาพ  มีทีมงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (QRT) ที่เข้มแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้โรงพยาบาลในจังหวัดไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพ  จึงคัดเลือกเข้าร่วม    โครงการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระดับจังหวัด เป็น 1 ใน 16 จังหวัดทั่วประเทศ (ในขณะนั้น  ปัจจุบันเป็น 1 ใน 6 จังหวัดทั่วประเทศที่โครงการผ่านการอนุมัติ) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และ พรพ.ได้จัดประชุมเพื่อ เรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน รูปแบบวิธีการสร้างเครือข่ายสำหรับจังหวัดที่ได้รับคัดเลือกเมื่อ   11-12  มกราคม  2548   สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)นครสวรรค์ โดยงานพัฒนาบุคลากรฯ  ได้จุดประกายแนวทางการนำการจัดการความรู้ (Knowledge management)  เพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล
         เครือข่ายการเรียนรู้ จ.นครสวรรค์ มีโรงพยาบาลในจังหวัดนครสวรรค์เข้าร่วมจำนวน 15 แห่ง คือ  โรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 12 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม 1 แห่ง   และ      โรงพยาบาลเอกชนอีก 1 แห่ง   โดยโรงพยาบาลทั้ง  15  แห่ง ( สวรรค์ประชารักษ์ ,หนองบัว , ไพศาลี ,      ท่าตะโก , ตากฟ้า , ตาคลี , ชุมแสง , พยุหะคีรี , บรรพตพิสัย , เก้าเลี้ยว , ลาดยาว , โกรกพระ , แม่วงก์ , ค่ายจิรประวัติ , ร่มฉัตร )  ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้ร่วมกัน (Knowledge Vision) ที่จะดำเนินการจัดการความรู้ไว้  6  หัวข้อ   คือ
 1.การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน  (DM)
 2.การดูแลผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง (COPD ) 
 3.ความคลาดเคลื่อนทางยา (Medical  Error)
 4.ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ (EMS)
 5.การประเมินคุณภาพของการดูแลผู้ป่วย (Medical  Record)
 6.มาตรฐานการคลอดเพื่อแก้ปัญหาภาวะทารกแรกเกิดขาดออกซิเจน ( Birth asphyxia )

         สำหรับโครงการเครือข่ายการเรียนรู้ 15 โรงพยาบาล จ.นครสวรรค์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้โรงพยาบาลทั้ง 15 แห่ง นำองค์ความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลอย่างบูรณาการ ทั้ง Hospital Accreditation (HA), และ  Health Promoting Hospital (HPH) คือ  การพัฒนา คุณภาพโรงพยาบาล และ พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ) และนำกระบวนการจัดการความรู้ ซึ่งนอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วยังเป็นการประเมินตนเอง และทบทวนตนเอง นำความรู้จากการปฏิบัติจริงทบทวนและพัฒนาต่อไป

ขั้นตอนการดำเนินงาน
         เริ่มจาก  11-12  มกราคม  2548  หลังได้รับแนวทางเรื่องการจัดการความรู้จาก พรพ.แล้ว สสจ.นครสวรรค์ก็ได้ตั้งทีมที่ปรึกษาและคณะทำงานสร้างเครือข่ายขึ้น โดยได้เชิญ คุณไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำ ผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการความรู้รพ.ภาคเหนือตอนล่างเป็นที่ปรึกษา จากนั้น ก็ร่วมกันทำแผนการสร้าง    เครือข่ายการเรียนรู้ กระทั่งปลายเดือนมกราคม 2548  สสจ.นครสวรรค์ก็ได้จัดประชุมผู้บริหารระดับจังหวัดและผอ.โรงพยาบาล 15 แห่ง    เพื่อสร้างความเข้าใจในการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ จ.นครสวรรค์  และ   ค้นหาประเด็นปัญหาสุขภาพ ระบบงาน หน่วยปฏิบัติงาน เพื่อนำมาทำการจัดการความรู้ และจากการประชุมครั้งนี้เอง ก็ได้เป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกัน (Knowledge Vision )ของเครือข่าย 6 เรื่อง คือ 1.การดูแล ผู้ป่วยโรคเบาหวาน 2.การดูแลผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง 3.ความคลาดเคลื่อนทางยา 4.ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ (EMS) 5.การประเมินคุณภาพการดูแลผู้ป่วย  6.มาตรฐานการคลอดเพื่อแก้ปัญหาภาวะทารกแรกเกิดขาดออกซิเจน
  จากนั้น 21 มี.ค.48 ก็ได้จัดจัดอบรมเชิงปฏิบัติการผู้จัดการความรู้และผู้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (คุณเอื้อ) การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ระดับจังหวัดและโรงพยาบาล สำหรับผู้บริหารระดับจังหวัด ผอ.รพ. บุคคลากรที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการความรู้ และผู้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ,ทีมที่ปรึกษาพัฒนาคุณภาพระดับจังหวัด โดยมี ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด เป็นวิทยากร มีผู้เข้าร่วม 80 คน ผลการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการความรู้ และจาก Knowledge Vision ทั้ง 6 เรื่อง พร้อมทั้งให้แต่ละรพ.ประเมินตนเอง จัดทำตารางอิสรภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานทั้ง 15 โรงพยาบาล
         วันที่ 21-22 เม.ย.48 จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะของ Knowledge Facilitator (คุณอำนวย) สำหรับบุคคลากรที่ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในระดับจังหวัดและโรงพยาบาล   โดยวิทยากร คือ อ.ไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำ และ อ.สุกานดา เมฆทรงกลด มีผู้เข้าร่วมอบรม 65 คน ทำให้ผู้ประสานการ จัดการความรู้ทุกคนได้เรียนรู้เทคนิคการเป็นผู้ประสานการจัดการความรู้ ได้เรียนรู้เทคนิคการเป็นผู้ประสานการจัดการความรู้ มีความสามารถเป็นผู้ประสานงานและกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปประเด็น บันทึกคลังความรู้ จากการเล่าเรื่อง เขียนแผนการจัดการความรู้ของรพ.และระดับจังหวัดได้
         วันที่ 16 พ.ค.48 จัดตลาดนัดความรู้โรคเบาหวาน (คุณกิจ) โดย อ.ไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำ มาเป็นวิทยากรดำเนินการให้ ซึ่งในการประชุมได้ให้คุณกิจ ในสหสาขาวิชาชีพ (เภสัช แพทย์ นักโภชนากร นักกายภาพบำบัด ฯลฯ)  โรคเบาหวานของแต่ละโรงพยาบาลมาเล่าเรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน 6 หัวข้อ  คือ การรักษาพยาบาล ,การส่งต่อ การดูแลต่อเนื่อง การติดตามเยี่ยมบ้าน การพัฒนาศูนย์รวมข้อมูลโรคเบาหวาน,      การส่งเสริมสุขภาพ, การพัฒนาทีมบุคคลากรโรคเบาหวาน การจัดตลาดนัดความรู้โรคเบาหวานครั้งนี้         มีผู้ปฎิบัติงานด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบสหสาขาร่วมทั้งสิ้น 120 คน นำประสบการณ์และความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และสรุปเป็นคลังความรู้ได้  23  เรื่อง  ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลก็นำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละโรงพยาบาล
         นอกจากนี้และหลังจากเสร็จสิ้นการจัดตลาดนัดความรู้ครั้งนี้ได้มีการทำ After Action Review (AAR) พบว่าคุณกิจต้องการให้มีการปูพื้นความรู้เรื่องการจัดการความรู้ทุกครั้ง เนื่องจากคุณกิจแต่ละหัวข้อเป็นคนละกลุ่มกัน นอกจากนี้ยังพบว่าหลาย รพ.ต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเองในระดับรพ.ทุกครั้ง ก่อนที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในระดับจังหวัด ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจ และง่ายต่อการแลกเปลี่ยนความรู้
         ต่อมาวันที่  2 ก.ค.48   ได้จัดตลาดนัดความรู้เพื่อให้คุณกิจที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการใช้ยา       มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องความคลาดเคลื่อนทางยา การจัดการครั้งนี้ดำเนินการโดยทีม QRT / KF ของจังหวัดนครสวรรค์  (16 คน)  โดยมี QRT / KF 2  คน เป็นวิทยากร คือ พญ.ปาริชาติ   ประจำบุญ  นายแพทย์ รพ.พยุหะคีรี และมี  นางสาวจันทร สังข์สุวรรณ   พยาบาลวิชาชีพ  โรงพยาบาลตาคลี  โดยมี   นางคชาภรณ์  เจียนิวัตต์  หัวหน้างานพัฒนาบุคคลากรและสาธารณสุขมูลฐาน เป็นหัวหน้าทีม  จากการจัดตลาดนัดความรู้ครั้งนี้ ทำให้ได้คลังความรู้เรื่องความคลาดเคลื่อนทางยา 15 เรื่องโดยแต่ละโรงพยาบาลได้นำบางเรื่องที่เหมาะสมกับบริบทของโรงพยาบาลไปปรับใช้ และเกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการความรู้เพิ่มขึ้น    จากการปูพื้นความรู้ซ้ำทุกครั้งที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
          หลังจากนั้น สสจ.นครสวรรค์ก็จัดตลาดนัดความรู้ใน Knowledge Vision เรื่องอื่นๆ ที่เหลือต่อไปจนครบ   6  เรื่อง  ซึ่งเมื่อคุณกิจของโรงพยาบาลแต่ละแห่งมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้วก็จะนำความรู้ไปใช้จริง จากนั้นก็จะกลับมาแลกเปลี่ยนกันอีกครั้งว่าความรู้ที่นำไปใช้เหมาะสมหรือต้องนำไปปรับใช้ได้ผลอย่างไร  ซึ่งหลังจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครบ 6 เรื่อง สสจ.ก็จะจัดงานมหกรรมจัดการความรู้ของเครือข่าย โดยให้  แต่ละโรงพยาบาลนำเสนอผลลัพธ์  สำหรับคลังความรู้สสจ.เผยแพร่ทั้งทางระบบเอกสารและระบบ Internet
          ทั้งนี้ หลังจากที่เครือข่ายการเรียนรู้ 15 โรงพยาบาล จ.นครสวรรค์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปได้ 2 ประเด็นคือการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความคลาดเคลื่อนทางยา โครงการเคลื่อนกระแสการรจัดการความรู้สู่สังคม ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณกิจ พบว่าทั้ง 2 เรื่องทุกโรงพยาบาลต่างได้นำไปปรับใช้ตามบริบทและความเหมาะสมของแต่ละโรงพยาบาล เช่น คลังความรู้หลังจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน แต่ละโรงพยาบาลได้นำไปใช้แล้ว   เช่น
          โรงพยาบาลพยุหะคีรี หลังจากได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระดับจังหวัด คุณกิจ หรือผู้ปฏิบัติจริง      ก็กลับไปคุยกันในระดับโรงพยาบาลว่าได้ความรู้อะไรบ้าง    และจะนำมาปรับใช้ในโรงพยาบาลพยุหะคีรีอย่างไร  ซึ่งทางโรงพยาบาลยอมรับว่าไม่ได้นำมาใช้ครอบคลุมทั้ง 23 หัวข้อความรู้ แต่นำมาบางหัวข้อเช่นเรื่องการใช้ปากกาช่วยชีวิต ที่เปลี่ยนจากการฉีดเข้าผิวหนังเป็นการฉีดด้วยเข็มปากกดธรรมดาง่ายๆทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ได้เอง สะดวก และพึงพอใจ นอกจากนี้ก็ได้ความรู้เรื่องการคัดกรองผู้ป่วยเบาหวาน,การรักษาผู้ป่วยแบบกรุ๊ปที่มีการคัดกรองผู้ป่วยมีสามารถควบคุมน้ำตาลได้ดีมาเป็นผู้ให้ความรู้กับผู้ป่วยที่    ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี ซึ่งที่รพ.หยุหคีรี  จะแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ  กลุ่มที่แพทย์นัดไว้ล่วงหน้า 1 เดือนทำกลุ่ม  และกลุ่มที่พบว่าหลังจากตรวจหาน้ำตาลในเลือดในวันนั้นแล้วพบว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ก็จะให้เข้ามาทำกลุ่ม ร่วมด้วย ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้วัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมายต่างกัน แต่ วิธีดำเนินการเหมือนกันคือเน้นให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และการดูแลตนเอง ซึ่งจะไม่เน้นเฉพาะคนไข้เท่านั้น แต่จะเน้นไปถึงญาติผู้ป่วยด้วย 
         ส่วนโรงพยาบาลค่ายจิรประวัติ ยอมรับว่า ไม่ได้นำการจัดการความรู้เต็มรูปแบบไปใช้ ไม่ได้มีการทำธารปัญญาและบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเต็มรูปแบบ    แต่จะเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการประเมินตนเองด้วยคะแนนเล่นๆ เน้นกระตุ้นให้บุคคลากรหรือคุณกิจแลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นความสำเร็จเล็กๆ และบันทึกเป็นคลังความรู้ ในเอกสาร และ เวปไซด์ นอกจากนี้    ยังเน้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ   โรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองคุณภาพแล้ว   เช่น โรงพยาบาลตาคลี และ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์    (ในขณะนั้น)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 22688เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2006 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท