สิบปียังไม่สาย


ถ้าค้นพบเร็วรักษาทันท่วงทีจะไม่เกิดความพิการ

สิบปีก็ยังไม่สาย

             โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่พบทุกภาคของประเทศไทย  มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่นขี้ทูต กุดถัง ไทกอ ทางประเทศลาวเรียก “โรคพยาธิหลวง” โดยมีความเชื่อว่าเกิดจาก อาหาร พิษของพวกแมลง การทำบาป  ซึ่งที่แท้จริงเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อไมโครแบคทีเรี่ยมเลปแปร ในสมัยก่อนใครเป็นโรคนี้ต้องปกปิดตนเอง เพราะสังคมไม่ยอมรับ คนที่อยู่ใกล้ชิดก็มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ ความเป็นอยู่ของคนเป็นโรคเรื้อนนั้นลำบากมากแม้จะกินน้ำใช้น้ำร่วมบ่อเดียวกันกับคนอื่นเขาก็กลัวติดโรคต้องแยกไปปลูกกระท่อมอยู่ปลายไร่ปลายนา  การรักษาสมัยก่อนให้กินยาหม้อ รดน้ำมนต์  เผาผิวหนังบริเวณที่เป็นรอยโรค สักสีดำทับรอยโรค  มายุคกลางค้นพบยา ดี ดี เอส โดยผู้ป่วยต้องกินยาตลอดชีวิต การฟื้นฟูความพิการไม่ได้ทำไปพร้อมกัน ทำให้เกิดความพิการที่ มือ เท้า ตา ซึ่งยังคงมีให้เห็นในนิคมต่างๆ แต่สมัยก่อนเขาจะแยกเอาผู้ป่วยโรคเรื้อนมารวมกันไว้ในนิคมเป็นการแยกโรค คนพวกนี้จะถือว่าเป็นโรคเรื้อนโบราณ เนื่องจากปัจจุบันนี้มีการค้นพบยารักษาแบบใหม่ที่รักษาโรคเรื้อนหายขาด 99.99 เปอร์เซ็นต์ ถ้าค้นพบเร็วรักษาทันท่วงทีจะไม่เกิดความพิการ การฝึกอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับอย่างต่อเนื่องทำให้การแพร่ระบาดลดลงอย่างมาก จนเจ้าหน้าที่บางท่านแทบจะลืมนึกถึงโรคนี้จึงทำให้เป็นที่มาของเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้
  เช้าวันจันทร์เดือนตุลาคม  2547 ผมได้ทำหน้าที่ตรวจค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ ตรวจไปได้สามคน พอคนที่สี่ซึ่งเป็นชายไทยอายุ 60 ปีรูปร่างสูงใหญ่ผิวขาวยิ้มเศร้าท่าทางกังวลให้ประวัติเป็นคนจังหวัดพิษณุโลกมีอาชีพทำขนมไทยส่งขายมีบุตรสามคน เป็นผู้หญิงสองคน เรียนจบระดับปริญญามีงานทำอยู่ต่างจังหวัด ส่วนคนเล็กเป็นชายเรียนชั้นมัธยมต้น ขณะที่พูดคุยเพื่อสร้างสัมพันธภาพเป็นการผ่อนคลายรวมทั้งประเมินสภาพร่างกายจิตใจโดยเปิดประเด็นอาการที่มาตรวจวันนี้


                      ผู้ป่วย :  ผมเป็นโรคผิวหนังผื่นแดงที่หน้าแก้ม ตามตัวก็มีตุ่มเล็กๆ มีอาการคัดจมูกคล้ายเป็นหวัด ตาข้างขวาหลับไม่สนิท มือ เท้าชา อ่อนแรง    
                      ผู้เล่า : เป็นมานานหรือยังครับลองเล่ารายละเอียดให้ผมฟังคร่าวๆ ได้เลยครับ
                  ผู้ป่วย : ผมเริ่มมีอาการเมื่อปี 2538 เคยมาตรวจที่ศูนย์โรคเรื้อน  สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9  ก็ได้ยาไปกิน ไปทา อาการก็ไม่ดีขึ้นไปตรวจที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดก็ได้คำตอบเช่นเดียวกัน จากนั้นจึงไปรักษาที่ธนบุรี และกรุงเทพฯ     ปี 2546    ซื้อยาแผนโบราณเป็นยาหม้อ  มารับประทานอาการก็ยังไม่ดีขึ้นวันก่อน ผมไปตรวจที่คลินิกแพทย์ แถวถนนลิไทแพทย์บอกเป็นโรคผิวหนังที่มีอาการชาร่วมด้วยต้องไปตรวจที่ศูนย์โรคผิวหนังเขต 9  พิษณุโลก  ผมจึงมาที่นี่ ผมยังรักษาไม่ถูกทาง เบื่อนะ
                 ผู้เล่า : ตามที่คุณเล่ามาตั้งแต่ต้นนี้ลองถอดเสื้อและดึงขากางเกงขึ้นให้ผมดูร่างกายของคุณทุกส่วนว่า ลักษณะของวงผื่น ตุ่มมีมากน้อยแค่ไหน พร้อมคลำเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับโรคผิวหนังที่เป็นอยู่ และทดสอบความรู้สึกของผิวหนังว่ามีอาการชาหรือไม่  ถ้าตรวจร่างกายเสร็จแล้วเดี๋ยวจะพาไปตรวจหาเชื้อโรค โดยการกรีดผิวหนังไปย้อมเชื้อประมาณหกตำแหน่ง
                ผู้ป่วย : คราวก่อนผมก็เคยขูดหาเชื้อราแต่ไม่พบ
                ผู้เล่า : หลังจากได้ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการแล้ว เราสามารถวินิจฉัยโรคได้เลยเพราะมีข้อมูลสนับสนุนครบ ทั้งอาการทางผิวหนังเฉพาะของโรคเรื้อน อาการทางเส้นประสาท ผลการตรวจเชื้อห้องทางปฏิบัติการซึ่งพบเชื้อโรคเรื้อน
                  จึงเชิญผู้ป่วยมารับฟังผลการวินิจฉัยโรคอีกครั้ง
                ผู้ป่วย :   คุณหมอครับผมเป็นโรคอะไร
                 ผู้เล่า :  หลังจากการตรวจร่างกายครบแล้วพบว่าคุณ เป็นโรคผิวหนังเนื้อชา ก็คือโรคเรื้อน คุณเคยรู้จักโรคนี้มาก่อนหรือเปล่า
                 ผู้ป่วย :ไม่เคยทราบเลยครับ  ญาติพี่น้องผมก็ไม่มีใครเป็นโรคนี้  แล้วจะรักษาอย่างไร
                 ผู้เล่า : โรคนี้มียารักษาเฉพาะใช้เวลารักษา   2 ปี 
                 ผู้ป่วย :  มิน่าล่ะอาการของผมถึงยังคงเหมือนเดิม
                 ผู้เล่า :เพื่อผลประโยชน์ของคุณเองก่อนที่คุณจะรักษาเรามาทำความเข้าใจกับโรคก่อนนะครับ ประทานโทษไม่ทราบว่าคุณเรียนจบชั้นไหนครับ
                 ผู้ป่วย :   อ๋อ! เรียนจบ ม.6 ภรรยาจบมัธยม  3 ครับ
                ผู้เล่า :  ดีครับ  เชิญภรรยามาฟังไปพร้อมกันเลย   คือโรคเรื้อนเป็นโรคที่เกิดจากตัวเชื้อโรคเรื้อนเองทำให้เกิดอาการทางผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลายทิ้งไว้นานจะทำให้เกิดความพิการที่ ตา มือ  เท้า
          อาการทางผิวหนัง    เป็นลักษณะเฉพาะของโรคเรื้อน วงด่างชา ผื่นแดง ตุ่ม
          อาการทางประสาท เส้นประสาทส่วนปลายถูกทำลาย จะทำให้ผิวหนังแห้ง เหงื่อไม่ออก  กล้ามเนื้ออ่อนแรง
          การติดต่อ ผู้ป่วยเชื้อมากที่ไม่เคยรักษามาก่อน  สามารถแพร่เชื้อให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้  ผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเรื้อนได้  ผู้ที่ภูมิต้านทานดีเชื้อโรคเรื้อนก็จะถูกทำลายไปทำให้ไม่เกิดโรค
          การรักษา  ถ้าเชื้อน้อยใช้เวลารักษา  6  เดือน  ใช้ยา 2  ชนิด
                           ถ้าเชื้อมากใช้เวลารักษา  2   ปี      ใช้ยา 3 ชนิด
กรณีของคุณ ใช้เวลารักษา 2 ปีใช้ยา 3 ชนิดด้วยกัน
           ผลข้างเคียงของยา   ตัวอย่าง
ยาไรแฟมพิซิน คือปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ปัสสาวะสีส้มแดงยาถูกขับทิ้งออกมากกับปัสสาวะ
ยาแด๊ปโซน ทำให้โลหิตจาง ผื่นแพ้ตับอักเสบโดยเฉพาะคนที่เคยแพ้ ซัลฟา   
ยาโคฟาซิมิน จะสะสมอยู่ใต้ผิวหนังทำให้ผิวคล้ำดำตรงบริเวณที่เป็นรอยโรค
ภาวะแทรกซ้อน   เส้นประสาทอักเสบ และภาวะเห่อจากการเปลี่ยนแปลงของ   ภูมิต้านทานของร่างกายต่อการรักษาอาการแสดงที่อาจจะเกิดขึ้น คือ เห่อผื่นแดง เส้นประสาทอักเสบ บวม แดง ร้อน มีไข้
 กรณีของคุณมีตาข้างขวาอักเสบต้องไปพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาอาการดังกล่าว จากนั้นคุณต้องดูแล มือ  และ  เท้าที่มีอาการชา ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการป้องกันความพิการ สำหรับวันนี้คุณกินยา 3 ชนิด รวมแล้ว 9 เม็ดพรุ่งนี้คุณก็กินยาอย่างละ 1 เม็ดในตอนเย็นทุกวัน ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงให้มาก่อนเวลานัด เอาเอกสารไปอ่านด้วยครับ มีอะไรสงสัยถามได้เลย หรือ มีปัญหาให้โทรถามได้ครับ
หนึ่งเดือนผ่านไปผู้ป่วยมาตามนัด คราวนี้มาพร้อมด้วยภาวะเห่อชนิดผื่นนูนแดงหลายแห่งเช่นที่ หน้าผาก หัวคิ้ว คาง สะบักหลัง อก เท้าข้างขวาบวมต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบข้างขวาโต  ตาข้างขวาหลับไม่สนิท มีระยะห่างประมาณสองมิลลิเมตร  น้ำตาไหล ริมฝีปากหนาบวมแดง  จากการพูดคุยผู้ป่วยไม่กังวลมากนัก เพราะผู้ป่วยได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคนี้ สองครั้งแล้ว การให้ข้อมูลผู้ป่วยภาวะเห่อที่ร่างกายตอบสนองกับยารักษาโรคเรื้อน และโรคเห่อชนิดผื่นแดงอาจเกิดขึ้นได้ขณะรักษาและหลังจากรักษาครบเกณฑ์สองปีแล้วก็เกิดขึ้นได้เป็นบางราย  การให้กำลังใจบวกแรงจูงใจ การดูแลผู้ป่วยภาวะเห่อตามแผนการรักษาของ WHO ผนวกกับการนำเอาแผนการพยาบาลภาวะวิกฤตมาใช้กับผู้ป่วย การประเมินสภาพร่างกายตรวจสอบเส้นประสาทที่จะทำให้เกิดความพิการ ตา มือ เท้า ตลอดจนสุขอนามัยทั่วไป ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายสังเกตได้จากท่าทีที่ยิ้มแย้มแจ่มใส       เดือนที่ สาม อาการทั่วไปดีขึ้นหลังจากได้รับยา เพรดนิโซโลน ตามแผนการรักษา ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นมากผื่นราบรอยโรคจากสีเข้มเปลี่ยนเป็นสีซีดจางเท้าที่เคยบวม ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ ตาที่หลับไม่สนิท ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ป่วยจะพูดเสมอว่า“สิบปีไม่สายสำหรับการรักษา.”เวลาที่รักษาเพียงสามเดือนดีขึ้นขนาดนี้ก็พอใจอย่างมากแล้ว
 ปัจจุบันรักษาเดือนที่  18 ผู้ป่วยจะมาตรวจตามนัดทุกครั้งไม่เคยขาดยาถึงแม้ว่าอาการต่างๆจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติก็ตามจากประสบการณ์ที่แสวงหาที่รักษามา10ปี จนสิ้นหวังต้องไปรักษาด้วยยาแผนโบราณแทน แต่ตอนนี้พอใจแล้วเพราะสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ  ความรู้สึกที่เป็นคนดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อนมานาน จึงเห็นใจผู้ป่วยรายนี้ ดังนั้นการตรวจค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนต้องคำนึงเสมอว่าโรคผิวหนังทุกชนิดมันใกล้เคียงกับโรคเรื้อนทั้งนั้น เช่น กลากเกลื้อน เรื้อนกวางลมพิษ ปานขาว ปานแดงและโรคผิวหนังอื่นๆ ซึ่งโรคเรื้อนจะมีความแตกต่างจากโรคผิวหนังทั่วไปคือไม่มีอาการคัน กรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคผิวหนังที่รักษามาแล้วหลายแห่งอาการไม่ดีขึ้นจึงต้องให้ความสำคัญ และมีการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องเพราะผู้ป่วยไม่สามารถวินิจฉัยโรคเองได้ นอกจากบอกเล่าตามอาการและความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วยเอง ฉะนั้นควรช่วยกันพินิจพิจารณาให้รอบคอบแล้วจะทำให้ผู้ป่วยไม่เกิดความพิการ ไม่แสวงหาที่รักษาทำให้เสียเวลาและเสียความรู้สึกที่ดีต่อหน่วยงานของราชการโดยไปรักษาแพทย์แผนโบราณซึ่งสวนทางกับการรักษาโรคเรื้อนแผนใหม่ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการดำเนินงานค้นพบผู้ป่วยรายใหม่ที่รวดเร็ว เพื่อให้การรักษาก่อนเกิดความพิการ รวมทั้งการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ  อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

คำสำคัญ (Tags): #โรคเรื้อน
หมายเลขบันทึก: 22680เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2006 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีค่ะ พีพิบูลย์ที่รัก
  • เรื่องราวดี ๆ เหลือเกินค่ะ
  • เขียนอีก ๆ  ๆ อยากอ่าน
  • คิดถึงพี่นะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท