มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

ธมฺม พระพรหมคุณาภรณ์ (1)


บทพิสูจน์ของมนุษยชาติ คือการพัฒนาคนให้อยู่ดี มีความไม่ประมาทอยู่เสมอด้วยสติปัญญา ทิฏฐิมี ๒ แบบ ถ้าเป็นทิฏฐิแบบถูกต้องก็เป็นฐานของการการพัฒนาต่อไป แต่ถ้าเป็นทิฏฐิที่ผิดก็ติดตันกั้นตัวเรา ทิฏฐิที่ช่วยให้เรามีการพัฒนาได้ก็คือ สัมมาทิฏฐิ

 

...การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา เป็นบทพิสูจน์การพัฒนามนุษย์ ชีวิตที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสูงสุด จึงเรียกว่า ปัญญาชีวิต หรือปัญญาชีวะ คือชีวิตอยู่ด้วยปัญญา เมื่อพูดถึงสังคมมนุษย์ก็คือ ทำอย่างไรจะใ้ห้่สังคมมนุษย์นี้ เป็นสังคมของคนที่อยู่ด้วยปัญญา เพราะการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษยชาติ อาศัยการพัฒนาคนให้อยู่ดีด้วยปัญญา

...ถ้าเรามองไปที่สังคมมนุษย์ จะเห็นว่ามีความเจริญ แล้วก็มีความเสื่อม หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อมองตามหลักสัจธรรม เราบอกว่าเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง จึงเป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม ในทางธรรมนั้นท่านไม่ได้ยอมแพ้ ไม่ได้บอกให้ปลงว่า เออ สิ่งทั้งหลายมันเจริญแล้วก็ต้องเสื่อมเป็นธรรมดา จะทำอย่างไรได้ก็ต้องปล่อยมันไป การปลงอย่างนี้ท่านไม่ยอมรับ ถ้าใครทำอย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นคนประมาท

บทพิสูจน์ของมนุษยชาติ คือการพัฒนาคนให้อยู่ดี มีความไม่ประมาทอยู่เสมอด้วยสติปัญญา

โดยวิธีการที่เราพัฒนาคนให้มีปัญญาที่จะมีความสุขนี้ก็จะมีผลขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือ ทำให้มนุษย์มีชีวิตที่มีประสิทธิภาพด้วย พร้อมกับการที่มีความสุข อย่างที่แสดงออกด้วยคำพูดสั้นๆว่า งานก็ได้ผลคนก็เป็นสุข

เวลานี้ สำหรับคนพวกหนึ่ง งานได้ผล คนเป็นทุกข์ ส่วนอีกพวกหนึ่ง งานไม่ได้ผล แต่คนเป็นสุข ถ้้าให้ถูก ต้องให้ได้ทั้งสองอย่าง...


 

    ...วิธีสร้างสรรค์ปัญญา เราต้องการปัญญาที่รู้แจ้ง เข้าใจความเป็นจริงจนถึงโพธิญาณ แต่ในตอนที่ยังไม่ถึงโพธิญาณ ก็ให้มีแค่สัมมาทิฏฐิก่อน คือให้ถือหลักการที่จะช่วยให้วางใจ วางท่าทีปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง อย่างน้อยก็ให้เป็นปัญญาชนิดที่เป็นเชื้อเป็นฐานให้เกิดช่องทางที่จะพัฒนาชีวิตต่อไป

        ทิฏฐิมี ๒ แบบ ถ้าเป็นทิฏฐิแบบถูกต้องก็เป็นฐานของการการพัฒนาต่อไป แต่ถ้าเป็นทิฏฐิที่ผิดก็ติดตันกั้นตัวเรา ทิฏฐิที่ช่วยให้เรามีการพัฒนาได้ก็คือ สัมมาทิฏฐิ

         ทิฏฐิที่เป็นสัมมา และเป็นฐานของการพัฒนาได้ เช่น การเชื่อในหลักการว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย การเชื่อในหลักการว่า สิ่งทั้งหลายเป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยทั้งหลาย

   ...ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง แยกเป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

      ๑. ปัจจัยภายใน คือ โยนิโสมนสิการ การรู้จักคิด รู้จักพิจารณาด้วยตนเอง

      ๒. ปัจจัยภายนอก คือ ปรโตโฆษะ เสียงจากผู้อื่นในทางที่ดี หรือกัลยาณมิตร

      คนที่จะด่าเรานั้น เขาต้องคิดนาน และตามปกติเรามองตัวเองยากมาก และเราก็ไม่มีเวลาคิด เมื่อเราฟังคำด่า เราสามารถสำรวจพิจารณาตัวเองได้มาก โดยไม่ต้องไปเสียเวลาคิด ส่วนคำชมนั้น คนมักพูดไปตามที่ได้เห็นได้ยิน ซึ่งประกฏอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้เวลาคิด และเราทำได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงได้ผลประโยชน์จากคำด่ามากกว่าคำชม...


 

หมายเลขบันทึก: 22650เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2006 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท