สวัสดี…Ethnography !


Etnography for Qualitative Research and Development

สวัสดี…Ethnography ![1]

วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์

               ก่อนอื่นต้องขอบอกกันก่อนว่า วิชาที่ว่าด้วยการเขียน Ethnography หรืองานชาติพันธุ์วรรณานี้ เป็นวิชาที่ผมเห็นว่าไม่มีสถาบันไหนในประเทศไทยเคยเปิดสอนมาก่อน เพราะเป็นวิชาที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงเป็นหัวใจสำคัญ จึงเป็นวิชาที่สอนยาก เพราะมันต้องเรียนจากของจริงไปพร้อมๆกันกับเนื้อหาวิชาการด้วย อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การทำวิจัยในช่วงห้าปีที่ผ่านมาประกอบกับการค้นคว้าเพิ่มเติมของผม ก็พอจะสังเคราะห์ออกมาเป็นเรื่องราว เพื่อให้เป็นแนวการเรียนรู้ Ethnography ดังนี้
  • อะไรเหรอ ?  Ethnography…
               ในชั้นเรียนวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในสถาบันแห่งหนึ่ง ดร. คร่ำเคร่ง เก่งเสมอ ได้มอบหมายให้นักศึกษาแต่ละคนไปศึกษาความคิดเห็นของเยาวชนในหมู่บ้านชาวเขาเผ่าเมี่ยน หรือเย้า ในจังหวัดเชียงรายในเรื่องความเชื่อด้านการใช้สมุนไพร 
ก. นายสมชาย สบายดี เอาแบบสอบถามไปให้หัวหน้าหมู่บ้านเอาไปแจกจ่ายให้เยาวชนทั้งหลายช่วยกันกรอก
ข.  นางสาวสมหญิง จริงใจ  เอาเทปไปสัมภาษณ์เยาวชนที่มีอยู่ทุกคนในหมู่บ้าน แล้วเอาข้อมูลมาเรียบเรียง
ค.  นายสมเจตน์  มีเหตุผล ให้กลุ่มเยาวชนในหมู่บ้าน ส่งตัวแทนขึ้นเวทีมาอภิปรายความคิดเห็น
ง. นางสาวสมจิตต์  คิดไกล เข้าไปสังเกตพฤติกรรมการใช้สมุนไพรของเยาวชนในหมู่บ้านทุกวันอาทิตย์
คุณคิดว่า นักศึกษาคนไหน จะได้ข้อมูลออกมาใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด?
คิด….คิด…คิด…คิด…คิด…
               ในทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มีการถกเถียงกันมานาน ว่า ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถเข้าใจมุมมองหรือวิธีคิดของชาวบ้านที่เราเข้าไปศึกษา  
               อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์  เขียนไว้ว่า “การศึกษาทางชาติพันธุ์วรรณาหรือ Ethnography เป็น “การศึกษาคนอื่น”  ซึ่งประวัติศาสตร์ของวิชามานุษยวิทยา (Anthropology) เริ่มจากการศึกษา “คนแปลกๆ” ”  (ฉลาดชายและไชยันต์ , 2541 : 56)
              
  • แล้วทำไม เราต้องไปศึกษาคนอื่น?
                  
               ฉลาดชาย (2541) ตอบว่า เพราะเราอาจจะรู้เกี่ยวกับตัวเรามากแล้ว หรือ เราอาจจะไม่รู้อะไรเลยก็ได้ หรือเราอาจจะเรียนรู้ผู้อื่น เพื่อมาเข้าใจตัวเรา อันนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่
               อย่างไรก็ตาม เราก็คงหลีกเลี่ยงที่จะศึกษาผู้อื่น สังคมอื่นไม่ได้ แต่ทำยังไง ที่เราจะเข้าถึงวิธีคิดหรือมุมมองของคนในสังคมที่เราเข้าไปศึกษานั้นให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
วิธีหนึ่งที่นักมานุษยวิทยานิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกก็คือ การทำงานชาติพันธุ์วรรณา (Ethnography)
              
  • ทำไมต้อง Ethnography…?
ชาติพันธุ์วรรณา (Ethnography)  คือ การเขียนบรรยายเชิงพรรณาเกี่ยวกับชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมในระบบสังคมที่มีลักษณะเฉพาะตัว โดยใช้ฐานข้อมูลที่ได้จากการสังเกตรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันของผู้คน ชาติพันธุ์วรรณาเป็นวิธีวิจัยที่ไม่เพียงจะเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับมานุษยวิทยาที่ศึกษาสังคมชนเผ่าต่างๆ แต่ชาติพันธุ์วรรณายังถูกนำไปใช้โดยนักสังคมวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมของกลุ่ม องค์กร และชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสังคมใหญ่ที่ซับซ้อนมากขึ้น
(Johnson , 1995 : 101)
“การวิจัยชาติพันธุ์วรรณา หมายถึง วิธีการศึกษากลุ่มคน (ethnos) โดยใช้วิธีการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม (Participant Observation) และการสัมภาษณ์ผู้ให้ข่าวสำคัญ (Key Informant) เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตขอคนกลุ่มนั้นในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงพฤติกรรมอย่างละเอียด และเข้าใจความหมายจากมุมมองของคนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรม ส่วนใหญ่แล้ว การศึกษาแบบนี้ จึงเหมาะกับการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมขนาดเล็กที่ไม่เกินกำลังนักวิจัย นักมานุษยวิทยามักจะใช้เวลาพำนักอยู่ในชุมชนที่ตนศึกษานาน จนสนิทสนมคุ้นเคยกับคนในชุมชน เรียนรู้ภาษาวัฒนธรรม และบันทึกเหตุการณ์ที่พบเห็นจากคำบอกเล่าของคนในชุมชนนั้น” (ชยันต์  วรรธนะภูติ , 2544 : 239-240)
ที่ว่าทำไมต้องทำ Ethnography นั้น ก็เพราะ มิติที่ขาดหายไปจากงานวิจัยทั่วไปก็คือ  มิติที่ว่าด้วยวิธีคิด มุมมองของคนในสังคมนั้นๆ  Ethnography เป็นกระบวนการวิจัยที่เข้ามาเสริมมิตินี้
  • แล้วนักชาติพันธุ์วรรณาเป็นใคร?
Agar (1985) กล่าวว่า นักชาติพันธุ์วรรณา (Ethnographer) เป็นผู้ที่อธิบายให้สังคมเข้าใจวิธีคิดหรือมุมมองของผู้คนในสังคมที่ตนเข้าไปศึกษา (Agar ,1985 : 12)
พูดง่ายๆ ก็คือพยายามอธิบายเราให้เห็นระบบคิดของผู้คนในสังคมที่ศึกษานั้นเอง ภาษาที่ใช้จึงไม่จำเป็นต้องเขียนอย่างเป็นแบบแผนรัดกุมแบบวิทยาศาสตร์ (Agar , 1985 : 12) หากแต่ต้องยืดหยุ่น และมีพลังในการถ่ายทอดให้เห็นระบบคิด เห็นชีวิตที่มีเลือดเนื้อ การดิ้นรน ความหวัง  อารมณ์ความรู้สึก ของมนุษย์ให้ใกล้เคียงกับมุมมองของคนหรือสังคมนั้นๆ
แต่เราต้องไม่ลืมว่า Ethnography เป็นงานเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ “คนอื่น” Ethnography จึงเป็นการตีความ (interpretative) ของผู้ที่อยู่นอกวัฒนธรรมนั้นๆ  โดยตัวของมันเอง มันจึงไม่ใช่ความจริงแท้(Truth) หรือจะถูกตัดสินว่าผิดหรือถูกได้ อีกทั้งกระบวนการทำ Ethnography เองก็มีข้อจำกัดอยู่มากมาย อย่างไรก็ตาม ในทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาก็ถือกันว่า Ethnography เป็นกระบวนการวิจัยที่เข้าถึง “ความจริง” โดยตระหนักถึงมุมมองของผู้คนในพื้นที่ศึกษามากที่สุด
และหัวใจของการทำงานชาติพันธุ์วรรณาอยู่ตรงนี้
  • แล้ว Ethnography นี่ยากไหม?
            โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าความยากง่ายนั้น คำถามเบื้องต้นก็คือ คุณคิดว่า คุณจะเข้าใจวิธีคิดหรือมุมมองของคนอื่นได้อย่างไร?  ซึ่งมันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น
1. ชุมชน  ถ้ายิ่งเป็นชุมชนที่มีผู้คนหนาแน่น มีเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ ฐานะ อาชีพที่หลากหลาย ความสัมพันธ์ทางสังคมและวิถีชีวิตของผู้คนมักจะยิ่งมีความซับซ้อน การจะเข้าใจความซับซ้อนเหล่านี้ก็คงไม่ง่าย  บางชุมชน เคยมีประสบการณ์ไม่ดีกับนักวิจัยมาก่อน เราจะเข้าไปใหม่ก็อาจจะลำบาก ชาวบ้านอาจจะให้ความร่วมมือน้อย เป็นต้น
2. พื้นฐานของนักวิจัย   นอกจากนักวิจัยจะต้องมีความเข้าใจในจุดอ่อนจุดแข็งของวิธีวิจัยที่ตนเองใช้แล้ว ก็ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม ความเชื่อของคนในพื้นที่ศึกษาด้วย โดยเฉพาะข้อห้ามต่างๆที่ชุมชนยึดถือ นักวิจัยต้องระวังให้มาก    อีกประการหนึ่ง นักวิจัยต้องเป็นนักสื่อสารที่ดี สื่อสารในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึง การพูดให้ชาวบ้านเข้าใจได้เท่านั้น แต่ต้องเป็นนักฟังที่มีศักยภาพด้วย คือฟังอย่างเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ยาก ฟังไปยิ้มไปเมื่อชาวบ้านเล่าถึงความสุขจากการประกอบพิธีกรรมที่แสดงถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านของตนเอง คือไม่เพียงแต่ฟังด้วยหู แต่ต้องฟังหัวใจที่เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าพื้นฐานวิชาการคุณไม่ดี คุณฟัง คุณพูดกับชาวบ้านทีไร ชาวบ้านก็เดินหนี อย่างนี้คุณจะเข้าถึงวิธีคิดของชาวบ้านก็ลำบาก
3. กาลเทศะ  คุณเคยสังเกตไหมว่า ในขณะที่นั่งเรียนหนังสือ ถ้าคุณง่วงนอนหรือปวดท้องมากๆ คุณจะเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง ฉันใดก็ฉันนั้น คุณก็ยากจะสื่อสารกับคนหรือสังคมนั้น นักชาติพันธุ์วรรณาจึงต้องมีทักษะในการจับให้ได้ว่า จังหวะไหน เวลาไหน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ต่อการเก็บข้อมูล อารมณ์ของผู้คนและสังคมในขณะนั้นพร้อมหรือไม่ อย่างไร
นอกจากนี้ ก็มีเรื่องหัวข้อที่จะศึกษา แหล่งทุน สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เพศสภาพ (gender)  ชนชั้น (class) อายุ (age) เชื้อชาติ (race)  ชาติพันธุ์ (Ethnicity) อาชีพ ศาสนา สุขภาพ ฯลฯ ของนักวิจัยและผู้คนในสังคมที่จะศึกษา มาเป็นตัวแปรด้วย[2]
  • ทำ Ethnography แล้วจะได้อะไร?
               ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ นักมานุษยวิทยาอาวุโสของประเทศไทยเล่าถึงประสบการณ์ของตัวท่านเองว่า   ตอนแรกตัวท่านก็ไม่กล้าเข้าใกล้คนจน ต่อมาเมื่อทำวิจัยเรื่องคนจนในสลัมก็เริ่มสนิทสนมกับคนจน เข้ากับคนจนได้ดีกว่าชนชั้นเดียวกับตัวเอง ท่านพูดถึงคุณูปการของวิชามานุษยวิทยา (ซึ่งมี Ethnography เป็นวิธีวิทยาที่สำคัญ) ไว้ว่า เป็นวิชาที่ช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นและเข้าใจการต่อสู้และอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ช่วยให้เรารู้ถึงจิตใจของชาวบ้าน และมีความรู้สึกร่วมไปกับเขา เข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ และความเหมือนของมนุษย์ที่บกพร่อง อ่อนแอ น่าเวทนาเหมือนกันทั้งผู้อื่นและตัวเราเอง การศึกษาวิชานี้จึงน่าจะมีส่วนช่วยในการลดความเห็นแก่ตัวและทารุณโหดร้ายในโลกนี้ลง และสร้างสังคมที่มีความเอื้ออาทรและเข้าใจอันดีต่อกัน (อคิน รพีพัฒน์ , 2545 : 1-4)  
               และคุณจะเข้าใจคำกล่าวข้างต้นได้ ก็ต่อเมื่อคุณอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงเท่านั้น
  • แล้ว Ethnography เนี่ยทำยังไง?
            ผมขอแยกการอธิบายเป็นประเด็นลำดับดังนี้ครับ
ก) ขนบธรรมเนียมประเพณีกับ Ethnography

Mr. Tiger หนุ่มน้อยวัยห้าสิบต้นๆ เพิ่งจะมาเที่ยวเมืองไทยตามโครงการ Unseen in Thailand เป็นครั้งแรก ด้วยความที่แกเป็นคนอัธยาศัยดี อยากผูกมิตรกับคนไทย ก็เลยถามแอร์โอสเตสว่า
“คนไทยเค้าทักทายกันยังไงหรือครับ”
 แม่นางก็โปรยยิ้มสยามให้ยลเป็นตัวอย่างว่า “คนไทยเค้าทักทายด้วยการไหว้และยิ้มอย่างนี้ค่ะ”
 ว่าแล้วคุณเธอก็ไม่รีรอที่จะสาธิตให้ดู ท่ามกลางสายตาของผู้โดยสารบนเครื่อง เสียงปรบมือดังกระหึ่มบนเครื่องบิน  
ที่นี้พอลงจากเครื่อง เจอใคร Mr. Tiger แกก็ยิ้มและยกมือไหว้หมด ตั้งแต่ยามสนามบิน…ยันเด็กยกกระเป๋า
คุณคิดยังไง กับ Mr. Tiger ?
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
            เบิร์ดกำลังนั่งกินไก่ทอดอยู่ในฟู้ดเซนเตอร์ของห้างสรพสินค้าชื่อดังในกรุงเทพ สายตาก็แอบชำเลืองมองสาววัยรุ่นผิวขาวผมยาวแต่งตัวเรียบร้อย ซึ่งนั่งรับประทานอาหารตามลำพังอยู่เงียบๆที่โต๊ะข้างๆ แต่ด้วยความขี้อาย เขาก็ได้แต่นั่งมอง ก็คนมันขี้อายนี่ครับ ไม่รู้จะไปทำความรู้จักกับเธออย่างไรดี
               สาวเจ้าพอจะรู้เลาๆว่ามีคนแอบมอง ก็มองมาบ้าง  แววตาเธอฉายแววว่ากำลังครุ่นคิด แต่ก็ไม่มีรอยยิ้มแม้ที่มุมปาก ก็ได้แต่จ้องกันไปมา สักพักสาวก็กินข้าวเสร็จแล้วก็รวบช้อนส้อมเข้าด้วยกันเป็นรูปกากบาท ทำหน้าเฉยๆแล้วมองมาทางเบิร์ด
คุณคิดว่าสาวคนนั้น คิดยังไงกับเบิร์ด ?
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
            สิ่งที่นักชาติพันธุ์วรรณาต้องตระหนักให้มากเวลาลงทำ Ethnography เสมอก็คือ แต่ละสังคม มีความแตกต่างทางขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อในเรื่องต่างๆ หน้าที่ของนักชาติพันธุ์วรรณามิใช่ไปตัดสินว่าสิ่งไหนถูกหรือผิด สูงส่งหรือต่ำต้อยกว่า หรือด่วนสรุปว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หากแต่มุ่งค้นหาวิธีคิดหรือมุมมองของ “คนใน” และระมัดระวังและตรวจสอบอคติของตัวเองในฐานะ “คนนอก” อยู่เสมอ
               แม้ว่าเราจะไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างของชาวบ้าน หรือบางอย่างเราอาจจะไม่ชอบใจนัก แต่อย่างน้อย หากสิ่งที่ชาวบ้านแสดงออกนั้น เป็นความเชื่อ เป็นความภาคภูมิใจของพวกเขา เราก็ควรน้อมรับไว้ด้วยความยินดี
               อย่างไรก็ตาม เราเองก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำอะไรมากมายให้เหมือนกับชาวบ้านที่เราศึกษา เช่น ชาวบ้านเดินไปไร่ไม่ใส่รองเท้า เราไม่เคยเดินเท้าเปล่าก็กัดฟันเดินกับชาวบ้านจนเท้าระบมไปหมด หรือชาวบ้านกินเหล้าเป็นประจำ เราก็เอากับเขาบ้าง ท้ายที่สุดชาวบ้านก็ต้องหามเราไปนอน อย่างนี้ก็ไม่ไหว
การที่เราเข้าไปในสังคมของพวกเขานั้น ก็เป็นที่สนใจของพวกเขามากพอแล้ว (ธีรเวทย์ ประมวญรัฐการ , 2539 : 71-79) การที่เราซึ่งเป็น “คนนอก” ตั้งใจที่จะทำตัวให้เหมือนกับชาวบ้านที่เราศึกษามากเกินไป อาจจะทำให้พวกเขาคลางแคลงใจในบทบาทของเรา ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้ยากขึ้นก็เป็นได้
ข) สนาม (field) และงานสนาม (fieldwork)
บทสนทนาระหว่างมานะกับปิติในบ่ายวันหนึ่ง
“ว่าไง เพื่อนหายไปไหนมาตั้งหลายวัน ”  มานะทัก
ปิติยิ้ม ตอบว่า “ไปออกสนามมา”
              Schwandt (1997) ให้คำจำกัดความของ “สนาม” ไว้ว่า  สนาม ในทางการวิจัย หมายถึง สถานที่หรือสถานการณ์ที่มีกิจกรรมทางสังคม (social action) ดำเนินอยู่ (Schwandt , 1997 : 52) ส่วนงานสนาม (fieldwork) นั้น คือ กิจกรรมต่างๆทั้งหมดที่นักวิจัยทำในขณะที่อยู่ในสนาม อาทิ การฟัง การดู การโต้แย้ง การบันทึกเทป การตีความ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ต้องใช้อย่างมีศิลปะ และล้วนเกี่ยวข้องกับจริยธรรมและอำนาจ  (Schwandt , 1997 : 54)
ในงานภาคสนาม บันทึกภาคสนาม(fieldnote) และสมุดสนาม(field journal) เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักวิจัยทำงานได้อย่างเป็นระบบขึ้น
ค) บันทึกภาคสนาม
               บันทึกภาคสนาม หรือ fieldnote สำหรับบางคนแล้ว หมายรวมถึงสิ่งต่างๆที่นักวิจัยเก็บรวบรวมมาได้จากงานภาคสนาม ซึ่งได้แก่ สมุดบันทึกสนาม (fieldwork journal) , รายงานการสัมภาษณ์และการสนทนา , รูปถ่ายต่างๆ , เทปบันทึกเสียงและเทปบันทึกภาพ , สำเนาเอกสารและวัสดุต่างๆที่ได้จากการลงทำงานภาคสนาม  ( Schwandtz , 1997 : 52)
               Schwandtz (1997) สรุปว่า ในการทำวิจัยเชิงคุณภาพนั้น  เมื่อเราทำงานภาคสนาม เราต้องทำบันทึกภาคสนาม จากนั้น จึงนำข้อมูลไปเรียบเรียงเขียนเป็นรายงาน บันทึกภาคสนามจึงเป็นงานที่มีความเป็นพลวัต (Dynamic) กล่าวคือ ต้องมีการตีความอย่างน้อยสองครั้ง คือ ครั้งแรกตีความจากสถานการณ์ในสนามมาเขียนเป็นบันทึกภาคสนาม จากนั้นต้องตีความจากบันทึกภาคสนามมาเรียบเรียงเป็นข้อมูลที่เป็นระบบขึ้น  และยังต้องนำข้อมูลที่เรียบเรียงแล้วนี้ ไปตีความใหม่เพื่อวิเคราะห์เป็นรายงานการวิจัย ดังนั้น ผู้ทำงานวิจัยที่ต้องเกี่ยวข้องกับงานภาคสนามจึงต้องตระหนักถึงข้อจำกัด อคติและข้อผิดพลาด ที่สามารถเกิดขึ้นจากการเขียนและการตีความเหล่านี้ได้เสมอ (Schwandtz , 1997 : 53)     
นอกจากจะมี บันทึกภาคสนาม(fieldnote) และสมุดสนาม(field journal) เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักวิจัยทำงานได้อย่างเป็นระบบขึ้นแล้ว ก็ยังมีอีกสองเครื่องมือ ซึ่งจะมองข้ามไปไม่ได้เลยเมื่อคุณจะต้องทำงานสนามในงาน Ethnography ก็คือ  การแฝงตัว (immersion) และ การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม (Participant Observation)
ง) การแฝงตัว (immersion) และเว้นระยะห่างในสนาม
               คุณเคยย้ายโรงเรียนกลางคันไหม? ถ้าเคย คงมีประสบการณ์อย่างนี้นะครับ
แจ๋วกำลังเรียนอยู่ชั้น ป.6 พ่อแม่แจ๋วต้องย้ายไปทำงานที่กรุงเทพ แจ๋วก็เลยจำเป็นต้องย้ายโรงเรียนตามท่านไปด้วย
วันแรกที่แจ๋วต้องเข้าไปอยู่ในโรงเรียนใหม่ เป็นนักเรียนใหม่คนเดียวของห้อง ไม่รู้จักใครมาก่อนเลย แจ๋วอยากมีเพื่อน อยากรู้จักสนิทสนมกับเพื่อนร่วมชั้น  แจ๋วจะทำยังไงดี
               ครูประจำชั้นก็เรียกแจ๋วมาหน้าชั้น แจ๋วก็ตัวสั่น ไม่รู้จะทำหน้ายังไง ได้แต่ยิ้ม นักเรียนชายหลายคนก็ส่งเสียงแซว หัวใจแจ๋วหล่นลงไปอยู่ที่ตาตุ่ม ครูเกริ่นแนะนำแจ๋วหน้าชั้น พูดถึงที่มาที่ไปของแจ๋วสักเล็กน้อย และให้แจ๋วแนะนำตัวเอง พอพูดจบ แจ๋วเริ่มมีสีหน้าดีขึ้น ไม่เกร็งอย่างแต่ก่อน แต่ก็อดตื่นเต้นไม่ได้ ครูบอกให้แจ๋วไปนั่งข้างๆจี๊ด เพราะจี๊ดเป็นเด็กเรียบร้อย นิสัยดี
ถ้า คุณเป็นจี๊ด ต่อจากนี้ไป คุณจะผูกสัมพันธ์กับเพื่อนๆในห้องอย่างไร ?
               ธีรเวทย์ ประมวญรัฐการ (2539) กล่าวว่า การแฝงตัว เป็นเกณฑ์สำคัญลำดับแรกที่จะวัดว่า นักวิจัยผู้นั้น ได้ใช้วิธีการทางมานุษยวิทยาแล้ว นอกจากนั้น ยังต้องผ่านสภาวะทางจิตวิทยาในขณะอยู่ร่วมกับ “ชาวบ้าน” อื่นๆอีกมาก เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้งานวิจัยทางมานุษยวิทยา ต่างจากงานวิจัยเชิงคุณภาพรูปแบบอื่นๆ อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ ก็ไม่ได้ผูกขาดแต่เฉพาะในสาขามานุษยวิทยา แต่สามารถใช้กับศาสตร์สาขาอื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์  รัฐศาสตร์  เป็นต้น (ธีรเวทย์ ประมวญรัฐการ , 2539 : 73-74)
               ทีนี้ การแฝงตัวเข้าไปในชุมชนเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับ วิธีการที่เรียกว่า “การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม”   
จ) การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม
              
               การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม คือ การแฝงตัวของนักมานุษยวิทยา เพื่อได้รู้ ได้เห็น ได้คิด ได้รู้สึก เสมือนหนึ่งตนเอง เป็นสมาชิกของสังคมเล็กๆนั้น ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน ชนเผ่าใดที่มีวิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมเฉพาะ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นนักมานุษยวิทยาที่สามารถวิเคราะห์แบบแผนของการจัดระเบียบสังคมนั้น อย่างมีเหตุผลทางทฤษฎี หัวใจของการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม คือ การจัดหาความสมดุล ระหว่าง “ความผูกพัน”(involvement) กับ “การแยกพ้น” (detachment) ซึ่งอาศัยทั้งศิลป์และศาสตร์  ความผูกพันก็เพื่อให้เข้าใจสภาพความเป็นจริงเชิงจิตวิทยาของวัฒนธรรมที่ศึกษา แยกพ้น เพื่อให้มองอย่างปราศจากความลำเอียง (ธีรเวทย์ ประมวญรัฐการ , 2539 : 73-74) หรือถ้าจะลำเอียง ก็ลำเอียงให้น้อยที่สุด
               Johnson (1995) ให้คำจำกัดความไว้ว่า การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม คือ วิธีการวิจัย ที่นักวิจัยเป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่ตนเข้าไปศึกษาจริงๆ การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นวิธีการที่นักมานุษยวิทยานิยมนำไปใช้แต่นักสังคมวิทยาก็นำไปใช้อย่างแพร่หลาย ในการศึกษาขบวนการจากกลุ่มสังคมขนาดเล็กไปสู่สังคมขาดใหญ่ที่อยู่ในรูปสถาบันต่างๆ  ในรูปการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับชาย เป็นต้น (Johnson ,1995:199)
แล้วจุดแข็งจุดอ่อนของการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมเป็นอย่างไรล่ะ?
                จุดแข็งของวิธีการนี้ ก็คือ ทำให้นักวิจัย สามารถเข้าไปศึกษาพฤติกรรมทางสังคมของผู้คนในสนามได้อย่างลึกซึ้ง แต่จุดอ่อนของมันก็คือ วิธีการนี้ มันทำให้นักวิจัยต้องไปพัวพันกับชาวบ้านในสนามมาก การที่นักวิจัยเข้าไปในสนามอาจส่งผลต่อมุมมอง ความเชื่อต่างๆของชาวบ้าน โดยที่ชาวบ้านไม่รู้ตัว ทำให้ข้อมูลที่นักวิจัยได้มาบิดเบือน จากจุดแข็งในตอนต้นของการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม พอมาถึงตอนท้ายอาจจะกลายเป็นจุดอ่อนได้ (Johnson , 1995 : 200)

ฉ) ประเด็นทางจริยธรรม
              เนื่องจากงานชาติพันธุ์วรรณาหรือ Ethnography เป็นงานที่นำเสนอ (represent) เรื่องราวของผู้อื่นผ่านการตีความของนักวิจัย อีกทั้งผู้วิจัยต้องมีปฏิสัมพันธ์อย่างมีส่วนร่วมกับชาวบ้านและผู้คนมากมายในสนาม   นักวิจัยหรือผู้เขียนงานชาติพันธุ์วรรณาจึงมีโอกาสทำผิดพลาดได้เสมอ โดยอาจจะก่อให้เกิดความร้าวฉานหรือรุนแรงให้กับบุคคลหรือสังคมนั้นๆโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จริยธรรมหรือจรรยาบรรณจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่นักวิจัยจะต้องมี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในงานวิจัยที่ใช้กระบวนการแบบชาติพันธุ์วรรณานี้
             สุภางค์ จันทวานิช (2536) สรุปว่านักวิจัยเชิงคุณภาพอาจเน้นความระมัดระวังในเรื่องจรรยาบรรณได้ดังนี้
1. คำนึงถึงปัญหาเชิงจรรยาบรรณ ตั้งแต่ขั้นของการวางแผนวิจัย
2. ให้ความสำคัญแก่จรรยาบรรณในเรื่องการพิมพ์เผยแพร่งานเป็นพิเศษ
3. พยายามรักษาดุลย์ระหว่างสิทธิและหน้าที่ของนักวิจัย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ระหว่างเสรีภาพทางวิชาการกับการรักษาจรรยาบรรณ
4. ระมัดระวังไม่ให้ข้อมูลแก่ฝ่ายหนึ่งที่อยู่ในความขัดแย้งที่จะนำไปใช้ประโยชน์
5. เมื่อตัดสินใจที่จะเลือกบทบาทแบบปิดบัง นักวิจัยต้องพร้อมที่จะแก้ปัญหาด้านจรรยาบรรณคนเดียว แต่ถ้าเป็นบทบาทแบบเปิดเผย ก็อาจปรึกษาหารือกับคนในชุมชนเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาได้
ปัญหาเรื่องจรรยาบรรณเป็นเรื่องที่จะปรากฏเพิ่มขึ้นและชัดเจนขึ้นในวงการวิจัยในอนาคตโดยเฉพาะในการวิจัยเชิงคุณภาพ  ผลข้างเคียงของการใช้วิธีการวิจัยต่างๆ  ที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านจรรยาบรรณก็เหมือนการใช้ยาใหม่ ๆ  ซึ่งผู้ใช้จะรู้ผลต่อเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้วในปัญหาทั้งหมดนี้  ทางเลือกระหว่างเสรีภาพทางวิชาการกับการรักษาจรรยาบรรณเป็นปัญหาที่แหลมคมที่สุดที่จะต้องระมัดระวัง
                                                                        (สุภางค์  จันทวานิช , 2536 : 108)
            
  • ปัญหาของ Ethnography

         การแสวงหาจุดร่วมในการเขียน
               เนื่องจากงานชาติพันธุ์วรรณาเป็นงานที่มีเป้าหมายสำคัญในการศึกษาวัฒนธรรม วิธีการเก็บข้อมูลก็เป็นกระบวนการเรียนรู้วัฒนธรรมในบริบทและสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง โดยอาศัยการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและสัมภาษณ์ผู้ให้ข่าวสำคัญ (Key informant) เป็นหลัก ซึ่งนักวิจัยจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่นักวิจัยเข้าไปศึกษา จึงทำให้งานชาติพันธุ์วรรณาเป็นงานวิจัยที่มีลักษณะต่างไปจากงานวิจัยแบบอื่น ในแง่ของกระบวนการเก็บข้อมูล นอกจากนี้ ในยุคปัจจุบัน งานวิจัยแนวชาติพันธุ์วรรณานี้ ก็ได้ปรับเปลี่ยนลีลาและรูปแบบการเขียนให้อยู่ในรูปของวรรณกรรมมากขึ้น เพื่อสะท้อนความจริงของสังคมมนุษย์ ที่เต็มไปด้วยสีสันของอารมณ์ ความรู้สึก และความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น (ชยันต์ วรรธนภูติ , 2544 : 232)
               อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนลีลาและรูปแบบการเขียนงานชาติพันธุ์วรรณาออกไปอยู่ในรูปวรรณกรรมทีมีการใช้สำนวนภาษาหลากหลาย การกำหนดคำจำกัดความต่างๆให้ใช้ร่วมกันในงานวิจัยแนวนี้ก็ทำได้ยากมาก เช่น คำว่า “วัฒนธรรม” “อำนาจ” ในงานชาติพันธุ์วรรณาแต่ละชิ้นก็อาจจะมีความหมายไม่ตรงกันเสียทีเดียว  ความแตกต่างเหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาในทางวิชาการเวลานำงานชาติพันธุ์วรรณามาวิเคราะห์หรือเปรียบเทียบร่วมกัน 
              การไม่มุ่งเน้นการทำนาย
             Agar (1985) ชี้ให้เห็นว่า นักชาติพันธุ์วรรณา (ethnographer) ก็ประสบปัญหาเหมือนๆกันกับนักภาษาศาสตร์ทั้งหลายตรงที่มุ่งสนใจแต่การทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น มากกว่าจะทำนายทายทักว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต (Agar , 1985 : 13-16) พูดง่ายๆ คือ สนใจศึกษาปัจจุบัน มากกว่าอนาคต ในขณะที่ทางนักประวัติศาสตร์เองก็มุ่งศึกษาอดีต แบบงานใครงานมัน การแยกส่วนกันระหว่างสาขาวิชามากเกินไป อีกทั้งลักษณะการทำงานที่ไม่ค่อยได้มีการทำงานวิจัยร่วมกันทำให้ขาดการวิเคราะห์ที่เชื่อมต่อกัน ความจริงที่ได้จากงานวิจัย จึงเป็นความจริงที่แยกส่วนเป็นก้อนแข็งๆ ที่ย่อยให้ผสมกันยาก
            และการจะทำงานชาติพันธุ์วรรณาให้ได้ “ดี” ดีในที่นี้หมายถึงความสามารถในการสะท้อนความจริงที่ใกล้เคียงกับมุมมองของชาวบ้านอย่างมีจริยธรรมนั้น เราต้องเข้าใจปัญหาหรืออุปสรรคที่กีดกันไม่ให้เราเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ ซึ่งพอจะจำแนกออกได้ ดังต่อไปนี้
            วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม
               คุณคิดว่า คนกรุงเทพโดยทั่วไป รู้สึกอย่างไร กับคนที่พาช้างมาเร่ร่อนหากินอยู่ในเมือง?
คิด….คิด…คิด…คิด…คิด…
              
               วิธีคิดที่มองสิ่งต่างๆแบ่งแยกเป็นคู่ตรงข้าม (Dichotomy) และให้คุณค่าว่าสิ่งหนึ่งดีกว่าอีกสิ่งหนึ่ง เช่น ดี-ชั่ว  ถูก-ผิด ดำ-ขาว  ชาย-หญิง คนรวย-คนจน  แข็งแรง-อ่อนแอ ธรรมชาติ-วัฒนธรรม ตัวเขา-ตัวเรา  ผลประโยชน์ส่วนรวม-เรื่องส่วนตัว ฯลฯ เป็นวิธีคิดในชีวิตประจำวันที่เราพบเห็นได้ทั่วไป และเป็นวิธีคิดที่ครอบงำอยู่ในงานวิจัยกระแสหลัก โดยที่เรามักไม่รู้ตัวและยึดติดอยู่กับวิธีคิดนี้อย่างแนบแน่น เวลามองสังคม “คนอื่น” เราก็มักจะติดยึดกับวิธีคิดแบบนี้ (วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ , 2545 : 39)
               สำหรับวงการมานุษยวิทยาแล้ว วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามนี้ถูกโต้แย้งอย่างมากว่ามันไม่สอดคล้องกับองค์กรและระเบียบสังคมของมนุษย์ (Seymour-Smith , 1986 : 84 อ้างใน วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ , 2545 : 39)ที่มีความหลากหลาย ซับซ้อน คลุมเครือ และเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่ผันแปรได้ตลอดเวลา พูดง่ายๆคือ วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามนี้ มันอาจทำให้เราห่างไกลจาก “ความจริง” ของ “คนอื่น” มากขึ้น คือ เข้าไม่ถึงวิธีคิดของชาวบ้านนั่นเอง
               ที่แย่ไปกว่านั้น วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามนี้ มันมักจะแฝงการให้คุณค่าว่าสิ่งหนึ่งดีกว่าอีกสิ่งหนึ่ง สิ่งหนึ่งแยกขาดออกจากอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งบ่อยครั้ง มันนำความรุนแรงมาเยี่ยม
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
              
               หลังจากที่เที่ยวไล้เทียวขื่อ ประเคนลูกตื้อมานานหลายปี  ค่ำวันหนึ่ง หนุ่มวิทยาลัยมีชื่อ  ก็เลยนัดสาวสวยมาทานข้าวเหมือนเคย กินไปได้สามคำก็ถามสาวเทคนิคด้วยเสียงนุ่มนวลว่า
 “พี่ถามแจ๋ว เป็นครั้งสุดท้ายนะ ว่ารักหรือไม่รักพี่
“ยังไม่รู้สิพี่”
พูดจบ ชายหนุ่มก็ประคนลูกตะกั่วให้หญิงสาวนุ่มๆ สามนัดซ้อน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
               คำถามในทำนอง “ใช่หรือไม่”  “เห็นด้วยไม่เห็นด้วย” หรือ “จะรักไม่รัก” อย่างนี้ สะท้อนวิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม เห็นใช่ไหมครับว่า ถ้าไปยึดติดมากๆมันนำหายนะมาให้ 
               เบื้องหลังความขัดแย้งมากมายในสังคมและในชีวิตประจำวันของเราเอง บ่อยครั้งมาจากวิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม ที่มองอะไรต่อมิอะไรแยกส่วนกันแบบนี้
               จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่เรามักจะรู้สึกว่า  “เรื่องคนเลี้ยงช้าง ไม่เกี่ยวกับนายทุน” “เรื่องของชาวนา ไม่เกี่ยวกับคนกรุง” “เรื่องของเขา  เราไม่เกี่ยว”
               นอกจากนี้ การวิธีคิดแบบแบ่งสิ่งต่างๆเป็นช่วงๆ (interval scale) เช่น การแบ่งอายุคนในแบบสอบถาม เป็น ช่วงอายุ 0-45 , 46-60 , 60 ปีขึ้นไป หรือ  ให้กาเครื่องหมายกากบาทลงในช่องศาสนา ว่า เป็นชาวคริสต์ หรือ ไม่ใช่ชาวคริสต์ เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงการมองข้ามความซับซ้อนของผู้คน ที่อาจจะอยู่นอกเหนือไปจากช่วงต่างๆที่นักวิจัยกำหนดขึ้น เช่น ผู้ที่เคยเป็นเด็กเร่ร่อนหรือเด็กกำพร้ามาก่อนก็ไม่ทราบวันเดือนปีเกิดที่แน่ชัดของตนเอง ชาวเขาที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีระบบการนับวันเดือนปี ก็อาจจะประมาณอายุตัวเองสูงหรือต่ำกว่าที่นักวิจัยกำหนด  หรือ ในกรณีศาสนา บางคนอาจจะนับถือหลายศาสนา บางคนตอนเด็กอาจจะนับถือคริสต์ แต่เพิ่งเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์เมื่อปีก่อน หรืออาจจะไม่นับถือศาสนาอะไรเลย ก็จะกลายเป็นพวกที่ตกขอบไปจากการสอบถามจากวิธีคิดแบบนี้ (Johnson , 1995 : 80)
               ถ้าคุณมองเห็นวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามที่ซ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 22593เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2006 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วเข้าใจ สนุก..เขียนได้น่าอ่านมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท