องค์ความรู้สหสาขาวิชาเพื่อจัดการกับโรคติดต่ออุบัุติใหม่ (2)


โรคติดต่ออุบัติใหม่ส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด มีแหล่งแฝงตัวอยู่ในประชากรสัตว์

กลัีบมาเล่าต่อนะครับ...

ผมมีโอกาสได้ไป "ขาย" แนวคิดเรื่องนี้ในต่างประเทศมาสองครั้ง ครั้งแรกในเวทีประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของเอเปค (APEC Health Task Force) ที่กรุงฮานอยของเวียดนาม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ครั้งที่สองคือเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่กรุงมะนิลา ซึ่งเป็นการประชุมตัวแทนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเอเปค ทั้งสองครั้งก็ได้รับความสนใจที่ดีมาก ดูจากการซักถามทั้งกลางเวทีประชุมและนอกรอบ

โดยเฉพาะในครั้งหลังนี้ มีผู้สนับสนุนโครงการและเข้ามาสอบถาม แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น และแสดงความประสงค์ที่จะร่วมเป็นเครือข่ายวิจัยในเรื่องนี้หลายราย

ประเด็นหนึ่งที่พบว่าได้รับความเห็นในเชิงแลกเปลี่ยนค่อนข้างมากคือ องค์ความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยาและสภาพภูมิอากาศ... น่าจะเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในการทำนายการแพร่ระบาดของโรคติดต่อหลาย ๆ โรคได้

ก่อนหน้านี้ผมเคยได้รับรู้มาบ้างเหมือนกันว่า การพยากรณ์อากาศ สามารถนำมาใช้คาดการณ์ล่วงหน้าถึงการระบาดของโรคมาลาเรียได้ (ดู Watching weather could predict malaria epidemics) แต่ก็คิดไม่ถึงว่า การนำองค์ความรู้ด้านนี้มาใช้กับเรื่องโรคติดต่ออุบัติใหม่ จะเข้ามาอยู่ในความสนใจของอีกหลาย ๆ คน

หนึ่งในนั้นคือโฮเซ่ เอ็ดการ์โด อาบัน ด๊อกเตอร์หนุ่มไฟแรงชาวฟิลิปปินส์ ที่เคยทำวิจัยเรื่องการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมที่ใช้เทคนิคการตรวจจับดัชนีการสังเคราะห์แสงที่ผิวโลก ประกอบกับอุณหภูมิที่ผิวทะเลในบริเวณที่เกิดปรากฏการณ์ El Nino เพื่อนำมาใช้พยากรณ์ปริมาณน้ำฝนของปีถัดไปได้ ...ตอนนี้โฮเซ่เข้ามาเป็นพันธมิตรกับเราเรียบร้อยแล้วครับ...

อีกรายหนึ่งเป็น Executive Director ของ APEC Climate Center ในเกาหลี ชื่อ ดร. จุงคิว ปาร์ค ที่เข้ามายื่นข้อเสนอ ชักชวนให้ร่วมกัันทำวิจัย ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอุตุนิยมวิทยากับโรคติดต่ออุบัติใหม่ ให้เป็นเรื่องเป็นราว โดยเขายินดีให้ใช้เครือข่ายข้อมูลของเขา ที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกด้วย ถ้าเราสนใจ

ที่เล่ามานี้เป็นแง่มุมหนึ่งเท่านั้นของเครือข่ายที่กำลังจะเติบโตต่อไปในอนาคต ผมกำลังคิดว่า ประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งที่ประเทศไทยน่าจะมีองค์ความรู้อยู่แล้วบ้าง ก็คือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างระบบนิเวศของคน สัตว์ และพืช และการอุบัติขึ้นของโรค ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญเหลือเกิน แต่เรายังพูดถึงกันน้อยเิกินไปครับ แม้จะเป็นที่รู้กันแล้วว่า โรคติดต่ออุบัติใหม่ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด มีแหล่งแฝงตัวอยู่ในประชากรสัตว์ ทำให้มันอุบัติซ้ำได้อยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นถ้าเราไม่พูดกันที่การจัดการที่ต้นตอ ก็คงจะไปไหนได้ไม่ไกล

...ใครมีแหล่งข้อมูลดี ๆ จะแนะนำก็ขอขอบคุณด้วยนะครับ...

หมายเลขบันทึก: 22585เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2006 00:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท