การทำ AAR


สิ่งที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้ คือ บางทีในความไม่สำเร็จ ก็ทำให้เราหันกลับมาเห็นข้อบกพร่อง หรือช่องโหว่ของเราเองได้

          เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา  ดิฉันได้มีโอกาสไปร่วมงาน (เป็นวิทยากร) ให้กับคนในวงการสาธารณสุข แล้วทราบมาว่า น้องผู้จัดหรือเจ้าภาพของงานยังเด็กมาก และบอกกับทางเรา (ทีมวิทยากร) ว่างานนี้เป็นงานแรก เขาก็ไม่เคยจัดงานลักษณะนี้มาก่อน และจากประสบการณ์ การร่วมงานกับน้องทำให้ทีมเราพอจะเดาได้ว่า งานนี้เป็นงานแรกของเขาจริงๆ (รวมทั้งการสังเกตจากองค์ประกอบอื่นๆ แล้ว ก็น่าจะอนุมานได้ว่าไม่เคยทำงานในลักษณะนี้มาก่อนเลย) และด้วยความปรารถนาดีของพี่ๆ ทีมวิทยากร ที่อยากจะสอนงานและ ลปรร. กับน้องว่า รู้สึกอย่างไรบ้าง จากการทำงานลักษณะอย่างนี้ เลยชวนน้องๆ และทีมผู้จัดเข้าร่วมการถอดบทเรียนจากการทำงานกันอย่างจริงจัง โดยให้คนที่เต็มใจและอยากร่วม ลปรร.จริงๆ เข้ามานั่งคุยกัน เพื่อจัดเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนและพัฒนา

          จะด้วยความที่เราด้อยประสบการณ์ในการทำกระบวนการ AAR หรือว่าน้องๆ และทีมผู้จัดยังใหม่ต่อกระบวนการนี้ก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่เท่าที่ทราบ หลังจากการทำ AAR ในวันนั้น แทนที่ว่าเขาจะเกิดการพัฒนา และเรียนรู่ หรือนำข้อมูลที่ได้รับไปปรับปรุงและพัฒนา แต่กลับทำให้บรรยากาศของการร่วมงานแย่ลงกว่าเดิม การมีส่วนร่วมน้อยลงมาก จากที่เคยมีส่วนร่วมอยู่บ้าง กลับไม่มีเลย เราก็กลับมาทบทวนตัวเองหลังจากเหตุการณ์ในวันนั้นผ่านไป ว่าเราลืมบอกเป้าหมายของการทำ AAR หรือเปล่า แต่ก็จำได้แม่นยำว่า เราได้บอกไปหมดแล้ว ทั้งขั้นตอน และกระบวนการ รวมทั้งบอกอีกด้วยว่าเป็นการกระทำเพื่อพัฒนา และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรืออาจเป็นไปได้ว่า เราไม่เก่งจริงที่ไม่สามารถพูดจาให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างกระจ่างแจ้ง

          หลังจากนั่งทบทวนตัวเองอยู่หลายวัน แล้วทุกอย่างก็กระจ่างแจ้ง เมื่อนึกถึงคำของพี่ชายขอบที่สอนว่า “การจัดการเรียนรู้แบบจัดเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนั้น จะไม่สำเร็จถ้าทุกคนที่เข้าร่วมมาด้วยความรู้สึกที่ไม่อยากมา” น้องขอแถมท้ายอีกนิดนึงนะคะพี่ ว่าถ้าเขาไม่มีความรู้สึกอยากพัฒนา เราก็ไม่สามารถไปบังคับหรือชี้นำเขาได้หรอกค่ะ เพราะถ้าเขามองว่าเขาทำอยู่ดีอยู่แล้ว เขาก็จะไม่เปิดรับอะไรอีกเลย น้ำที่เต็มแก้ว ใส่อะไรเข้าไปก็มีแต่ล้นออกค่ะ ขอบคุณสำหรับคำสอนของพี่นะคะ

         ปล. แต่ดิฉันเคยทำ AAR สำเร็จมาแล้วนะคะ กับน้องๆ ในฝ่ายค่ะ ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไปนะคะ ค่อยมาเล่าให้ฟังค่ะ

          สิ่งที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้ คือ บางทีในความไม่สำเร็จ ก็ทำให้เราหันกลับมาเห็นข้อบกพร่อง หรือช่องโหว่ของเราเองได้ ขอบคุณหน่วยงานต้นสังกัดที่อนุญาตให้ดิฉันได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรกับหน่วยงานอื่น และขอบคุณหน่วยงานเจ้าภาพที่สอนและสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทำให้ดิฉันได้มองอีกมุมหนึ่งของความเป็นไป และได้เห็นโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 22486เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2006 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

     สิ่งที่ควรจะ(ต้อง)ทำในอันดับแรก ขณะนี้คือ น้องทำ AAR ในส่วนของน้องก่อนจากเรื่องราวของวันนั้น (ตอบคำถามตัวเองด้วยตัวเอง 4 ข้อ ที่เคยคุยกัน) แล้วนำบทเรียนนี้มาคุยกัน พี่กำลังมองเห็นอะไรบางอย่างที่ทรงคุณค่า แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการทำ AAR ครั้งนี้ บทเรียนไงครับ แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก้ไขได้ครับ พี่จะลองดูนะ (มองเชิงบวกเข้าไว้) อย่าลืมทำ AAR ตัวเองล๊ะ ขอเน้น

     ขอบคุณที่ระลึกถึงครับ แต่อย่าเรียกว่าสอนกันเลย เอาเป็นว่า ลปรร.กัน เพราะมีหลายส่วนที่พี่เองก็ได้รับจากน้องมา เช่น บุคลิกภาพ นักประสาน เป็นต้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท