มารู้จักสงขลา


มาเที่ยวสงขลา
ที่ตั้งและขนาดของจังหวัดสงขลา

 จังหวัดสงขลาตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของภาคใต้ตอนล่าง
    ระหว่างละติจูดที่ 6 17 - 7 56 เหนือ ลองจิจูด 100 01 - 101 06 ตะวันออก
    สูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 4 เมตร
    อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ตามเส้นทางรถไฟ 947 กิโลเมตร และทางหลวงแผ่นดิน 950 กิโลเมตร

    จังหวัดสงขลา มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
       ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดพัทลุง
      
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย
       ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี รัฐเคดาห์ และรัฐเปอร์ลิสของประเทศมาเลเซีย
       ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสตูล

    ขนาดพื้นที่

จังหวัดสงขลามีพื้นที่ 7,765.323 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,853,249 ไร่ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 27 ของประเทศ และใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของภาคใต้ รองจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช
อำเภอเมือง
อำเภอเมืองไม่เป็นศูนย์กลางทางการค้าเหมือนกับอำเภอหาดใหญ่ แต่เป็นอำเภอที่มีความการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย เมืองค่อนข้างจะเงียบ มีตึกเก่าโบราณที่ยังคงความสมบูรณ์สร้างแบบชิโน-โปรตุกีส เหมือนในจังหวัดภูเก็ตตามถนนนครใน นครนอก นางงาม และยะลา มี ศาลหลักเมือง ที่เก่าแก่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสร้างเมืองสงขลา อยู่ที่ถนนนางงาม และที่ถนนนางงามยังเป็นถนนที่มีอาหารพื้นเมืองและขนมไทย ๆ ฝีมือชาวบ้านให้ได้ชิมและหาซื้อเป็นของฝาก เช่นขนมสำปะนี ขนมทองม้วน ขนมทองพลับ หรือแม้แต่เต้าฮวย ที่ขายมากว่า 50 ปี ก็มีให้ได้รับประทานกัน อยู่ตรงข้ามศาลหลักเมือง และยังมีข้าวสตู ฝีมือดั้งเดิมให้ได้ลิ้มลองอีกด้วย
 
   
เกาะยอ  

เป็นเกาะเล็ก ๆ ในทะเลสาบสงขลา เดินทางโดยข้ามสะพานติณสูลานนท์ ไปตามเส้นทาง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 407 และเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวง 4083 ทางไปอำเภอสิงหนคร เกาะยอมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9,275 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไหล่เขาและที่ราบตามเชิงเขา เหมาะแก่การเกษตรกรรม บนเกาะยอมีการทำสวนผลไม้แบบสุมรุม หมายถึงผลไม้จะผลัดกันให้ผลผลิตตลอดปี เช่น ส้มโอ มะพร้าว ขนุน ผลไม้ที่มีชื่อของเกาะยอคือ จำปาดะ ลักษณะคล้ายขนุนแต่ลูกเล็กกว่า สามารถนำไปทอดเหมือนกล้วยแขก หรือจะกินสดก็ได้ และผ้าทอเกาะยอ เป็นผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้นิยมสวมใส่ผ้าไทย มีลายที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายราชวัตถ์ ดอกพิกุล ดอกพะยอม เนื้อผ้าดูแลรักษาง่าย นอกจากนั้นเกาะยอยังเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังในทะเลสาบสงขลาอีกด้วย

 
   
   
เขาเก้าเส้ง  

ห่างจากหาดสมิหลาประมาณ 3 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางไปสถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งแห่งชาติ มีตำนานเล่าถึงเขาเก้าเส้ง หรือที่เรียกกันในภาษาพื้นเมืองว่า “หัวนายแรง” ว่า “ครั้งนั้นทางเมืองนครศรีธรรมราชกำหนดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ และจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต บรรดา 12 หัวเมืองปักษ์ใต้ต่างก็นำเงินทองไปบรรจุในพระบรมธาตุ เมืองที่นายแรงเป็นเจ้าเมืองก็เป็นเมืองขึ้นนครศรีธรรมราชด้วย ประกอบกับนายแรงมีความศรัทธาในพุทธศาสนา จึงขนเงินทองเป็นจำนวนมากถึงเก้าแสนบรรทุกเรือสำเภา พร้อมด้วยไพร่พลออกเดินทางไปเมืองนครศรีธรรมราช ขณะกำลังเดินทางเรือสำเภาถูกคลื่นลมชำรุด จึงเข้าจอดเรือที่ชายฝั่งหาดทรายแห่งหนึ่ง เพื่อซ่อมแซมเรือ พอได้ทราบข่าวว่าทางเมืองนครศรีธรรมราชได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว นายแรงเสียใจมาก จึงให้ไพร่พลขนเงินทองบรรจุไว้บนยอดเขาลูกหนึ่ง สั่งให้ลูกเรือตัดหัวของตนไปวางไว้ที่ยอดเขา นายแรงกลั้นใจตาย ลูกเรือต้องจำใจตัดหัวเจ้านายไปวางไว้บนยอดเขาตามคำสั่ง เขาลูกนี้ภายหลังเรียกว่า “เขาเก้าแสน” เรียกเพี้ยนไปเป็น “เก้าเส้ง”ก้อนหินที่ปิดทับบนยอดเขาเรียกว่า“หัวนายแรง” ชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญานของนายแรงยังเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มาจนทุกวันนี้”

 
   
   
เขาตังกวน  

บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมืองสงขลา ซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวารวดี ในเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีพิธีห่มผ้าองค์เจดีย์ ประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว และยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาและทะเลสาบสงขลาได้ และก่อนถึงยอดเขาตังกวนจะมีศาลาวิหารแดง (พลับพลาที่ประทับ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในสมัยนั้น สร้างพลับพลานี้ถวายตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2431

 
   
 http://www.songkhla.go.th/


 

 


คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 22400เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2006 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 12:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท