รายงานชิ้นที่ 1


งาน

จากสมาชิกกลุ่ม

1. นางสาวช่อทิพย์  วิบูลย์

2.นางสาวชุติมา  วิศิษฎ์สมบัติ

3.นางจุฑาธิบดิ์  ศรีวรัญญุตานนท์

4.นางสาวศิริกัลยา  กันลัยพันธ์

วิกฤตของเด็กไทยกับการศึกษาในโรงเรียน

 
 
 
 

1. ปัญหาการศึกษาของเด็กไทยในปัจจุบัน

 
 
 


 

เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า การศึกษาของเราในช่วง 30-40 ปี ที่ผ่านมานี้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรดูได้จากสภาพของสังคมไทยในปัจจุบันซึ่งเห็นได้ชัดว่า ครูของเรามีลักษณะของ “คนที่ได้รับการศึกษาแล้ว” น้อยลง เรามีคนที่จบชั้นสูง ๆ ชั้นปริญญาโท ปริญญาเอกจำนวนมาก จบชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงมหาศาล คนไม่รู้หนังสือมีจำนวนน้อยลง แต่จะเห็นว่าสังคมของเราจะเป็นสังคมล้าหลัง เป็นสังคมที่ไร้ระเบียบ นักหลอกลวงต้มตุ๋น ทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะยังมีคนให้หลอกได้มาก คนที่หลงงมงายในไสยศาสตร์หรือสิ่งที่ไร้เห็นผลต่าง ๆ ก็ยังมีมากคนที่เอาแต่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคม ต่อประเทศชาติ และต่อโลกยังมีมากมาย แสดงว่าเรามีการเรียน แต่ไม่มีการศึกษาไม่มีการอบรม ไม่มีการพัฒนาพอ นั่นก็คือ การศึกษายังไม่ดี เพราะยังไม่ได้ยกระดับคนของเราให้เป็นคนที่พัฒนาขึ้นได้
 
การศึกษาในปัจจุบันถือเป็นเครื่องมือที่จะอบรมคนให้มีคุณภาพตามที่สังคม และประเทศชาติต้องการ เช่น ถ้าเราต้องการให้คนของเราเป็นอย่างไรเราก็ต้องตั้งเป้าหมาย กำหนดวิธีการ และดำเนินการให้การศึกษาอบรม เพื่อให้ได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ คิดง่าย ๆ คือ เราต้องการสร้างคนไทยที่เป็นคนที่มีคุณภาพ ถ้ามองคนไทยปัจจุบันจะเห็นว่าคนไทยมีความสามารถ มีความรู้ดี เรียนรู้วัฒนธรรม รู้จักใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต การศึกษาที่ผ่านมาทำให้คนไทยเก่งขึ้น ชีวิตคนไทยดีขึ้นทางด้านวัตถุ แต่ถ้ามองทางด้านจิตใจ คุณธรรม วัฒนธรรมและความเป็นไทยจะเห็นได้ว่าไม่ได้พัฒนาขึ้นเท่าไร คนที่จบการศึกษาสูงๆ แล้วยังเห็นแก่ตัว ไม่มีระเบียบ ไม่รักษาวินัย ไม่มีความตรงต่อเวลา และทำสิ่งที่น่าละอายต่าง ๆ มีมาก เรายังเห็นคนจบการศึกษาสูง แต่ไม่รู้จักมารยาทในสังคม ไม่มีความเกรงใจ ไม่คิดว่าการกระทำของตนรบกวนหรือก้าวก่ายสิทธิ์ของผู้อื่น ยกตัวอย่างง่าย ๆ คนมีการศึกษาจะไม่แซงคิว หรือหาช่องทางให้ตนเองได้ประโยชน์อย่างไม่ยุติธรรม หรือเรื่องการขับรถคนที่ไม่ปฏิบัตามกฎจราจรจะถือว่าเป็นคนมีการศึกษาได้อย่างไร ถ้ารถยังขวางทางกันอยู่คนที่มีการศึกษาจะไม่แทรกตัวเข้าไปเพิ่มปัญหา แต่คนไม่มีการศึกษาจะแทรกเข้าไป และหาโอกาสที่ตนจะได้ไปก่อนคนอื่น โดยไม่ดูว่าจะยิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้นอีกหรือไม่ เป็นต้น
 
การพัฒนาจิตใจให้เป็นคนที่มีคุณภาพ มีวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการศึกษา ถ้าเราไม่อบรมจิตใจคนของเราให้เป็น “คนดี” เป็น “คนไทยที่ดี” สอนแต่ความรู้เราก็จะได้แต่คนที่ฉลาด แต่เอาเปรียบผู้อื่น ฉลาดที่จะโกง ฉลาดที่จะก่ออาชญากรรม เพื่อประโยชน์ของตน การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จึงควรจะเน้นที่การสร้างคนดี สร้างคนไทยที่ดี ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ทางวิชาการ เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าของโลก
 
ปัจจุบันเราเห็นแล้วว่าคุณลักษณะที่ดีหลายประการในสังคมไทยซึ่งเคยช่วยจรรโลงใจให้สังคมเป็นสุขได้เหือดหายไป เช่น การร่วมมือการทำงานไม่ก้าวก่ายสิทธิ์ของผู้อื่น เพราะ “ความเกรงใจ” ความกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้มีพระคุณ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมไทยที่ปฏิบัติกันเป็นปกติของสังคมไทยก็กลับทอดทิ้ง และไปตามอย่างวัฒนธรรมตะวันตก ความรักนวลสงวนตัวของหญิงไทย ความมีมารยาทอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่การสั่งสอนเด็กให้มีความอดทน พูดเพราะ เกรงกลัวบาป มุ่งทำความดีเพื่อผลในภายหน้า รวมทั้งคุณลักษณะอื่น ๆ อีกมากมาย สังคมไทยในปัจจุบันก็ทอดทิ้ง และไม่ได้มีการสั่งสอนอบรมให้แก่เด็กไทยอย่างจริงจัง เด็กรุ่นหลังจึงเติบโตจนเป็นคนไทยรุ่นใหม่ที่ไม่มีมารยาท ไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีคุณภาพ และไม่งดงามตามอย่างที่สังคมต้องการ ปัญหาที่ยิ่งใหญ่อีกปัญหาหนึ่งของสังคมไทยคือ ปัญหาคอรัปชั่น ทรุดจริต คดโกง เป็นปัญหาที่เกิดจากความโลภ ความอยากได้ ความไม่รู้จักพอ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้สังคมไทยล้าหลัง และคนไทยกลายเป็นคนด้อยพัฒนา
 
จุดมุ่งหมายที่สำคัญประการหนึ่งของการจัดการศึกษาจึงต้องเน้นที่การสร้างคนที่จะรักษาคุณลักษณะต่าง ๆ ของคนไทยไว้ต้องสร้างความซื่อสัตย์ ความสุจริต และต้องพยายามขจัดความโลภ ความอยากได้ ให้หมดไป หรือให้ลดลง คงจะต้องยอมรับว่าสังคมภายนอกโรงเรียน และสื่อมีส่วนอย่างมากในการเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี และทำให้เด็กเรียนรู้ความเลวร้ายของสังคมไปโดยไม่รู้ตัว สังคมภายนอกก็คงต้องพยายามแก้กันไป แต่ในโรงเรียนครู และผู้บริหารการศึกษามีหน้าที่ที่จะสร้างเด็กให้รู้จักเกลียดกลัวความชั่ว ความทุจริต สร้างความซื่อสัตย์สุจริตให้มั่นคงในจิตใจเด็ก และสร้างภูมิคุ้มกันต่างๆ เพื่อให้เด็กสามารถต้านกระแสความคดโกงในสังคมได้ คนไทยรุ่นต่อไปควรจะเป็นกำลังสำคัญที่จะสร้างประเทศไทยให้ขาวสะอาด อย่างน้อยก็อย่าให้คนไทยรุ่นใหม่เข้าไปพัวพันกับความชั่วนั้น ที่สำคัญคือ ครูซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่จะต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ มุ่งมั่นอบรม สั่งสอนเด็กให้เป็นคนดีมีคุณภาพของประเทศ ด้วยความเมตตาและปรารถนาดีต่อเด็กอย่างเต็มที่ และต้องดำรงตนเป็นตัวอย่างในทางที่ถูกที่ควรให้สมกับที่เป็นปูชนียบุคคล
 
 
 

2.  แนวทางการพัฒนาจริยธรรมและค่านิยมให้กับเด็กไทย

 
 
 


 

ตามพจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.  2525 ได้ระบุไว้ว่า 
จริยธรรม  หมายถึงธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ  ศีลธรรม  และกฎศีลธรรม
ค่านิยม  หมายถึง  การยอมรับนับถือและพร้อมปฏิบัติตามคุณค่าที่ตนหรือกลุ่มคนที่มีอยู่ต่อสิ่งต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นวัตถุ  ความคิดอุดมคติ  รวมทั้งการกระทำ  ในด้านเศรษฐกิจ  สังคม  จริยธรรม  และสุนทรียภาพ  ทั้งนี้โดยการผ่านการประเมินค่าจากทัศนะต่าง ๆ โดยถี่ถ้วนรอบคอบแล้ว
 
ดังนั้น  จริยธรรมกับค่านิยมจึงเป็นแนวทางของบุคคลในการตัดสินว่า  การกระทำใดเป็นสิ่งที่ดีงามถูกต้อง  ควรปฏิบัติ  การกระทำหรือพฤติกรรมใดเป็นสิ่งที่ไม่ดี  ไม่ถูก  ไม่ควรปฏิบัติทั้งต่อตนเองต่อผู้อื่น และต่อสิ่งแวดล้อม และบุคคลจะเกิดความคิด  พฤติกรรมที่เห็นว่ามีคุณค่า  จึงยอมรับมาไว้ปฏิบัติ และวางแผนไว้ระยะหนึ่ง  และจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย และกระแสความคิดของคนในสังคมใด และเวลาใดในช่วงการดำเนินชีวิตในระยะต่อไป
 
ตามโครงสร้างของระบบหลักสูตรทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะการจัดการศึกษา        ขั้นพื้นฐาน (กรมวิชาการ,2544 : 3) ได้คาดหวังให้เด็กและเยาวชนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ รู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รู้จักคิด ตัดสินใจ และแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ มีเหตุผล มีความรู้อันเป็นสากล  รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการต่าง ๆ มีความสามารถในการสื่อสาร  การจัดการ  และใช้เทคโนโลยีที่จำเป็น  และบุคคลที่มีจิตใจที่ดีงาม  มีคุณธรรม  จริยธรรม  และค่านิยมที่ดีงามในการดำเนินชีวิต  ปฏิบัติตามหลักธรรมศาสนา  มุ่งมั่นพัฒนาตนเองและสังคม  ประกอบอาชีพสุจริต  และพึ่งตนเองได้  รวมทั้งเป็นบุคคลที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข  มีทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต  มีสุขภาพที่ดีมีสุนทรียภาพ  มีความมั่นคงทางอารมณ์  มีความภูมิใจในความเป็นไทย  รักท้องถิ่น  มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พัฒนาศิลปะ  วัฒนธรรม  การกีฬา  ภูมิปัญญาไทย  ทรัพยากรธรรมชาติ  พลังงาน  และสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542  มาตราที่ 6  ได้ระบุว่า  การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา  ความรู้และคุณธรรม  มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2542 : 5)  ตามแนวทางการพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้น  กรมวิชาการได้เห็นความสำคัญและส่งเสริม  โดยเฉพาะด้านจริยธรรมและค่านิยมที่สร้างสรรค์ของเด็ก และเยาวชนอย่างต่อเนื่อง  ที่จะนำไปสู่การพัฒนาความเป็นคน (Manhood)  พัฒนากำลังคน (Man power)  และพัฒนาศักยภาพของคน (Man potential)  ทั้งนี้เพื่อผลิตคนดี  มีความสามารถ  มีคุณภาพตามที่สังคมและประเทศที่ต้องการ
               
การพัฒนาจริยธรรมและค่านิยมของเด็กไทยและเยาวชน  แบ่งออกได้ดังนี้
 
2.1 วิธีการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนจริยธรรม และค่านิยมที่สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน
การพัฒนากระบวนการเรียนการสอนเป็นกระบวนการที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้บรรลุตามคุณลักษณะของแต่ละกลุ่มเนื้อหาสาระ / รายวิชาตามที่หลักสูตรคาดหวัง       เฮาวาร์ด  การ์ดเนอร์ (อ้างในบัญชา อึ๋งสกุล. 2545 : 73) ได้จำแนกความสามารถ หรือปัญญา (Intelligence) ของมนุษย์ทุกคนมีทั้งหมด 7 ด้านด้วยกัน คือ
1.       ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)
2.       ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์(Logical Mathematical)
3.       ปัญญาด้านมิติ(Spatial Intelligence)
4.       ปัญญาทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว(Body-Kinesthetic Intelligence)
5.       ปัญญาทางด้านดนตรี (Musical Intelligence)
6.       ปัญญาทางด้านมนุษยสัมพันธ์ (Intrapersonal Intelligence)
7.       ปัญญาทางดานตนหรือการเข้าใจตนเอง (Interpersonal Intelligence)
 
จะปรากฏขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ  ปัญญาด้านต่าง ๆ จะเปล่งประกายในวัฒนธรรมที่ยกย่องคุณค่าและเกิดความงอกงามตามความสามารถ  และปัญญาความฉลาดของบุคคลนั้น ๆ  สิ่งสำคัญในการส่งเสริมจริยธรรม และค่านิยมที่สร้างสรรค์ของเด็ก และเยาวชนจะเป็นต้องพัฒนาเด็กและเยาวชนให้รู้จักตนเองสามารถประพฤติตนโดยการรู้จักตน  ความสามารถในการรู้จักตนเองในทุกด้าน  และเห็นคุณค่าในตนเอง  ได้แก่การรู้จักตนเองตามความเป็นจริง  เช่น  จุดอ่อน  จุดแข็งเรื่องใด  มีความรู้ทันอารมณ์  ความคิด  ความปรารถนาของตน  มีความสามารถที่ฝึกตนเอง  เข้าใจตนเองและความนับถือตนเอง
 
จากการศึกษาผลการวิจัยเกี่ยวกับการเสริมสร้างจริยธรรมและค่านิยมเพื่อสร้างสรรค์เด็กและเยาวชน สิ่งสำคัญของเทคนิควิธีการที่สามาถนำใช้ให้เป็นประโยชน์โดยตรง  คือ
 
 
 
2.2  การปรับ/พัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนปัญาในการเสริมสร้างจริยธรรมและค่านิยม เพื่อสร้างสรรค์เด็กและเยาวชน
ส่วนหนึ่งที่พบโดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอน ในสถานศึกษาได้เน้นการสอนตามเนื้อหาเป็นหลัก ขาดรูปแบบการสอนและทักษะการสอนตามจิตวิทยาการเรียนรู้รวมทั้งขาดการวางแผนการสอนที่ถูกต้องตามลักษณะธรรมชาติของการเสริมสร้างจริยธรรมและค่านิยม ให้เป็นไปตามที่หลักสูตรคาดหวัง ปัญหาอีกส่วนหนึ่งพบที่ ผู้เรียน ซึ่งมีผลกระทบมาจากปัญหาจากสังคมหลาย ๆ ด้าน ทำให้ผู้เรียนแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การแต่งกายของเยาวชน ความหรูหราฟุ่มเฟือยเกินฐานะความจำเป็น การมั่วสุมหลงในอบายมุข การติดยาเสพติดให้โทษ เสรีภาพในทางเพศ การค้าประเวณีโดยสมัครใจหรือถูกบังคับ สิ่งลามกอนาจาร การบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ละเลยการเคารพผู้ใหญ่ บุพการี และครูอาจารย์ ความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน การมีวินัยและเคารพกฎหมายของบ้านเมือง การทะเลาะวิวาท นิยมความรุนแรง เป็นต้น เพื่อให้การเสริมสร้าง จริยธรรม และค่านิยมที่สร้างสรรค์ของเด็ก และเยาวชนดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่ง ชัยพร วงศ์วรรณ และคณะ (2538 :7) ได้ศึกษาทดลองใช้ทักษะกระบวนการในการสอนค่านิยม และ     จริยธรรม ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ที่สำคัญ 4 ขั้นตอน ได้แก่
1.       การตระหนักถึงปัญหา โดยให้กรณีตัวอย่างเพื่อให้นักเรียนสังเกตการกระทำที่เหมาะสมและการกระทำที่ไม่เหมาะสม
2.     การประเมินเชิงพฤติกรรมใช้กระวนการกลุ่มวิเคราะห์ วิจารณ์การกระทำของบุคคลในสถานการณ์ พร้อมกับวิจารณ์ว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด
3.       กำหนดค่านิยม นักเรียนแสดงจุดยืนความเชื่อ ความพอใจในการกระทำในสถานการณ์ต่าง ๆ พร้อมเหตุผล
4.     การวางแนวปฏิบัติ นักเรียนในกลุ่มช่วยกันกำหนดแนวปฏิบัติในสถานการณ์จริง ครูรับรู้กติกาและเสริมแรงเพื่อนักเรียนทำสิ่งที่ดี
5.       การปฏิบัติด้วยความชื่นชม ครูให้การเสริมแรงระหว่างการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความชื่นชมยินดีที่จะทำตาม
                นอกจากครูผู้สอนใช้กระบวนการดังกล่าวแล้ว ครูผู้สอนได้นำกระบวนการอื่น ๆ มาใช้ เช่น กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการเรียนรู้ตามหลักจิตวิทยา เป็นต้น
                ญาณี  ทองพลับ (2540:4) ได้พัฒนาการเรียนการสอนจริยธรรม โดยใช้หนังสืออ่านประกอบการเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม 13 คุณธรรม ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) คือ ความใฝ่รู้ – ความขยัน  ความอดทน การประหยัด ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีระเบียบวินัย ความเสียสละ ความเมตตากรุณา ความกตัญญูกตเวที การตรงต่อเวลา ความสามัคคี ความยุติธรรม และความเป็นผู้มีวัฒนธรรม และปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีคุณธรรมละ 1 เล่ม/เรื่อง โดยเรียบเรียงเป็นประเภทร้อยกรองและมีภาพประกอบ ซึ่งมีขั้นตอนในการจัดทำหนังสืออ่านประกอบ ดังนี้
1.       เค้าโครงเรื่อง ลำดับเหตุการณ์ชวนให้อ่านสอดคล้องกับความคิดรวบยอดแก่นของเรื่องและตัวละคร
2.       เนื้อเรื่อง ตรงกับความต้องการของเด็กตามวัยและใกล้ตัวเด็ก
3.       สาระสำคัญของเรื่อง ให้ความรู้ เจตคติที่ดีปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม มีเพียงอย่างเดียวใน 1 เรื่อง
4.       ตัวละคร มีพฤติกรรมสมจริงเป็นวัยเดียวกับเด็ก
5.       รูปแบบการเขียนง่าย ๆ ตรงไปตรงมา เป็นธรรมชาติจบด้วยความพึงพอใจ
6.       รูปเล่มไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป จำนวน 16-32
7.       ภาพประกอบสอดคล้องกับเรื่อง ทำให้เข้าใจเรื่องได้ถูกต้อง โดยใช้กลอนสี่ กลอนหก และกาพย์ยานี 11
 
สังคม  ภูมิพันธ์ และคณะ (2537:145) ได้ศึกษารูปแบบในการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมแก่นักเรียน นักศึกษา ซึ่งมีรูปแบบการปลูกฝัง 4 ขั้นตอน คือ
ก.         ขั้นนำ  เป็นการนำเข้าสู่บทเรียนด้วยการทักทาย เล่าเรื่อง และเสนอกิจกรรม   สั้น ๆ บางครั้งก็มีสื่อประกอบ เพื่อเน้นให้ผู้เรียนแสดงความตื่นเต้นสนใจ บางครั้งเล่านิทาน เสนอข่าว ร้องเพลง เชิดหุ่นตลอดจนการแสดงต่าง ๆ แล้วแต่การวิเคราะห์ออกแบบการสอนในแต่ละคาบเรียนนั้น ๆ
ข.        ขั้นกิจกรรม เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้มีหน้าที่ตามที่กลุ่มมอบหมาย มีการแบ่งบทบาทภารกิจให้แต่ละคนรับผิดชอบ และมีการแสดงความคิดเห็นให้กับกลุ่มตลอดเวลา ภายใต้คำแนะนำของครูผู้สอนและการชี้แนะที่ได้จากสื่อ
ค.        ขั้นอภิปราย เป็นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประเด็นที่แต่ละกลุ่มได้รับมอบหมาย มีการวิพากษ์ วิจารณ์ ตอบปัญหา และเสนอแนววิธีการต่าง ๆ
ง.         ขั้นสรุปและประยุกต์ใช้ เป็นการประมวลเนื้อหา กิจกรรม ประสบการณ์ และความคิดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความคิดรวบยอดที่ถูกต้อง และเสนอแนวทางในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
 
รูปแบบการสอนดังกล่าวนำมาใช้เป็นแนวทาง คือรูปแบบการสอนเสริมสร้างเจตคติโดยการเน้นที่ตัวนักเรียน ทั้งจิตใจ และการกระทำ ให้นักเรียนได้สังเกตควบคู่ไปกับการให้ความรู้ ผสมผสานกับความรับผิดชอบในการสร้างพฤติกรรม
ละมัยภรณ์  กุณพันธ์ (2540:9) ได้วิจัยชุดการสอนเพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สปจ. เมืองเพชรบูรณ์ โดยการวางแผนการสอนด้วยทักษะกระบวนการ 9 ขั้น ของกรมวิชาการ ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ คือ
1.       ตระหนักโดยปัญหาและความจำเป็น
2.       การคิดวิเคราะห์วิจารณ์
3.       การสร้างทางเลือกที่หลากหลาย
4.       การประเมินและเลือกทางเลือก
5.       การกำหนดและลำดับขั้นตอนการปฏิบัติ
6.       การปฏิบัติด้วยความชื่นชม
7.       ประเมินระหว่างปฏิบัติ
8.       ปรับปรุงให้ดีขึ้นเสมอ
9.       ประเมินผลรวมเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ
 
โดยได้สร้างชุดการสอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา จำนวน 10 เรื่อง คือ เบญจศีล เบญจธรรม ไตรสิกขา สังคหวัตถุ 4 พรหมวิหาร 4 อิทธิบาท 4 ฆราวาสธรรม 4 กฎแห่งกรรม การบริหารจิต และการเจริญปัญญา
 
กองวิจัยทางการศึกษา (2544:64) ได้วิจัยการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เสริมสร้างคุณลักษณะดี เก่ง มีสุข ระดับประถมศึกษาตอนต้น เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ตามกระบวนการจัดการเรียนรู้ดังกล่าว ประกอบด้วยขั้นตอนการวางแผนการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะดี เก่ง และมีความสุข ที่สำคัญ คือ
1. การวิเคราะห์สาระการเรียนรู้ ครูผู้สอนต้องวิเคราะห์สาระการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้เพื่อให้มองเห็นภาพของสิ่งที่จะสอน ตลอดแนวในการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด หรือเห็นความสัมพันธ์ระหว่างความคิดและเนื้อหาที่ผู้เรียนจะต้องเรียน
2. การวิเคราะห์ประเด็นการเรียนรู้ เป็นการนำเรื่องที่ได้จากการวิเคราะห์สาระการเรียนรรู้มาวิเคราะห์ต่อเพื่อวางแผนการจัดกิจกรรม
3. การกำหนดสาระสำคัญของการเรียนรู้ เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์สาระการเรียนรู้มาเขียน
4. การกำหนดศักยภาพที่ต้องการพัฒนา หมายถึง ผลการเรียนรู้หรือพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดกับนักเรียนหลังการเรีนตามขั้นตอนของกระบวนการเรียนการสอน
5. การวางแผนการจัดกิจกรรม เป็นการจัดให้มีการเรียนรู้ที่สามารถทำให้ผู้เรียน ซึ่งมีลักษณะการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เรียนและพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างมีความสุข และสมองซีกซ้ายและขวาได้รับการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ประกอบด้วยขั้นตอนในการวางแผนการจัด        กิจกรรม คือ
                                    1)   ขั้นให้แต่ละคนเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียน
                                    2)   ขั้นวิเคราะห์ประสบการณ์
                                    3)   ขั้นปรับประสบการณ์เป็นคามคิดรวบยอด
                                    4)   ขั้นพัฒนาความคิดด้วยข้อมูล
                                    5)   ทำตามแนวคิดที่กำหนด
                                    6)   สร้างชิ้นงาน ตามความคิด/ความสนใจ
                                    7)   การวิเคราะห์ผลดีและประยุกต์ใช้
                                    8)   แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกับผู้อื่น
 
ในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนจริยธรรมและค่านิยมที่สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน สิ่งสำคัญครูผู้สอนจะต้องดำเนินการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ครูจะต้องรู้และเข้าใจ รวมทั้งมีทักษะในการวิเคราะห์หลักสูตร ปรัชญาการศึกษา จิตวิทยาการเรียนรู้ สังคมวิทยา การวัดและประเมินผลการศึกษา รวมทั้งการวิจัยในชั้นเรียน เพื่อนำไปสู่การวางแผน และออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับธรรมชาติของเด็กแต่ละวัย โดยมีขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนจะต้องเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชา เพื่อให้เด็ก และเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจ และทักษะการปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ว่าการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
 

3.  แนวทางการเสริมสร้างจริยธรรมและค่านิยมที่สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน

 
 
 
 


 

การเสริมสร้างจริยธรรมและค่านิยมที่สร้างจริยธรรม และค่านิยมที่สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน มิใช่เป็นหน้าที่ของครูหรือสถาบันการศึกษาแต่เพียงผู้เดียว แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากสังคมในทุกคุณลักษณะตามที่สังคมมุ่งหวังอันเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกัน นั้นคือ ความต้องการการให้สังคมเจริญก้าวหน้า และทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข ดังนั้น      โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา และสังคมจะต้องร่วมมือกันพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เสริมสร้างจริยธรรมและค่านิยมที่สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนให้อยู่บนพื้นฐานของความรู้ที่เป็นหลักการ ทฤษฎี และผลการวิจัย เพื่อนำมาสอดแทรกไว้ในขั้นตอนของกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติเพื่ออบรมบ่มนิสัยเด็ก และเยาวชนของชาติ โดยมีแนวทาง หรือวิธีการที่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาดังกล่าวที่สำคัญ ได้แก่
1.     การสร้างสรรค์จริยธรรมและค่านิยมของเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการยอมรับจากกลุ่มในการทำกิจกรรมใด ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมการเรียนการสอนควรให้เด็กทำ   กิจกรรมในลักษณะกลุ่ม ควรยึดหลัก Creative Cooperation (โกวิท ประวาลพฤกษ์ : มปป.) ที่สำคัญคือ ต้องทำความเข้าใจคนอื่น เข้าใจข้อสรุป เข้าใจทางเลือกอื่น ๆ แล้วพยายามทำให้คนอื่นเข้าใจตนเอง ต้องมีการแลกเปลี่ยนความเข้าใจร่วมกัน มองร่วมกัน ไม่ใช่ฟังเขาข้างเดียว ฟังเราอย่างเดียว ต้องหาจุดต่างซึ่งกันและกันให้ได้ จุดเหมือนไม่ต้องพูดถึง ไม่จำเป็นต้องเชื่อตามกัน แต่ต้องให้ความเคารพจุดต่างซึ่งกันและกัน อันเป็นพื้นฐานของการรักษาสิทธิมนุษยชนของประชาธิปไตย ห้ามตัดสินใจแทนคนอื่น ห้ามดีใจที่คนอื่นตัดสินใจเหมือนเรา ต้องดีใจที่คนอื่นตัดสินใจไม่เหมือนเรา ให้เขาตัดสินใจได้เองตามสภาพ ต้องพยายามทำความเข้าใจกับความแตกต่างให้ได้ ทำไมจึงมองเห็นต่างกัน เพราะเรายืนคนละจุดต้องชื่นชมความแตกต่าง
2.     ครอบครัวเป็นสถาบันแรกของบุคคล เป็นจุดแรกในการสร้างบุคลิกภาพ ทุกอย่างในตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม และการปฏิบัติด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะหน้าที่ของบิดามารดาในการอบรมสั่งสอนลูกนั้นยังมีความสำคัญมาก ไม่ควรละเลยหน้าที่ ปล่อยปละละเลย ถึงแม้ภาวะความเป็นอยู่ของคนในสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม การที่บิดามารดาไม่เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวจะทำให้พลาดโอกาสอันสำคัญในการพัฒนาจริยธรรมในการขัดเกลาจิตใจและพัฒนาค่านิยมที่สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน เพื่อพัฒนาเด็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มี  คุณภาพในสังคม
3.     การวางแผนและการออกแบบจัดกิจกรรมการเรียนการสอน หรือการเรียนรู้ในคุณค่าของการปฏิบัติทางจริยธรรมอย่างถ่องแท้ เพื่อให้รู้ถึงเหตุในผลของการกระทำ นั่นคือ การกระทำที่มีเหตุผล และกระทำอย่างมีเป้าหมาย โดยมีความตั้งใจ และความเพียรพยายามที่จะกระทำตามเป้าหมายที่เป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์จนสำเร็จ กล่าวคือ เด็กและเยาวชนจะต้องมองเห็นภาพอนาคตของผลการกระทำในวันนี้ที่ชัดเจน โดยเฉพาะได้เห็นผลดี เห็นประโยชน์ของจริยธรรม และค่านิยมที่ถูกต้อง นำมาใช้เป็นแนวทางในการควบคุมตนเอง และประสาทสัมพันธ์กับผู้อื่นที่เชื่อมโยงกับการปฏิบัติในชีวิตประจำวันให้ได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงตลอดไป
 
จะเห็นได้ว่า การส่งเสริมจริยธรรมและค่านิยมที่สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน ย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ เช่น การสอนและบรรยากาศในชั้นเรียน ความสนใจ ความถนัดของนักเรียน สภาพแวดล้อม และการสนับสนุนของสถาบันครอบครัว นอกจากนั้น นักเรียนควรได้รับความสุขจากการเรียน ได้รับความรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรม เสริมสร้างจริยธรรม และ   ค่านิยม และสามารถนำไปใช้ในการชี้วัดจริงได้ ที่สำคัญคือ การรู้จักตนเองเข้าใจผู้อื่น ตลอดจนได้รับความเมตตา การยอมรับและปฏิสัมพันธ์ในทางที่ดีต่อกันด้วยความจริงใจ

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 22397เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2006 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถึงกลุ่ม คุณช่อทิพย์  คุณชุติมา คุณจุฑาธิบดิ์ คุณศิริกัลยา 

        Blog นี้ เจ้าของกลุ่มทิ้งหรือยังครับ!  และจากที่รายงานนี้นำเสนอแล้วในห้องเรียนมีการปรับปรุงงานนี้อย่างไรบ้างครับบอกเล่าให้ผู้สนใจรู้บ้างก็ดี  และถ้ามีการบันทึกข้อมูลเพิ่มก็ให้เชินชวนที่ Blog candistudent ก็ได้นะครับ

        สวัสดีสมาชิกทุกคน

หายไปเลย เลยลืมบล็อคนี้เลยว่าเราทำกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท