โรงเรียนบ้านหนองแคน
โรงเรียนบ้านหนองแคน เขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 2

บุคคลแห่งการเรียนรู้


บุคคลแห่งการเรียนรู้

บุคคลแห่งการเรียนรู้     คือบุคคลที่นำข้อมูล ประสบการณ์ มาพิจารณาไตร่ตรอง อย่างสม่ำเสมอเกิดความเข้าใจและสามารถประยุกต์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติ จนกลายเป็นวิถีชีวิตของตน    ผู้บริหาร ครู นักเรียน เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ก็ต่อเมื่อแต่ละคนเป็นผู้ใฝ่รู้ แสวงหาความคิดใหม่ ๆ ตัดสินใจเลือกวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด และพัฒนาปรับปรุงความรู้และการปฏิบัติของตนอยู่ตลอดเวลา ผู้บริหาร ครู นักเรียน ติดต่อสื่อสารต่อกันในบรรยากาศของความไว้วางใจ และโลกทัศน์ที่เปิดกว้างมีการแบ่งปันความรู้ และการแก้ปัญหาร่วมกันสิ่งสำคัญคือ การเรียนรู้ที่ลึกซึ้งที่สุด เป็นการค้นพบสัจธรรมของชีวิต บุคคลแห่งการเรียนรู้ แสวงหาความจริงของชีวิต อาศัยการไตร่ตรองอย่างสม่ำเสมอ   อาจารย์เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้วิเคราะห์ถึงสิ่งที่สังคมไทยขาดอย่างรุนแรงยิ่งคือ การที่สังคมไทยเป็นสังคมที่คนคิดไม่เป็น

1.  สภาพการเลี้ยงดูและสร้างคนของสังคมไทย ได้แก่
          เน้นการเชื่อฟัง อยู่ภายใต้ระบบการเชื่อฟังมาโดยตลอด ทั้งระบบครอบครัว การศึกษาและสังคม ส่งผลให้คนในสังคมไม่ได้รับการส่งเสริมให้คิดเอง หรือคิดแตกต่างมากเท่าที่ควร

         2.  ขาดการส่งเสริมการอ่านและแสวงหาความรู้มากเพียงพอ ในการปลูกจิตสำนึกให้รักและแสวงหาความรู้ โดยผู้เรียนมักจะให้ความสำคัญกับการอ่านเพื่อสอบเป็นหลัก โดยไม่ได้หาความรู้ที่นอกเหนือการนำไปสอบมาก

 วิธีสร้างให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
      1. สร้างหลักสูตรการคิดในการศึกษาตามอัธยาศัย เนื่องด้วยปัจจุบันมีคนในสังคมจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาด้านความสามารถทางการคิดเท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานที่จบจากระบบการศึกษาไปแล้ว ดังนั้นสังคมจึงควรสร้างช่องทางพัฒนาความสามารถทางการคิดอย่างเป็นระบบให้กลุ่มวัยแรงงานให้มากขึ้นด้วย โดยจัดหลักสูตรการคิดระยะสั้น ๆ เพื่อพัฒนาคนกลุ่มนี้ได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต ไม่ใช่มุ่งแต่พัฒนาผู้เรียนในระบบการศึกษาเท่านั้น สร้างให้พ่อแม่ให้มีส่วนพัฒนาการคิดให้กับลูกมากขึ้น โดยการจัดฝึกอบรมและให้ความรู้กับพ่อแม่ให้มีทักษะการสอนด้านการคิดให้กับลูกของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเลือกสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีส่วนพัฒนาทักษะการคิดได้เหมาะสมตามช่วงวัย การให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการหรือเทคนิคในการถามหรือตอบลูกที่มีส่วนในการพัฒนาด้านการคิด วิธีการฝึกให้เด็กสนใจ ตั้งใจ จดจ่อกับการอ่าน การกระตุ้นและไม่ตีกรอบการคิด การสนใจกับสิ่งที่เด็กบอกกล่าว การกระตุ้นและไม่ตีกรอบการคิด การฝึกให้เด็กคิดและจินตนาการ
      2.  สร้างสังคมให้เห็นคุณค่าและให้ความสำคัญของการคิด โดยการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในทุกที่ มิใช่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น เพื่อเปิดทางและแนะแนวให้คนในสังคมมีความสามารถในการคิดเรื่องต่าง ๆ

        3.  รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในอนาคตโลกจะปรับตัวเข้าสู่การเป็นสังคมแห่งความรู้ ซึ่งความรู้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความได้เปรียบ ทำให้คนจำเป็นต้องเป็นคนที่สามารถแสวงหาความรู้ พัฒนาและสร้างองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นำพาตนเองสู่ความสำเร็จได้ และนำพาประเทศชาติไปสู่การพัฒนา มีความเจริญก้าวหน้าและสามารถแข่งขันได้
      จากการวิจัยเรื่อง  คุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์แบ่งตามช่วงวัย   พบว่า ลักษณะคนไทยที่พึงประสงค์ที่จะมีส่วนในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและสอดคล้องกับโลกอนาคต มีด้วยกัน 10 ลักษณะหลัก ๆ ได้แก่ ขยัน อดทน และทุ่มเททำงานหนัก มีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ มีวิสัยทัศน์ ทำสิ่งต่างๆ อย่างดีเลิศ รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีจิตสำนึกประชาธิปไตย เห็นคุณค่าเอกลักษณ์ความเป็นไทย มีจิตสำนึกเพื่อผู้อื่นและส่วนรวม และประหยัด อดออม  ซึ่งผลการวิจัยสอดคล้องกับสภาพที่เห็นและเป็นอยู่จริง  ในเมื่อวัยเยาว์ไม่ได้ผ่านการฝึกให้เป็นนักคิด นักอ่าน เมื่อเติบใหญ่จึงติดนิสัยไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน และเมื่อมาเป็นครูก็ยังมีนิสัยดังกล่าว(บางคน)  ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องมีบทบาทชักนำ ทำให้บุคคลในองค์กรเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่เห็นว่าน่าจะเป็นไปได้คือ

                1.  ผู้บริหารต้องทำตนเป็นแบบอย่าง  ทำให้เห็นว่าเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน  จัดเวลาสำหรับการอ่านหนังสือในโรงเรียน  สนองเจตนารมณ์  วางทุกงาน  อ่านทุกวัน  และจัดเวลาให้ครูและนักเรียนอ่านหนังพร้อมกันทุกวัน  ทุกคน

                2.  ทำข้อตกลงร่วมกัน ให้ครูแต่ละคนได้พูดเชิงวิชาการในที่ประชุมครู  ครั้งละ 5 นาที  หมุนเวียนกันไป ทุกคน

3.   ส่งเสริมให้ครูเขียนบทความทางวิชาการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

4.   จัดหาหนังสือ ตำรา สารคดี หรือบทความใหม่ ๆ หมุนเวียนมาให้ครูอ่าน

5.   จัดบรรยากาศ  สิ่งแวดล้อมและสถานที่ให้เอื้อกับการอ่านหนังสือ  และมีมุมต่าง ๆ ที่ให้ความรู้อยู่ทั่วไปในโรงเรียน

6.   ให้ครูเวรประจำวันได้จัดหาบทความทางวิชาการ  มาเล่าให้นักเรียนฟัง  นอกเหนือจากเรื่องของระเบียบ วินัย ความประพฤติของนักเรียน

7.   ให้ครูรวบรวม สรุปการอ่านบทความต่าง ๆ ประจำเดือน ทุกเดือนเสนอผู้บริหาร

8.   สนับสนุน ส่งเสริมให้ครูทำผลงานวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ

9.   จัดส่งครูเข้ารับการประชุม  อบรม สัมมนาทางวิชาการตามโอกาสอันควร

สำหรับการปลูกฝังให้นักเรียนเป็นนักคิด  ใฝ่เรียนใฝ่รู้เพื่อเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ นั้น  เห็นว่าควรดำเนินการ ดังนี้

1.  บิดามารดา ผู้ปกครอง ต้องสละเวลาให้กับบุตรหลาน ในการติดตามให้ลูกทำการบ้าน  อ่านหนังสือทุกวัน  และพ่อ แม่ ผู้ปกครองเองก็ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่าง  ทำตัวเป็นนักอ่าน ให้ลูกได้เห็น  อย่างน้อยก็อ่านหนังสือพิมพ์หรือวารสารที่ตนสนใจ  โดยควรรับประจำสักเล่ม  เมื่อมีโอกาสไปร้านหนังสือก็ชวนลูกไปด้วยและเลือกซื้อมาอ่านที่บ้านบ้าง

      2.  สื่อของรัฐและเอกชนต้องนำเสนอเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์  ให้ความรู้ครอบคลุมถึงบุคคลในทุกอาชีพ  ลดการโฆษณาธุรกิจ และเกมโชว์ที่ไม่มีสาระ  ไม่ควรมีภาพที่ล่อแหลมออกสู่สายตาทั้งโทรทัศน์  สิ่งพิมพ์และสื่อมัลติมีเดียอื่น ๆ

       3.  ผู้นำชุมชน  ผู้นำท้องถิ่น ต้องมีบทบาทในการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ในสังคมหมู่บ้าน  โดยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่ออาชีพ  การจัดห้องสมุดหมู่บ้าน  หรือการจัดเวทีเสวนาบ่อย ๆ ในหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ  ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อการรับรู้ของนักเรียนเยาวชน

         4.   วัด  ควรเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้มากกว่าปัจจุบัน  ในชนบทมักประสบปัญหาขาดแคลนพระที่จะให้แสงสว่างทางปัญญากับญาติโยม  ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะได้เข้ามาดูแลด้วย

                โดยสรุปแล้ว  การสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้และการสร้างบุคคลให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้เป็นเรื่องจำเป็น ในขณะที่วิทยาการก้าวหน้าไปทุกวัน แม้เราหยุดอยู่กับที่เพียง 1 วัน ก็ล้าหลังแล้ว  ดังนั้นหากไม่ส่งเสริม ผลักดันให้เยาวชนไทยเป็นผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้แล้ว อนาคตเราก็ไม่อาจทัดเทียมกับอารยประเทศและยังจะต้องพึ่งพาประเทศมหาอำนาจตลอดไป

แหล่งอ้างอิง

share.psu.ac.th/blog/thitima-psu/2700

http://www.e-catholic.au.edu/catholic/vision.html

 

 

หมายเลขบันทึก: 223485เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2008 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Leader.docบทความนี้คมชัดลึกขอบคุณที่มีบทความดีๆให้อ่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท