AAR การประชุมโครงการวิจัยเพื่อคาดการณ์สถานภาพการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ


         การประชุมนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.49 ที่โรงแรมเอเชีย  จัดโดย สกอ.   ชื่อเต็มคือ "โครงการวิจัยเพื่อคาดการณ์สถานภาพการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ   ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ  กรณีศึกษาในคณะเกษตรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์และภาควิชาชีวเคมี"

เป้าหมายของผมในการเข้าร่วมประชุม
1. เพื่อเรียนรู้สถานภาพการวิจัยในหน่วยงานเหล่านี้   และเรียนรู้แนวโน้มความเข้มแข็งด้านการวิจัย
2. ต้องการเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างสาขาวิชา  ลักษณะจำเพาะของสาขาวิชา
3. เพื่อให้ข้อคิดเห็นในฐานะที่ปรึกษาโครงการ
4. เพื่อสังเกตปัจจัยรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับความเข้มแข็งของการวิจัย
5. เพื่อเรียนรู้วิธีดำเนินการวัดความเข้มแข็งของการวิจัยในสาขาวิชาต่าง ๆ

สิ่งทีได้เกินคาดหมาย
1. ได้เรียนรู้ข้อมูลต่าง ๆ มากมายที่ผมไม่เคยรู้
2. ชื่นชมผลงานการศึกษาลงรายละเอียดในสาขาชีวเคมีของ ศ. ดร. จิรพันธุ์  กรึงไกรและคณะ   ทำให้เห็นสถานภาพจุดแข็งจุดอ่อนของการวิจัยในมหาวิทยาลัยไทยชัดเจน   ว่าความเข้มแข็งเกิดขึ้นจากตัวบุคคลเป็นสำคัญ   แทบไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวระบบเลย   เห็นความเข้มแข็งทางวิชาการของสาขาวิชาชีวเคมีในมหาวิทยาลัย 13 คณะนี้  ซึ่งมีอาจารย์ระดับปริญญาเอกถึง 77%  ในบางภาควิชาเช่นของ มข. เป็นอาจารย์ปริญญาเอก 100%
3. ได้รับรู้นวัตกรรมด้านการบริหารงานบุคคลของ มข.   ที่จัดให้อาจารย์เลือกเข้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใน 4 กลุ่ม   และจะประเมินผลงานตามเกณฑ์ของแต่ละกลุ่ม

สิ่งทีได้น้อยกว่าที่คาดหมาย
         ที่จริงก็ไม่ผิดคาด   แต่เนื่องจากมีเวลาเพียง 3 ชั่วโมง   จึงทำให้การนำเสนอต้องเร่งรีบ   เวลาสำหรับการแลกเปลี่ยนมีน้อย

ข้อเสนอแนะให้ปรับปรุง   หากจะมีการจัดประชุมเช่นนี้อีก
        ควรจัดเวลา 1 - 2 วัน   จัดนอกสถานที่  เช่น ไปต่างจังหวัด  ให้มีเวลามาก   จัดการประชุมอย่างประณีต   พูดลงรายละเอียด   ลงไปในบริบทและ "เรื่องราวเบื้องหลัง" อันเป็นประเด็นสำคัญต่อการพัฒนาความเข้มแข็งของการวิจัยในมหาวิทยาลัย   คือต้องจัดการประชุมเพื่อเป้าหมายการพัฒนา   ไม่ใช่เพื่อการประกวดแข่งขันว่าใครดีกว่าใคร

ข้อสังเกตเพิ่มเติม
1. ต้องแยก มรภ. & มรม. ไปดำเนินการต่างหาก   ใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกัน   เกณฑ์คุณภาพ & relevance ของการวิจัยต้องแตกต่างออกไป
2. ผู้บริหารของ สกอ. ต้องมาร่วมเพื่อ capture ความรู้ระหว่างบรรทัดไปดำเนินการพัฒนาความเข้มแข็งด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย  ผมมองว่า สกอ. เป็นจำเลยที่ 1 ที่ระบบวิจัยในมหาวิทยาลัยอ่อนแอเช่นนี้   และการจัดการในปัจจุบันของ สกอ. หลายโครงการจะก่อความอ่อนแอของการวิจัยในมหาวิทยาลัยให้ยิ่งอ่อนแอลงไปอีก
         สิ่งที่ สกอ. ต้องพัฒนาขีดความสามารถคือ   การจัดการเชิงระบบ   เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการวิจัยในมหาวิทยาลัย
3. การกระจายอายุของอาจารย์ที่ไม่เหมาะสม   ดังตัวอย่างด้านเกษตรเป็นเรื่องน่าตกใจ   และสะท้อนให้เห็นว่าวงการอุดมศึกษาขาดการจัดการเชิงระบบเกี่ยวกับการพัฒนาอาจารย์
4. จุดอ่อนที่สุดของงานวิจัยชิ้นนี้คือ   การใช้ตัวชี้วัดชุดเดียวต่อศาสตร์ที่ต่างกัน   โดยเฉพาะศาสตร์ด้านพื้นฐานกับศาสตร์ประยุกต์   โดยเฉพาะเกษตรศาสตร์
5. มหาวิทยาลัย/คณะที่มีเงินสนับสนุนการวิจัย   พึงจัดการเงินนี้อย่างชาญฉลาด   อย่าให้เกิดผลเชิงลบ   ทำให้นักวิจัยไม่ขวนขวายออกไปแข่งขันหาทุนภายนอก   จึงไม่สามารถเติบโตเป็นนักวิจัยชั้นยอดได้
6. มหาวิทยาลัยที่มีวารสารของมหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับสูง   อาจได้รับผลเสีย   ทำให้นักวิจัยไม่ขวนขวายหาทางตีพิมพ์ในวารสารที่มี impact factor     มอ. ควรพิจารณาเรื่องนี้
7. น่าจะศึกษาลงรายละเอียด   เปรียบเทียบระบบของ มทส.  กับมหาวิทยาลัยในระบบราชการ   ว่าเอื้อต่อการวิจัยมากน้อยกว่ากันอย่างไร   มีประเด็นสำหรับเป็นบทเรียนอย่างไรบ้าง   เพราะผลงานวิจัยตีพิมพ์ต่อหัวของอาจารย์ของ มทส. เด่นเกือบทุกสาขาวิชา
8. สกอ. ต้องเร่งให้มีการกำหนดวิธีวัด Social Impact Factor สำหรับใช้ควบคู่กับ Scientific/Academic Impact Factor ที่มีใช้อยู่แล้ว   คำว่า Social Impact Factor หมายถึงผลกระทบต่อสังคมทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม  และด้านอื่น ๆ
9. ผมเกิดความคิดขึ้นมาว่า   เวลาพูดถึงการวิจัยเพื่อผลต่อสังคม   มักมีคนบอกว่าต้องวัดผลต่อภาคธุรกิจ   ผมมองว่าวัดเฉพาะผลต่อภาคธุรกิจไม่เพียงพอ   และบางครั้งเป็นอันตรายต่อสังคม   เช่น กรณีนักวิจัยด้านเกษตรวิจัยเพื่อให้บริษัททำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมไปครอบงำเกษตรกร   เกิดผลร้ายต่อเกษตรกร   ควรมีการวิจัยที่ช่วยให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้
10. งานวิจัยชิ้นนี้ควรมีเป้าหมายไม่ใช่แค่เพื่อตรวจสอบความเข้มแข็งของการวิจัย   แต่ควรเน้นที่การชี้จุดสำคัญเพื่อการพัฒนาความเข้มแข็งของการวิจัย   คือไม่เน้นแค่ what แต่ก้าวเข้าไปที่ how และ why
11. มีคนทางเกษตรมาอภิปรายว่าด้านเกษตรเน้นวิจัยประยุกต์   ไม่เน้นสร้างองค์ความรู้   ผมไม่เห็นด้วยเพราะ
      (1) การวิจัย 2 แบบนี้ไม่จำเป็นต้องแยกกัน     ถ้าตั้งโจทย์วิจัยเป็น   จะได้ทั้งการตีพิมพ์ในวารสารที่มี impact factor และได้ผลงานที่ประยุกต์ใช้ได้   มีตัวอย่างนักวิจัยแบบนี้  ชี้ตัวได้   แต่นักวิจัยไทยอ่อนแอด้านการตั้งโจทย์วิจัย
      (2) การวิจัยประยุกต์ล้วน ๆ ควรทำโดยหน่วยงานของรัฐ   มหาวิทยาลัยควรทำงานวิจัยที่เน้นการสร้างองค์ความรู้   โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ประกาศตัวเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย
12. พึงระวังการวิจัยแนวอาณานิคม   วิจัยรากลอย   คือแทนที่จะหยั่งรากลงในสังคมไทย   กลับโดยรากไปหา advisor เก่าที่ต่างประเทศ   หรือตามโจทย์ที่แหล่งทุนต่างประเทศกำหนด   หรือตามการครอบงำในรูปแบบอื่น ๆ จากต่างประเทศ เช่น globalization,  ทุนนิยม,  บริโภคนิยม
13. ควรบันทึกการนำเสนอและการอภิปรายแลกเปลี่ยนครั้งนี้ (และครั้งต่อ ๆ ไป) เอาขึ้นบล็อกหรือเว็บไซต์   เพื่อสร้าง dialogue ในวงกว้าง   ขับเคลื่อนการพัฒนาความเข้มแข็งของการวิจัย
14. ทุนวิจัยภายนอก   เป็นกลไกสำคัญในการสร้างนักวิจัยที่ทำวิจัยจริงจัง   น่าเสียดายที่รัฐบาลนายกทักษิณไม่ใช้หน่วยงานที่บริหารจัดการทุนวิจัยได้ผลดีเป็นที่ยอมรับ   เพียงเพราะตนต้องการใช้เงินเป็นเครื่องมือหาพวกหาเสียง
15. สอก./ทปอ./สมศ./สกว. และอื่น ๆ ต้องช่วยกัน diversity มหาวิทยาลัย   มีการจัดการให้มีการแยกกลุ่ม
16 ควรมีการดำเนินการอีก 1 โครงการ   คือการเข้าไปเสาะหาความสำเร็จของมหาวิทยาลัยแต่ละภาควิชา/คณะ   และเข้าไปศึกษารายละเอียดว่าความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร   สำหรับนำมาเป็นบทเรียนและเสนอแนะระบบการจัดการอุดมศึกษา   ทั้งในระดับประเทศและระดับสถาบัน
17. โครงการนี้ควรสรุปและเสนอแนะระบบการจัดการงานวิจัย   ที่เหมาะสมในระดับประเทศและระดับสถาบัน
18. ทรัพยากรด้านการวิจัยที่มีอยู่ของประเทศ   สามารถผลิตผลงานได้มากกว่านี้นับเท่าตัว   หากมีการบริหารจัดการที่ดี  โดย
      (1) build - up on success ในการจัดการทุนวิจัย
      (2) ไม่ติดโรค NIH
      (3) ไม่ปกครองบ้านเมืองแบบ cronyism

วิจารณ์  พานิช
 2 เม.ย.49


 

คำสำคัญ (Tags): #วิจัย
หมายเลขบันทึก: 22345เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2006 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ข้อเสนอที่ 17 และ 18 ของท่านอาจารย์เป็นการบ้านที่คณะและมหาวิทยาลัยควรดำเนินการเป็นการด่วน เพิ่อเสริมองค์กรในส่วนกลางให้ขับเคลื่อนงานวิจัยต่อไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท