เทคโนโลยีสมัยใหม่กับการบริหารจัดการศึกษา


เทคโนโลยี

นักวิชาการระดมสมองถกปัญหาการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  แนะใช้การศึกษาผ่านอินเตอร์เนตช่วยพัฒนากำลังคน  ระบุเป็นวิธีที่ดี  ต้นทุนถูก  ดีกว่าการลงทุนสร้างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย  แต่ต้องมีการวางหลักสูตรให้เหมาะสม โดยรัฐต้องเร่งพัฒนาระบบอินเตอร์เนตเพื่อพัฒนาคนและการศึกษา  ไม่ใช่ให้ต่างชาติเข้าทำ  ส่วนแนวทางการศึกษาไทยตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นับเป็นแนวทางที่ถูกต้อง  แต่ช้าไป  20  ปี  เพราะต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อทุนด้านการศึกษา     รศ.ดร.ถวัลย์  วงศ์ไกรโรจนานันท์  ผู้เชี่ยวชาญ  สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยกล่าวตอนหนึ่งในการอภิปรายเรื่อง  "การพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง"  ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติว่า  คนถือเป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนาประเทศ  เช่น  มาเลเซียและสิงคโปร์  ซึ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่องคน  คือ  การให้การศึกษา  ซึ่งปัจจุบันไทยแบ่งระดับการศึกษาออกเป็น  3  ระดับ  คือ  การศึกษาขั้นพื้นฐาน  การศึกษาวิชาชีพ  และการศึกษาต่อเนื่องหรือการศึกษาตลอดชีวิต

                โดยหลักการด้านการศึกษาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ถือว่าประเทศไทยได้มีการพัฒนาการศึกษามาถูกทางแล้ว  แต่ก็ช้าไปถึง  20  ปี  ทำให้ระบบการศึกษาของไทยล้าหลังเพื่อนบ้านมาก  คือ  เราเริ่มพัฒนาการศึกษาเมื่อเราไม่มีเงิน  ประสบปัญหาเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ  ต้องการให้กิดการมุ่งสร้างกำลังคนที่มีคุณสมบัติที่มีความรู้เท่าและรู้ทัน  เพื่อก่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน  ต้องมีคุณธรรมเพื่อนำไปสู่ความรู้ที่ยั่งยืน  สำหรับความสามารถในการแข่งขัน  มีความวิริยะอุตสาหะ  เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงและท้ายที่สุดต้องมีความสมดุล  เพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนในภาพรวม

                สำหรับกลยุทธ์ในการจัดการศึกษาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง  คือ  แบ่งปันทรัพยากรโดยใช้สื่อที่ทันสมัยเข้ามาช่วย  เพื่อลดค่าใช้จ่าย  เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง  เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์เน้นการฝึกปฏิบัติในสภาพจริง  หรือเหมือนจริง  เพื่อฝึกความอดทน  ความเอาใจใส่ต่องาน  และการทำงานเป็นทีม  เน้นสร้างจริยธรรมและคุณธรรม  เพื่อสร้างจิตสำนึกต่อสังคมและสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนากำลังคน  ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ก็คือ  การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต  กำลังคน  และผู้ใช้กำลังคน  โดยนำนักศึกษาเข้าสู่สถานประกอบการให้เป็น  "ศูนย์การเรียนรู้"  สร้างโรงบ่มเพาะเทคโนโลยี  และผลิตครูอาจารย์ที่มีคุณภาพและวิสัยทัศน์

                ด้านนางดอริส  วิบุลศิลป์  จาก  National  Tonology  University  (NTU)  Thailand  

กล่าวว่า  ปัจจุบันเทคโนโลยีในโลกก้าวหน้าไปมากจนเราตามไม่ทัน  ถ้าเราจะพัฒนาคนโดยอาศัยเทคโนโลยีคงทำไม่ได้  ดังนั้นเราจึงต้องตัดสินใจให้ดีว่าจะใช้เทคโนโลยีแบบใดมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนเพราะหากเราตัดสินใจช้า  เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ก็คงจะล้าสมัยแล้วสำหรับประทศไทย  ซึ่งมีอุปสรรคในการพัฒนากำลังคน  คือ  มีประชากรในวัยทำงานอยู่เป็นจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ  ทำให้การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการทำงานเป็นไปได้ยาก

                นอกจากนี้รัฐยังฝากความหวังในการพัฒนากำลังคนไว้กับมหาวิทยาลัยมากจนเกินไป  

ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในแต่ละสาขาก็มีจำนวนจำกัด  ความรู้ใหม่ๆ  มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลาความหลากหลายและพื้นฐานของความรู้จึงเหลื่อมล้ำกันมาก  ทัศนคติของนายจ้างและลูกจ้างต่อการพัฒนาความสามารถ  จึงไม่เอื้อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

                สำหรับวิธีการแก้ไข  คือ  ต้องหาแนวทางที่เหมาะสมในการแลกเปลี่ยนปัญหาเฉพาะหน้าและต้องวางแผนอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้ได้วิธีการที่ดีที่สุดรวมทั้งต้องอาศัยการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญ

                รศ.ดร.บุญเจริญ  ศิริเนาวกุล  อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  กล่าวว่า  โลกเรามีเทคโนโลยี  1  ชนิด  ที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนากำลังคนให้มีประสิทธิภาพได้นั่นคือ  อินเตอร์เนต  โดยการจัดให้มีการศึกษาผ่านทางอินเตอร์เนตหรือเว็บไซต์  ซึ่งเชื่อว่า  หากทำได้จะทำให้ระบบการศึกษาของไทยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมายมหาศาลในอนาคต  แต่ทั้งนี้การจัดการศึกษาในระบบดังกล่าว  ยังมีปัญหาอยู่ในแง่ที่ว่า  ทำอย่างไรที่จะทำให้การศึกษาผ่านอินเตอร์เนตนั้นมีคุณภาพไม่ถูกจำกัดในเรื่องปริมาณและมีต้นทุนที่ถูก

                ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและเกี่ยวข้องกับการศึกษามากขึ้น  ซึ่งการศึกษาที่อาศัยระบบซอฟแวร์นี้  จะทำให้เกิดการปฏิวัติทางด้านการศึกษาขึ้น  ครูจะเปลี่ยนบทบาทใหม่จากผู้ที่ให้ความรู้  มาเป็นผู้ให้คำแนะนำ  และผู้ร่วมเรียนไปกับนักเรียนในที่สุด  ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศ  โดยเฉพาะในแคนาดา  พบว่า  ภาครัฐของแคนาดาได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาผ่านอินเตอร์เนตมากขึ้น  โดยจัดให้เป็นปัจจัยหนึ่งของการพัฒนาประเทศ  ทั้งนี้  เพราะเชื่อว่าการศึกษาผ่านอินเตอร์เนต  จะสามารถทำได้ทั่วถึงตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่  นอกจากนี้ยังจะช่วยประหยัดเงินงบประมาณในการสร้างโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยได้มาก

                สำหรับประเทศไทยนั้น  ถ้าหากมีจัดการศึกษาผ่านทางอินเตอร์เนตได้ย่อมเป็นเรื่องที่ดี  แต่ทั้งนี้จะต้องมีการพัฒนาความสามารถในการเข้าสู่ตัวระบบอินเตอร์เนตที่ดีด้วย  โดยให้สามารถกระจายไปได้ทั่วประเทศ  และที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนแนวคิดทางการศึกษาใหม่เพราะการจัดการศึกษาผ่านอินเตอร์เนตต้องอาศัยรูปแบบการศึกษาที่ชัดเจน  และต้องอาศัยวิชาชีพด้านครูเข้ามาประกอบด้วย  นอกจากนี้ยังต้องอาศัยการศึกษาร่วมกันของหลายๆ  องค์กร

                ด้านนายสุรสิทธิ์  วรรณไกรโรจน์  จากโครงการศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์แห่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  กล่าวว่า  จากสถิติเมื่อปี  ..2542  พบว่าประเทศไทยมีคนใช้อินเตอร์เนตประมาณ  600,000  คน  แต่จากการสำรวจเมื่อต้นปี  2543  พบว่า  คนไทยนิยมใช้อินเตอร์เนตเพิ่มขึ้นถึง  1  ล้านคน  และคาดว่าในอีก  2  ปี  ข้างหน้าจะเพิ่มเป็น  5  ล้านคน  ซึ่งหากมีการนำอินเตอร์เนตมาใช้ในการศึกษาได้  ย่อมเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้อง  แต่ทั้งนี้จะต้องมีการออกแบบหลักสูตรใหม่ให้ดี  และสอดคล้องกับรูปแบบการเรียน  คือ  ให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง  แต่จะต้องสามารถวัดผลการเรียนรู้ของเด็ก  ให้รู้สึกสนุกสนานกับการเรียนเหมือนอยู่ในโรงเรียน  มีระบบการตอบรับที่เหมาะสม  และมีความหลากหลายทางความรู้        การศึกษาผ่านอินเตอร์เนต  เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องรีบคิด  และรีบทำ  เพราะหากคิดช้า  ทำช้า  ต่างชาติอาจมาช่วยคิด  และช่วยทำแทนเรา  ซึ่งเมื่อนั้นการศึกษาที่เราคิดว่าจะเป็นการพัฒนากำลังคนที่ดีที่สุดของประเทศคงจะดำเนินต่อไปไม่ได้  เพราะคงไม่มีใครเข้าใจคนไทยได้ดีกว่าคนไทยด้วยกันเอง

 -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง
ttp://vod.msu.ac.th/ardc/Folio/CARD_05/Document : สืบค้นเมื่อวันที่ 17  พฤศจิกายน 2551 
คำสำคัญ (Tags): #เทคโนโลยี
หมายเลขบันทึก: 223298เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2008 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นายประเสริฐ เมืองไสย

อืม...เห็นด้วย ๆ

ถ้าโรงเรียนไหนผู้บริหารไม่ค่อยรู้เรื่อง IT โรงเรียนนั้นน่าสงสาร...

บุคลากรอยากพัฒนาสื่อ IT แต่ขาดแรงสนับสนุน เฮ้อ...แย่จัง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท