วิธีป้องกันอัคคีภัย


คุณรู้ไหมว่า สถานที่ที่เราใช้อาศัยพักพิงและให้ความปลอดภัย เช่น บ้านหรืออาคารพักอาศัยมีสิทธ์เกิดเพลิงไหม้ได้ทุกเวลาเลยล่ะ

Tip of Inspiration

คุณรู้ไหมว่า สถานที่ที่เราใช้อาศัยพักพิงและให้ความปลอดภัย เช่น บ้านหรืออาคารพักอาศัยมีสิทธ์เกิดเพลิงไหม้ได้ทุกเวลาเลยล่ะ แต่คุณสามารถตัดไฟแต่ต้นลมได้นะ ถ้าคุณตรวจตราบ้านช่องทีละห้องจากหลังคาถึงพื้น การป้องกันเอาไว้ก่อนจะช่วยให้ครอบครัวของคุณปลอดภัยจากเพลิงไหม้ได้

หลังคา เพลิงไหม้ที่ลุกลามมาจากบ้านไกล้เรือนเคียงอาจลอยมาติดและลุกลามหลังคาบ้านคุณได้ ตรวจดูให้แน่ใจเลยว่า บ้านคุณมุงหลังคาด้วยวัสดุทนไฟ เช่นกระเบื้องแผ่นมุงหลังคา แอสฟัลด์ หรือวัสดุที่ไม่ติดไฟเท่านั้น นอกจากนี้ ต้องคอยตัดกิ่งไม้ไม่ให้ยื่นเหนือหลังคา และคอยดูไม่ให้มีเศษกิ่งไม้ ใบไม้มาติดอยู่ที่ท่อระบายน้ำหรือชายคาด้วยนะจ๊ะ

ห้องเก็บของและโรงรถ อย่าเก็บของที่ไม่จำเป็นในห้องเก็บของหรือโรงรถเลย คนส่วนมากจะเก็บนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์เก่าเอาไว้เป็นตั้งๆ หรือเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว เครื่องเรือนเก่าๆ นั่นแหล่ะค่ะ เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีเลยเชียว

นอกจากนี้ อย่าเก็บของเหลวที่ติดไฟได้ง่าย เช่นน้ำมันเบ็นซิน หรือสารเคมีไวไฟเอาไว้นะ ถ้าทำหก ต้องทำความสะอาดให้หมดจดเลย

ทางเดิน ทางเดินนี่ก้อสำคัญนะ อย่าวางข้างของระเกะระกะ เกิดมีอะไรฉุกเฉินต้องเดินหรือวิ่งได้สะดวก ถ้ามีเงินเหลือพอ ติดเซฟทีคัตที่บ้านเลยดีกว่า หรืออย่างน้อยต้องมีถังดับเพลิงมาประจำบ้านไว้ เมื่อติดตั้งแล้ว ให้ทุกคนเรียนรู้วิธีการใช้ด้วยค่ะ

สวิตช์ ปลั๊กไฟ ฟิวส์ ทางตำรวจดับเพลิงแนะนำว่าบ้านทุกหลังควรเปลี่ยนสายไฟใหม่ทุกสิบปี รวมถึงควรตรวจเช็คฟิวส์ ปลั๊กไฟ สวิตช์ ภายในบ้านและบริเวณบ้านเป็นระยะๆ อุปกรณ์พวกนี้แหละที่เป็นสาเหตุสำคัญที่เกิดเพลิงไหม้ในบ้าน

หน้าต่าง ถ้ามีหน้าต่างชำรุดหรือเปิดยาก ซ่อมมันเลยค่ะ แล้วก้ออย่าวางเครื่องเรือนและกระถางดอกไม้ตรงหน้าต่างนะจ๊ะ ไม่ปลอดภัย ที่สำคัญไม่ควรติดลูกกรงเหล็กกันโขมยที่หน้าต่างที่ใช้หนีไฟนะ เกิดจำเป็นต้องใช้ขึ้นมา ยุ่งเชียว

ครัว ถ้าคุณทำครัวทุกวัน ต้องพิถีพิถันเช็คเป็นพิเศษเลยค่ะ เพราะอัคคีภัยที่เกิดขึ้นส่วนมากมาจากห้องครัวนี่แหละ อย่าตั้งอาหารไว้บนเตาที่ติดไฟโดยไม่มีคนดู ให้เตาแก๊สอยู่ห่างจากถังขยะและผ้าม่าน ต้องคอยทำความสะอาดหัวเตาและเตาอบ ไม่ให้มีเศษอาหารเข้าไปสะสม

ถ้าเกิดไฟลุกติดน้ำมันที่ทำอาหาร อย่าใช้น้ำดับไฟนะคะ บ้านใครมีเด็ก ต้องระวังไม่ให้เด็กหมุนปุ่มปิด-เปิดแก๊สเล่นค่ะ เวลาทำกับข้าว ไม่ให้สวมเสื้อที่มีแขนเสื้อรุงรัง หากเกิดไฟลุกขึ้นมา มันจะไปติดกับแขนเสื้อเข้าค่ะ

ห้องนั่งเล่น ผ้าหุ้มเบาะเก้าอี้ ผ้าม่าน พรม ให้เลือกใช้วัสดุที่ทนไฟค่ะ ระวังก้นบุหรี่ตกค้างตามเบาะเก้าอี้หรือโซฟานะคะ สำหรับโทรทัศน์ต้องมีที่ว่างให้ความร้อนระบายออกรอบๆ ตัวเครื่องด้วยค่ะ

ห้องพระ ดิฉันเชื่อว่าเกือบทุกบ้านต้องมีห้องพระ หรือหิ้งพระประจำบ้านกันอยู่แล้ว กองตำรวจดับเพลิงระบุว่า การจุดธูปเทียนบูชาพระเป็นสาเหตุสำคัญอันดับสองของการเกิดอักคีภัยในบ้านเรือน เพราะฉะนั้น อย่ามีเชื้อไฟ เช่น เศษกระดาษ หรือกล่องกระดาษอยู่ไกล้กระถางธูปหรือเชิงเทียนนะคะ ทิ้งก้านธูปที่ใช้แล้ว เพราะก้านธูปจะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีเมื่อติดไฟจากก้านธูปใหม่ที่เพิ่งจุด

สุดท้าย คุณควรเตรียมแผนหนีไฟไว้ล่วงหน้าค่ะ และให้สมาชิกโดยเฉพาะเด็กๆ ได้รู้ขั้นตอนการหนีไฟล่วงหน้า ทำนองว่า 'กันเอาไว้ ดีกว่าแก้' ไงล่ะคะ Tip of Inspiration

หมายเลขบันทึก: 222335เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2008 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท