โครงการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ จ.นครสวรรค์


ทำ "การจัดการความรู้" ต้องลงสู่ "การปฏิบัติ"

      เมื่อวันที่ 3 - 4 ส.ค. 48 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเดินทางร่วมกับ คุณจิราวรรณ (น้ำ) ประชาสัมพันธ์สาว ของ สคส. ไปจับภาพดูการจัดการความรู้ ของ กลุ่มโรงพยาบาลที่เข้าร่วม โครงการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ของ สสจ. นครสวรรค์  ซึ่งเป็นโครงการที่ทำกับ สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนมาจาก สสส. อีกทีหนึ่ง  (งงๆ!! ไหมคะ)    ที่สำคัญคือ เราได้พูดคุยกับตัวแทน "คุณอำนวย" ของ รพ. ต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ของ สสจ. นครสวรรค์   ว่าพวกเขาเอาเครื่องมือ "การจัดการความรู้"  ไปใช้กันอย่างไรบ้างในการเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ ระดับจังหวัด  เพราะเรารู้ว่า สสจ. นครสวรรค์ ได้เริ่มต้นอบรมการใช้ KM ไปเมื่อประมาณเดือนเมษายน ที่ผ่านมา  

      แล้วเราก็ดีใจค่ะ ที่ได้รู้ว่า รพ. กลุ่มนี้ไม่ได้ทำการจัดการความรู้ แค่ใน "เวทีเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้" ที่ สสจ. จัดเท่านั้น  แต่ยังได้นำทั้งกระบวนการ KM และ "คลังความรู้" ที่ได้จากเวทีเครือข่ายนี้ ไปทำต่อ ลงไปในการปฏิบัติงานจริงใน รพ.  วันนี้เลยจะขอยกตัวอย่างมาให้อ่านกันดูนะคะ

         รพ. ค่ายจิระประวัติ  ได้นำหลักการ KM ไปใช้กับ ห้องเวชระเบียน โดยให้เจ้าหน้าที่ลองให้คะแนนตัวเองอย่างง่ายๆ ในเรื่องการค้นระเบียนผู้ป่วยได้เร็ว    แล้วให้มีการเล่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคการค้นระเบียนได้เร็ว กับเจ้าหน้าที่ในกลุ่มกันเอง   หรือนำไปใช้ในห้องจัดยา ซึ่งก็ได้ คลังความรู้ ในการจัดยาออกมามากมายที่นำไปใช้ในการทำงาน,   การนำไปใช้กับทีมฑันตกรรม  ซึ่งมีการหารือเล่าสู่กันฟังของวิธีการแก้ปัญหาการร้องเรียน ปัญหาอื่นๆ ที่มีความรู้เทคนิคการจัดการปัญหาแตกต่างกันไป หรือนำไปใช้กับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคการผ่าตัดของแพทย์   โดยทั้งนี้มีการปรับลดไม่ใช้เทคนิคสร้างเกณฑ์ประเมิน และแบ่งให้เห็น ผู้ให้ – ผู้รับความรู้ อย่างเป็นระดับ (ตารางอิสระภาพ  และธารปัญญา) เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกการตัดสินการทำงานว่าใครทำดีกว่า  ใครทำไม่ดี และทำให้คนเริ่มใช้ KM รู้สึกว่าง่ายไม่ยุ่งยาก    นอกจากนี้ในเวทีการประชุมพัฒนาคุณภาพทุกครั้งก็จะมีการแทรกเรื่อง KM เข้าไปทุกครั้ง

          รพ. ตาคลี   มีการจัดตั้งทีม KM ขึ้นมา  มีคุณอำนวย 6 คน ไปศึกษา KM ก่อน เพื่อมาคิดว่าจะทำอะไรก่อนแล้วนำมาทำเป็นแผนงานปี 2548  โดยเอาทั้ง HA, HPH และ KM มายำผสมกัน   มีการจัดเป็น KM Conner 2 จุด เพื่อสื่อสารเรื่อง KM ให้เจ้าหน้าที่สนใจ เกิดการเรียนรู้  และมีการกระตุ้นด้วยการตอบคำถาม KM ประจำเดือนเพื่อชิงรางวัล   สร้าง KM Center โดยใช้ห้องสมุดเป็นที่อ่านหนังสือ  แลกเปลี่ยนพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการ  และเปิดให้เล่นอินเตอร์เน็ตได้   (เป็นเหมือนศูนย์รวมผู้อยากรู้)    ส่วน “คลังความรู้” เรื่องเบาหวานที่ได้จากเวทีเครือข่าย ของ สสจ. และเวทีการจัดการความรู้เครือข่าย รพ. ภาคเหนือตอนล่าง ที่ได้เข้าร่วมด้วย  ได้มีการนำมาสรุปแล้วเอามาแลกเปลี่ยนกันอีกทีว่า “ได้อะไรกันมาบ้าง แล้วจะเอามาปรับใช้ยังไง  ส่วนไหนยังไม่เหมาะกับ รพ.”  ซึ่งก็ได้นำเทคนิคความรู้หลายๆ อย่างมาใช้  เช่น เดิมกิจกรรมเบาหวาน  รพ. มีแค่จัดทำนิทรรศการ  หลังจากไปเรียนรู้มา ก็ได้ทำแผนปรับให้เป็นการนำผู้ป่วยมาทำแคมป์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีการสนทนา ให้รางวัลการตอบคำถาม ให้รางวัลผู้ป่วยที่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ดี,  การให้เจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์เรื่องเบาหวานมาแลกเปลี่ยนกัน และกับผู้ป่วย และญาติ, การจัดทำสมุดบันทึกประจำตัวผู้ป่วยเบาหวาน       ในส่วนของการเตรียมตัวมาแลกเปลี่ยนเวทีระดับเครือข่าย ของ สสจ. ต่อมา (วันที่ 2  ส.ค. 48 ที่ผ่านมา)    ทาง รพ. ตาคลี ก็ได้จัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มแพทย์  เภสัช และ พยาบาล ใน รพ. กันเองก่อน (29 ก.ค. 48) แล้วสรุปออกมา   จึงเลือก “คุณกิจ” ที่จะมาเป็นตัวแทนนำความรู้ออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเวทีเครือข่าย   นอกจากนี้ รพ. ตาคลี ยังได้เริ่มนำกระบวนการ KM ไปใช้ในเรื่องอื่นอีก เช่น การดูแลแผลกดทับ ซึ่งเป็นปัญหาของ รพ. อยู่  ได้จัดให้เจ้าหน้าที่หวอด, เภสัช, โภชนาการ, นักกายภาพบำบัด มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในการจัดการป้องกันแผลกดทับ จนได้เป็นแนวทางการปฏิบัติ    และ รพ. ยังมีแผนที่จะทำ KM ของปี 48 ต่อในอีกหลายเรื่อง เช่น การดูแลผู้ป่วยโดยใช้เครื่องช่วยหายใจนอก ICU, C3THER, และเรื่องการสื่อสารของทีมสหสาขา

      วันนี้ขอเอาไว้ 2 รพ. ก่อนนะคะ  เดี๋ยวจะยาว  เอาไว้จะค่อยๆ เขียนลง blog ให้อ่านเรื่อยๆ พร้อมตีความในตอนหลังค่ะ

       ปล.  เราได้ไปดู คลินิกเบาหวานของจริง ของ รพ. ตาคลี (อ่านได้จาก Thewater.gotoknow.org  และ รพ. พยุหคีรี (จะเขียนเล่าอีกที)  ด้วยค่ะ)     


 

คำสำคัญ (Tags): #จัดการความรู้
หมายเลขบันทึก: 2219เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2005 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 03:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท