เพลงอีแซวนักเรียน (ตอนที่ 1) ปัจจัยที่ทำให้งานเพลงไม่สำเร็จ


ผมพยายามที่จะเก็บเกี่ยวความรู้จากคุณลุง คุณป้า จากพี่ ๆ คนเก่า ๆ ให้ได้มากที่สุดและเมื่อสบโอกาสผมจะนำพวกเขาเหล่านั้นมาแสดงให้เยาวชนได้เห็นของจริง ๆ

เพลงอีแซวนักเรียน (ตอนที่ 1)

โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1

อำเภอดอนเจดีย์

จังหวัดสุพรรณบุรี 72170

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานเพลงไม่สำเร็จ

 

          เมื่อพูดถึงศิลปะการแสดงเพลงอีแซวซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านประเภทหนึ่ง ที่ยังมีให้หาดูได้ในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยเฉพาะในงานประจำปี ที่วัดป่าเลไลยก์ มีงานปีละ 2 ครั้งคือ วันขึ้น 5-9 ค่ำ เดือน 5 และ ขึ้น 5-9 ค่ำ เดือน 12 นอกจากนั้นก็ต้องติดตามชมในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ บนเวทีวัฒนธรรมของจังหวัด แต่เวทีนี้เป็นการจัดการแสดงของนักเรียนแบบหลากหลาย การแสดงพื้นบ้านจึงมีให้ดูแบบไม่สมบูรณ์มากนัก โดยจัดเวลาการแสดงให้ชุดละประมาณ 30 นาที นับว่ามีเวลาน้อยไปกับการที่จะผูกสร้อยร้อยกรองออกมาเป็นการแสดงที่โดดเด่นเห็นได้ชัดเจน

         

             (ภาพการฝึกซ้อมคิวการแสดงเพลงอีแซว ตามบทบาทที่ผู้แสดงได้รับมอบหมาย)  

 

          บทบาทของเพลงอีแซวนักเรียนในวันนี้มีมากขึ้น เมื่อสถานศึกษาถูกประเมินในแง่ของการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ มาจัดการเรียนรู้ หลาย ๆ โรงเรียนจัดการเรียนรู้โดยการฝึกหัดให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติแสดงเพลงพื้นบ้าน  การละเล่นพื้นบ้าน รวมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอื่น ๆ ตามศักยภาพของคุณครูและจากการขอความช่วยเหลือ การให้ความร่วมมือจากบุคคลภายนอก จนทำให้เยาวชนได้สัมผัสกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักเรียนได้มีความตระหนักในคุณค่าความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมเก่า ๆ ด้วย

 

         

           (ภาพ ครูและนักเรียนทำหน้าที่ให้จังหวะกลอง ฉิ่ง กรับ ประกอบการร้องเพลงอีแซว)

          มีสถานศึกษา ในระดับโรงเรียน วิทยาลัย สถาบัน ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยหันมาให้ความสนใจในการฟื้นฟูศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน การละเล่นเด็กไทย จนไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นแขนงต่าง ๆ เพียงแต่รูปแบบในการสืบสาน การฟื้นฟูอาจไปคนละทางกับความอยู่รอดหรือการทำให้กลับมาคงอยู่ได้อย่างถาวร เป็นเพียงการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำในบางสิ่งบางอย่างได้แก่

-         จัดทำเอกสาร วารสาร หนังสือ สารานุกรมสำหรับการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน

-         ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัย เป็นเอกสารทางวิชาการของตนเอง

-         จัดทำโครงการสร้างงาน ให้เกิดเป็นผลงานโดยเปิดเวทีให้มีการแสดงพื้นบ้าน

-         เพื่อแสดงพลังความคิดความสามารถในการมีส่วนร่วมกับวงการแสดงเพลงพื้นบ้าน

 

ภาพของการฟื้นฟูที่แท้จริง ภาพของการสืบสานที่กระทำอย่างแท้จริงเพื่อให้ศิลปะการ แสดงแขนงต่าง ๆ ที่พอจะยื้อเอาไว้ได้ให้คงอยู่ต่อไปจริง ๆ นั้น ผมได้สอบถามครูเพลงหลายต่อหลายท่าน จนถึงพี่เกลียว เสร็จกิจ (ขวัญจิต ศรีประจันต์) ก็มีเพียงคำตอบเดียวคือ จะต้องทำการฝึกหัดนักเพลงรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่ให้ได้ และเพลงพื้นบ้านที่จะยังคงสภาพอยู่ได้ จะต้องเป็นเพลงที่สามารถนำเอาออกไปรับใช้สังคมได้ สังคมยังมีความต้องการสิ่งนั้น ๆ อยู่ ดังนั้นวิธีการอนุรักษ์ สืบสาน การฟื้นฟูศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านที่แท้จริงคือ การมุ่งไปที่ฝึกหัดคนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่ และในการทำงานจะต้องใจจดใจจ่ออยู่กับวงเพลงหรือคณะนั้น ๆ อย่างต่อเนื่องแท้จริง มิเช่นนั้นก็จะไม่ปรากฏผลงานที่เด่นชัดขึ้นมาอย่างยั่งยืนได้ นั่นหมายถึงว่า ก็ไปไม่ถึงเป้าหมายของการคงรักษาไว้ได้นั่นเอง

(ภาพการประชันเพลงพื้นบ้านประกอบทอล์กโชว์ ลดภาวะโลกร้อน โดย อบจ.สุพรรณบุรี)

 

ปัจจัยที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ มีความเกี่ยวข้องหลายอย่าง ได้แก่

-         นักแสดงที่เข้ามาฝึกหัดเพลงพื้นบ้านมิได้เข้ามาด้วยความรักและศรัทธาที่แท้จริง

-         ผู้ปกครอง บิดา-มารดาไม่ให้การสนับสนุนบุตร-หลานเข้าร่วมกิจกรรมประเภทนี้

-         สถานศึกษามุ่งที่จะทำให้มีให้เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วแล้วก็เลิกไป

-         ครูผู้ฝึกหัดไม่มีประสบการณ์ที่แท้จริง ไม่สามารถที่จะพัฒนาไปสู่มืออาชีพได้

-         ผู้ที่อาสาสมัครเข้ามาร่วมจัดกิจกรรมมุ่งที่จะโชว์ผลงานมากกว่าผลผลิตที่มั่นคงถาวร

-         ขาดผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณ เวลา สถานที่ โอกาสในการแสดงความสามารถ

-         การมองข้ามบุคคลที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง (ปราชญ์ชาวบ้าน)

ผมจะขอนำเอาองค์ประกอบข้างต้นมาเสนอ ตามแนวคิด ประสบการณ์ที่ได้พบเห็นมาด้วยตนเองตลอดเวลาที่ผมอยู่บนเวทีการแสดงเพลงพื้นบ้านนานกว่า 35 ปี และทำวงเพลงพื้นบ้านให้กับโรงเรียนมานานกว่า 17 ปี (ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2535) 

 

นักแสดงที่เข้ามาฝึกหัดเพลงพื้นบ้านมิได้เข้ามาด้วยความรักและศรัทธาที่แท้จริง

               

          เด็ก ๆ หลายคนเข้ามาหาผม โดยการเลือกเรียนวิชาเพิ่มเติม ศิลปะกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยที่เขาไม่มีสิ่งใดเป็นข้อบ่งบอกถึงความเป็นพิเศษในตัวตนของเขาเลย เช่น เสียงร้อง ท่ารำ การเคลื่อนไหว ท่วงทีวาจาในการพูด ความกล้าแสดงออก มีเพียงความเฉื่อยชาซุกซนเล่นสนุกมากกว่าการมีสมาธิที่จะเดินทางไปให้ถึงเป้าหมายที่แท้จริง

 

ผู้ปกครอง บิดา-มารดาไม่ให้การสนับสนุนบุตร-หลานเข้าร่วมกิจกรรมประเภทนี้

 

          ผู้ปกครองจะบอกกับลูก ๆ ของเขาว่า อย่างไปฝึกหัดเลย เพลงอีแซว เพลงพื้นบ้าน เล่นหยาบคาย (ความจริงไม่ใช่) เป็นการนำเสนอภาษาที่ดิ้นได้ สองแง่สองง่าม คิดอย่างไรก็ไปอย่างนั้น ผู้ปกครองไม่ชอบเป็นทุนอยู่แล้ว และอีกอย่างหนึ่งก็จะบอกกับลูกว่า ไม่มีเวลาที่จะไปรับ-ส่งในการฝึกหัดตอนเย็นหลังเลิกเรียนหรือในวันหยุด

 

สถานศึกษามุ่งที่จะทำให้มีให้เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วแล้วก็เลิกไป

 

          ในประเด็นนี้มีความน่าเห็นใจ บางโรงเรียนยังไม่มีความพร้อมในตัวเด็กที่จะเข้ารับการถ่ายทอด ไม่มีครูที่มีประสบการณ์ตรงทางด้านนี้ (หายามาก) จึงทำให้การจัดกิจกรรมต้องทำเพื่อความอยู่รอด เอาตัวรอดไว้ก่อนเรื่องอื่นค่อยว่ากัน

 

ครูผู้ฝึกหัดไม่มีประสบการณ์ที่แท้จริง ไม่สามารถที่จะพัฒนาไปสู่มืออาชีพได้

 

          เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ยาก การที่บุคคลคนหนึ่งจะสืบค้นหาบุคคลที่ตนเองมีความรักศรัทธาแล้วเข้าไปหาขอเรียนรู้ รับการถ่ายทอดเพลงพื้นบ้านให้เข้ามาอยู่ในตัวตน ติดตามไปดูการแสดงแล้วนำเอามาประยุกต์ผสมผสานกับผลงานของตนเอง เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลากว่าจะประสบความสำเร็จเกิดประสบการณ์ที่มั่นคงได้ต้องหลายสิบปี แต่ในทางลัดคือ การอ่านให้มีความรู้แล้วเป็นครูสอน จึงทำให้ไปไม่ถึงเวทีแห่งอาชีพ จนทำให้มีรายได้

 

ผู้ที่อาสาสมัครเข้ามาร่วมจัดกิจกรรมมุ่งที่จะโชว์ผลงานมากกว่าผลผลิตที่มั่นคงถาวร

 

          ผลงานมองได้หลายด้าน หลายแง่มุมและสามารถที่จะเลือกนำเสนอเฉพาะแง่มุมดี ๆ ได้ เช่นจัดการแสดงเพลงพื้นบ้าน 10 นาที (ไม่เห็นข้อบกพร่อง) ในเพลง 1 วงมีคนร้องนำเพียงคนเดียวหรือ 2 คน (เล่นได้ไม่กี่นาทีก็หมดเนื้อหา) มุ่งที่จะฝึกหัดเพลงพื้นบ้านให้กับสถานศึกษาหลาย ๆ แห่งเพื่อตีวงกว้างออกไปแล้วขาดการติดตามฝึกแล้วก็จบไปไม่ได้ทำการสานต่อจนประสบความสำเร็จ ส่วนผลผลิตที่มั่นคง เป็นผลงานที่ยอมรับในสายตาของผู้ชมว่าคุ้มค่า เมื่อได้ชมการแสดงและต้องจ่ายเงินด้วยความเต็มใจ

 

ขาดผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณ เวลา สถานที่ โอกาสในการแสดงความสามารถ

 

          สิ่งนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่นับได้ว่ายังขาดกันอยู่มาก ผู้ให้การสนับสนุนเป็นบุคคลหลายฝ่ายที่มีอำนาจสั่งการ มีความสามารถในการให้โอกาส ได้แก่

-         สละทรัพย์ส่วนตัวให้รางวัล อุปถัมภ์เครื่องแต่งกาย จัดงบประมาณ ให้การดูแล

-         ให้เวลาในการฝึกหัดผู้แสดง ให้เวลาในการฝึกซ้อม ให้เวลาในการพัฒนา

-         สถานที่และโอกาส มีเวทีให้เด็ก ๆ ได้แสดงออกตามความสามารถที่เหมาะสม

 

การมองข้ามบุคคลที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง (ปราชญ์ชาวบ้าน)

 

          เป็นความไม่เข้าใจของคนสอนเพลงที่ไม่สามารถปรับปรุงได้ เพราะว่าถ้าเมื่อใดคุณไม่ยอมที่จะมองหาต้นแบบ แล้วเรียนรู้ฝึกปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นก็คงหมดความเป็นจริง ในเมื่อของจริงยังถูกปฏิเสธ แล้วสังคมนี้จะเหลืออะไรให้เห็นเป็นแก่นสาร มีเสียงที่ผ่านมาเข้าหูผมหลายครั้งว่า ไม่ควรไปนำเอานักเพลงแก่ ๆ มาขึ้นแสดงบนเวทีคนดูเขาเบื่อคนแก่ เขาอยากดูเด็ก ๆ เล่นเพลง ซึ่งผิดกับผม ที่พยายามเก็บเกี่ยวความรู้จากคุณลุง คุณป้า จากพี่ ๆ คนเก่า ๆ ให้ได้มากที่สุดและเมื่อสบโอกาสผมจะนำพวกเขาเหล่านั้นมาแสดงให้เยาวชนได้เห็นของจริง ๆ  (ติดตามตอนที่ 2)

          

            (ภาพการแสดง บนเวทีงานบ้านมั่นคงสามชุก ที่ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี)

 

        

            (ภาพการแสดงของครูชำเลือง มณีวงษ์ร่วมกับครูเพลงรุ่นเก่าที่ควรแก่การยกย่อง)

ชำเลือง  มณีวงษ์  รางวัลชนะเลิศประกวดเพลงอีแซวจังหวัดสุพรรณบุรี ปี พ.ศ. 2525

                         รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นราชมงคลสรรเสริญ (พุ่มพนมมาลา) ปี 2547

                         โล่รางวัลความดีคู่แผ่นดิน รายการโทรทัศน์ ททบ.5  ปี พ.ศ. 2549

หมายเลขบันทึก: 221298เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2008 07:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • มาให้กำลังใจครูชำเลือง มณีวงษ์
  • ผู้สืบสานเพลงอีแซว สู่การเรียนรู้
  • ครูสบายดีนะคะ

สวัสดี ครับ หน.ลำดวน

  • ขอบคุณในกำลังใจ ที่มีให้ครูเก่า ๆ (แก่ด้วย)
  • จะเดินหน้าทำงานอนุรักษ์ภูมิปัญญาต่อไปอีกนานเท่านาน
  • สบายดี ครับ หัวหน้า ศน. (แต่ไม่มากนัก)
  • ติดตามผลงานการแสดงเพลงพื้นบ้าน นักเรียนโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ได้ที่เคเบิลทีวีช่อง 69 (ETV) รายการชุมชนสำราญ เร็ว ๆ นี้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท