Post Thaksin การเมืองภาคพลเมืองได้อะไร?


ท่ามกลางเสียงก้องกระหึ่ม ‘ทักษิณ…..ออกไป’ หากเงี่ยหูฟังให้ดีจะพบว่ามีความพยายามในการนำเสนอ ‘เนื้อหา’ของการปฏิรูปการเมืองด้านต่างๆ กันบ้างแล้ว

ท่ามกลางเสียงก้องกระหึ่ม ‘ทักษิณ…..ออกไป’ หากเงี่ยหูฟังให้ดีจะพบว่ามีความพยายามในการนำเสนอ ‘เนื้อหา’ของการปฏิรูปการเมืองด้านต่างๆ กันบ้างแล้ว
<p>เวทีเสวนาที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาก็เป็นอีกเวทีหนึ่งที่มีการนำเสนอทางออก และมองข้ามช็อตว่าด้วย  ‘วิกฤตการเมือง วิกฤตเลือกตั้ง Post Thaksin การเมืองภาคพลเมืองได้อะไร?’
ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม กล่าวว่า สภาวะหลังทักษิณ จะเป็นเช่นไรขึ้นอยู่กับความสามารถของกลุ่มบุคคลที่กำลังทำการเปลี่ยนแปลงอยู่ขณะนี้ว่าจะมีทักษะเชื่อมโยงความคิดหลากหลายของผู้คนในสังคมเพื่อให้เกิดวิสัยทัศน์ร่วมกันหรือ Share Vision ได้เพียงไร
“ที่ผ่านมาหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองเสร็จสิ้น กลุ่มพลังต่างๆ ก็มักจะแตกกันไป ต่างคนต่างไป ปล่อยให้เป็นเรื่องของนักการเมือง ทำอย่างไรคราวนี้ทุกภาคส่วน ทั้งคนเมืองคนชนบทจะเป็นหุ้นส่วนการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ และทำงานร่วมกันอย่างยาวนาน ซึ่งผมว่าน่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี”
ชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า การปฏิรูปการเมืองนั้นเลี่ยงไม่พ้นที่ต้องพูดถึงอำนาจ และผู้คนก็มักมองข้ามอำนาจของการพบปะพูดคุย ซึ่งนำไปสู่อำนาจทางปัญญาและสามารถแก้ปัญหาได้จริง ในเบื้องต้นจะต้องเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้อำนาจประเภทใหม่นี้เกิดขึ้นเพื่อรองรับศักยภาพเหล่านี้ รวมทั้งต้องมีการปฏิรูปสื่อมวลชนให้มีคุณภาพ เพราะการพัฒนาเป็นไปได้ยากในที่ที่มีช่องว่างทางข้อมูลข่าวสาร
นอกจากนี้ต้องมีการเรียนรู้บทเรียนจากต่างประเทศที่สามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้ โดยชัยวัฒน์เสนอตัวอย่างของประเทศเยอรมนี ที่สามารถปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสื่อ และให้การศึกษาทางการเมืองกับประชาชน เพราะไม่ต้องการให้เกิดผู้นำอย่างฮิตเลอร์อีกต่อไป ที่สำคัญจะต้องมีการสื่อสารกับพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการประสานกันระหว่างอำนาจใหม่และอำนาจเก่า
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ทำนายว่า แม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่คาดว่าในปี 2550 อำนาจในการบริหารของพ.ต.ท.ทักษิณ จะหมดอย่างสิ้นเชิง แต่กระแสความคิดของระบอบทักษิณนั้นจะยังคงอยู่และลงรากลึกในสังคมไทย รวมทั้งกลุ่มทุนพันธมิตรของพ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะยังคงแข็งแรงอยู่
“มันจึงไม่ใช่คำถามว่าประชาชนจะได้อะไรในยุคหลังทักษิณ แต่ต้องถามว่าประชาชนจะคิดอะไร อยากได้อะไร และต้องลงมือลงแรงอย่างไร การสร้างสรรค์เป็นเรื่องยากกว่าการกวาดล้างของเก่าที่ไม่ดี เราต้องคิดกันตั้งแต่เนิ่นๆ”
นพ.พลเดช นำเสนอว่า การปฏิรูปการเมืองรอบที่ 2 ต้องไม่ใช่การรื้อใหม่ แต่ต้องเป็นการแก้ไขและเสริมส่วนที่จำเป็น นั่นคือ การแทรกแซงองค์กรอิสระ และติดตามดูความครบถ้วนของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งหมดไม่น่าจะใช้เวลายาวนาน
ส่วนการสนับสนุนการเมืองภาคพลเมืองนั้น นพ.พลเดช เสนอกลไกที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็ง 2 กลไก คือ 1. กองทุนเพื่อการทำงานเรื่องความโปร่งใสที่จะสนับสนุนสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน สนับสนุนภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมจับตาคอร์รัปชั่น โดยควรตั้งเป็นองค์กรมหาชน และงบประมาณควรมาจากการหัก 1% จากวงเงินงบประมาณของโครงการขนาดใหญ่ 100 ล้านบาทขึ้นไป
2.กองทุนเพื่อพัฒนาการเมืองของประชาชน มีลักษณะคล้ายกับ กป.อพช. เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนรวมกลุ่มพึ่งตนเอง สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดกระบวนการนโยบายสาธารณะทั้งระดับท้องถิ่น-ระดับชาติ สนับสนุนให้ประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวเสนอกฎหมาย แก้ไขกฎหมาย
“ถ้าได้ปีละ 1,000 ล้าน ทำ 5 ปีติดต่อกัน เชื่อว่าจะได้ดุลกับการเมืองแบบตัวแทนได้ จากต้นทุนที่มีอยู่ทั้งหมดตอนนี้”
ไสว บุญมา อดีตนักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมาวิธีคิดแบบทักษิณ คือ การรวยให้เร็วที่สุด และการคอยขอนั้นได้ฝังตัวในสังคมไทยอย่างแน่นหนา โดยที่การเมืองแบบนี้วิวัฒนาการมานานแล้วตั้งแต่รัฐไทยพัฒนาเศรษฐกิจตามกระแสหลักมา 50 ปี ไม่ใช่เพิ่งเกิดเพราะตัว พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างปัญหาใหญ่ 4 ข้อ คือ 1. การรังแกสิ่งแวดล้อม 2. การไม่รู้ว่าบทบาทของไทยควรตรงไหน จะอยู่กับมหาอำนาจอย่างไร 3. ความร่ำรวยกลายเป็นธรรมะ 4. ไม่มีฐานคิดของตัวเองที่แท้จริง
“ผมมองว่าหากหลัง 2 เมษายน ถ้าทักษิณลงจากตำแหน่งแล้วไปชักใยอยู่เบื้องหลัง ยิ่งจะลำบากและยากกว่าเดิม เพราะมันมองไม่เห็น ส่วนหลังไล่ทักษิณแล้ว เราจะทำอย่างไรกัน นี่ก็ยังมองไม่เห็นชัดเจนเช่นกัน หลังปี 2535 ยังดี ยังได้รัฐธรรมนูญที่ใกล้เคียงอุดมการณ์” ไสว กล่าว
Post Thaksin เราอยากเห็นสังคมการเมืองไทยเป็นอย่างไร ภาคประชาชนควรทำอะไรกันบ้าง คิดออกแล้วแสดงความเห็นโดยพลัน ท่านผู้อ่านประชาไท !!!
</p>

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 22040เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2006 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท