การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนา (๑๙)


การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนา (๑๙)


           ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๑๙ มาลงต่อนะครับ    นี่ก็เป็นภาพสะท้อนจากความคิดคำนึงของ “คุณอำนวย” ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนา


ตอนที่  19  ชีวิตกับทักษะการเรียนรู้
                   “กล้วยไม้ออกดอกช้า     ฉันใด
             การศึกษาเป็นไป                เช่นนั้น
             แต่ออกดอกคราวใด             งามเด่น
             งานสั่งสอนปลูกปั้น             เสร็จแล้วแสนงาม”
                                                             หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล

                  


        การเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนานั้น  เป็นไปดั่งบทประพันธ์ของหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล  เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาแล้ว  “การศึกษาเป็นไป  เช่นนั้น” 


        มิติการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาในโรงเรียนชาวนา  จะมีความแตกต่างไปจากการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนในโรงเรียน  และนักเรียนผู้ใหญ่ในการศึกษานอกระบบทั่วไป  เพราะ  “งานสั่งสอนปลูกปั้น”  เริ่มต้นจากการนำเอาทุกข์และสภาพปัญหาในปัจจุบันของนักเรียนชาวนาเป็นโจทย์  โจทย์ที่ตั้งขึ้นมาได้มาจากสภาพความเป็นจริงที่พบอยู่กับนักเรียนชาวนาผู้เรียน  กล่าวคือ  เรียนรู้จากสภาพจริง  ไม่ใช่การสมมติเพื่อให้ได้เรียนรู้  


        ด้วยการเริ่มต้นแบบนี้นี่เอง  จึงไม่มีใครไปกำหนดหลักสูตรให้นักเรียนชาวนาว่า  ต้องเรียนอย่างนั้น...ต้องเรียนอย่างนี้...แล้วจึงจะดี  กระบวนการของโรงเรียนชาวนามิได้เป็นไปเช่นนั้น  แต่โรงเรียนชาวนาจะเริ่มจากโจทย์ที่มีต้นสายปลายทางมาจากทุกข์  เรียนรู้แล้วให้เอาไปใช้แก้ไขทุกข์ในชีวิตการทำนาได้  


        นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้สารพัดแห่ง  วิธีการสารพัดอย่าง  วิทยากรสารพัดความเชี่ยวชาญ  เพื่อให้ความรู้ไหลมาสู่ตัวนักเรียนชาวนาเป็นปลายทาง  


        นักเรียนชาวนาบางคนเก่ง  เพราะมีความรู้เดิมดี  ซึ่งได้มาจากกระบวนการถ่ายทอดความคิดความรู้จากบรรพบุรุษที่สะสมแล้วถ่ายทอดสืบต่อๆกันมาในแต่ละรุ่นๆ  ความรู้เดิมปะปนอย่างกลมกลืนอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเรียบง่ายของนักเรียนชาวนา  สอนกันและทำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  จนกลายวิถีชีวิต  เป็นวิถีของความชาวนา  เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน  ถือได้ว่าเป็นความรู้เดิมที่มีอยู่ติดตัวของนักเรียนชาวนา  มีอยู่ในครัวเรือน  และมีอยู่ในชุมชน  เป็นทรัพย์สินมรดกทางปัญญาของชุมชนอันมีค่า


        นักเรียนบางคนเก่ง  เพราะได้ความรู้ใหม่  ซึ่งได้มาจากแหล่งการเรียนรู้ภายนอก  ไม่ว่าจะเป็นจากหนังสือตำรา  หนังสือพิมพ์  วิทยุ  โทรทัศน์  อินเตอร์เน็ต  วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ  สถานที่จริง  รวมเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ต้องอ่าน  ดู  ฟัง  ถาม  เพื่อให้ได้คำตอบ  นำกลับไปตอบโจทย์ที่ทุกข์ปัญหา  


        แต่การเรียนรู้ใดๆคงไม่สัมฤทธิผล  หากนักเรียนชาวนาไม่นำเอาความรู้ไปปฏิบัติใช้ด้วยตนเอง  นี่เป็นประเด็นสำคัญของการเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนา  นักเรียนชาวนาจะต้องนำเอาความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่และที่ได้มา  ไปทดลอง  ไปฝึกหัด  ไปปฏิบัติจริงกับงานครัว  งานบ้าน  งานนาของแต่ละคน  เสมือนหนึ่งว่าเป็นการลองวิชา  ด้วยการลองผิดลองถูก  จนเกิดการค้นพบด้วยตนเองว่า  จะต้องทำอย่างไรจึงจะได้ผลดีในที่สุด?  และถ้าไม่ประสบความสำเร็จ  แล้วควรทำอย่างไรจึงจะดี?  ก็ต้องสามารถอธิบายให้คำตอบได้ว่าเหตุใดการทดลองจึงล้มเหลว? 


        การทดลอง  การฝึกหัดทำ  การปฏิบัติจริง  เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้นักเรียนชาวนาได้ทำการพิสูจน์เชิงประจักษ์ด้วยตนเอง  เมื่อนำเอาความรู้ที่ได้เรียนรู้ไปผสมผสาน  ก็จะสามารถเชื่อมโยงสรรพสิ่งที่เป็นปัจจัย  เงื่อนไข  สภาวะต่างๆ  ได้ด้วยตนเอง  เมื่อตั้งคำถามกับตนเองว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น?  นักเรียนชาวนาจึงจะได้รู้จักและรู้เข้าใจถึงสัมพันธภาพของสิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆตนเองในบ้านในนา  ...  เพียงลองทำดู  ก็ได้เรียนรู้อย่างมากมาย  


        นักเรียนชาวนาหลายต่อหลายคนเป็นนักคิด  เป็นนักทดลอง  จากที่ได้เรียนรู้มาแล้วว่า  ฮอร์โมนทำได้อย่างไรและมีประโยชน์อย่างไร?  เมื่อกลับบ้านไป  ก็ไปค้นหาจนค้นพบว่า  วัสดุธรรมชาติที่อยู่แถวๆบ้าน  แถวๆนาข้าว  นี่แหละ...  เป็นวัสดุที่จะทำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เป็นอย่างดี  อันที่จริง  ก็เห็นๆกันอยู่ทั่วไป  แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรได้?  พอได้ไปเรียนรู้มาแล้ว  คราวนี้จึงสนุกกันใหญ่  นักเรียนชาวนาไปเก็บหอยเชอรี่  กางปลา  มาผสม  มาทดลองทำสูตรใหม่ๆ  จนได้หลากหลายสูตร  ...  แถมยังกลับมารายงานในชั้นเรียนอีกว่า  อย่างนี้น่าจะรู้ตั้งนานแล้ว  ไม่ใช่เรื่องยากเลย  แต่ไม่รู้  


        การที่นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้อะไรแล้ว  กระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนาจะพยายามกระตุ้นและผลักดันให้นักเรียนชาวนาเอาไปทดลองใช้  เพราะนั่นถือเป็นวิธีการที่จะให้นักเรียนชาวนาได้รู้และเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง  เป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่งที่นักเรียนชาวนาจะได้นำไปพูดคุยและร่วมทำกับครอบครัว  การเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาจึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกแยกออกจากสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว  ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวของครอบครัว  ทุกคนในครอบครัว  รวมทั้งเพื่อนบ้านญาติมิตรสามารถมาร่วมวงเรียนรู้จากนักเรียนชาวนาได้อยู่ตลอดเวลา 


        ฝ่ายแม่บ้านมาเป็นนักเรียนชาวนาร่วมการเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนา  ฝ่ายพ่อบ้านก็ทำงานในนา  ฝ่ายลูกๆหลานๆก็ไปเรียนหนังสือในโรงเรียนตามหลักสูตร  แต่เมื่อทุกคนกลับมาถึงที่บ้าน  ฝ่ายแม่บ้านต้องทำทั้งงานครัวงานบ้าน  และรวมถึงการบ้านจากโรงเรียนชาวนา  แต่การบ้านเป็นโจทย์ที่อยู่ในงานครัวงานบ้านงานนา  ระหว่างการฝึกทดลองปฏิบัติ  จึงมีอะไรแปลกใหม่จากความเคยชินเดิมของบ้าน  นั่นแสดงว่าแม่บ้านกำลังทดลองอะไรต่างๆนานาอยู่  สร้างความฉงนสนใจจากทั้งพ่อบ้านและลูกๆหลานๆ  จนต้องขอเข้าร่วมวงการทดลองด้วยอีกคนสองคน  จนครบกันทั้งครอบครัว  ไม่น่าเชื่อว่าทุกคนต่างตั้งตารอคอยผลที่จะปรากฏขึ้นจากการทดลอง  ตื่นเต้นเพราะอยากรู้ว่าจะได้ผลหรือไม่  เป็นอย่างไร  ?  และจนกลายเป็นหัวข้อที่นำมาพูดคุยกันประจำครอบครัว  ประจำชุมชนไปแล้ว


        ผลจากการเรียนรู้ร่วมกัน  ขณะนี้ได้ถูกประมวลเป็นผลงาน  เป็นเรื่องราว  เป็นบันทึกที่ร่ายมาอย่างยาวกว่าร้อยหน้านี้  ได้มาจากความร่วมมือของทั้งคุณกิจอย่างนักเรียนชาวนา  กับคุณอำนวยในบทบาทของเจ้าหน้าที่  ทั้ง  2  ฝ่ายนี้ร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานที่ควรต้องจับตามอง  พอได้มองในช่วงแรก  ก็ได้พบเห็นความหลากหลายที่เกิดขึ้นจากนักเรียนชาวนาทั้ง  4  โรงเรียนกันแล้ว  และพบได้ว่าคุณอำนวยต้องทำหน้าที่อย่างหนัก  เพื่อให้คุณกิจได้เรียนรู้ไปตามกระบวนการ 


        คำถามมีอยู่ว่า  อยากให้คุณกิจทำเอง  โดยให้คุณอำนวยเป็นผู้ดูที่ดีอย่างเดียวได้ไหม  ?  นี่เป็นคำถามที่น่าขบคิดเป็นอย่างมาก  เพราะเป้าหมายปลายทางที่เฝ้าฝันเฝ้ารอคืออะไร?  หากได้ทบทวนแผนผังการจัดการความรู้พร้อมๆกับทบทวนวัตถุประสงค์  จักเห็นได้ว่า  นักเรียนชาวนาจะต้องสามารถพึ่งตนเองได้  ในที่สุดจะต้องเป็นไปเช่นนั้น  นั่นคือ  “งานสั่งสอนปลูกปั้น  เสร็จแล้วแสนงาม”  ทุกคนคาดหวังจากการทำงานและการเรียนรู้ไว้ว่า  “เสร็จแล้วแสนงาม”  


        จะไปถึงคำตอบนั้นได้  ควรจะต้องอาศัยกระบวนการ  อาศัยระยะเวลา  “กล้วยไม้ออกดอกช้า  ฉันใด     การศึกษาเป็นไป  เช่นนั้น”  เพื่อให้คุณกิจทำกิจกรรมได้ด้วยตนเองทั้งหมด  เพื่อให้        คุณอำนวยเป็นผู้ดูที่ดีอย่างเดียวก็พอ  คุณอำนวยอย่างเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญจึงคาดหวังในช่วงตอนต่อๆไปว่า  คุณกิจจะต้องยืนได้ด้วยตนเอง  พึ่งตนเองได้  แล้วก็มีความสุขตลอดไป


        แต่ในระหว่างทางของการไปให้ถึงคำตอบนั้น  ระหว่างนี้เกิดอะไรขึ้นอย่างมากมายหลากหลาย  ซึ่งพอจะรวบความกล่าวเป็นประเด็นที่ไม่ยาวนักว่า  หลังจากที่เรื่องราวของกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในเวทีต่างๆของการประชุม  สัมมนา  และจากการนำไปเผยแพร่แก่สาธารณชนแล้ว  ก้อนหินที่โยนลงในสระน้ำจึงมีแรง        กระเพื่อม  ทำให้เกิดวงรัศมีกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ  มูลนิธิข้าวขวัญได้มีโอกาสพาตัวแทนหรือกลุ่มนักเรียนชาวนาไปร่วมกิจกรรมต่างๆในแต่ละเวทีที่จัดขึ้นจากองค์กรต่างๆ  ช่วยทำให้เสียงของนักเรียนชาวนาได้มีโอกาสกระจายให้ทุกคนได้รับรู้และร่วมเรียนรู้  หลายครั้งที่ไปจัดนิทรรศการ  ทำให้นักเรียนชาวนาได้แสดงผลงาน  หลายคราวที่ไปพูดไปแสดงความคิดเห็นบนเวทีในฐานะวิทยากร  เสียงของนักเรียนชาวนาทำให้หลายต่อหลายคนต้องเหลียวมามอง  และตามมาดูของจริงจากพื้นที่  ของจริงจากประสบการณ์ชาวนาตัวจริง  ซึ่งช่วยพยุงศักดิ์ศรีของความเป็นชาวนาสูงขึ้น  นักเรียนชาวนารู้สึกภาคภูมิใจกับการได้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ  หาใช่เป็นประการอื่นไม่  


        หลังจากเรื่องราวได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนแล้ว  จึงมีประชาชนทั่วไปเฝ้าดูและติดตามเรื่องราวอยู่อย่างเนื่องๆ  ทำให้นักเรียนชาวนากลายเป็นนักประชาสัมพันธ์  เป็นผู้ให้ข้อมูล  เป็นวิทยากรให้ความรู้  เป็นนักแสดงผลงาน  แล้วก็ต้องคอยต้อนรับผู้คนที่ทยอยขอมาศึกษาดูงานถึงที่บ้าน  ถึงที่นา  ถึงในชุมชน  ผู้คนหลากหลายมาจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ  และจากหลายประเทศ  ให้ความสนใจและอยากร่วมเรียนรู้กระบวนการเหล่านี้ด้วย  ในวันนี้  นักเรียนชาวนาจึงยิ้มได้  ความปลาบปลื้มเป็นกำลังใจเล็กๆที่ซ่อนอยู่ในเบื้องลึกของจิตใจนักเรียนชาวนา  เพื่อบอกกับใจตนเองว่า  สู้ต่อไป  


        ในขณะนี้  “คุณอำนวย” ยังอยู่คอยช่วยประสานงานและจัดแจงรูปแบบงานให้ “คุณกิจ” อยู่เสมอ  อันที่จริงแล้ว  มูลนิธิข้าวขวัญอยากให้ “คุณกิจ” ทำงานเหล่านี้เอง  อยากให้ “คุณกิจ” สามารถออกแบบงานที่จะนำเสนอเอง  เป็นวิทยากรเอง  เป็นผู้ประสานงานต่างๆเอง  นั่นหมายความว่าคุณกิจจะเป็นผู้ดำเนินการเอง  สามารถตัดสินใจต่างๆทั้งหมดได้เอง  สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่นักเรียนชาวนาเป็นคุณกิจกับคุณอำนวยในคนๆเดียวกัน  ซึ่งจะต้องค่อยๆฝึก  ค่อยๆเรียนรู้


        ทักษะชีวิตในรูปแบบใหม่ของนักเรียนชาวนาจึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้  ในคราวนี้และครั้งต่อไปในอนาคต  นักเรียนชาวนาต้องเป็นคุณกิจที่มีงานมากกว่าทำนาเพียงอย่างเดียว  นักเรียนชาวนาจะต้องมาทำหน้าที่เป็นผู้ให้ที่ดีอีกด้วย  กล่าวคือ  นักเรียนชาวนาจะต้องทำหน้าที่เป็นวิทยากร  เป็นผู้จัดกิจกรรม  เป็นผู้เผยแพร่ผลงาน  เป็นผู้จัดทำเอกสาร  บันทึก  รายงานต่างๆ  ติดต่อประสานงานกับผู้ที่ติดต่อมาขอศึกษาดูงาน  ติดต่อกับสื่อมวลชน  กับสถาบันส่งเสริมการจัดการ  ความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  ด้วยกระบวนการของนักเรียนชาวนาเอง  จึงได้ครบเครื่องอย่าง  “เสร็จแล้วแสนงาม” 


        เอกสารต่างๆที่ถูกผลิตขึ้นมาจากการประมวลผลงานในช่วง  6  เดือนแรกนี้  “คุณอำนวย” เป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมด  นี่เป็นข้อเท็จจริงของการทำงาน  แต่...  แต่...  หากเอกสารเล่มนี้  “คุณกิจ”  เป็นผู้เขียนเอง  ใครจะภาคภูมิใจมากที่สุด?  ฝีมือและภูมิปัญญาของนักเรียนชาวนาไทยเป็นเอกได้  จึงจะเป็นสิ่งที่  “งามเด่น”  เพียงแต่ต้องรอให้  “เสร็จแล้วแสนงาม”  วิถีชีวิตของนักเรียนชาวนาเป็นชีวิตเพื่อการเรียนรู้  เปรียบเป็นดั่งดอกกล้วยไม้จากบทประพันธ์ข้างต้น


           มขข. มีวิญญาณของ “คุณอำนวย” เต็มเปี่ยมเลยนะครับ    อยากให้ “คุณกิจ” ทำเองให้มากที่สุด     แต่ในช่วงที่ยังทำบางอย่างไม่ได้ “คุณอำนวย” ของ มขข. ก็ช่วยไปก่อน     เอกสารที่ “คุณกิจ” เขียนเอง มีนะครับ    อดใจรออีกหน่อย ก็จะได้เห็น


วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2203เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2005 08:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท