รัฐถังแตก ฟ้องบริหารเงินผิดพลาด


รัฐถังแตก ฟ้องบริหารเงินผิดพลาด

    แล้วข่าวลือกระฉ่อนเรื่อง “รัฐบาลถังแตก”  เพราะรายได้ไม่พอรายจ่าย ก็เป็นความจริง เมื่อคณะรัฐมนตรี  มีมติวันอังคาร ให้กระทรวงการคลังไปเจรจายืดหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน 5,000 ล้านบาท ที่กู้จากธนาคารออมสิน ซึ่งครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 26 เมษายนเดือนหน้าออกไปก่อน   โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อรักษาระดับเงินสด  ให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ ก่อนที่เช็ครัฐบาลจะเด้งดึ๋งติดสปริงแบบเช็คเอกชน เพราะไม่มีเงินในบัญชี แสดงให้เห็นว่า ฐานะการคลังของประเทศกำลังเงินสดขาดคลัง ถึงขั้นที่เรียกว่า “วิกฤติ” เพราะรายได้จากการจัดเก็บภาษีในช่วงที่ผ่านมา ไม่เพียงพอกับรายจ่ายงบประมาณ จนต้องมีการขอเลื่อนการชำระหนี้วงเงินแค่ 5,000 ล้านบาทกับธนาคารออมสิน ทำให้รัฐบาลเสียเครดิตเป็นอย่างมาก  กรณีที่เกิดขึ้น ความจริงแสดงอาการมานานแล้ว เมื่อการเมืองเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้การบริโภคของประชาชนลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้รัฐ  
ต้นเดือนที่ผ่านมา ผมก็ได้นำเรื่องนี้ไปสอบถาม คุณนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แต่ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเงินจากภาษีธุรกิจที่กำไรเป็นกอบเป็นกำจากปี 2548 กำลังจะไหลเข้าคลังจากการเสียภาษีที่ต้องจ่ายภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ เป็นจำนวนมาก   ก็ถูกต้อง ปีนี้อาจจะไม่มีปัญหาร้ายแรง เพราะมีเงินภาษีจากปีที่แล้วเข้ามาชดเชยเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลเงินขาดมือในช่วงสั้น
แต่ในปีหน้า เมื่อผลกระทบทางการเมืองต่อเศรษฐกิจเริ่มส่งผล ผมเชื่อว่าฐานะการคลังของรัฐบาล    จะยิ่งหนักหนาสาหัสกว่าปีนี้แน่นอน รายได้น้อยลงจากเศรษฐกิจที่หดตัว แต่รายจ่ายงบประมาณกลับเพิ่มขึ้น เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะจัดงบปี 2550 เพิ่มขึ้นลดลง  
นอกจากรายได้ภาษีไม่พอรายจ่ายแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลเงินสดขาดมือจนต้องเลื่อนชำระหนี้ คุณบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง บอกว่า เป็นเพราะส่วนราชการมักจะนำเงินไปฝากธนาคาร  กินดอกเบี้ย หน่วยงานบางแห่งมีเงินส่วนนี้สูงถึง 1,000 ล้านบาท
ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคาร นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ก็สั่งให้กระทรวงการคลังตามไล่บี้หน่วยราชการ  ที่มีพฤติกรรมแบบนี้ โดยให้ผู้บริหารรับผิดชอบ แต่มองอีกแง่หนึ่งก็ได้เห็นภาพการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล ก็อย่างที่อธิบดีกรมบัญชีกลางท่านแถลง ปีนี้รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดส่วนราชการเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้ได้ถึงร้อยละ 93 ของงบประมาณทั้งหมด แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับมีหน่วยราชการหลายแห่ง เบิกเอางบประมาณไปฝากกินดอกเบี้ย แทนที่จะนำไปใช้จ่ายในโครงการ   ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะหน่วยราชการต่าง ๆ ไม่สามารถทำโครงการให้เสร็จได้ตามที่รัฐบาลเร่งรัด    เมื่อรัฐบาลเร่งให้เบิกจ่ายงบประมาณ ก็ต้องเบิกเพื่อให้มีผลงาน มิฉะนั้นอาจจะถูกรัฐบาลด่าหรือลงโทษข้อหาไม่มีประสิทธิภาพ แต่เมื่อโครงการยังไม่สามารถเริ่มได้ ก็ต้องเอาเงินไปฝากแบงก์กินดอกเบี้ยไว้ก่อน   บางโครงการที่มีนักการเมืองเป็นเจ้าของโครงการหรือดูแลเพื่อรับเปอร์เซ็นต์ ก็เร่งรัด      เบิกจ่ายเงินเหมือนกัน   ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ลงมือทำ เพื่อรับเปอร์เซ็นต์ล่วงหน้าจากผู้รับเหมาก่อน ประกันความเสี่ยงโครงการล้มเหลวทีหลัง อย่างนี้เขาก็ว่ามีเยอะ
ดังนั้น การที่รัฐบาลเร่งรัดให้เบิกจ่ายงบประมาณเยอะ ๆ อย่างที่เบิกไปถึงร้อยละ 93 ของงบประมาณ จึงไม่ได้เป็นข้อมูลที่แสดงว่า งานแต่ละโครงการมีเนื้องานสำเร็จตามวงเงินที่เบิกจ่ายจริง เมื่อเบิกมาแล้ว ผลงานสร้างภาพได้แล้ว จ่ายเปอร์เซ็นต์แล้ว เงินที่เหลือก็ฝากแบงก์กินค่าปากถุงดอกเบี้ยอีกทอด สบายไปร้อยแปดอย่าง

ไทยรัฐ (คอลัมน์หมายเหตุประเทศไทย)  31  มีนาคม  2549

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21972เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2006 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท