ประชุมคณะกรรมการเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน ตำบลกะหรอ


การประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านตำบลกะหรอ กิ่งอำเภอนบพิตำ
จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดโดยเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลกะหรอ ร่วมกับ ภาคีสนับสนุนวันที่ 4 สิงหาคม 2548          ณ สถานีอนามัยหัวทุ่ง ตำบลกะหรอ กิ่งอำเภอนบพิตำ
จังหวัดนครศรีธรรมราช

วันนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 121 คน

เริ่มต้นด้วยการฉายวีดีโอรายการเวทีเมืองคอนให้คณะกรรมการแต่ละหมู่บ้านได้ชมกัน ซึ่งออกในรายการเวทีเมืองคอน ของสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11

ก่อนเปิดการประชุม นายสมศักดิ์ สาริกา กล่าวรายงานการทำงานที่ผ่านมา หน้าที่และนโยบายของกองทุนหมู่บ้าน ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของเครือข่าย และวันทำการของเครือข่าย

เมื่อคณะกรรมการแต่ละหมู่บ้านมาพร้อมกันแล้ว ก็เริ่มเปิดประชุม ตามกำหนดการ ดังนี้

กล่าวเปิดประชุม โดยหัวหน้ากิ่งอำเภอนบพิตำ และท่านได้พูดถึงรายละเอียดของโครงการ SML ( โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน ) เป็นโครงการที่มุ่งสู่ส่วนรวมของคนในชุมชนคู่มือและวิธีการปฎิบัติต่าง ๆ สอบถามได้จากผู้ใหญ่บ้าน และท่านได้เน้นให้แต่ละหมู่บ้านรีบเสนอโครงการ เพื่อของบประมาณ โดยใช้เกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้

1.หมู่บ้านที่มีสมาชิก ตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 500 คน จะได้งบประมาณ 200,000 บาท

2. หมู่บ้านที่มีสมาชิก ตั้งแต่ 501 คน ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1,000 คน จะได้งบประมาณ 250,000 บาท

3. หมู่บ้านที่มีสมาชิก ตั้งแต่ 1,001 คน ขึ้นไป จะได้งบประมาณ 300,000 บาท

และจะต้องเช็คตามทะเบียนราษฎร หลังจากนั้นก็ต้องทำประชาคมหมู่บ้าน โดยจะต้องมีผู้เข้าร่วมทำประชาคม 70% ขึ้นไป และจะต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป กำหนดโครงการ และคณะกรรมการในการทำงาน เมื่อมีการลงมติกันเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ส่งรายละเอียดไปที่อำเภอ แต่โครงการที่เสนอไปจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการของหน่วยงานรัฐที่มีอยู่ก่อนแล้ว

และท่านยังได้ฝากถึงคณะกรรมการของแต่ละหมู่บ้านให้ทำงานโดยสุจริต อย่าให้มีการทุจริตเกิดขึ้น และยังฝากถึงผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเข้าไปเรียนในเมืองจะต้องเอาใจใส่ดูแลให้ดี เพราะตอนนี้มีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นมากมาย

จากนั้น คุณอนุสร ศรีประจัน หัวหน้าพัฒนาชุมชน ได้พูดถึง “ โครงการเพิ่มพูนทักษะการบริหารจัดการเครือข่ายและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ” และวางแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนยกระดับครัวเรือนยากจน โดยกำหนดเป้าหมาย กิจกรรม กำหนดผู้รับผิดชอบ และติดตามประเมินผล โดยท่านได้เน้นถึงเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง โดยจากการสำรวจครอบครัวที่ตกเกณฑ์ จปฐ. และส่งเสริมครอบครัวดังกล่าวให้ทำเศรษฐกิจพอเพียง และให้พึ่งตนเองได้ อย่ามัวแต่ไปหวังพึ่งคนอื่น และต้องการให้รู้จักการประหยัดอดออม เพื่อที่จะยกระดับรายได้ของตนเอง เศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งตนเองคือ

  • การทำนาให้พอเพียงแก่การบริโภค

  • ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้

  • ทำเกษตรโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์

  • การปลูกพืชสมุนไพร

  • ทำการเกษตรแบบผสมผสาน

  • การแปรรูปอาหาร

  • การออมเงิน

  • ผลิตภัณฑ์ในชุมชน เพื่อเป็นสินค้า OTOP

คุณสมรัก ใจกล้า ท่านได้พูดถึง บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการ รวมถึงการทำงานแบบบูรณาการ โดยเน้นการพิจารณาเงินกู้ และติดตามผลและตรวจสอบว่าได้นำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ขอมาหรือไม่ ถ้านำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ก็จะหลุดพ้นจากความยากจน ก่อให้เกิดรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาสต่อไป และขั้นตอนการทำงานแบบบูรณาการมี 5 ขั้นตอนดังนี้

1.เผยแพร่แนวคิด เช่นการทำประชาคม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้

2.สำรวจวิเคราะห์ในหมู่บ้าน มีกิจกรรมมีทุนอะไรบ้าง รวมถึงสำรวจตนเอง

3.กำหนดรูปแบบและแนวทางการดำเนินงาน

4.ทำแผนการปฏิบัติงาน

5.ติดตามและประเมินผล

คุณอวบ ตัวแทนจากหมู่ 9 ท่านได้พูดถึงประสบการณ์การไปดูงาน ที่ ต.คลองต่อ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

ว่าเขาการบริหารจัดการกองทุนกองทุนที่ดีมาก ถ้าตำบลกะหรอมีการจัดการบริหารกองทุนที่ดี ก็จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับครัวเรือนที่ยากจนได้ ประชาชนอยู่ดีกินดี และไม่มีหนี้สินอีกต่อไป

ทนายปราโมทย์ แก้วสุวรรณ ทนายที่ปรึกษาเครือข่าย

ท่านได้พูดเรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายและเตรียมความพร้อมในการเป็นนิติบุคคล

โดยยื่นคำขอจดทะเบียนที่พาณิชย์จังหวัด กองทุนเงินล้านจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อให้มีการกู้ยืมเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ สร้างงาน สร้างรายได้ และการฟ้องร้องคดี ต้องทำไปตามขั้นตอนของกฎหมาย การเข้าสู่ระบบนิติบุคคลสามารถดำเนินคดีได้ง่าย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

คุณพัชรี วารีพัฒน์

ได้สรุปภาพรวมของตำบลกะหรอ บทบาทของกองทุนในการพัฒนาหมู่บ้าน ตำบลกะหรอมีเครือข่ายกองทุนที่เข้มแข็ง รูปแบบการจัดทำบัญชีเหมือนกันทั้ง 9หมู่บ้าน จัดให้มีการประชุมสัญจรทั้ง 9 หมู่บ้าน และได้เปิดโอกาสตัวแทนหมู่บ้านแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ 3 ว่าจะเดินหน้าพัฒนาตำบลกะหรอให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อให้ตำบลกะหรอทุกครัวเรือนอยู่ดีกินดี มีสุข สร้างงาน สร้างอาชีพ ทุกหมู่บ้านเห็นด้วยและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อจะไปถึงเป้าหมายที่วางไว้

ช่วงสุดท้าย เป็นช่วงที่น่าประทับใจมาก นักวิจัยมวล. ขึ้นไปนำเสนอ โดย อาจารย์โรจน์ ได้มีการเล่นเกมเป็ดกันเพื่อเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถและผ่อนคลายเพราะว่าเป็นช่วงสุดท้ายและทุกคนคงอยากกลับบ้านกัน ถือเป็นการเรียกสมาธิกลับมาได้ดีมาก และสามารถดึงความสนใจได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้นก็เล่านิทานเรื่อง “สามเกลอ”นิทานเรื่องนี้เน้นที่เรื่องการจัดการความรู้ โดยนำเสนอเป็นการ์ตูน เป็นการนำเสนอที่เยี่ยมมาก และสามารถเข้าใจได้ง่าย สรุปได้ว่า การจัดการความรู้ เราจะต้อง มีเป้าหมายชัดเจน รู้ตัวเอง แสวงหาความรู้เพิ่มเติม และนำไปปฎิบัติจริง จึงจะประสบความสำเร็จได้

กล่าวปิดการประชุม โดย คุณสมมาตร ศิลปะ รองประธานเครือข่าย

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2191เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2005 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท