ริคิดจะ.......ตั้งกลุ่มจัดการองค์ความรู้


แนวคิดที่คุยกันวันนั้น เรามานั่งปรึกษากันอีกครั้งในวันนี้ อยากให้เกิดกลุ่มคนทำงานแบบนี้มานานแล้ว หากว่า การรวมกลุ่มแบบนี้มันสามารถเคลื่อนได้ ก็หมายความว่า การจัดการความรู้ เริ่มเด่นชัดขึ้นทุกที

          เมื่อวานนั่งทานข้าวกลางวันกับท่านพัฒนากรอำเภอและคุณหมอโรงพยาบาลชุมชน ท่านหนึ่ง ประเด็นหนึ่งที่คุยกัน เป็นเรื่อง "การรวมกลุ่มจัดการองค์ความรู้  อ. ปางมะผ้า"  สืบเนื่องจาก การประชุมเชิงปฏิบัติการยกระดับรายได้ครัวเรือน ยากจน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อ.ปางมะผ้าที่ผ่านมา งานนี้ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมทำงานเป็นทีมวิทยากร ได้พบเจอวิทยากรจากหลากหลายหน่วยงาน ที่มาร่วมกันทำงานในครั้งนี้ ทุกวันหลังจากที่ได้ทำกระบวนการกับชาวบ้านกลุ่มเป้าหมายมาแล้ว ได้มีการทำกระบวนการ วิเคราะห์ผลหลังการปฏิบัติการ AAR.  (after action review) ของวิทยากร เพื่อสรุปผลการทำงานใน หนึ่งวันด้วยกันทุกวัน  บรรยากาศการ สนทนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายในเวที วิเคราะห์ผลหลังการปฏิบัติการ สนุก สนานและทุกคนได้แสดงศักยภาพ และพร้อมที่จะรับฟังซึ่งกันและกัน  บรรยากาศแบบนี้เป็นทางก้าวไปสู่ "สุนทรียสนทนา"  ให้ทุกคนที่เข้าร่วมอิ่มเอม และมีกำลังใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ยอมรับซึ่งกันและกันมากขึ้น

    จนกระทั่งถึงวันสุดท้าย ท่านนายอำเภอและพัฒนากร ได้กล่าวถึง การรวมกลุ่มคนที่มีใจ ในการร่วมกันพัฒนาอำเภอ โดยให้แนวคิดว่า อยากจะให้มีเวทีเล็กๆ ที่จัดขึ้น ทุกเดือน เพื่อเป็นเวทีที่คนทำงานเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นใคร และหน่วยงานใด มาร่วมกันพูดคุย ประเด็นที่สนใจร่วมกัน เป็นเวทีเล็กๆง่ายๆเป็นธรรมชาติ หรือ อาจทานข้าวร่วมกัน

    แนวคิดที่คุยกันวันนั้น เรามานั่งปรึกษากันอีกครั้งในวันนี้ อยากให้เกิดกลุ่มคนทำงานแบบนี้มานานแล้ว หากว่า การรวมกลุ่มแบบนี้มันสามารถเคลื่อนได้ ก็หมายความว่า การจัดการความรู้อำเภอปางมะผ้า เริ่มเด่นชัดขึ้นทุกที

    เรื่องของ กระบวนการเป็นเรื่องที่พวกเรา ต้องมาช่วยกันคิดต่อ ท่านผู้รู้ทั้งหลาย กรุณาให้ข้อ ชี้แนะ เสนอแนวทางในการเริ่มต้นด้วย ซึ่งถือว่า ประเด็นที่ได้ จะนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่อำเภอปางมะผ้าต่อไป

    ช่วยร่วมกันแลกเปลี่ยน เรียนรู้นะครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21737เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2006 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
ขอเป็นกำลังใจให้นะค่ะ ...อยากให้จัดเวทีผ่าน web ด้วยนะค่ะ..อยากเรียนรู้ด้วยค่ะ....ตนหละปูน...

     เป็นกำลังใจครับ อยากเห็นเป็นรูปแบบตัวอย่างได้ครับ ครั้งหนึ่งตอนอยู่ สสอ.บางแก้ว ได้เนินการในลักษณะนี้ เดือนละครั้ง ส่วนราชการผลัดกันเป็นเจ้าภาพที่ สนง.ตัวเอง เลี้ยงน้ำชา กาแฟ หรือไมโล มีพระ-ครู-หมอ-เกษตร ฯลฯ พูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ

     แต่ไม่สำเร็จครับ ได้ประมาณ 2 เดือนผมย้าย นายอำเภอย้าย และอีกหลาย ๆ ท่านที่เป็นแกนหลัก ย้ายไป ในช่วง 3-4 เดือนหลังจากนั้น เสียดายมาก ตอนนี้ได้ข่าวว่าจะรื้อขึ้นมาดำเนินอีก จึงคิดว่าหากเป็นไปได้จะดีมาก รับรองว่าดีแน่ ๆ

     แต่ก็มองอย่างเป็นกลาง ๆ ว่า ขอให้เป็นไปตามธรรมชาติ จะได้มีความสุขในการทำงาน

       เก่งมากเลยนะคะคุณชายขอบ...ที่...พระ-ครู-หมอ...คุยกันรู้เรื่อง...เพราะที่เคยได้ยินมาว่า  3  อาชีพนี้มักจะคุยกันไม่ได้...เพราะอะไรนะเหรอ...ถ้าอยากรู้จริงๆจะเล่าให้ฟัง

คุณปอม

น่าสนใจ บอกผมหน่อยครับผมก็อยากรู้นะ ผมจะได้นำไปเป็นข้อมูลเล่าใน สภากาแฟผมไง แต่ผมคิดว่า พระ-ครู-หมอ ที่บ้านผมคิดว่าน่าจะ คุยกันรู้เรื่องครับ

คุณชายขอบ

ประเด็นหนึ่งที่คิดไว้ก็เหมือนกับคุณชายขอบโพสหละครับ ผมกลัวว่า หลายๆคนที่เป็นแกนหลักๆย้าย ก็คิดกันต่อว่า สร้างคนใหม่ๆ สานต่อ ครับ ก็ให้เป็นไปตามธรรมชาติครับ ผมวาแบบนี้น่าจะดีที่สุด "ธรรมชาติของกลุ่มเองก็เป็นการวิจัย อย่างหนึ่ง กลุ่มจะตั้งอยู่ หรือกลุ่มจะล่มสลาย ก็ไม่แปลกใจ เป็นธรรมชาติ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากปรากฏการณ์อย่างนี้ ก็คือ บทเรียน ครับ เชื่อว่า ครั้งที่สองดีกว่าครั้งแรกเสมอครับ (หรือไม่แน่)"

 
     "แกนนำหลัก" สำคัญในตอนแรก หากถอนตัวเร็วไป จะไม่มั่นคง หากอยู่นานและยังคงสภาพ "แกนนำหลัก" ก็จะเป็นการครอบงำ และได้ภาพเข้าใจว่าเป็นเรื่องของ "แกนนำหลัก" ความพอดีต้องมีจังหวะจะโคน ตามแต่บริบทพื้นที่ สำคัญที่ "แกนนำหลัก" เตือนตนอยู่ตลอดเวลาหรือไม่...ผมใช้ประสบการณ์จากการดำเนินงานที่อื่น บูรณาการกัน ส่วนที่บางแก้ว ไม่ได้มาในเรื่องนี้อย่างสมบูรณ์ ได้เพียงว่า "ถอนตัวเร็ว" ล้มเหลวง่าย (ขอใช้คำนี้ทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยอยากใช้ เพราะจำได้ง่าย ชาวบ้านก็เข้าใจได้เร็วในภาษาถิ่นใต้)

          ผมคิดตาม Comment ล่าสุดของคุณชายขอบครับ

         เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ การคงสภาพ "แกนนำหลัก" และจะสร้าง "อิทธิพล"และ "ครอบงำ" ในวาระต่อไป  ผมคิดว่าจังหวะต่อไป คงจะมีการคิดกันเหมือนกันว่า "ความพอดี มีจังหวะจะโคน" น่าเป็นจุดตรงไหน

    ขอบคุณ ข้อเสนอแนะ ดีๆอีกครั้งครับ

                                 จตุพร

        เมื่อวาน Internetที่บ้านใช้การไม่ได้ก็เลยเพิ่งได้เปิดดูวันนี้...ขอโทษด้วยนะคะที่ตอบช้าไป

       ที่บอกว่ามีอยู่ 3 อาชีพที่ค่อนข้างจะพูดยากคือพระ-ครู-หมอเหตุผลที่พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องก็เพราะว่า

       พระ: จะบอกว่าอาตมารู้แล้ว(อย่ามาเถียง...อาตมาเป็นพระใครจะมารู้ดีกว่า...ญาติโยมต้องฟังพระเทศน์)

       ครู:จะบอกว่าครูเป็นผู้ให้ความรู้(รู้ทุกเรื่อง  ทุกวิชา...เพราะฉะนั้นอย่ามาสอนครู)

       หมอ:จะถือว่าตัวเองเรียนเก่ง...จึงไม่ค่อยฟังใคร(คนอื่นไม่ฉลาดเท่าตัวเอง)

       ดังนั้นเมื่อเอาแต่ละอาชีพมารวมกันเช่น พระที่เป็นครูหรือพระครู...ก็ยิ่งบอกกล่าวอะไรไม่ได้เลย...ครูที่เป็นหมอหรือ..อาจารย์หมอ...ก็ยิ่งไปกันใหญ่อีก...ไม่ฟังใคร   สุดท้ายก็คือพระที่เป็นหมอ...ก็ยิ่งหนักเข้าไปอีกกลายเป็นผู้วิเศษดังที่เห็นกันอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์...เ็ป็นเรื่องเล่าสนุกๆนะคะ...ห้ามซีเรียสนะคะ

ยิ้มยิ้ม- - น่าจะจริงนะครับ โดยเฉพาะ พระที่เป็นหมอ ดีมากเลยครับ แม้จะเป็นประเด็นที่คุยกันขำขำ แต่ก็แตะ เจ้าอัตตา ตรงๆตัว เลยทีเดียวครับ
ก็ดีใจนะครับที่มีคนให้ความสำคัญกับการสร้างกลุ่มคนทำงานโดยใช้รูปแบบการจัดเวทีเล็กๆทุกเดือน ในบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ อันนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง และคิดว่าหลายๆพื้นที่ก็ได้ทำไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถูกนำมาจัดระบบการจัดการให้เป็นการจัดความรู้ที่เป็นรูปแบบชัดเจนขึ้น
ต้องถามใจตัวเราเองดูก่อนว่า เราอยากจะให้คนในวงการนักพัฒนามาพูดคุยหารือกันอย่างสภากาแฟของชาวบ้านหรือเปล่า ซี่งผมก็ทึกทักเอาตามระดับความไม่รู้ของผมว่ามันน่าจะเป็นไปในทำนองนั้น  ซึ่งไม่ผิดหรอกครับ ที่เราจะชื่มชมชื่นชอบกุศโลบายของชาวบ้านในการแก้ปัญหาโดยการใช้วิธีรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการ ปัญหาก็คือ เราจะทำอย่างชาวบ้านได้จริงหรือ
มีความแตกต่างอย่างมหาศาลระหว่างการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการของชาวบ้าน กับการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการของบรรดานักพัฒนา อย่างน้อย 4 มิตินะครับ
1.     มิติชนชั้นหรือเศรษฐกิจ
2.     มิติว่าด้วยอุดมการณ์หรือวิธีคิด วิธีมองปัญหา ซึ่งนี่ก็สำคัญมาก เช่น ชาวบ้านอธิบายการถูกกดขี่ภายใต้กรอบความเชื่อเรื่องบุญกรรม แต่นักพัฒนาเห็นว่าเป็นผลจากระบบทุนนิยม มีตรรกะที่ต่างกันอย่างชัดเจน
3.     มิติการศึกษา
4.     มิติว่าด้วยจริต รสนิยม อารมณ์ความรู้สึก สุนทรียะ 
ช่องว่างเหล่านี้ เป็นปัญหาของทั้งสามฝ่ายนะครับ ทั้งกลุ่มชาวบ้าน และกลุ่มนักพัฒนา (รวมถึงพวกที่ไม่ใช่ชาวบ้านรากหญ้า และพวกที่ไม่ใช่นักพัฒนาตามนิยามของเรา?) ผมคิดว่าก็โอเคนะถ้าจะมีการรวมกลุ่มของนักพัฒนา แต่ต้องถามว่าสิ่งที่เราต้องการจริงๆนั้นคืออะไร? ถ้าเพื่อการประสานงานคล่องตัวก็ไปได้ แต่เพื่อจะเปิดสมอง กระโดดออกจากกะลาล่ะก็ผมว่ามันยังไปไม่ถึง  ดีไม่ดีจะเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อตอกย้ำหรือผลิตซ้ำความเชื่อในกลุ่มวิชาชีพของตนเองมากกว่า
เพราะฉะนั้น ก่อนจะพูดถึงการจัดการความรู้ หรือการจัดรูปแบบการรวมกลุ่ม ผมอยากฝากประเด็นให้พิจารณา 3 เรื่อง คือ
1.     การวิเคราะห์โครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา
2.     สร้างรูปแบบการรวมกลุ่มที่มุ่งข้ามพ้นพรหมแดนทางสังคมวัฒนธรรมทุกอย่าง
3.     กำหนดระบบการจัดการความรู้ที่จะมารองรับให้ชัดเจน
1) แรกสุด เราต้องวิเคราะห์โครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา ซึ่งมีสามระดับย่อยนะครับ
            1.1 วิเคราะห์โครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา โดยเริ่มจากตัวเราเอง ก้าวแรกนี่สำคัญมากนะครับ ต้องเข้าใจและแยกสลายตัวเองก่อน โดยแต่ละคน น่าจะได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของตัวเอง ว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร มีบริบทอะไร มีเงื่อนไข ข้อจำกัด ความมืดบอดอย่างไร สภาวะจิตของตัวเราเป็นอย่างไร ไม่เพียงแต่ให้ตัวเองเข้าใจตัวเอง แต่ยังเปิดข้อมูลเหล่านี้ ให้คนอื่นมองดูความกลวงโบ๋ของกันและกันได้ด้วย ผลพลอยได้ ก็อาจจะเป็นการลดทอนอัตตาซึ่งกันและกันได้อีกทางหนึ่ง ว่างๆจะลองทำดูก็ได้ แล้วอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเบาขึ้นเยอะ
            1.2 วิเคราะห์โครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา ระหว่างสมาชิกในกลุ่ม
            1.3 วิเคราะห์โครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา ระหว่างสมาชิกในกลุ่มกับคนที่อยู่นอกกลุ่ม
หากไม่เข้าใจกระจ่างถึงโครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจรวมถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา ที่พันธนาการตัวเราเอง ,ระหว่างสมาชิกในกลุ่มด้วยกันเอง ,รวมถึงตัวละคร (actor) อื่นๆที่อยู่นอกกลุ่ม อีกทั้งบริบททางสังคมวัฒนธรรมการเมืองที่เข้ามาเป็นเงื่อนไข ก็ยากที่จะทำให้เกิดการร่วมกลุ่มที่ดี (ผมหมายถึงรวมกลุ่มอย่างเข้าใจ จริงใจ มีสาระ ต่อเนื่อง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และไม่ก่อให้เกิดความก้าวร้าวรุนแรง (หรือเรียกง่ายๆอย่างที่ในหลวงท่านว่า “รู้”+ “รัก” +”สามัคคี”)
ส่วนจะวิเคราะห์โครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา อย่างไรนั้น จะอธิบายก็ยาวมาก ถ้าสนใจค่อยมาคุยกันคราวต่อๆไปนะครับ
2) นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของรูปแบบการรวมกลุ่มก็เป็นสิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้ หากจะก้าวข้ามช่องว่างเหล่านี้ ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องจัดการรวมกลุ่มในบรรยากาศอย่างที่คุณว่า อย่างน้อยในสามรูปแบบ คือ 1. กลุ่มวิชาชีพนักพัฒนา(ราชการ + เอกชน) รวมกลุ่มคุยกันเอง 2. กลุ่มชาวบ้านรากหญ้า ปะทะสังสรรค์กับกลุ่มวิชาชีพนักพัฒนา 3. กลุ่มที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลประโยชน์ในพื้นที่มาพบกับกลุ่มที่ 1 และ 2 โดยต้องหากระบวนการที่แต่ละฝ่ายไม่เอายศ ชื่อเสียง อำนาจ อายุ เพศ สถานภาพทางสังคมของตนเองมาข่มใส่กันอีกด้วย
3) ประการสุดท้าย คือระบบที่จะมารองรับ
 
คือ หากไม่มีการคิดเรื่องระบบรองรับ สิ่งที่ตามมาก็จะเป็นเหมือนนัดมาทานข้าว รู้จักสนิทสนมเป็นการกระชับความสัมพันธ์ซึ่งน่าจะช่วยให้งานประสานกันง่ายขึ้น ไม่ต่างจากการประชุมของหน่วยงานต่างๆ แต่ความรู้ที่จะได้จากการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการนี้ ใครเล่าจะเป็นผู้มาจัดการให้เป็นระบบมากขึ้น เราควรจะเปิดกว้างให้สมาชิกทั้งหมดในกลุ่มร่วมหารือถึงการสร้างระบบจัดการความรู้เหล่านี้ด้วยดีไหม ลำพังผมคิดว่า ให้แต่ละคนเขียนลงในบล็อกมันก็ทำใครทำมัน จริงอยู่ความสัมพันธ์และการสร้างความเข้าใจระหว่างงานเลี้ยงมันจะกระชับขึ้น แต่เรื่องการจัดการความรู้จะดูหลวมเกินไปถ้าไม่มีการหารือร่วมกันไว้ก่อน เพราะฉะนั้น แม้จะเป็นการรวมกลุ่มสังสรรค์กัน แต่ถ้าจะให้มีเรื่องการจัดการความรู้เข้ามา ผมว่าต้องระบุชัดและชี้แจงสมาชิก รวมถึงสรรหาวิธีที่ให้ทุกคนเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ และร่วมรับผลด้วยนะครับว่าเรากำลังจะทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และอย่างไร
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี่ ก็เป็นการตีความของผมเอง ตามประสบการณ์ที่ผมพอจะผ่านมาบ้าง ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถยึดถือเป็นแบบแผนสากลแต่ประการใด  ก็แค่เป็นเครื่องมือทางความคิดชิ้นหนึ่ง  เอาไปใช้ได้จริงแค่ไหน ก็คงต้องเอาไปปรับใช้ให้เหมาะสมนะครับ
                                                               ยอดดอย
เห็นข้อคิดเห็นที่คุณยอดดอย ลปรร.แล้วก็อึ้ง เหมือนกันครับ ประเด็นเหล่านี้ น่าสนใจมาก บางทีความตั้งใจจริงแต่เพียงส่วนเดียวโดยที่ไม่ได้มองในแง่มุมอื่นๆทำให้เราเสียพลัง เสียเวลาเหมือนกัน ขอบคุณทุกท่านที่มาช่วย ลปรร. ชี้แนะและเสนอความคิดเห็น ที่มีคุณค่าจริงๆครับ ...เรากำลังกำหนดวันที่จะคุยกันในครั้งแรก ที่ปางมะผ้าครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท