วิกฤติคลัง "ประชานิยม" ขาลง


วิกฤติคลัง "ประชานิยม" ขาลง
       3 นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ชำแหละ 5 ปีรัฐบาลทักษิณเศรษฐกิจโตได้ดีเฉพาะช่วง 3 ปีแรก และรัฐบาลก่อนมีส่วนหนุนการฟื้นตัว   ขณะที่อีก 2 ปีหลังไม่ดีไปกว่าประเทศอื่น ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น น้อยกว่าภูมิภาค และกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ "ทักษิณ" ได้รับผลจากการเอื้อประโยชน์ของรัฐบาล ด้านนโยบายประชานิยม ไม่ช่วยเพิ่มรายได้และอนาคตทุ่มเงินหนุนยากขึ้น หลังฐานะการคลังมีปัญหา
คณะวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งประกอบด้วย ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิจัยเกียรติคุณ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ฝ่ายการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวม   และ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัย เข้าร่วมนำเสนอผลการวิเคราะห์เรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจของนโยบายรัฐบาลทักษิณ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วานนี้ (29 มี.ค.)
ดร.อัมมาร กล่าวเกริ่นนำว่า งานวิจัยดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันทีดีอาร์ไอ และเป็นการประเมินเฉพาะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไม่ได้วิเคราะห์ในมุมของสังคมและการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
ดร.สมชัย กล่าวว่า ในงานวิจัยจะเกี่ยวข้องกับ 3 เรื่องใหญ่และแยกเป็น 5 เรื่องย่อย เริ่มจาก ความรุ่งเรืองเศรษฐกิจ ความโปร่งใสในการบริหารเศรษฐกิจ กรณีศึกษาเรื่องหุ้นชินคอร์ป และนโยบายประชานิยม   ทั้งนี้ จากการขยายตัวของเศรษฐกิจและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยในช่วง 5 ปีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับความชื่นชมอย่างมาก การฟื้นตัวจาก    ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของไทยนั้นขึ้นกับความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจ ประเทศส่วนใหญ่ภูมิภาคฟื้นตัวก่อนไทย  โดยสาเหตุหนึ่งที่ไทยฟื้นตัวเร็วช้ากว่าประเทศอื่น อาจจะเป็นเพราะวิกฤติของไทยรุนแรงมากกว่าประเทศอื่น แต่หากเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย การที่ไทยฟื้นตัวได้เร็วกว่าก็อาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพมากกว่ามาตั้งแต่ก่อนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ   ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงน่าจะเป็นผลงานร่วมกันระหว่างการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดก่อนกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ
ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหลังจากวิกฤตินั้น ในช่วง 3 ปีแรกของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแต่ก็ถือได้ว่าเป็นไปตามรูปแบบที่ควรจะฟื้นตัวได้มากอยู่แล้ว แต่ในช่วง 2 ปีหลัง คือปี 2547-2548 เศรษฐกิจไทยกลับไม่ได้ขยายตัวอย่างเด่นชัดกว่าประเทศอื่น โดยขยายตัวต่ำกว่ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อีกทั้งการจัดอันดับของไทยยังตกลงอย่างมากจากอันดับประมาณ 6-7     ในช่วงปีแรกของรัฐบาลเหลือเพียง 15 ในปี 2548 เท่านั้น   
ภาพรวมโดยเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 ปีของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่ขยายตัวได้มากกว่าประเทศอื่นในเอเชียเท่าใดนัก โดยขยายตัวเฉลี่ยสูงกว่าประเทศในอาเซียนประมาณ 0.5-1.0% เท่านั้น   ทั้งนี้ หากพิจารณาการขยายตัวที่ชะลอลงของไทยในช่วงหลังนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากปัจจัยภายนอก เช่น ไข้หวัดนก หรือสึนามิ แต่จริง ๆ แล้ว ผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวไม่ได้กระทบมากอย่างที่เข้าใจกัน โดยผลจากสึนามินั้น


กระทบกับจีดีพีประมาณ 0.35% เท่านั้น  "ในรอบ 5 ปีที่เศรษฐกิจดูเหมือนจะดีกว่าประเทศอื่น แต่มีการเปลี่ยนแปลงของ Performance ในช่วงปีท้าย ๆ ทำให้บอกไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยโดดเด่นกว่าประเทศอื่น ดังนั้น การที่รัฐบาลบอกว่าจะพาประเทศไปเป็นผู้นำคงไม่เกิดขึ้นได้ในเวลาอันใกล้" ดร.สมชัยกล่าว
ด้านการขยายตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 5 ปีของรัฐบาลทักษิณนั้น ดร.สมชัย กล่าวว่าเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทน (ปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ใน 3 ช่วงเวลา ซึ่งพบว่ามีข้อสรุปที่คล้าย ๆ กับกรณีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กล่าวคืออัตราผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ บริหารสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ โดยมีอัตราผลตอบแทนสูงมากในช่วงแรก ปี 2544-2546 เพิ่มขึ้น 33.2% ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่ตกต่ำลึกกว่าประเทศอื่นในช่วงก่อนหน้า ปี 2540-2543 คือตกลึกถึง 30% และ เป็นการปรับเพิ่มขึ้นจนทดแทนได้หมดสิ้น  ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ อัตราผลตอบแทนยังไม่ปรับเข้าสู่ภาวะปกติ  ในระยะเวลาเดียวกัน  ตรงนี้จึงถือได้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีผลงานดีกว่าประเทศอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด  อย่างไรก็ตาม ในระยะสองปีหลังของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ดัชนีของไทย ติดลบ 7.4% ปรับตัวลงต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก  และเมื่อคิดจากตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ อัตราผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ไทยก็ยังคง  ติดลบอยู่ 4.1% ซึ่งแม้จะดีกว่าประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ก็ไม่ต่างมากนัก และต่ำกว่าประเทศเกาหลีใต้และสิงคโปร์พอควร
ดร.สมชัย กล่าวว่า โดยสรุปคืออัตราผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์ไทย มีความผันผวนตลอดมา     ตั้งแต่หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งในช่วงก่อนและระหว่างยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนโดยรวม    ก็ยังคงติดลบอยู่แม้จะผ่านระยะเวลาการบริหารของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณมา 5 ปีเต็มแล้วก็ตาม   ในส่วนของการขยายตัวของดัชนีในตลาดหลักทรัพย์นั้น ดร.สมเกียรติ ได้ชี้ให้เห็นว่าอาจจะมีสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในการบริหารของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณได้เพราะพบว่ามีธุรกิจบางแห่งได้ประโยชน์มากกว่าธุรกิจกลุ่มอื่น ๆ   โดยหากพิจารณาจากบริษัท 10 แห่ง ที่มีการเพิ่มของมูลค่าสูงสุด 10 แห่ง จะพบว่าบริษัทที่มีการเพิ่มขึ้นของมูลค่าส่วนใหญ่แล้วจะได้รับผลมาจากปัจจัยภายนอก และผลจากนโยบายของรัฐ ซึ่งกระจายผลในทุกกลุ่มธุรกิจ     ตัวอย่างของบริษัทที่มีมูลค่าเพิ่มมาก เช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่มีมูลค่าเพิ่มมากที่สุด       ก็ได้รับผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในตลาดโลก หรือบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงก็ได้แรงหนุนมาจากการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่และการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์จากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนบ้าน และการมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น
ขณะที่การเพิ่มขึ้นของมูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทเอไอเอส และชินคอร์ปอเรชั่นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของตลาดโทรคมนาคม แต่ส่วนหนึ่งการขยายตัวก็เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายและมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประโยชน์เฉพาะกับธุรกิจไม่กี่แห่ง แตกต่างจากมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคหลายราย ตัวอย่างของนโยบายที่เอื้อต่อประโยชน์ของธุรกิจเครือชินคอร์ป เช่น การออกส่งเสริมการลงทุนโดยยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี ที่บริษัทไอพีสตาร์ได้รับประโยชน์ให้ยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวน 16,000 ล้านบาท หรือการไม่ดำเนินการยับยั้งตามอำนาจในสัญญาเมื่อบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องผังรายการกรณีไอทีวี ซึ่งทำให้ผลประกอบการบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นจากผังรายการ   ที่เปลี่ยนไป
นโยบายเศรษฐกิจหลักอีกอย่างหนึ่งของรัฐบาลทักษิณ คือนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน (Dual Track Economy) ซึ่ง ดร.สมชัย กล่าวถึง ผลการศึกษาจากนโยบายนี้ว่าจริง ๆ แล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศนั้นมีผลต่อการเร่งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้ แต่หากใส่ปัจจัยการบริหารในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไป กลับพบว่า   ไม่มีผลต่อการขยายตัวของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จึงสอดคล้องกับการขยายตัวของต่างประเทศ ที่ชี้ว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มีผลงานที่โดดเด่นกว่าประเทศอื่น
ดร.สมชัย ยังได้กล่าวถึง การดำเนินนโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดนี้ด้วย โดยกล่าวถึง การจดทะเบียนคนจนนั้นก็มีคนจนจำนวนถึง 71.6% ที่ไม่ได้จดทะเบียนคนจน ขณะที่มีสัดส่วนคนไม่จนที่จดทะเบียนสูงถึง 84.9% จึงแสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากที่ถูกละเลย ซึ่งกรณีนี้อาจจะทำให้คนจนจริง ๆ ไม่ได้รับการช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน
ส่วนผลการสำรวจผลงานจากนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ก็พบว่าประสบความสำเร็จในการเข้าถึงกลุ่มเกษตรกรที่สามารถนำเงินไปลงทุนด้านการเกษตรได้ แต่ก็ยังมีการกู้ยืมซ้ำซ้อนทำให้ได้ไม่ทั่วถึง และจากการประเมินผลจากการเพิ่มของรายได้และการลดรายจ่ายก็พบว่าโดยรวมแล้วเงินกองทุนหมู่บ้านไม่ได้ทำให้รายได้ของผู้กู้เพิ่มสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้กู้ยืมเงินจากกองทุนมากนัก    ทั้งนี้ หากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาก็ยากที่จะดำเนินโครงการกองทุนหมู่บ้านได้ต่อ เพราะหาเงินมาใช้สำหรับกองทุนได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะปัญหาฐานเงินคงคลัง ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ขณะนี้
ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมถึงภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาว่าอยู่ในเกณฑ์ที่พอไปได้ แต่ไม่มีความโดดเด่น การดำเนินนโยบายประชานิยมไม่มีประสิทธิผลที่เด่นชัด นโยบายต่าง ๆ เริ่มมีปัญหาในช่วงหลัง อย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่ตั้งต้นดี จึงควรปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยรัฐบาลควรยกเลิกการมุ่งแสวงหาตลาดอย่างการทำเอฟทีเอ แล้วหันมาให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรหรือฝีมือแรงงานให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีประสิทธิภาพในการแข่งขันมากขึ้น
ด้าน ดร.อัมมาร กล่าวถึง ผลงานจากการพักชำระหนี้สามปีและนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ว่าจริง ๆ แล้ว นโยบายทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่ดีที่รัฐบาลไทยรักไทยได้ทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง แต่หากพิจารณาจากผลงานแล้วพบว่าเกษตรกรที่ขอพักชำระหนี้มีการลงทุนที่ต่ำกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้ขอพักชำระหนี้ เนื่องจากเมื่อพักชำระหนี้แล้วไม่สามารถกู้เงินใหม่มาลงทุนได้ ดังนั้นการพักชำระหนี้จึงไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นให้มีการบริโภคและการลงทุนเพิ่มขึ้น อีกทั้งนโยบายพักหนี้ไม่ได้ช่วยลดปริมาณหนี้ที่มีอยู่ เพียงแค่เลื่อนเวลาการชำระคืนหนี้เท่านั้น  ส่วนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น  ดร.อัมมาร กล่าวว่า เป็นนโยบายที่ดี ช่วยเหลือคนจนลดการใช้เงินเพื่อรักษาพยาบาลได้ค่อนข้างมาก แต่เมื่อมีการทำโครงการจริงแล้ว รัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณมาอย่างจำกัด   ปีแรกเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2544 เพียง 7.8%   และหลังจากนั้น ก็มีการเพิ่มงบประมาณอย่างจำกัด      ไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้นโยบายที่ควรจะให้สิทธิในการรักษาพยาบาลกับทุกคนอย่างมีมาตรฐาน กลายเป็นนโยบายที่ทำให้มาตรฐานการรักษาพยาบาลมี 2 มาตรฐาน คือระบบสำหรับคนที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลเองได้กับระบบสำหรับคนจน    "คำถามคือนโยบายที่ประชาชนนิยม ทำไมรัฐบาลถึงมองเป็นลูกกำพร้า สันนิษฐานว่ารัฐบาลได้ประโยชน์ด้านคะแนนจากโครงการ 30 บาทไปแล้วใน 2-3 ปีแรก ดังนั้น จึงไม่ยอมที่จะใส่เงินเพิ่ม ตามที่ควรจะเป็น ซึ่งรัฐบาลอาจจะคิดว่าเก็บเงิน เพื่อใช้ประโยชน์ในนโยบายประชานิยมใหม่ ๆ น่าจะดี" ดร.อัมมารกล่าว
ดร.อัมมาร กล่าวเพิ่มเติมถึงนโยบายประชานิยมต่าง ๆ ของรัฐบาลด้วยว่าขณะนี้แรงผลัก (Momentum) หมดแล้วเห็นได้ชัดจากช่วง 2 ปีหลังที่มีปัญหามาก เนื่องจากไม่มีเม็ดเงินมากพอเช่น 3ปีแรก   ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตอนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาบริหารใหม่ ๆ กำลังการผลิตยังเหลืออยู่ทำให้สามารถใช้นโยบายที่ต้องใช้จ่ายเงินได้โดยไม่เป็นภาระต่อเงินงบประมาณ หรือบางโครงการที่อาจจะมีปัญหาก็เอาไปซุกซ่อนไว้ตามหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เห็นได้จากงบดุลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือธนาคารออมสิน เป็นต้น ถือเป็นการขยายตัวดีของเศรษฐกิจที่เกิดโดยธรรมชาติไม่ได้ใช้ความสามารถมากนัก
กรุงเทพธุรกิจ  29  มีนาคม  2549
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21709เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2006 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท