เบี้ยวหนี้ 5 พันล้าน ประทังรอเงินภาษี


เบี้ยวหนี้ 5 พันล้าน ประทังรอเงินภาษี
       หนีไม่พ้นความจริงรัฐบาลถังแตก คลังขออนุมัติ ครม. ยืดเวลาชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน 5,000 ล้าน  ให้แบงก์ออมสิน หลังครบกำหนดวันที่ 26 เม.ย. เจียดจ่ายพอกันตายในช่วง 2 เดือนค่อยมือเติบอีกครั้ง  หลังภาษีนิติบุคคลไหลเข้าเดือนมิถุนายน ปากแข็งไม่เบี้ยวหนี้หนองงูเห่าหลายหมื่นล้าน เงินเดือนข้าราชการก็ยังจ่ายตามปกติ
นายเฉลิมชัย  มหากิจศิริ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี    เมื่อวันที่  28  มีนาคมนี้  มีมติอนุมัติให้มีการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ  ประจำปีงบประมาณ 2549       ครั้งที่  3  โดยเห็นชอบให้มีการเพิ่มวงเงินในแผนการบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในส่วนราชการ   Roll-over  พันธบัตรตราสารหนี้ของรัฐบาลอีกจำนวน  5,000 ล้านบาท  หรือเพิ่มขึ้นจากวงเงินเดิม 260,000 ล้านบาท เป็น 265,000 ล้านบาท และให้มีการปรับวิธีการบริหารหนี้ต่างประเทศของรัฐบาล และ       รัฐวิสาหกิจ      ในส่วนของการกู้เงินและค้ำประกันเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศของรัฐบาล รวมทั้งรัฐวิสาหกิจนั้น ครม. ก็เห็นชอบให้กระทรวงการคลังสามารถพิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน และการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น  "กระทรวงการคลังเห็นว่า   ควรจะเจรจายืดหนี้ ตั๋วสัญญาใช้เงินปีงบประมาณ 2543 ครั้งที่ 3 ที่มีกับธนาคารออมสิน  รุ่นอายุ  6  ปี วงเงิน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ซึ่งครบกำหนดต้องไถ่ถอนคืนในวันที่  26  เม.ย. 2549 นี้ โดยจะมีการขอตกลงกับธนาคารออมสินเพื่อขยายอายุตั๋วสัญญาใช้เงินออกไป" นายเฉลิมชัยกล่าว
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจัดทำงบประมาณและการปรับแผนปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  2550  หลังการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่  โดยการจัดทำงบประมาณจะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย  คณะรัฐมนตรีจึงปรับแผนปฏิทินงบประมาณปี  2550  ซึ่งหลังจากการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายนนี้ สำนักงบประมาณจะเสนอกรอบวงเงินงบประมาณปี 2550 ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ จากนั้นส่วนราชการทำข้อเสนอของบประมาณปี 2550 ส่งสำนักงบประมาณภายในวันที่ 7 เมษายน และสำนักงบประมาณจะร่วมกับส่วนราชการเสนองบประมาณเบื้องต้นในวันที่ 8-25 เมษายน โดยคณะรัฐมนตรีจะพิจารณางบประมาณปี 2550 และคาดการณ์รายได้ 3 ปีล่วงหน้า ในวันที่ 18 เมษายน ก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติวันที่ 14 มิถุนายน แล้วทำเป็น พ.ร.บ. และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 25 กรกฎาคม 2549
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า สภาจะเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณวาระแรกในวันที่ 9-10 สิงหาคม 2549 และวุฒิสภาพิจารณาวันที่ 16-17 ตุลาคม คาดว่าจะทูลเกล้าฯ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2550 เพื่อประกาศใช้ในวันที่ 24 ตุลาคม 2549  และจะเริ่มใช้งบประมาณปี 2550 ในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน 2549
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การยืดเวลาชำระหนี้ หรือ Rool-Over ตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาลจำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อรักษาระดับเงินสดให้เพียงพอกับการเบิกจ่ายงบประมาณ เนื่องจากระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะมีการเบิกจ่ายงบประมาณสูง ขณะที่รายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องนำส่งกระทรวงการคลังในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน ทำให้เงินคงคลังไม่เพียงพอรองรับธุรกรรมรายจ่าย


ของรัฐบาล จึงเห็นควรให้ยืดเวลาชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ธนาคารออมสิน หรือจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมแทน "ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ถังแตกอย่างที่เป็นข่าวแต่อย่างใด" นพ.สุรพงษ์กล่าวย้ำ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำชับนายทนง พิทยะ รมว.คลัง ให้ดูแลเงินคงคลังอย่างใกล้ชิด รวมทั้งตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการทุกแห่งว่ามีหน่วยงานใดเบิกจ่ายเงินแล้วงนำไปฝากสถาบันการเงินเพื่อหวังรายได้จากดอกเบี้ย  หากตรวจพบผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานนั้นจะต้องรับผิดชอบ เพราะถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสม เป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ
นางพรรณี  สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ครม. ยังได้อนุมัติให้มีการปรับวิธีการบริหารหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยให้มีการกำหนดวงเงินรวมในการบริหารจัดการหนี้ต่างประเทศไม่ต้องแยกเป็นวงเงินย่อย  และให้สามารถเลือกแนวทางบริหารหนี้ได้หลายวิธีตามที่กระทรวงการคลังเห็นว่ามีความเหมาะสม  และมีความสอดคล้องกับสภาวะของตลาดในแต่ละช่วง   ทั้งนี้ จากเดิม ครม. มีการกำหนดไว้เป็นวงเงินย่อยของแต่ละวิธี ทำให้ไม่เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เพราะเวลาที่ตลาด มีการเปลี่ยนแปลง วิธีที่เคยกำหนดไว้อาจจะไม่เหมาะสม ทำให้ต้องขออนุมัติจาก ครม. หลายรอบ
ผอ.สบน.กล่าวว่า การบริหารหนี้ต่างประเทศดังกล่าว ไม่ได้มีการปรับวงเงินการบริหารจัดการแต่อย่างใด โดยยังคงอยู่ที่วงเงินเดิมที่ ครม. เคยอนุมัติเอาไว้แล้วที่ 326,347.06 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้แยกวงเงินตามประเภทของการบริหารจัดการไว้ ได้แก่ 1. การบริหารหนี้ต่างประเทศของรัฐบาล วงเงินรวม 132,809.28 ล้านบาท แยกเป็น Prepayment วงเงิน 42,207.45 ล้านบาท  และ Swap  Arrangment  วงเงิน 90,601.83 ล้านบาท    ขณะที่การบริหารหนี้ในส่วนของรัฐวิสาหกิจ วงเงินรวม  193,537.77  ล้านบาท แยกเป็น Prepayment วงเงิน  7,588.8 ล้านบาท  Roll-over วงเงิน   3,588.79  ล้านบาท  Refinance วงเงิน 52,088.73 ล้านบาท  และ Swap Arrangment วงเงิน 130,271.38 ล้านบาท
นายวราเทพ  รัตนากร รมช.คลัง กล่าวกรณีมีข่าวว่ารัฐบาลค้างจ่ายเงินผู้รับเหมาก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิหลายหมื่นล้านบาทเนื่องจากเงินคงคลังเหลือไม่เพียงพอว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิใช้เงินกู้จากต่างประเทศ จึงไม่เกี่ยวข้องกับฐานะเงินคงคลังแต่อย่างใด   ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าผู้รับเหมาทั่วประเทศส่งงานไป 6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน  ในทางปฏิบัติกรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินให้แก่ส่วนราชการ หรือจ่ายตรงให้ผู้รับจ้างภายในระยะเวลา 3-7 วัน การกล่าวอ้างเรื่องดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้
รมช.คลังกล่าวด้วยว่า เงินงบประมาณที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน จำนวน 2,000 ล้านบาท หรืออาจจะมากกว่านั้นหากการเลือกตั้งไม่ยุติในคราวเดียว เงินที่ใช้จัดการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นเงินงบกลางของปีงบประมาณ 2549  และมีเงินรายได้แผ่นดินรองรับไว้แล้ว  ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ปรับแผนการใช้จ่ายเงินให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย จึงไม่ส่งผลกระทบต่อเงินคงคลังแต่อย่างใด  แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังชี้แจงว่า การขาดกระแสเงินสดรับของรัฐบาลเกิดขึ้นเป็นปกติทุกปี ยืนยันว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลแค่ในส่วนของการเบิกจ่ายงบลงทุน ส่วนงบประจำอย่างเงินเดือนของข้าราชการยังไม่ได้มีผลกระทบแต่อย่างใด   ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้สั่งให้


กรมบัญชีกลางหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในเบื้องต้นได้ตรวจสอบว่าหน่วยงานใดที่มีเงินฝากอยู่ในธนาคารเป็นจำนวนมาก ให้นำเงินส่วนนั้นออกมาใช้ก่อนเพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้น
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น ทางกรมบัญชีกลางต้องมาดูว่าหน่วยงานที่เบิกเงินแล้วไปฝาก ในธนาคารและไม่สามารถดึงกลับมาใช้ก่อนได้ มีข้อขัดข้องทางกฎหมายเรื่องใด หากจำเป็นต้องแก้กฎหมาย  ในส่วนนี้ก็คงต้องทำ เช่น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีเม็ดเงินฝากไว้ที่ธนาคารเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ และไม่สามารถใช้เป็นเงินทดรองจ่ายของหน่วยงานอื่นได้ รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ที่ฝากเงินไว้โดยไม่ใช้ประโยชน์ จึงต้องหาทางแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถดึงเงินเหล่านี้มาใช้จ่ายได้
ไทยโพสต์  29  มีนาคม  2549
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21706เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2006 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท