Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๕๖)_๒


ตัวอย่างของการจัดการความรู้ขยายผลได้เอง
         โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ บางเขน ศูนย์อนามัยที่ 1 กรมอนามัย เป็นตัวอย่างของการจัดการความรู้ ที่สามารถนำความรู้และ แนวคิดวิธีการ มาใช้ในงานประจำ ดังตัวอย่างของ 
อัญชิษฐา วงศ์บุญมี เจ้าหน้าที่คลินิกสุขภาพตรวจโรคทั่วไป รพ.ส่งเสริมสุขภาพฯ เล่าว่า
 “หลังจากที่กรมอนามัย จัดเวทีให้ รพ. นำร่องกว่า 30 โรงพยาบาลในสังกัดกรมอนามัย มาทำเรื่องการจัดการความรู้กันขึ้น ก็มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันในเวที ซึ่งตนได้นำเครื่องมือและองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้จากเวทีครั้งนั้น กลับมาใช้กับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคเบาหวาน
         โดยวิธีการจัดเวทีจริงแล้วผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนมีศักยภาพในการดูแลตัวเองอยู่แล้ว ทุกคนรู้ว่าอะไรควรกินหรือไม่กิน แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่เมื่อมีการตั้งกลุ่มผู้สูงอายุขึ้นมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ทำให้เห็นมุมมองในการดูแลตัวเอง การควบคุมน้ำตาลในเลือด ทำให้ผู้ป่วยการมีเพื่อนร่วมคิดร่วมทำ มีมุมมองและวิธีการในการดูแลตัวเองมากขึ้น 
ซึ่งเมื่อเข้ากลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว ทุกคนมีเรื่องเล่าและวิธีการลดน้ำหนัก และทุกคนก็มีเรื่องเล่าที่จะมาแลกเปลี่ยนกันในเวทีทุกวันจันทร์ หลังจากเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผู้ป่วยก็สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้มากขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น”
         เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเปิดเผยว่า “หลังจากได้ร่วมเวที การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เดิมตัวเองมีปัญหาเรื่องน้ำตาลสูง น้ำหนักเยอะ ไขมันในเลือดมาก ซึ่งจะส่งผลให้เจ็บป่วยบ่อย จากนั้นก็เลยมาสมัครเข้ากลุ่ม เพื่อเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง เพราะตนเองก็ยังไม่มีความรู้ในด้านนี้
         ซึ่งปกติเราเป็นคนไม่ทานผักผลไม้เลย ไม่ได้ปลูกฝังลูกด้วยที่บ้านไม่เคยทานเลย หมอก็เริ่มแนะนำ การกินและจัดโปรแกรมมาว่าวันหนึ่งทานอะไรบ้าง  แล้วพี่ก็มาสรุปให้ฟังว่าวันนี้ไม่ใช่แล้วนะวันนี้กินอันนี้เยอะไป  วันนี้อันนี้น้อยไปก็เริ่มใหม่อีกครั้ง อีกเดือนหนึ่งก็เริ่มปรับตัวใหม่เริ่มทานตามที่หมอบอก กินผัก ผลไม้ก็เริ่มทานมากขึ้น จากเมื่อเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนคอเลสเตอรอล 200 กว่าๆก็ลดลง และกรดก็ลดลงมาเยอะ
         ทำให้เอวจาก 33 เหลือ 29 ยังตกใจเลย ว่าหมอวัดผิดหรือเปล่า ซึ่งไม่ใช่เฉพาะอาหารเท่านั้น แต่ยังแนะนำเรื่องออกกำลังกาย ในท่าที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน รู้สึกว่ามันสบายไม่เครียด นอนทำก็ได้  นั่งทำก็ได้ ทำตอนมีเวลาว่าง เพราะหมอและเพื่อนก็ให้กำลังใจตลอดเวลา”
        คุณอัญชิษฐา กล่าวและว่า ภายหลังจากที่โครงการเริ่มต้นไปได้ระยะหนึ่งเครื่องมืออย่างหนึ่งของ สคส. คือการเล่าความสำเร็จ เพราะเวลาถกปัญหาก็จะมีแต่ความถดถอยไม่มีกำลังใจ แต่ถ้าหากเล่าถึงความสำเร็จ ก็จะทำให้เกิดกำลังใจทำให้เรามีแรงกระตุ้น ที่จะพัฒนางานพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากการนำเครื่องมือการจัดการความรู้มาใช้ในองค์กรแล้ว ยังทำให้หน่วยงานอื่นๆในโรงพยาบาลหันมาสนใจการจัดการความรู้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนางานของตัวเองให้ดีขึ้นต่อไป
         ศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์กุล กรรมการและเลขานุการ สำนักที่ปรึกษาคณะทำงานส่งเสริมกิจกรรมสร้างความรู้ กรมอนามัย เล่าว่า โดยช่วงแรกๆ การจัดการความรู้ ยังไม่ค่อยชัดเจน และบุคลากรจะเกร็งกับการนำเครื่องมือมาใช้ และต้องทำความเข้าใจและตีความกันว่า การจัดการความรู้ คืออะไร ซึ่งตนเห็นว่ากระบวนการจัดการความรู้จริงๆ คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องนั่งทำความเข้าใจกัน หากแต่เริ่มทำ ก็จะรู้ว่าไม่ได้เป็นภาระงานที่แยกส่วนกันเลย ซึ่งหากทำแล้วเกิดปัญหาอะไรก็จะนำมาคุยกันมากกว่า 
         มีการโดยมีหน่วยงานกว่า 30 หน่วยงาน สังกัดกรมอนามัย มาร่วมเรียนรู้กัน ในลักษณะตลาดนัดความรู้ซึ่งเป็นประเด็นที่พูดถึงการพัฒนางาน ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือให้งานสำเร็จ แต่วิธีการอาจจะต่างๆกัน ซึ่งโดยรวมแล้วเป็นการเคลื่อนงานของทั้งองค์กร โดยหน่วยงานย่อย และส่วนกลาง เพื่อเป็นการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องและทันสถานการณ์ โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน
1. จัดอบรมผู้บริหารของหน่วยงานในสังกัดกรมอนามัย ว่าด้วยการบริหารจัดการความรู้
2. ประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการความรู้ของหน่วยงาน
3. ประสาน สนับสนุน ให้เกิดการพัฒนาเป็นชุมชนแนวปฏิบัติบริหารจัดการความรู้ และพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ของหน่วยงาน ( COP-CKO กลุ่มแกนนำในการบริหารจัดการความรู้)
 4. การจัดเวทีแลกเปลี่ยนบทเรียน การบริหารจัดการความรู้ของหน่วยงาน โดยแลกเปลี่ยนBest Practice Model
 5.การศึกษาดูงานหน่วยงานที่ประสบผลสำเร็จ เกี่ยวกับการบริหารจัดการความรู้เพื่อเสริมสร้างวิสัยทัศน์ของบุคลากร
 6. จัดให้มีการประเมินผลการบริหารจัดการความรู้ของกรมอนามัย ทั้งในระดับหน่วยงาน และระดับกรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาจัดการความรู้อย่างต่อเนื่อง 
         ซึ่งโดยรวมแล้วคณะทำงานหวังว่าตัวอย่างของการจัดการความรู้ ที่กรมอนามันอยากให้เป็น คือ ผู้ปฏิบัติคนนั้นทำเรื่องการจัดการความรู้โดยคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการทำงาน ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น และสิ่งหนึ่งที่วิชาการชอบทำเสมอๆ คือการแปลงความรู้ (Explicit Knowledge) ให้สามรถนำมาใช้ประโยชน์ได้
         อย่างไรก็ตามกรมอนามัย ได้รับความร่วมมือจากสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.) เป็นที่ปรึกษาในการให้แนวทางการดำเนินการเรื่องการจัดการความรู้ในองค์กร ซึ่งมีเครื่องมือที่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ได้หลากหลาย และกรมอนามัยก็เลือกเครื่องมือที่สอดคล้องกับบริบทของตนเองในการปรับประยุกต์ใช้ในองค์กรตามความถนัด
         และแม้ว่าจะเป็นแค่การเริ่มต้นที่ต้องการจะนำเรื่องการจัดการความรู้มาใช้ในทุกภาคส่วนขององค์กร แต่ในอนาคตการจัดการความรู้ในกรมอนมัยจะถูกขับเคลื่อนด้วยหน่วยเล็กๆในองค์กร ที่สามารถใช้การจัดการความรู้มาใช้กับการพัฒนาหน่วยงานย่อยทุกหน่วยงาน จนสามารถนำจิ๊กซอว์เล็กๆ ที่จะนำประสบการณ์ความสำเร็จในเรื่องการจัดการความรู้ มาต่อเป็นภาพใหญ่ของกรมอนามัย ที่กำลังย่างก้าวสู่การจัดการความรู้ได้อย่างเต็มรูปแบบได้ในไม่ช้า.

พญ.นันทา อ่วมกุล
ผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษา คณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารความรู้
กรมอนามัย  กระทรวงสาธารณสุข  ถนนติวานนท์   จ.นนทบุรี
โทร.02-5918147
E-mail :
nanta@health. moph.go.th

หมายเลขบันทึก: 21692เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2006 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น้องเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในศูนย์สุขภาพชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา  ได้มีโอกาสเข้าอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียน  จึงทำให้เกิดความสนใจในการนำ km  มาประยุกต์ใช้ในการทำงานแต่การทำค้นข้างยุ่งยากและไม่เข้าใจเนื้อหาเท่าที่ควรประกอบกับภาระหน้าที่ที่มากพอสมควรทำให้การสร้างโอกาสเรียนรู้กันระหว่างเจ้าหน้าที่มีน้อยและเมื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยและคนในชุมชนทำให้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่บางครั้งจูนกันไม่ได้  จึงต้องการคำแนะนำในกลวิธีในการทำkm เพื่อเพิ่มความเข้าใจและความรู้  ขอบคุณค่ะ  ....น้องไอติม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท