Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๕๖)_๑


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๑๒)
 
การจัดการความรู้กรมอนามัย
จัดการความรู้ ย่างก้าวสู่การพัฒนาองค์กร

         กรมอนามัยได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า จะเป็นผู้นำหลักในการสร้างเสริมสุขภาพของประเทศ โดยมีพันธกิจ คือ เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันให้เกิดการสนับสนุนให้การส่งเสริมสุขภาพประชาชน โดยการผลิต ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ตลอดจนสนับสนุน ให้การส่งเสริมสุขภาพ เป็นไปตามมาตรฐาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาระบบบริการความรู้ ของกรมอนามัยให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
         จึงได้ออกแบบ และวางกรอบการพัฒนาระบบบริหารความรู้ อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบราชการ กรมอนามัยประกอบด้วย 1.ระบบและกลไกลการบริหารความรู้ และ 2. กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ และสมรรถนะบุคลากรด้านต่างๆ
         นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารความรู้ กรมอนามัยกล่าวว่า ตามแผนปฏิบัติการในการพัฒนาระบบความรู้ภายในองค์กร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 กพร. พูดเรื่องการจัดการความรู้ขึ้นมา หน่วยราชการก็เริ่มตื่นตัวเรื่องการบริหารองค์ความรู้ในองค์กรกันมากขึ้น ซึ่ง กพร. เริ่มพูดเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2547 และก็กำหนดว่า เป็นตัวชี้วัดอันหนึ่งว่า ต้องมีการจัดทำแผนบริหารความรู้ของส่วนราชการ และให้เสนอนมาที่ สำนักงาน กพร. ประเมินผลการจัดการ ต่อเนื่องมาถึงปี 2548 ก็จะดูการปฏิบัติตามแผนที่เสนอไปเมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง


ขับเคลื่อนกระบวนการจัดการความรู้
         กรมอนามัยจึงเริ่มมีการตั้งคณะทำงานของกรมอนามัยขึ้นมา ทำงานเรื่องการบริหารองค์ความรู้ในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวชี้วัดด้วยว่า ต้องมีคณะทำงาน มีการจัดการความรู้และเริ่มทำงานกันตั้งแต่นั้นมา และมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมทำด้วยกัน
         คณะทำงานประกอบไปด้วย กพร. , กองแผนงาน , กองเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป มีทีมบริหารความรู้ , มีคณะสร้างเสริมกิจกรรมการจัดการความรู้ และหน่วยที่ช่วยอำนวยการ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้มีการบริหารจัดการกันอยู่ในหน่วยงานอยู่แล้ว แต่ยังเคลื่อนเรื่องกระบวนการจัดการความรู้ไปอย่างช้าๆ
         โดยการดำเนินการจัดการความรู้มีการประชุมเชิงปฏิบัติ กำหนดกรอบความคิดเบื้องต้นของกรมอนามัย ที่ประกอบไปด้วยคณะทำงานทั้ง 3 ฝ่ายนั้น คือ กิจกรรมที่มาจัดการความรู้มี 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่
1. เป็นการจัดการความรู้ของบุคคลในหน่วยงานย่อย (กองต่างๆ)ในกรมอนามัย ซึ่งเป้าหมายก็คือ อยากให้พนักงานได้พัฒนางานที่ตนเองทำ
2. ตั้งเป้าหมายว่า น่าจะมีการจัดการความรู้ในเรื่องการปฏิรูประบบราชการ
3. จัดทำคลังความรู้ข้อมูล (Data based) เพื่อประโยชน์ ทั้งในหน่วยงาน และบุคคลภายนอกหน่วยงานได้มาค้นคว้า หาความรู้
ซี่งกรมต่างๆ ของหน่วยงานราชการมีนโยบายสารพัดอย่างอย่างที่จะทำให้หน่วยงานนั้นๆทำงานให้ดีขึ้น มีกิจกรรมสารพัดประเภท ที่จะทำให้คนทำงานมีความรู้ และเก่งมากขึ้น 
         เพราะ “การจัดการความรู้” เป็นแนวคิด และกิจกรรมสำคัญที่กรมวิชาการอย่างกรมอนามัยจำเป็นจะต้องใช้ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ต้องทำงานผ่านคนอื่น หรือสนับสนุนกระตุ้นหน่วยงานอื่นให้ทำงานส่งเสริมสุขภาพ โดยไม่ได้ทำเอง  และการจัดการความรู้ต้องมีทั้งการรู้จักนำความรู้ที่มีอยู่แล้ว จากตำรา จากงานวิจัยมาใช้ประโยชน์(แลกเปลี่ยนเรียนรู้) ให้เหมาะสมกับเป้าหมายงานที่ต้องการ รวมทั้งรู้จักจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในส่วนของความรู้แฝง และสกัดความรู้แฝงที่มีอยู่มาให้คนอื่นได้รับรู้และนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์และสร้างเป็นความรู้ชุดใหม่ต่อไป
         พญ.นันทา อ่วมกุล ผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษา คณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารความรู้ กรมอนามัย กล่าวว่า หลังจากที่หมอสมศักดิ์ ดำเนินการเรื่อง Km แล้ว ยังมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผอ. สคส. มาช่วยเรื่องการทำกระบวนการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ ทำให้กรมอนามัย ได้ทำงานเรื่องการจัดการความรู้ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น หลังจากนั้นก็พยายามประสานเข้าไปกับงานประจำของตัวเอง
         “ช่วงนั้นสำนักส่งเสริมสุขภาพก็มีปัญหาเรื่อง การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และก็เรื่องของการดูแลผู้สูงอายุ และก็มาชวนคนที่ทำเรื่องมะเร็งเต้านมมาร่วมด้วย ซึ่งมีทั้ง อสม. , สสจ.ฯลฯ ซึ่งเป็นการประชุมที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย เพราะทุกคนเห็นว่าตัวเองมีส่วนร่วม ไม่มีใครเป็นเจ้าของเวที แต่ทุกคนสามารถมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้ทุกฝ่าย”
         “แต่เดิมเราคิดว่า เมื่อมีปัญหา หรือต้องการพัฒนางาน เราก็จะมาพูดแต่เรื่องปัญหากัน และครั้งนี้เราก็เปลี่ยนเป็นการณ์เล่าเรื่องความสำเร็จในการทำงาน ตามกระบวนการจัดการความรู้ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าปัจจัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ซึ่งทุกคนก็จะสะท้อนออกมาว่า สิ่งที่ได้เป็นสิ่งที่ดีมากในการนำไปใช้ และเป็นตัวอย่างในการพัฒนางานของตนเอง ต่อไป”
         ซึ่งกรมอนามัยได้มีการจัดในส่วนที่ทำได้ก่อน โดยเอา รพ. นำร่อง มาทำเรื่องการจัดการความรู้ก่อน ซึ่งก็มีกลุ่มผู้ที่มาแชร์ความรู้กันเป็นร้อยๆคน และตัวผู้จัดก็ได้ประสบการณ์กับการจัดการกับคน 100 คน ว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง ซึ่งอย่างน้อยก็มีกว่า 30 โรงพยาบาล ซึ่งทุกหน่วยที่แลกเปลี่ยน ได้สะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม  และรู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วม และมีความกระตือรือร้น ที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
         “เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน กลุ่มผู้สูงอายุก็คุยกันด้วยความสบายใจ มีเพื่อนร่วมคิดร่วมทำ ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่วันที่ไปเยี่ยมบ้านเท่านั้น แต่วันอื่นๆ ก็แลกเปลี่ยนกันอยู่เป็นประจำ กิจกรรมที่ผู้สูงอายุจะทำที่โรงพยาบาลจะเป็นกิจกรรมอย่างไร ใครดูแล และโครงสร้างการดูแลเป็นอย่างไร
         และสำนักส่งเสริมสุขภาพก็อยากให้ทำชุมชนนักปฏิบัติ ซึ่งบทบาทของสำนักฯ ก็เอาคนที่ปฏิบัติงาน กับหัวหน้าหน่วย หัวหน้าส่วน หัวหน้ากลุ่ม มาทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่สิ่งสำคัญของการจัดการความรู้นั้น เราเห็นว่าควรจะมีการจัดการความรู้ทุกระดับ จึงนำทั้งคนขับรถ  เจ้าหน้าที่โสตศึกษา มาร่วมเรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้กัน และให้เข้ามาในกลุ่มด้วย และเป็นการสร้างพลังให้กับกลุ่มได้มากเพราะทุกคนมีส่วนร่วม
         ซึ่งคนขับรถก็ขึ้นมาเป็นคนสรุป ช่วยเขียนบอร์ดในการประชุมจัดการความรู้ ซึ่งทุกคนมีเรื่องเล่ามาเล่าให้กลุ่มฟัง ซึ่งจุดนี้เองทำให้ผู้ปฎิบัติงานเข้าใจกระบวนการจัดการความรู้ เพราะที่ผ่านมามักจะมีคำถามอยู่เรื่อย อาจารย์ก็มาพูดบ่อยๆเหมือนกันว่าเรามาเล่าแต่ความสำเร็จทำไมเราไม่พูดถึงปัญหาอุปสรรค แต่ตอนนี้ทำให้ทุกคนเข้าใจได้มากขึ้น และมีความสุขที่จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

         ปัญหาที่พบ คือ จะมีคนเกินครึ่งยังเล่าเรื่องไม่ค่อยได้ ไม่มีขุมความรู้ที่แน่ชัด เพราะอาศัยการเล่าแบบสรุป ไม่ได้เล่าเรื่องให้เห็นวิธีการในการทำงานในแต่ละขั้นตอน ไม่มีเกร็ดความรู้เล็กๆให้เห็น คล้ายๆกับบอกปัจจัยมาเลยว่ามีอะไรบ้าง
         และอีกส่วนหนึ่ง คือ ต้องการจะผลักดันในส่วนหน่วยงานที่จะสร้างอะไรให้สำเร็จ และให้ทำออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างเช่น สิ่งที่เห็นจากเวที  ที่เห็นผู้ปฏิบัติ เป็นรูปธรรมคือศูนย์อนามัย เขต 1 กรุงเทพฯ ที่มีการปฏิบัติกันอยู่แล้ว และก็มีการจัดกับกลุ่มคนไข้ การแชร์ความสำเร็จของกลุ่มคนทำงาน ซึ่งคนไข้แชร์ประสบการณ์ของกันและกันด้วยการเล่าเรื่องตามเครื่องมือ สคส.”

หมายเลขบันทึก: 21689เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2006 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท