ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการพัฒนาสถานศึกษาตามบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน(ตอนแรก)


        ในเดือนกันยายนผมได้รับเชิญ จาก สพท.ราชบุรี เขต 1 ให้ไปบรรยายเรื่อง บทบาทคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  และ สพท.นนทบุรี เขต 1 เชิญไปร่วมอภิปรายในหัวข้อ  ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการพัฒนาสถานศึกษาตามบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  จึงอยากจะนำประเด็นสำคัญทั้ง 2 เรื่องที่ผมได้พูดไปในวันนั้น มาเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกันโดยสังเขป
        เรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 แก้ไขเพิ่มเติม2545 มาตรา40และ พรบ.ระเบียบบริหารราชการ ศธ. 2546 มาตรา 38  ซึ่งกำหนดบทบาทหน้าที่คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไว้เพียง
                         
ให้มีหน้าที่ กำกับและส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสถานศึกษา
     และในท้าย พรบ.การศึกษาแห่งชาติฯ มาตรา 40  ก็ได้ระบุไว้เพียง  ให้ออก กฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ
  คุณสมบัติ  หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการ  วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้นอีกหลายปีต่อมาจึงเป็นที่มาให้ออกกฎกระทรวงฯในพ .ศ. 2546  
       ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่นั้น  ไม่ได้กำหนดไว้ใน พรบ.ฉบับใด  ดังนั้นหลังประกาศใช้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ได้ 1 ปี(2543)  กรมสามัญศึกษาในสมัยนั้น(ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ เป็นอธิบดี ซึ่งท่านก็เป็น 9 อรหันต์ของ สปศ.ด้วย)  จึงได้นำร่อง พาพวกเราคิดขยายรายละเอียดบทบาทหน้าที่ของกรรมการสถานศึกษาเป็นการภายในขึ้น ทั้งๆที่ตอนนั้นยังไม่มีกฏกระทรวงฯออกมา (จากที่ พรบ.บอกสั้นๆไว้เพียง ให้มีหน้าที่ กำกับและส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสถานศึกษา ดังได้กล่าวไว้ตอนต้น) 
       
พอคิดเสร็จก็ได้มีการประชาพิจารณ์กันพอสมควร  แล้วผลักดันเสนอไปที่กระทรวงฯ  จนกลายเป็น หน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาฯตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.
2543  ที่เราใช้กันอยู่ 11 ข้อมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งมีสาระย่อๆคือ
1.กำหนดนโยบายและแผนพัฒนาของสถานศึกษา

2.ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา
3. ให้ความเห็นชอบในการจัดทำสาระหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
4. กำกับและติดตามการดำเนินงานตามแผนของสถานศึกษา
5. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กทุกคนในเขตบริการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงมีคุณภาพและได้มาตรฐาน
6. พิทักษ์สิทธิเด็ก ดูแลเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาสและเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ให้ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ
7. เสนอแนะและมีส่วนร่วมในการบริหารด้านวิชาการด้านงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคลและด้านการบริหารงานทั่วไปของสถานศึกษา

 8. ระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา ตลอดจนวิทยากรภายนอกและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของนักเรียนทุกด้าน รวมทั้งสื่อสารจารีตประเพณีศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ
9. เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชนตลอดจนประสานงานกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้สถานศึกษาเป็นแหล่งวิทยากรของชุมชนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น
10. ให้ความเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานประจำปีของสถานศึกษา ก่อนเสนอต่อสถารณชน
11. แต่งตั้งที่ปรึกษาและหรือคณะอนุกรรมการ เพื่อการดำเนินงานตามระเบียบนี้ ตามที่เห็นสมควร

      นอกจากนี้ใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติฯ มาตรา 39 ยังระบุเรื่องกระจายอำนาจไว้ว่า  ให้กระจายอำนาจการบริหารงานทั้ง 24 งาน(วิชาการ  บุคคล  งบประมาณ และการบริหารทั่วไป) ไปยังคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  ไม่ใช่ไปที่ ตัวบุคคล แต่เป็นองค์คณะบุคคล 
      
แต่เท่าที่ดูโครงสร้างการบริหารของโรงเรียนต่างๆ ยังกำหนดคณะกรรมการสถานศึกษาไว้ด้านข้าง เช่นเดียวกับกรรมการสมาคมฯ กรรมการมูลนิธิฯ บางแห่งขีดเป็นเส้นประด้วยซ้ำ  จะเนื่องด้วยอิทธิพลจากวัฒนธรรมการบริหารเดิม หรือด้วยความเกรงอกเกรงใจกัน  หรือความหลากหลายของการสรรหากรรมการสถานศึกษาแต่ละท้องที่ ก็ได้   จนบางครั้งผู้บริหารระดับสูงบางคนก็ไปตีความ คำว่า
กำกับและส่งเสริม... ไปเทียบกับกรรมการตัดสินฟุตบอลว่า ไม่ใช่เป็นกรรมการเป่านกหวีด  แต่เป็นกรรมการกำกับเส้น(ไลแมน)ต่างหาก   ซึ่งระดับนโยบายควรบอกให้ชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพิจารณาจากกฎหมายและบริบทความเป็นจริงอย่างรอบด้าน ไม่เช่นนั้นการมีกรรมการสถานศึกษาจะทำให้สถานศึกษาบางแห่งมีความรู้สึกลึกๆว่า เป็นส่วนเกิน  และจะทำตามรูปแบบ (ฟอร์ม) เพื่อไม่ให้ผิดตามกฎหมาย  หรือมีประโยชน์ในยามที่ต้องการระดมทรัพยากร หรือมาให้ข้อมูลในยามที่เขามาประเมินโรงเรียนเท่านั้น   บางโรงเรียนครูจะไม่รู้จักและให้ความสำคัญกับกรรมการสถานศึกษา แต่ให้ความสำคัญกับกรรมการสมาคมฯ  กรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งเข้ามาช่วยเหลือและจัดกิจกรรมระดมทรัพยากรมากกว่า  ซึ่งกรรมการดังกล่าวก็มีความสำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน 
         
แต่ขณะนี้โรงเรียนหลายๆแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับกรรมการสถานศึกษามากขึ้น  และหน่วยเหนือเวลากำหนดกรรมการที่มีบทบาทประเมิน  ตรวจสอบ ดูแลเชิงนโยบายและคุณภาพ จะระบุให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาร่วมด้วยมากขึ้น  เช่น การประเมินเพื่อดำรงวิทยฐานะครูตามมาตรา 55 พรบ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ของ ก.ค.ศ. เป็นต้น
         ขอกล่าวถึงเรื่องบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไว้แค่นี้ก่อน  ตอนต่อไปจึงจะกล่าวถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จฯ

หมายเลขบันทึก: 215942เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นเรื่องที่กำลังสนใจอยากรู้พอดีเลยครับ..ขอบคุณมาก และจะติดตามตอนต่อไป

ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

ติดตามตอนจบได้จากไหนคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท