Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๕๕)_๒


ผู้นำนักประสาน
         ผู้มีบทบาทคนสำคัญในกลุ่มผู้สูงอายุนักปฎิบัตินี้ คือ ลุงสวัสดิ์ ด้วงดำ วัย 75 ปี ผู้นำกลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นทั้งคุณเอื้อและคุณประสาน เริ่มตั้งแต่การเป็นนักหาทุนหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้มาทำร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องการออกกำลังกาย ระหว่างดำเนินการซึ่งมีเงื่อนไขของผู้ให้ทุนเป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไรบ้างนั้น ลุงสวัสดิ์ก็รับหน้าที่ประสานให้กับกลุ่ม เพราะปัญหาของผู้สูงอายุคือ การต้องบันทึกและการเขียนรายงาน รวมทั้งการทำบัญชี ที่ผู้สูงอายุไม่ถนัด  กลุ่มพี่เลี้ยงจึงเข้าไปช่วยในส่วนนี้ด้วย   รวมทั้งการช่วยจัดทำ VCD กายบริหารกระจูดที่ผู้สูงอายุเป็นผู้สาธิต ไว้เป็นสื่อประกอบการออกกำลังกายทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุ และสำหรับผู้สนใจ


โรคหาย สบายใจ ด้วยกายบริหารกระจูด
          ท่ากายบริหารกระจูดจึงเป็นความสำเร็จที่ผู้สูงอายุภาคภูมิใจ  ซึ่งผลความสำเร็จของผู้สูงอายุดังกล่าว นอกจากเกิดประโยชน์ต่อผู้สูงอายุเองที่เมื่อทำกายบริหารแล้วสามารถบรรเทาอาการเข็ดเมื่อย และโรคของวัยผู้สูงอายุ  ซึ่งผู้สูงอายุยืนยันว่าหลายคนมีอาการดีขึ้น บางคนจากที่เคยเดินหลังงอพอทำบ่อย ๆ นานเข้าก็ค่อย ๆ ยืดตัวได้มากขึ้น  หรือบางคนแค่จะเดินไปในระยะทางใกล้ ๆ แค่ 10 เมตร 20 เมตร ยังต้องหยุดพักบ่อย ๆ ก็สามารถเดินรวดเดียวไปถึงเลย 
         ป้าสุคนธ์ เล่าพร้อมกับทำท่าทางประกอบโดยเหยียดมือออกมาแล้วบอกว่า เมื่อก่อนตอนที่ป้ายังไม่ได้ออกกำลังกาย มือมันเหยียดไม่ออก เพราะเส้นยึด แต่หลังจากออกกำลังายทำท่าคลุกกระจูดที่ต้องกำมือแล้วเหยียดออก ทำบ่อย ๆ เส้นมันคลายสามารถเหยียดนิ้วแบมือได้ อีกทั้งยังรู้สึกมีกำลังวังชา เดินเหินกระฉับกระเฉง
         ป้าลิ่ม คงเปีย เล่าว่า เป็นหอบหืดมานาน พอมาออกกำลังกายแล้วก็ดีขึ้นนอนหงายได้ หายใจก็คล่องขึ้น อาการเหนื่อยหอบก็ค่อย ๆ เบาลง
 
ขยายผลความสำเร็จ
         ขณะที่ในระหว่างโครงการนี้ดำเนินอยู่และเกิดผลดังกล่าว กลุ่มผู้สูงอายุสามารถขยายผลด้วยการถ่ายทอดให้แกนนำในชุมชนกว่า 100 คน ที่เป็นตัวขยายต่อสร้างกระแสการออกกำลังกายให้กระจายไปยังคนทุกวัยในชุมชน จนชมรมพิทักษ์ผู้สูงอายุมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเกือบ 300 คน ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปจนถึงอายุกว่า 80 ปี  โดยนัดหมายกันตอนเช้ามืดราวตี 5 ถึง 6 โมงเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้สูงอายุตื่นแล้ว สมาชิกจะมาร่วมออกกำลังกายด้วยท่ากระจูดกับเพลงป่าลั่นกันอย่างคึกคักที่อาคารหอประชุมเก่าของหมู่บ้าน ก่อนจะแยกย้ายกันไปทำงานทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ 
 ลุงสวัสดิ์ ศรีดำ กล่าวว่า  แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ กลุ่มที่เคยออกกำลังกายกันอย่างหนาแน่นบางครั้งนับร้อยคน ก็ลดจำนวนลง เพราะการมาออกกำลังกายไม่มีการบังคับ บางคนเจ็บป่วย ไม่พร้อมก็ไม่มา จำนวนคนมาร่วมจึงไม่แน่นอน “คนแก่ก็เหมือนทุเรียนสุกคาต้น เมื่อสุกงอมก็ร่วงหล่นไปเป็นธรรมดา  จำนวนคนที่มาออกกำลังกายหรือสมาชิกกลุ่มจึงไม่แน่นอน”
 นอกจากนี้ยังสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้านต่าง ๆ ใน ต.เคร็ง รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุในต่างอำเภอและจังหวัด  ซึ่งบางกลุ่มก็ได้นำไปประยุกต์ให้เข้ากับท่าการประกอบอาชีพของตนเองเช่น ในกลุ่มชาวนา และ กลุ่มชาวสวนยาง

การจัดการความรู้ที่ไม่ต่อเนื่อง
         อย่างไรก็ตามเมื่อจบโครงการและได้ผลบรรลุความสำเร็จด้วยดี กลุ่มผู้สูงอายุมีความรู้สึกภาคภูมิใจในความสามารถและศักยภาพของผู้สูงอายุที่ยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ที่จะคิดและทำสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นได้มากมาย  แต่เมื่อจุดสูงสุดได้บรรลุเป้าหมาย การเคลื่อนต่อกลับหยุดชะงัก
ทั้งกิจกรรมออกกำลังกายที่ซบเซาเลา กลายเป็นลักษณะของกลุ่มเล็ก ๆที่กระจายอยู่ตามกลุ่มบ้านต่าง ๆ ในเคร็ง ที่อาจใช้หน้าบ้านคนใดคนหนึ่งเป็นที่ออกกำลังกายกัน 5-10 คน โดยมี VCD เป็นคู่มือการออกกำลังกายที่เปิดเมื่อไหร่ทุกคนก็รู้สึกครึกครื้นอยากขยับแข้งขยับขาและก็สามารถไปทำเองได้   ขณะที่ผู้สูงอายุกลุ่มหลักก็ยังไม่มีที่ออกกำลังกายที่ถาวร เพราะจากที่เคยใช้ลานวัดก็ถูกขอร้องให้มาใช้อาคารประชุมเก่าของหมู่บ้านที่อนุญาติให้ผู้สูงอายุยืมใช้เพราะเห็นว่าการออกกำลังกายยามเช้าของผู้สูงอายุที่วัดอาจจะดูไม่เหมาะสม
         จะเห็นว่ากระบวนการจัดการความรู้สร้างนวัตกรรมกายบริหารกระจูดพิชิตโรคของกลุ่มผู้สูงอายุบ้านหัวถนน เกิดขึ้นจากการแสดงบทบาทคุณเอื้อและคุณอำนวยของทีมพี่เลี้ยงของ สสส.ในพื้นที่
ซึ่งมองเห็นความตั้งใจและความต้องของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ จึงคอยช่วยเหลือ แนะนำ และส่งเสริม ให้กระบวนการจัดการความรู้ของบรรดาผู้สูงอายุบ้านหัวถนนเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวา  เช่น มาช่วยจัดเวที จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยจดบันทึก ช่วยเขียนรายงาน เป็นต้น
         ด้วยกระบวนการเช่นนี้ในที่สุดได้ก่อให้เกิดความรู้ องค์ความรู้ และวิธีการทำงานที่ ทุกฝ่ายต่างได้ประสบการณ์และบทเรียนไปใช้ต่อ โดยเฉพาะการทำงานที่ต้องการให้ชุมชนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง กระบวนการจัดการมีความสำคัญมาก สิ่งที่ควรทบทวนคือทำอย่างไรให้การเรียนรู้ไม่จบแม้โครงการจะจบลงก็ตาม  เพราะสิ่งที่น่าเสียดายสำหรับองค์ความรู้ที่กลุ่มผู้สูงอายุได้ร่วมกันสร้างขึ้นยังไม่ได้ถูกนำไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์อย่างจริงจังในชุมชน โดยกลุ่มคนอื่น ๆ ในชุมชนแม้จะรู้สึกภูมิใจและดีใจเมื่อผลงานของผู้สูงอายุได้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างทั้งทางทีวีและการถูกเชิญไปร่วมสาธิตในงานต่าง ๆ ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ  แต่ก็ยังมองเป็นเพียงกิจกรรมที่ผู้สูงอายุทำกัน โดยพวกเขาไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมและไม่คิดที่นำไปทำบ้างโดยอ้างว่าทำอยู่แล้วในการประกอบอาชีพ  เป็นต้น.


ลุงสวัสดิ์  ศรีดำ
ประธานชมรมพิทักษ์ผู้สูงอายุ  ต.เคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
โทร.01-2722843

หมายเลขบันทึก: 21557เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2006 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท