Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๕๕)_๑


 นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๑๑)

กายบริหารกระจูดพิชิตโรค
นวัตกรรมจัดการความรู้ของผู้สูงอายุบ้านหัวถนน

         (โปรย) ความรู้ไม่จำกัดอายุ หากยังรุ้สึกอยากเรียนรู้ และ”ท้าทาย”กับการได้แสวงหาความรู้ กลุ่มผู้สูงอายุ “ชมรมพิทักษ์ผู้สูงอายุบ้านหัวถนน” จึงใช้การรวมกลุ่มช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอแนะและแสวงหาความรู้มาตอบโจทย์ของความอยากรู้ร่วมกัน และเกิดเป็นการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมท่ากายบริหารจากอาชีพกระจูดที่ไม่เหมือนใคร และจุดประกายให้คนอาชีพอื่นไปลองประยุกต์ดูบ้าง ขณะที่ผู้สูงอายุก็กำลังคิดที่จะจัดการกับความอยากรู้ในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป

         กลุ่มผู้สูงอายุบ้านหัวถนน หรือ ชมรมพิทักษ์ผู้สูงอายุบ้านหัวถนน ต.เคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช  เป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นจากนโยบายด้านสาธารณสุขที่ต้องการให้การดูแลด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น จึงกำหนดให้ทุกสถานีอนามัยต้องมี 1 กลุ่มผู้สูงอายุ  และทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการให้บริการตรวจร่างกาย  การให้คำแนะนำในการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมกับวัย รวมทั้งให้ทำกิจกรรมออกกำลังกายในรูปแบบต่าง ๆ   โดยเฉพาะ “แอโรบิก” ซึ่งเกิดเป็นกระแสนิยมมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 
         กลุ่มผู้สูงอายุได้เรียนรู้ว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่ต้องยืดแขนยืดขาออกท่าทางให้เข้ากับจังหวะเพลงเร็ว ๆ นั้น  เป็นการออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุบ้านหัวถนนที่ส่วนใหญ่มีอายุมาก   พวกเขาจึงคิดที่จะหารูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับกลุ่มของตน  และโอกาสก็เปิดขึ้นเมื่อแกนนำกลุ่มได้ค้นพบ “คุณเอื้อ”หรือผู้สนับสนุนที่ต้องการให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้หาการออกกำลังกายที่เหมาะสมเอง  โดยสนับสนุนทุนและจัดทีมพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ทำงานกับกลุ่มชุมชนในพื้นที่มายาวนานอย่าง สหทัยมูลนิธิ มาเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ  และร่วมอยู่ในปฏิบัติการกับผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด  และเป็นการเรียนรู้ร่วมกันอยู่ตลอดเวลา 


การจัดการความรู้ในกระบวนการพัฒนาท่ากายบริหาร
         แม้จะเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการที่มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน แต่ก็มีเรื่องของ “การจัดการความรู้” รวมอยู่ด้วยโดยที่ผู้สูงอายุและพี่เลี้ยงไม่รู้ตัว นั่นคือ ในกระบวนการแสวงหาท่าทางการออกกำลังกายที่เหมาะสมนั้น กลุ่มผู้สูงอายุได้ร่วมกันค้นหาจากการทบทวนและมองหาความรู้ใกล้ตัวก็พบว่าท่าทางการทำอาชีพกระจูดที่ถูกต้องที่ถ่ายทอดกันมาแต่โบราณนั้นเป็นท่าการออกกำลังกายที่สอดคล้องกับอาชีพ และวิถีชีวิตของคนเคร็ง ซึ่งมีอาชีพทำกระจูดกันมานาน และเป็นท่าทางที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย  แต่ผลจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานที่มีเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาช่วย ทำให้ท่าทางที่ถูกต้องถูกละเลยไป   กลุ่มผู้สูงอายุจึงเกิดการกลับไปค้นหาองค์ความรู้เกี่ยวกับท่าออกกำลังกายในอาชีพกระจูด จนได้ท่าทางการประกอบอาชีพกระจูดที่ถูกต้อง จำนวน 8 ท่า 8 ขั้นตอน ตั้งแต่พายเรือออกไปถอนจูดในป่าพรุจนถึงการนั่งสานจูด   จึงรวบรวมและนำมาเป็นท่าต้นแบบของการพัฒนาท่ากายบริหารสำหรับผู้สูงอายุ  ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะเป็นกายบริหารในแบบฉบับของผู้สูงอายุบ้านหัวถนนที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
         การได้มาของท่าอาชีพกระจูดที่ว่าของแท้แต่ดั้งเดิมนั้นเกิดขึ้นในเวทีการระดมความคิดเห็น ใครรู้หรือเชี่ยวชาญการทำอาชีพกระจูดในขั้นตอนไหนก็ออกมาทำให้ดู  ตั้งแต่ ท่าพายเรือออกไปถอนจูดในป่าพรุ  ท่าถอนจูด ตัดจูด คลุกกับโคลน ตากจูด เหยียบจูด กลิ้งจูด และสุดท้ายคือท่านั่งสานจูด โดยร่วมกันพิจารณาว่าในแต่ละท่าทางต้องใช้กล้ามเนื้อหรือการออกกำลังกายในส่วนใดบ้าง และเกิดผลอย่างไรต่อสุขภาพ ซึ่งก็ต้องไปแสวงหาความรู้จากผู้รู้ซึ่งทีมพี่เลี้ยงช่วยจัดหาผู้รู้มาร่วมให้คำแนะนำในโอกาสต่าง ๆ เช่น เวทีรายงานผลของโครงการในระยะต่าง ๆ  
         ขณะที่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ก็มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในการร่วมพัฒนาท่ากายบริหารกระจูด โดยป้าสุคนธ์   ด้วงสงค์ ข้าราชการเกษียณอายุวัย 67 ปี   เป็นผู้พัฒนาท่าทางต่าง ๆ โดยเมื่อผู้สูงอายุได้มาทำท่าทางอาชีพกระจูดให้ดูทีละท่า ป้าสุคนธ์ก็จะดูว่าท่านั้นจะนำมาใช้เป็นท่าออกกำลังกายได้อย่างไร  โดยคิดค้นลองทำเองดูตัวเองหน้ากระจกบ้าง ทำให้คนในบ้านดู และให้ผู้สูงอายุดูและทำร่วมกัน ช่วยกันออกความคิดเห็น ถกเถียง ชี้แนะ จนสรุปเป็นกายบริหารในแต่ละท่า ตามขั้นตอนการทำกระจูด ซึ่งแต่ละท่าใช้เวลานานตั้งแต่ไม่กี่วัน จนถึงหลายเดือน  ช่วยกันปรับช่วยกันแก้จนได้ท่ากายบริหารอาชีพกระจูด ประกอบด้วยท่าวอร์ม 4 ท่า ท่าอาชีพกระจูด 8 ท่า ท่าสากลที่เอามาเติมและเป็นท่าผ่อนคลายกล้ามเนื้อ 10 ท่า แต่ถ้าจะให้ดีต้องมีบรรยากาศที่คึกคักด้วยจึงไปหาเพลงมาประกอบโดยได้เพลงป่าลั่นที่พวกเขาชอบทั้งเนื้อร้องทำนองและตกลงกันที่จะนำมาใช้ประกอบกายบริหารกระจูด  

นวัตกรรมกายบริหารกระจูด
         โดยท่ากายบริหารกระจูดที่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้พัฒนาขึ้นและบอกว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว ประกอบด้วย
1. ท่าวอร์ม 4 ท่า
2. ท่าอาชีพ 8 ท่า (พายเรือ,ถอนกระจูด,ตัดจูด,คลุกจูด,ตากจูด,เหียบจูด,กลิ้งจูด)
3. ท่าที่ดัดแปลงจากท่าสากลมาผสมอีก 7 ท่า ได้แก่ ท่าแตะไหล่แล้วกางมือออก , ท่าหว่านข้าว, ท่าเซิ้ง, ท่ากำมือทั้งสองข้าง แล้วรวบมือข้างหน้า แล้วกางแขนออก (ขาไขว้หน้าแล้วกางแตะข้าง),  ท่าแกะทับจูด, ท่าแตะไหล่ ชูมือ แตะไหล่ แล้วกางมือ,ท่ามโนราห์ (กำมือแล้วมารวมข้างหน้า กางมือตั้งวงเสมอศรีษะ), 4. ท่าผ่อนคลายเป็นท่านั่ง 4 ท่า คือ ท่ายกมือ เหวี่ยงไปซ้าย ไปขวา,ท่ายื่นเท้าซ้าย พร้อมือทั้งสองข้างไปที่ปลายเท้า แล้วหดเข้า ทำสลับเท้าซ้ายเท้าขวา,ท่ายกมือทั้งสองเหนือศรีษะ เงยหน้า กางแขน พร้อมก้มศรีษะสลับไปจนจบเพลง
         สำหรับเนื้อเพลง “ป่าลั่น”ที่ผู้สูงอายุชอบใจและนำมาใช้ประกอบการออกกำลังกาย คือ “ ...เมื่ออาทิตย์อุทั้ย ทั่วท้องถิ่นไพร  โลกแจ่มใสอีกครา   เหม่อมองนกโผบินแว่วธารรินไหลหลั่งป่าลั่นดังสะท้านใจ ...ดนตรี... แดดส่องฟ้า เป็นสัญญาวันใหม่ พวกเราแจ่มใสเหมือนนกที่ออกจากรัง ต่างคนรักป่า ป่าคือความหวัง เลี้ยงชีพเรายังฝังวิญญาณนานไป    ตื่นเถิดหนา อายนกกามันบ้าง แผ่นดินกว้างขวาง ถางคนละมือละไม้ รอยยิ้มของเมีย ชโลมฤทัย ซับเหงื่อผัวได้ ให้เราจงทำดี ...ดนตรี...เสื้อผ้าขี้ริ้ว ปลิวเพราะแรงลมเป่า กลิ่นไปพวกเรา เขาคงจะเดินเมินหนี  คราบใดไหนเล่า เท่าคราบโลกีย์  เคล้าอเวจี หามีใครเมินมัน โลกจะหมองครองน้ำตา ยามเศร้า แบ่งกันว่าเขาและเราเศร้าจริงใจฉัน ป่ามีน้ำใจ ใสแจ่มทุกวัน รักป่าไหมนั่นเมื่อป่าลั่นความจริง
         ท่ากายบริหารกระจูดจึงเกิดขึ้นจากการจัดการความรู้ในกระบวนการพัฒนาท่าที่การร่วมกันคิด ร่วมกันแนะนำ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ฝังลึก(tacit)ที่อยู่ในตัวแต่ละคน ออกมาเล่าสู่กันฟังแล้วจากนั้นรวบรวมความรู้และยกระดับขึ้นมาเป็นท่าทางกายบริหารจากอาชีพการทำกระจูดที่เหมาะสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและคนเคร็ง

หมายเลขบันทึก: 21554เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2006 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท