ทำแฟ้มสะสมผลงานให้เป็นงาน KM (๑)


ภาควิริยะ หรือ ภาคเรียนที่สองของโรงเรียนเพลินพัฒนาจบลงแล้ว เมื่อลองทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมาก็พบว่าผลงานชิ้นสำคัญของภาคเรียนนี้ก็คือ การทำแฟ้มสะสมผลงานของทั้งเด็กและครูให้เป็นส่วนหนึ่งของงานจัดการความรู้ไปด้วยในตัว

 

“Port’AAR”  นี้ออกแบบมาให้เป็นการประมวล สะท้อน และสกัดเอากุญแจของความสำเร็จ กับอุปสรรคที่ต้องพัฒนา  ที่ได้แนวคิดมาจากคำถามในการทำ AAR : After Action Review  และจากการทำแฟ้มสะสมผลงานหรือ Portfolio  ด้วยการใช้เป้าหมายที่นักเรียนแต่ละคนตั้งไว้ในตอนต้นของทุกภาคเรียนเป็นธง

 

นักเรียนจะทำ Port’AAR นี้ในทุกหน่วยวิชา โดยเลือกจาก ชิ้นงาน สื่อ แบบฝึก กิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการเรียนรู้ รวมถึงกิจกรรมการเรียนภาคสนาม ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับตนเองได้มากที่สุดมาเขียนถึงตามประเด็นของ AAR

 

เมื่อจบกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละตอน ครูผู้สอนจะมีกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ทบทวน และบันทึกถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเป็นระยๆ ซึ่งใน ๑ ภาคเรียน (๑๐ สัปดาห์) แต่ละหน่วยวิชาจะมีประมาณ ๓ ตอน และแต่ละตอนจะไม่พร้อมกัน ดังนั้น เท่ากับว่าเด็กแต่ละคนก็จะมีโอกาสได้ทบทวนตัวเองในบริบทของหน่วยวิชาต่างๆ อยู่เสมอ

 

การทำ Port’AAR นี้มีความสำคัญทั้งกับนักเรียน คุณครูผู้สอนในแต่ละหน่วยวิชา คุณครูประจำชั้น คุณครูแนะแนว รวมไปถึงหัวหน้าช่วงชั้นและครูฝ่ายวิชาการ อาทิ

 

นักเรียน

- ได้ทบทวนและสรุปสภาวะการเรียนรู้ของตนเอง เช่น เรียนรู้เรื่องนี้ไปทำไม สิ่งที่อยากรู้เพิ่มต่อยอดคืออะไร จะรู้เรื่องที่อยากต่อยอดได้อย่างไร

- ได้ใช้ทักษะทางด้านเหตุผล ภาษา และการสื่อสาร ในการตกผลึกประสบการณ์และความเข้าใจที่ได้เรียนรู้มาทั้งหมด

- เป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งที่นักเรียนใช้ในโครงการพัฒนาตนเอง

- นักเรียนสามารถนำ Port’AARนี้ไปใช้เป็นโอกาสในการศึกษาต่อได้

 

ครูผู้สอน

- ได้ข้อมูลสะท้อนกลับเป็นระยะและสม่ำเสมอเกี่ยวกับคุณภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ และเจตคติของนักเรียนในแต่ละหน่วยวิชา

- เป็นสำคัญอันหนึ่งที่ช่วยให้ครูผู้สอนมองเห็นทิศทางของพัฒนาการ รูปแบบการเรียนรู้ (Learning Style) และจุดแข็ง-จุดอ่อนของนักเรียนแต่ละคน

- เป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งในการส่งต่อข้อมูลของนักเรียน

 

ครูแนะแนว-ครูประจำชั้น

-ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งในการศึกษาและพัฒนานักเรียน

-ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งในการช่วยให้นักเรียนสร้างโครงการพัฒนาตนเอง

 

หัวหน้าช่วงชั้น-ครูวิชาการ

-ใช้เป็นเงื่อนไขในการทำงานที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ให้กับครู

-ใช้เป็นข้อมูลในการสำรวจพัฒนาการ หรือการเรียนรู้ของนักเรียนที่ต้องการพัฒนา เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

-ใช้เป็นข้อมูลในการสำรวจนักเรียนที่ต้องการการส่งเสริม ให้เติบโตเต็มตามศักยภาพได้อย่างถูกทิศทาง และตรงตามความสนใจของผู้เรียน

 

หมายเลขบันทึก: 214585เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2008 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 00:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบพระคุณอาจารย์ประจักษ์มากค่ะที่แวะมาเข้ามาทักทายกันอยู่เสมอ

สรุปแนวทางไว้อย่างน่าสนใจ...ขอบคุณค่ะ

ดีจังค่ะ นักเรียนทุกคนจะได้สะท้อนคิดการจัดการเรียนการสอนของครู แต่ครูควรเปิดใจกว้างและยอมรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนนะคะ

สวัสดีค่ะ คุณครู ขยัน นักเรียนเลยขยันตาม มาให้กำลังใจค่ะ

ความใจกว้าง รับฟัง และขยัน(เก็บเกี่ยว)เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของครูจริงๆ ค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท